ศดานันท์ เสมอวงษ์ : เรื่อง
พีรพัฒน์ รักแป้น : ภาพ

รวงทัพพ์ การต่อสู้เพื่อเลือดหมี การกดขี่และความเหลื่อมล้ำ
รวงทัพพ์ การต่อสู้เพื่อเลือดหมี การกดขี่และความเหลื่“ประจำเดือนจากผู้หญิงพรมจรรย์” คือคำกล่าวที่อาจจะเจอได้ค่อนข้างมากในเรื่องราวที่เกี่ยวกับเวทมนต์คุณไสย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีฤทธิ์ทำให้ “ของ” เสื่อมได้ ภาพลักษณ์ของประจำเดือนจึงเป็นไปในทางที่ไม่น่าพิศมัยเท่าไหร่นัก

ประจำเดือน ระดู วันนั้นของเดือน เมนส์ รวมไปถึงคำเกิดใหม่อย่าง “เลือดหมี” ล้วนเป็นชื่อเรียกของเหลวสีแดงที่ไหลออกมาจากช่องคลอดของบุคคลที่มีเพศกำเนิดเป็นหญิงในทุกๆ เดือน

เลือดนี้ก็ดูปรกติเหมือนเลือดทั่วๆ ไป แต่คำบอกคำสอนของผู้ใหญ่หรือแม้แต่ในสถานศึกษาบางแห่งได้สร้างความเข้าใจที่บิดเบือนอยู่ไม่น้อยว่า เลือดที่ออกมาจากอวัยวะเพศหญิงนั้นเป็น “เลือดเสีย” ซ้ำร้ายนอกจากจะบอกว่าเป็นของเสีย น่าเกลียดน่ากลัว ก็ยังพานไปกระทบกับสิ่งอื่นที่ได้สัมผัสหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเลือดนี้อย่างตัวผู้หญิงและผ้าอนามัย

แม้ในปัจจุบันจะมีการพยายามสร้างความเข้าใจเรื่องความเป็นสิ่งปรกติของประจำเดือนผ่านสื่อต่างๆ แต่ก็ปฏิเสธมิได้ว่าความเชื่อที่ผิดนั้นยังมีให้เห็นได้อยู่ทั่วไป หรือยิ่งไปกว่านั้นคือการพยายามไม่พูดถึงเลย ดังที่เห็นได้ในตำราเรียน ชีวิตประจำวัน การเมือง ศาสนา สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ร้อยเรียงผู้คนอย่างเหนียวแน่น แต่หากสิ่งที่สร้างความเป็นหนึ่งนั้นเกิดจากความเข้าใจที่ผิด หรือการพยายามเลี่ยงที่จะพูดถึง ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คงไม่เพียงแต่จะไม่น่าพิสมัย แต่ยังทำให้ความเชื่อนี้ยากที่จะถูกสั่นคลอน

ruangtap02
: ถ้วยอนามัย หนึ่งในทางเลือกของผู้มีประจำเดือนที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมและแพร่หลาย หากแต่สามารถอำนวยความสะดวกได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ruangtap03
อีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนมักไม่คุ้นเคย คือผ้าอนามัยสำหรับคนตั้งครรภ์(ขวา) ที่มีลักษณะแตกต่างจากผ้าอนามัยทั่วไป(ซ้าย) โดยใช้ร่วมกับสายคาดเอวแล้วปรับขนาดให้พอเหมาะกับสรีระของร่างกาย

ดังนั้นการต่อสู้เพื่อทวงคืนความเป็นสามัญจึงจำเป็นจะต้องเกิดขึ้นเพื่อหยุดวงจรการกดทับในหลายๆ มิตินี้ และหนึ่งในบุคคลที่มี “เลือด” นักสู้คือ รวง – รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี ที่เธอเรียกตัวเองว่า “อาร์ตทิวิสต์” และผู้ก่อตั้งกลุ่ม “หิ่งห้อยน้อย” ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับทาบู (taboo) หรือสิ่งที่สังคมกำหนดให้เป็นเรื่องต้องห้ามต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงเรื่องประจำเดือนด้วย

รวง หญิงผมสั้นผิวแทนวัย 30 กว่าๆ ในชุดเสื้อและกางเกงสีดำตัวโคร่งที่ดูคล่องและสบายตัว แต้มใบหน้าตัวเองด้วยยิ้มบางๆ เพื่อเป็นการทักทาย ก่อนจะเริ่มพูดถึงประเด็นที่จริงจังตึงเครียด ขัดกับเมนูที่เธอสั่งอย่างนมเย็น และผนังสีฟ้าครามของร้านกาแฟ

“เราเคยไปอยู่อินเดีย แล้วมีเพื่อนคนนึงเป็นคนแคมเมอรูน แล้วเขามีซีสต์ในมดลูกเลยต้องถูกเอาออก เขาเศร้ามากเลยเว้ย เพราะเขารู้สึกไม่มีค่า เพราะมันผูกกับความเป็นแม่ เรารู้สึกว่าผู้หญิงมันมีอำนาจตรงที่มีเลือดนี้ออกมาทุกเดือน มันจะเป็นแม่ด้วยเนอะ”

เธอเปิดบทสนทนาด้วยประสบการณ์ส่วนตัวที่สะเทือนใจและจำได้ไม่ลืม

สิ่งที่รวงกล่าวนั้นสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองต่อประจำเดือนในมิติต่างๆ ที่มีความซับซ้อนและทับซ้อนกันอย่างยากจะแยก อย่างที่รวงว่า

“เรื่องเมนส์มันมีหลายเรื่องมาเกี่ยว มันไม่ใช่แค่เมนส์ ดังนั้นถามว่าทำไมมาทำเรื่องเมนส์ เพราะเราเห็นว่าเมนส์มันเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดเรื่องอื่นๆ รวมถึง gender ด้วยซ้ำ แต่มันพูดแทบไม่ได้ คือเรารู้สึกว่าเมนส์มันถูกตีตราจังเลยว่ะ”

ruangtap04
การสาธิตถึงวิธีการทำเวิร์คช็อปที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมจะมีเพียงผู้หญิงเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ผ่อนคลายและเป็นกันเองในการทำกิจกรรม

มุมมองเมนส์ : จากโสมมสู่สามัญ

นอกเหนือจากมุมมองทางด้านวิทยาศาสตร์ที่หลายๆ คนทราบกันดีกว่าเมนส์นั้นไม่ใช่เลือดเสีย แต่เป็นเยื่อบุโพรงมดลูกที่ไม่ได้รับการฝังตัวจากตัวอ่อน จึงหลุดลอกออกมาทุกเดือนเพื่อให้ร่างกายของเพศหญิงนั้นมีความสมดุล รวมไปถึงการเกี่ยวข้องกับสภาวะทางอารมณ์ที่ผู้หญิงจะต้องเผชิญทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการมีประจำเดือน ก็ยังมีเลนส์ที่ใช้มองเมนส์ในมิติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ วัฒนธรรม สื่อต่างๆ ผ่านความรู้สึกที่มีทั้งโสมมและสามัญ

จากโสมม

การมองประจำเดือนเป็นของโสมมนั้นมีอยู่อย่างดาษดื่นโดยปรากฏอยู่ในหลายสิ่งรอบตัวและในหลากมิติจากทั่วทุกมุมโลก เริ่มจากใกล้ตัวในประเทศไทย เมื่อผู้หญิงเป็นเมนส์ก็ต้องถัดบันไดเพื่อให้เลือดหยุดไหลในเร็ววัน มองไกลออกไปอีกหน่อยก็จะพบประเทศอินเดียที่คนเป็นเมนส์มีวิถีชีวิตที่ยากลำบากจนถึงขนาดต้องยอมแก้ปัญหาแบบตามมีตามเกิดโดยการลาออกจากโรงเรียนหรือที่ทำงาน เพราะกลายเป็นตัวกาลกิณีในบัดดลเมื่อเลือดหมีมาเยือน

สิ่งเหล่านี้สะท้อนค่านิยมต่อประจำเดือนว่าเป็นสิ่งที่ควรจะทำอย่างไรก็ได้ให้หมดโดยเร็วที่สุดเพราะมันคือของโสมม

ในแง่มุมของความเชื่อและศาสนา เมนส์ถูกมองว่าเป็นของสกปรก ทำให้ผู้หญิงหลายคนที่อยู่ในระหว่างช่วงมีระดูไม่สามารถเข้าประกอบพิธีกรรมได้ หรือในบางศาสนาก็ห้ามประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ถ้าเลือดไหลอยู่ ถ้าจะทำก็ต้องไปอาบน้ำล้างตัวก่อน เมื่อเลือดไหลก็ต้องพยายามอั้นไว้ ทั้งๆ ที่ตามจริงแล้วไม่สามารถทำได้ หรือต้องหยุดแล้วไปล้างตัวอีกรอบหนึ่ง

การมองประจำเดือนด้วยเลนส์ของความโสมมนั้นไม่เพียงแต่จะกดทับผู้มีประจำเดือนและพื้นที่สาธารณะของพวกเขาเหล่านั้นจนแทบเป็นอัมพาต หากแต่ยังส่งผลถึงอนุชนคนรุ่นหลังที่ต้องรับเคราะห์กรรมจากค่านิยมนี้

“รู้สึกเหมือนมันเป็นการเรียนรู้อยู่คนเดียวเงียบๆ ทั้งศึกษาเรื่องกลิ่น เรื่องสี บางคนยังไม่รู้เลยว่าเมนส์มันมีได้หลายสี สีแดง สีเข้ม สีเขียวแบบสังขยาก็มี เพราะเราไม่พูดคุยกัน”

รวงกล่าวด้วยน้ำเสียงนุ่มลึกเมื่อถูกถามถึงการที่ประจำเดือนถูกมองเป็นเรื่องต้องห้าม

เธอยังเล่าให้ฟังว่าครั้งหนึ่งเธอเคยจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปเกี่ยวกับประจำเดือนและผ้าอนามัยแบบต่างๆ เด็กๆ ที่มาเข้าร่วมงานนั้นไม่เพียงแต่จะไม่เข้าใจเรื่องประจำเดือน หากแต่ยังไม่รู้ว่าสิ่งที่พวกเขาเห็นคือผ้าอนามัย และนี่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเด็กผู้ชาย แต่เด็กผู้หญิงที่ในภายภาคหน้าจะต้องมีประจำเดือนก็รู้สึกฉงนในแผ่นกระดาษรูปวงรีที่มีปีกสองข้างไม่ต่างกัน

การทำให้เมนส์กลายเป็นของสกปรกและเลี่ยงที่จะพูดถึงส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างเกินจะจินตนาการ นอกจากจะทำให้ผู้มีประจำเดือนกลายเป็นคนชายขอบ หมดพื้นที่ในการแสดงความสามารถ กลายเป็นคนไร้ค่าและไม่จำเป็นในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ก็ส่งผลกระทบต่ออนาคตการศึกษาของประเทศอีกเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดีในความเชื่อก็มีความย้อนแย้งสอดไส้ไว้อย่างน่าอัศจรรย์ใจจนนำไปสู่การทวงพื้นที่ความเป็นสามัญ

ruangtap05
ผ้าอนามัยที่ทำจากกระดาษตัด และเมนส์จำลองที่มีลักษณะแตกต่างกันไป คือสิ่งที่ปรากฏในเวิร์คช็อปของรวง ซึ่งล้วนแสดงถึงประสบการณ์การมีประจำเดือนที่แตกต่างกันของผู้เข้าร่วม

สู่สามัญ

แม้ในทางศาสนาและความเชื่อจะมองเห็นประจำเดือนเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ในบางครั้งวัฒนธรรมย่อยหรือความเชื่อที่แตกแขนงลงไปกลับมองเห็นเลือดเสียนี้เป็นเรื่องปรกติ หรือยิ่งไปกว่านั้นกลับมองว่าเป็นสิ่งวิเศษ

“ความประทับใจแรกเรื่องประจำเดือนในไทยไม่เคยถูกทำให้น่ารักสดใส ซึ่งมันต่างจากวัฒนธรรมอื่น อย่างญี่ปุ่น ที่นั่นเวลาที่เด็กผู้หญิงมีประจำเดือนครั้งแรก เขาจะเรียกทุกคนในบ้านมาแล้วอวยพรให้เด็กว่า หนูโตเป็นผู้ใหญ่แล้วนะ ซึ่งมันโคตรต่างกับการถัดกระไดสามขั้นมาก”

เธอกล่าวพร้อมยิ้มเล็กๆ ให้กับความน่ารักของวัฒนธรรมแดนปลาดิบ แต่ยังคงสีหน้าที่จริงจังไว้เมื่อกลับมาพูดถึงขั้นบันไดไทยแลนด์

รวงได้แต่ฝันว่าสักวันความเป็นปรกติจะเกิดขึ้นกับประเทศของเราบ้าง และเฝ้ารอวันที่เธอจะไม่ต้องดีใจที่เรื่องปรกตินั้นได้การยอมรับว่าปรกติ

นอกเหนือจากความสามัญที่เกิดขึ้นก็ยังมีการรับรู้ความหมายของประจำเดือนในมุมที่ต่างออกไปและออกจะย้อนแย้งอยู่ไม่น้อย กล่าวคือการมองว่าเลือดประจำเดือนนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่า โดยมุมมองดังกล่าวถูกถ่ายออกมาผ่านตัวบทวรรณกรรมทั้งไทยและเทศ

“เราเคยอ่านงานของ ‘พนมเทียน’ ตอนเด็กๆ ‘พนมเทียน’ เขียนว่าผู้หญิงที่มีประจำเดือนครั้งแรกมันสามารถเอาไปตัดเหล็กไหลได้ แล้วมันต้องทรงพลังขนาดไหนถึงจะเอาเมนส์ไปตัดเหล็กไหลได้ คือมันต้องมีอำนาจมากๆ เลยนะ”

สิ่งที่รวงพูดก็นับเป็นความน่าอัศจรรย์ที่ซ่อนอยู่ในความโสมมอย่างหนึ่ง ความเชื่อที่หลอมความคิดปั้นความรู้สึกขึ้นมา ในวันนี้กลับมีความย้อนแย้งสู้กันอยู่เต็มไปหมด หรือนี่อาจจะเป็นสัญญาณการต่อสู้เพื่อช่วงชิงพื้นที่ความเป็นปรกติอยู่ก็ได้ ซึ่งหากลองตั้งคำถามว่าความปรกตินี้ถูกช่วงชิงไปเมื่อใด และจากใครหรืออะไร ก็คงจะมีทั้งคนที่มองเห็นเพราะเป็นปัญหาขนาดใหญ่แบบเตะตา หรือคนที่มองไม่เห็นเพราะโดนครอบไว้จนรู้สึกว่าสิ่งที่เป็นอยู่มันก็เป็นแบบนี้มานานนมแล้ว

ruangtap06
รวงดำเนินการโครงการต่าง ๆ ด้วยความต้องการที่จะช่วยเหลือกลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องที่หลายคนอาจมองเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย

การกดขี่จากปิตาธิปไตย : แข็งแกร่งเท่าไร เปราะบางเท่านั้น

รวงบอกว่าการกดขี่นั้นเป็นเรื่องของอำนาจ หรือระบอบ “ปิตาธิปไตย” ซึ่งรับบทเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดการกดทับประจำเดือน ผู้มีเพศกำเนิดเป็นหญิง รวมไปถึงผ้าอนามัย

สังคมที่มองว่าชายเป็นใหญ่ เป็นผู้ที่เหนือกว่า แทรกซึมเข้าไปในหลายๆ ช่วงชีวิต หรือถ้าจะให้ถูก ระบอบนี้แฝงตัวอยู่ในทุกย่างก้าวและทุกขณะจิต

“มันเป็นเรื่องของอำนาจเนอะ ตั้งแต่เมื่อก่อน ผู้หญิงมีอำนาจมากอยู่แล้ว ผู้ชายพยายามจะลดอำนาจนี้ลง เพราะผู้หญิงรู้มาก เก่งด้วย ละเอียดด้วย มันเชื่อมไปถึงเรื่องการปกครอง ศาสนา การเมือง ไม่งั้นชนชั้นปกครองต้องมีผู้หญิงสิ แต่มันต้องทำให้ผู้หญิงด้อยสักอย่าง ซึ่งเมนส์ก็เป็นข้ออ้างที่ด้อยโคตรๆ เลยอะ แล้วมันก็มีแค่ในผู้หญิง เมนส์ก็ดูเหมือนเป็นภาระ ทำให้แย่ได้”

ความเปราะบางของระบอบที่มีภาพลักษณ์ว่าแข็งแกร่งนี้พยายามทำให้การมีประจำเดือนเป็นเรื่องน่าละอาย รวมไปถึงบั่นทอนสภาพจิตใจของผู้มีประจำเดือนอีกทอดหนึ่ง

“มีพี่คนหนึ่งเขาสอบติดพยาบาลเนอะ เขาอะกลัวว่าถ้าเรียนพยาบาลแล้วเมนส์จะเลอะกระโปรง เขาก็เลยไม่เป็นพยาบาล เพราะมันต้องใส่ชุดขาวตลอดเวลา คือมันแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงต้องอยู่ในพื้นที่ไร้มลทินมาก อะไรที่ต้องอยู่ในชุดขาวมากๆ พอมันมีเลือดเหมือนมันมีมลทิน”

ดูฟังเป็นเรื่องปัจเจก แต่หากลองตั้งคำถามว่าทำไมคนคนหนึ่งถึงมีความคิดที่นำไปสู่การตัดสินใจเช่นนี้ หากมองย้อนกลับมา ปิตาธิปไตยก็คงได้รับรางวัลตัวเอกของเรื่องนี้อย่างไม่ต้องสงสัย นอกเหนือจากการลดทอนคุณค่าและความรู้สึกรักตัวเองของผู้มีประจำเดือน สิ่งที่ปิตาธิปไตยใช้เท้าเหยียบไว้อย่างสุดแรงก็คงเป็นเรื่องของการศึกษา

“การสอนเรื่องเพศศึกษาในไทยมีจำกัด มันชัดมากตรงที่สุดท้ายแล้วมันก็มีแต่เรื่องเพศที่เป็น sexual desire ไม่ได้มองเรื่องสุขภาพเลย เรื่องเดียวที่ไทยสามารถพูดถึงได้คือเรื่องการบำรุงประจำเดือน ซึ่งมันก็สอดคล้องกับการมีเพศสัมพันธ์ หรืออย่างการรณรงค์เรื่องประจำเดือน พวกแพนโทนมันก็มีแต่สีแดง ไม่ได้มีเลือดสีอื่นด้วย ทั้งที่จริงๆ แล้วมันมีเยอะมาก”

พูดจบเธอก็หันไปคว้าของประมาณสี่ห้าอย่างในกระเป๋าออกมาให้ดู ในกองนั้นมีถ้วยอนามัยไซซ์ต่างๆ รวมถึงผ้าอนามัยซักได้ลวดลายน่ารัก ขัดกับภาพลักษณ์เลือดเสียที่ต้องใช้คู่กัน

“อันนี้เราซื้อที่เยอรมันประมาณ 700 บาท เป็นซิลิโคนการแพทย์ ก็มีวิธีใส่ต่างกันไปแล้วแต่คน นั่ง ยืน นอน ให้คนอื่นใส่ให้ ส่วนอันนี้ไซซ์ XL ซื้อมาจากอินเดีย ไซซ์ก็ต่างกันไปตามขนาดช่องคลอด มีหลายคนมากที่ยังไม่รู้จัก อันนี้ก็ผ้าอนามัยซื้อมาจากยูกันดา เป็นผ้าอนามัยแจกให้เด็ก เราซื้อมาเป็นตัวอย่างเอามาโชว์”

ของที่รวงหยิบออกมานั้นก็คือทางเลือกในการใช้ชีวิตของผู้หญิงที่หลายคนเองก็ไม่แม้แต่จะรู้จัก หรือแม้จะรู้ก็ไม่กล้าใช้ เพราะมีการตีตราต่ออีกชั้นหนึ่ง อย่างถ้วยอนามัยใครจะใช้ก็คงต้องเป็นคนไม่ซิง ไม่บริสุทธิ์ ซึ่งก็เป็นการยึดโยงคุณค่าผู้หญิงผ่านระบอบชายเป็นใหญ่อีกชั้นหนึ่ง

มุมมองมากมายจากรวงพรั่งพรูออกมาไม่หยุดผ่านริมฝีปากสีแดงอมม่วงที่เธอตั้งใจทามาเพื่อแสดงถึงสีของประจำเดือน เมื่อเมนส์คือเรื่องไม่ปรกติ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับเมนส์ก็ถูกทำให้เป็นเรื่องไม่จำเป็นจะต้องพูดถึงเช่นกัน

ruangtap07
การต่อสู้ของรวงทัพพ์ คืออการแสดงออกด้วยผลงาน แม้ผ้าอนามัยทำมือของเธออาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จัก แต่มันก็ทำหน้าที่เรียกร้องให้คนในสังคมได้รับรู้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่นี้

เมนส์ : ภาพแทนความเหลื่อมล้ำ

“สิ่งที่เราพยายามพูดมากไปกว่าเรื่องสุขภาวะคือเรื่องความต้องการพื้นฐาน เพราะว่าเอาจริงๆ โควิดมันเห็นชัดว่าลูปการทำงานการใช้ชีวิตมันเปลี่ยนไป ตอนเราลงพื้นที่คลองเตย เขาจะดีใจถ้าเราเอาของ (ผ้าอนามัย) ไปให้เขา เพราะพอที่ทำงานปิด เขาไม่มีรายได้ ความมั่นคงแทบไม่มี”

รวงยกตัวอย่างชุมชนคลองเตยในช่วงโควิดระบาดให้ฟังเมื่อถูกถามถึงความเหลื่อมล้ำที่สะท้อนเสียงผ่านผ้าอนามัย

“ข้าวยังมีคนเอามาให้กิน ถึงไม่อร่อยก็ยังมี แต่ผ้าอนามัยเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องใช้ ถ้าไม่มีก็ออกไปเอาข้าวไม่ได้ โคตรซับซ้อนเลยเนอะ”

เธอบอกว่าเคยคิดอยากจะทำผ้าอนามัยแบบซักได้ไปแจก แต่ก็ติดที่ความแออัดของชุมชนนั้นเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะถ้าจะซักล้างตากแห้งก็คงมีปัญหาเนื่องจากบ้านทุกหลังติดกันอย่างแน่นขนัด บ้านหลังหนึ่งอาจมีเลขที่บ้านอื่นแฝงถึง 50 หลัง เธอบอกว่ามันคืออะเมซิ่งไทยแลนด์ที่เหลื่อมล้ำของจริง ดังนั้นเมื่อพื้นที่ไม่เอื้อ คนยังไม่เข้าใจมาก เธอเลยเลือกที่จะแจกผ้าอนามัยแบบทั่วไปไปก่อน

อาร์ตทิวิสต์รวงยังบอกต่ออีกว่าหลายคนอาจจะนึกไม่ถึงว่าต้องแจก แต่นั่นมันเป็นเพราะอะไร ถ้าไม่ใช่เพราะมองว่าผ้าอนามัยไม่ได้เป็นของจำเป็นและสังคมยังเลี่ยงที่จะพูดถึง และการไม่พูดถึงก็คือการผลักความสำคัญของเรื่องเหล่านี้ออกไปไกลเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ผ้าอนามัย แต่เป็นคนอีกหลายกลุ่มในสังคม เด็ก, ผู้ใหญ่, คนแก่, sex worker หรือแม้แต่คนท้อง ที่หลายคนก็อาจยังไม่รู้ว่ามีประจำเดือนได้อันเป็นผลมาจากช่วงเวลาของการตกไข่

ruangtap08
ข้อความส่วนหนึ่งจากม็อปที่รวงได้เข้าไปทำกิจกรรม แสดงออกถึงความต้องการของผู้หญิงหลายคนที่บอกเล่าออกมาผ่านความรู้สึกและมุมมองที่ตนถูกสังคมตัดสินต่าง ๆ นานา

การต่อสู้เพื่อเลือดหมี

เมื่อเสียงของความจำเป็นและความเห็นใจส่งไปไม่เคยถึง การออกมาต่อสู้ทั้งเพื่อตนเองและคนอื่นจึงต้องเกิดขึ้น

รวง ในฐานะอาร์ตทิวิสต์และคนมีประจำเดือนคนหนึ่ง พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ประเด็นนี้เป็นที่พูดถึงในวงกว้างอย่างสิ่งปรกติทั่วไปในชีวิตที่มนุษย์พึงตระหนัก

“ที่ผ่านมาก็มีทำเวิร์กช็อป อยากลองทำไหม ง่ายมาก ว่างหรือเปล่าล่ะ”

สิ้นคำถามก็ทำการย้ายสถานที่พูดคุย รวงเดินนำออกจากร้านกาแฟไปยังห้องพักของเธอซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก ระหว่างทางเธอก็เล่าถึงกิจกรรมในอนาคตที่อยากทำ

“กิจกรรมเวิร์กช็อปผู้ชายเข้าร่วมได้ไหม”

“ยังไม่ได้เนอะ เพราะตราบใดที่ยังไม่มีพื้นที่ปลอดภัยก็ยังให้ทุกคนเข้าไม่ได้ ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้เขาพูด ยิ่งพูดเรื่องเพศยิ่งถูกตีตรา”

“แล้วเร็วๆ นี้จะมีกิจกรรมที่ผู้ชายเข้าร่วมได้หรือเปล่า”

“อยากทำเป็นจิ๋ม festival เลยละ ติดแค่หาเงินทุน” (หัวเราะ)

ระหว่างทางเดินขึ้นห้องก็มีกล่องพัสดุตั้งใหญ่ที่รวงบอกว่ามันคือผ้าอนามัยที่กำลังจะเอาไปแจก ทุกลมหายใจเข้าออกของรวงล้วนเกี่ยวพันกับการเรียกร้องเพื่อเพื่อนมนุษย์

“รกหน่อยนะ มีแต่ของใช้ทำกิจกรรม” พูดจบเธอก็หายเข้าไปในห้องนอน หยิบอุปกรณ์การทำเมนส์จำลองและของชิ้นอื่นๆ ที่เปรียบเสมือนของที่ระลึกจากการที่เธอออกไปเป็นกระบอกเสียง

รวงหยิบสมุดกระดาษแข็งออกมา ฉีกอย่างคล่องแคล่ว และเริ่มตัดเป็นรูปร่างที่คุ้นเคยกันดี ผ้าอนามัยจำลองทั้งแบบมีปีกและไม่มีปีก

“ทำง่ายมาก เสร็จแล้วเราก็เอาสีมาทา เอากาแฟ แยม เอาน้ำแดง มันก็จะได้หลายสี คนก็จะได้รู้ว่าเลือดจากจิ๋มมันไม่ได้มีแค่สีแดง” หลังจบการสาธิตเวิร์กช็อปง่ายๆ แต่ทรงพลังเธอก็เล่าถึงผลตอบรับให้ฟัง ซึ่งก็มีทั้งตระหนักรู้เพิ่มขึ้นและรับไม่ได้

“เพื่อนที่เห็นบอกไม่โอเค รับไม่ได้ เพราะว่ามันรู้ว่าไงว่าถ้าวางบนพื้นผิวแบบนี้ มีลักษณะแบบนี้ มันคือเลือดเมนส์ อ้าว แล้วเลือดอื่นอะ มันอาจจะเป็นเลือดอื่นก็ได้ ยังไม่ได้บอกเลยว่าเป็นเลือดจริงๆ นี่ขนาดเป็นแค่ภาพจำลองนะ เอาน้ำหวาน เอาแยมมาทำ”

ยิ่งได้รับผลตอบรับแบบนี้ ยิ่

ต้องเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นเรื่องสามัญให้ได้

นอกจากการทำกิจกรรมเวิร์กช็อปแล้ว รวงยังใช้โอกาสที่เธอคว้าจากการผุดของม็อบเรียกร้องประชาธิปไตยในการเข้าไปหาพื้นที่ให้ประจำเดือน ผ้าอนามัย และรวมไปถึงความหลากหลายทางเพศ

“ม็อบมันคือการอ้วกแตก (ปัญหา) ทุกอย่างออกมา”

แม้รวงจะไม่ค่อยชอบการไปม็อบ เพราะเธอเคยได้เห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าม็อบทำให้เสียงของเธอดังมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว เพราะคนให้ความสนใจอย่างมาก เธอจึงเลือกที่จะออกไปใช้พื้นที่นี้ร่วมกับการแสดงออกทางศิลปะที่เธอชื่นชอบ

“เราก็วาดรูปจิ๋มว่ามันมีแบบต่างๆ มันไม่ได้มีแค่แบบเดียว แล้วก็ให้คนมาเขียนข้อความด้วย เอาไปดูสิ”

พูดจบเธอก็หยิบถุงพลาสติกไซซ์กลางที่มีกระดาษมากมายอยู่ในนั้น ทุกใบล้วนมีข้อความจากผู้คนหลากหลายเพศ วัย และอาชีพ บ่งบอกถึงความต้องการให้ประจำเดือนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเหมือนกับเลือดอื่นๆ ให้มีสถานะเป็นสิ่งปรกติและไม่ใช่ของโสมมอย่างที่ใครเขาหลอกลวง

านศิลปะของเธอ นอกจากจะให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้ชุมนุมและได้สร้างกิจกรรมแล้ว ก็ยังกระพือความสนใจในโลกออนไลน์ได้อย่างเหลือเชื่อ ผู้คนที่เข้าร่วมพากันถ่ายรูปกิจกรรมลงโลกโซเชียลฯ มีการกดแชร์อย่างมากมาย บรรดาสื่อพากันทำข่าวและสัมภาษณ์เธอ

รวงยินดีที่ท้ายที่สุดแล้วงานศิลป์ดังกล่าวก็ได้เข้าไปเตะตา เขย่าใจ และสั่นคลอนความเพิกเฉยของใครหลายคน จนเกิดการตื่นรู้ และแบ่งปันประสบการณ์ในโลกออนไลน์เกี่ยวกับประจำเดือนและผ้าอนามัยมากขึ้น

หลังพูดคุยเรื่องเลือดหมีและเล่าถึงโครงการอีกมากมายที่เธอวางแผนไว้คร่าวๆ จนจบ ก็ถึงเวลาที่จะต้องแยกย้าย เพราะรวงจะต้องเดินทางไปเชียงใหม่เพื่อคุยงานเกี่ยวกับการทำผ้าอนามัยต่อ

รวงขออนุญาตส่งแค่หน้าห้อง เพราะมีลางสังหรณ์ว่าอาจจะตกเครื่องได้ถ้ายังไม่เก็บของเดี๋ยวนี้ เราจึงแยกย้ายกันอย่างง่ายๆ และคาดหมายว่าจะได้พูดคุยกันอีก

ระหว่างทางเดินลงบันได กล่องพัสดุกองเดิมก็เตะเข้ามาที่ตาอีกครั้ง พร้อมกับการแวบเข้ามาของคำถามที่น่าคิดต่อจากคำพูดของรวงคือ ในเมื่อม็อบคือการอ้วกแตกปัญหาต่างๆ รวมไปถึงปัญหาเรื่องประจำเดือนและผ้าอนามัย แล้วใครล่ะจะเช็ดอ้วกนี้ คงไม่มีใครอยากจะอมหรือกลืนอ้วกลงท้องตัวเองจริงหรือไม่