ชลธิชา พรโสฬวี : เรื่อง
ณิชาธร ตั้งศรีถาวร : ภาพ

“หมากชีวิตคิดหมายคล้ายหมากรุก ตะลุยบุกวางศักดิ์จัดทัพใหญ่
อุปมาตนดังขุนศึกบัญชาชัย ทั้งเบี้ยไซร้ม้าเรือต่างเชื่อฟัง
พอจบเกมถอดทิ้งอิงหัวโขน จะหยิบโยนชีวิตแลกหามีไม่
หมากกระดานยังต้องคิดพินิจใจ หมากชีวิตไม่คิดอะไรหาใช่คน”
เคยมีคำกล่าวว่าการเล่นเกมกระดานคือการสร้างโลกจำลอง
คนจนจะกลายเป็นนักธุรกิจเวลาเล่นเกมเศรษฐี พัศดีจะกลายเป็นนักพนันถ้าได้เล่นน้ำเต้าปูปลา และหากอยากลองเป็นพระราชาให้ดวลเกมหมากรุก… แต่ถ้าจะต้องบรรยายการสวมบทบาทของนักเดินหมากแห่งไชน่าทาวน์ ดูจากท่าทางการเล่นที่โลดโผนจนนั่งไม่ติดที่กับการโขกหมากที่แข็งแรงราวกับออกหมัดแล้ว ใช้คำว่าจอมยุทธ์คงเหมาะกว่าพระราชาเป็นแน่


จอมยุทธ์กระดานไม้
ท่ามกลางความร้อนระอุของแดดบ่าย 3 เสียงโขกกระดานดังกุบกับริมฝั่งถนนเจริญกรุง 18 หน้าร้านนานมีเครื่องเขียนดึงดูดความสนใจของคนสัญจรและพ่อค้าแม่ขายในย่านจีนถิ่นไทยแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี ลานประลองหมากรุกขนาดกะทัดรัดตั้งอยู่บนทางเท้า โต๊ะพับถูกจัดวางตรงกลางเพื่อเป็นที่ตั้งกระดานไม้ เก้าอี้พลาสติกสีสดเป็นที่นั่งของจอมยุทธ์ทั้งหลาย
ลุงหมูหรือ “หมูสามแยก” เจ้าของฉายาเซียนหมากไร้พ่ายแห่งถนนมังกรกำลังเล่นหมากรุกอยู่ท่ามกลางวงล้อมของเพื่อนๆ วัยดึกอย่างอารมณ์ดี เสียงหัวเราะของแกดังกว่าเสียงแตรรถ มือไม้ตบฉาดลงตักตัวเองอย่างชอบอกชอบใจ ไม่นานคู่ต่อสู้ของลุงหมูก็กุมหัวแล้วยกมือเป็นเชิงว่ายอมแพ้ ก่อนจะล้มกระดานแล้วตั้งใหม่เพื่อแข่งนัดล้างตา ซึ่งพอฉันเข้าไปถามคนดูรอบๆ แล้วก็ทราบความว่าขอล้างไปหลายตาแล้วเหมือนกันแต่ไม่ชนะเสียที เพราะลุงหมูแกเก่งจนล้มไม่ลง
“ลุงก็เพิ่งเริ่มเล่นได้ 10 กว่าปีเท่านั้น ยังไม่ถือว่านานเลย คนเค้าหัดจริงๆ ต้องเล่นมา 30 ปีขึ้นไปนู่น ไอ้เราก็กะเล่นเอาสนุก เล่นไปเล่นมาก็ชนะเรื่อยเสียอย่างนั้น คนมาท้าแข่งกันพรึบไปหมดตอนมาแรกๆ เลยได้ฉายา ‘หมูสามแยก’ มานี่แหละ”
ลุงหมูเล่าที่มาของฉายาให้พวกเราฟัง ท่ามกลางความร้อนของแดดคละเคล้าไปกับมลภาวะริมถนน แกยังเล่าอีกว่าตอนแรกที่ย้ายมาใหม่ๆ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วแกยังไม่รู้จักใครมาก แต่ก็อยากจะเล่นหมากรุก จึงได้เอากระดานหมากมาตั้งกับโต๊ะเล็กๆ บนทางเท้า ขายพระไปด้วย นั่งเล่นคนเดียวไปด้วย คนผ่านไปผ่านมาก็งงกันหมด แต่ไม่นานก็มีคนคอเดียวกันมานั่งเล่นแล้วบอกกันปากต่อปาก จนเป็นที่รู้กันว่าถ้าอยากเล่นหมากรุกต้องมาตรงนี้
“คนที่มาก็มารวมกันด้วยหลายเหตุผลนะ บางคนชอบดู บางคนชอบเล่น บางคนอยู่บ้านเฉยๆ แล้วเบื่อก็ออกมาหาเพื่อนคุย สังคมคนแก่น่ะหนู บางทีลูกหลานมันก็คุยกับเราไม่รู้เรื่อง เลยออกมาคุยกันเองดีกว่า ที่เล่นๆ ด้วยกันมานี่ก็รู้จักกันเกิน 5-6 ปีแล้วส่วนใหญ่ อย่างคนเสื้อชมพูตรงนั้นก็เล่นด้วยกันมาตั้งแต่ยังยศจ่าจนตอนนี้เป็นผู้หมวดแล้ว เก่งขึ้นเยอะ เป็นคนทำกระดานไม้ให้ใหม่ด้วยนะ สมัยนี้ต้องเรียกสปอน อะไรนะ เออ สปอนเซอร์” ลุงหมูเท้าความ มือข้างหนึ่งก็ถือพระเครื่อง ตาก็ดูกระดานที่กำลังแข่งไปด้วย เกมนี้จบลงด้วยการเสมอ ลุงหมูจึงขอตัวลุกออกมาเป็นผู้ชม เปิดทางให้ผู้ท้าชิงคนอื่นได้ประลองฝีมือกันบ้าง

เกมกระดานผูกสัมพันธ์
แต่เดิมแล้วหมากรุกเป็นการละเล่นที่อิงจากการทำศึกสงครามของอินเดีย โดยมีชื่อที่ไม่คุ้นหูนักว่า “เกมจตุรงค์” ซึ่งจำลองจากการวางแผนการรบในสมัยนั้น จึงประกอบด้วยพลทหารสี่เหล่าของกองทัพทั้งสองฝ่าย คือ พลเรือน (เบี้ย) พลทหารม้า พลเรือ และพลช้าง ซึ่งตัวหมากที่สำคัญที่สุดของเกมนี้คือขุน ซึ่งมีศักดิ์เท่าพระราชา ถือเป็นหมากที่กุมชะตาของเกม ถ้ากินหมากตัวนี้ได้ย่อมได้รับชัยชนะ
และแม้เกมการละเล่นนี้ประเทศไทยจะนิยมกันมานานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ก็นิยมในชนชั้นสูงและพระสงฆ์เท่านั้น ต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะเข้าสู่ยุคสมัยที่การละเล่นที่ถูกยกไว้สูงนี้จะแพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไปในสมัยอยุธยาและยังคงเป็นที่นิยมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยความร่วมสมัยของเกมกระดานชนิดนี้ จึงไม่แปลกหากผู้เล่นส่วนใหญ่จะค่อนข้างเอนไปทางกลุ่มผู้สูงวัย เพราะพวกเขาได้เกิดและเติบโตมาพร้อมกับหมากรุกนั่นเอง
พอได้มองไปรอบๆ อย่างซึมซับบรรยากาศแปลกตานี้แล้ว สังคมหมากกระดานริมถนนนี้ไม่ได้มีเพียงกลิ่นอายของผู้ท้าชิงเพียงเพื่อจะหักเอาชัยชนะเพียงเท่านั้น มันคล้ายกับชุมชนขนาดย่อมๆ ของผู้สูงอายุวัยเปลี่ยวเหงาแต่ยังเก๋าอยู่มากหน้าหลายตามาปรับทุกข์กันผ่านการละเล่นอย่างผู้มองตาก็รู้ใจ การสวมบทบาทผู้เล่นและผู้ชมการแข่งขันคืนความตื่นเต้นในชีวิตที่อาจจะสัมผัสได้ยากยิ่งในบ้านหรือที่ไหนๆ ด้วยสังขารที่ร่วงโรยตามกาลเวลา
“ลุงก็ไม่ได้มาบ่อยหรอก นี่ก็แวะลงจากรถเมล์มาดูเดี๋ยวสักพักก็ไปต่อ” ลุงกวง หนึ่งในผู้ชมสูงวัยบอกกับเราอย่างนั้น แกยังดูแข็งแรงดีและท่าทางจะจดจ่อกับหมากกระดานนี้มากเป็นพิเศษ
“นั่งรถไปไหนเหรอคะลุง”
“ยังไม่รู้เลย วันนี้อาจจะนั่งไปจตุจักร ไปเดินเล่นเสียหน่อยแล้วค่อยกลับบ้าน ตอนหนุ่มๆ ไม่ค่อยมีเวลา แต่พอแก่ตัวมามีเวลาก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร เพื่อนฝูงก็ไปรอบนฟ้ากันหมดแล้ว” แกตอบสบายๆ แต่เราแอบสะท้อนใจเล็กๆ ในคำกล่าวนั้น
“ลุงน่ะตอนหนุ่มๆ ชอบเล่นกีฬา ทั้งฟุตบอล ว่ายน้ำ แต่พอแก่ตัวมาก็เล่นอะไรไม่ไหวแล้ว มีหมากรุกนี่แหละที่พอจะแข่งกับเค้าได้ แต่ก็เล่นไม่ค่อยชนะหรอกนะ” คุณลุงอีกคนเล่าให้ฟังบ้าง เราพยายามถามชื่ออยู่หลายครั้ง แต่คุณลุงดูจะไม่อยากบอก เลยคิดเอาเองว่าอาจจะเขินเลยไม่ได้เซ้าซี้อีก
เรื่องราวมากมายของผู้ผ่านโลกมามากถูกบอกเล่าผ่านคำพูดและสายตาที่จับจ้องและยึดโยงไว้กับกระดานหมากรุก คุณลุงบางคนไม่เคยลงแข่งเลยแม้สักตาเดียว แต่ก็ยังมาเพราะว่าจะได้เจอคนรุ่นเดียวกันให้พูดคุยได้บ้าง
“ตอนแรกก็ดูไม่เป็น เห็นท่าคนเล่นแล้วมันเพลินดีเลยดูจนจำได้ว่าเขาเดินกันยังไง แต่ไม่เคยเล่นหรอก ชอบดูมากกว่า”
นี่มันชุมชนคนเหงาชัดๆ
เรามองหาลุงหมูผู้เป็นหนึ่งในใต้หล้า ที่หายไปจากวงตอนไหนก็ไม่รู้อย่างคอยท่า เพราะอยากจะได้ข้อมูลเพิ่มอีกสักหน่อย ราวกับอ่านใจกันออก ไม่นานลุงแกก็เดินกลับมา แต่กลับมาพร้อมกับขวดเหล้า! เหล้าขาวเสียด้วย ฉลากอาชา 40 ดีกรีแปะหราอยู่หน้าขวด ดูเหมือนจอมยุทธ์กระดานไม้ของเราจะกลายเป็นไอ้หนุ่มหมัดเมาเสียแล้ว
“มันเมาแล้ว คงไม่เล่นต่อแล้วแหละ ไอ้หมูเมาทีไรใจอ่อนอยู่เรื่อย เล่นไม่เป็นเล่น” คุณลุงอีกคนบอกอย่างคนคุ้นเคยสถานการณ์ดี
“กูใจอ่อนแต่คอแข็งนะเว้ย คงพอแทนกันได้” ลุงหมูตอบเสียงดังแต่ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง และบทสนทนาตอนนี้คงต้องตัดออกเพราะหลุดคำหยาบมากล้อมแกล้มอยู่หลายประโยค พวกคุณลุงแซวกันแรงน่าดู แต่ก็แน่ใจได้ว่าไม่มีผิดใจกัน เพราะจบบทสนทนาด้วยเสียงหัวเราะกันทั้งวง เรื่องจบลงที่ลุงหมูไปเฝ้ากระบะพระของตัวเอง พอเราหันมาอีกทีแกก็เก็บของหายไปเสียแล้ว


ตะแคงเรือ
พวกเราหันความสนใจกลับมาที่กระดานหมากต่อ ลุงรอง หรือ “ลุงรองตะแคงเรือ” เป็นฉายาที่ชุมชนคนเหงาแห่งนี้ตั้งให้ เพราะแกชอบตะแคงเรือให้ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามที่มาใหม่จนแทบจะเจอในทุกกระดานที่แข่ง การตะแคงเรือหมายถึงการยอมอ่อนให้ เพราะเวลาตะแคงหมากเรือจะกลายเป็นเม็ด (ศักดิ์หมากต่ำกว่า) ที่เดินได้จำกัดช่องมากกว่า
“โห หยามกันสุดๆ แล้วถ้าลุงรองแกแพ้ขึ้นมาล่ะคะ ไม่เสียหน้าเหรอ”
“ก็แข่งมันล้างตาอีกรอบ แต่ก็ไม่ตะแคงเรือให้แล้วนะ เพราะรู้แล้วว่าไม่อ่อน”
คุณลุงที่เป็นผู้ชมอธิบายยิ้มๆ ไม่นานก็มีรถมอเตอร์ไซค์สีแดงมาจอดข้างๆ ทางเท้า พี่ชายเสื้อเหลืองลงมาจากรถเพื่อขอเล่นด้วยทั้งที่ยังไม่ถอดหมวกกันน็อก ลุงรองตอบรับด้วยความยินดีและตะแคงเรือให้ตามฉายาของตน
การเล่นหมากตานี้เป็นไปอย่างดุเดือด เบี้ยฝ่ายขาวโจมตีทหารราบฝ่ายดำและเข้ายึดพื้นที่ ฝ่ายดำไม่รอช้าสวนทหารม้าเข้ามาสกัดทัพ เรือขาวคอยท่าอยู่แล้ว รีบเคลื่อนมาประชิดหวังจะเผด็จศึกขุนพล คู่ต่อสู้ยังไม่ยอมจำนนขยับเสนาเข้ามาบัง ประจวบเหมาะกับที่เรืออีกลำของฝ่ายขาวเคลื่อนมาปิดทางหนีอีกทีหนึ่ง ตอนนี้เบี้ยเหลือเท่ากัน แต่ก็ยังไล่กันไม่จนเสียที จนลุงรองกับพี่เต๋อ ซึ่งเป็นผู้ท้าชิง ต้องขอเสมอกัน และเป็นเช่นนี้รอบแล้วรอบเล่าจนฟ้าเปลี่ยนสีจากฟ้าหม่นกลายเป็นสีหมึก จนเราบอกลาลุงๆ ที่ลงเงินข้างไหนไม่ได้เสียทีเพราะไม่รู้ผลแพ้ชนะ แต่การแข่งขันก็ยังดำเนินต่อไป
น่าแปลกที่สายตาของลุงรองกลับเปล่งประกายยิ่งกว่าตอนกลางวันเสียอีก แกเลิกตะแคงเรือมาหลายตาแล้ว เกมที่เคยดำเนินมาอย่างรวดเร็วมาถึงคราวสะดุด เพราะต่างฝ่ายต่างรู้ความแข็งแกร่งของคู่ต่อสู้จึงระมัดระวังมากขึ้น แต่สุดท้ายการสิ้นสุดของเกมก็มาถึง
ลุงรองเป็นฝ่ายชนะ ม้าของแกรุกขุนในแบบที่ไม่มีตาหนีได้อีก
“รุกฆาต” อันนี้แกไม่ได้พูด ฉันพูดเอง เพราะลุงๆ บอกว่าคนเล่นหมากข้างถนนเขาไม่พูดใส่กันหรอก มันหยามใจกันเกินไป
ผู้ท้าชิงวัยอ่อนกว่าก้มหัวยิ้มๆ แล้วกล่าวขอบคุณที่เป็นคู่มือให้ ครั้งหน้าจะมาแก้มือใหม่ ลุงรองพยักหน้าเบาๆ แกยิ้มแก้มแทบแตกเลยทีเดียว

กลับไปสู่อีกโลก
หลังจากผู้ท้าชิงกลับไปลุงรองก็เก็บกระดานอย่างเงียบๆ โต๊ะถูกพับเก็บข้างตู้คอนเทนเนอร์บนทางเท้าอย่างง่ายๆ ตัวหมากถูกแขวนใส่ถุงพลาสติกแขวนที่ขาโต๊ะอีกที กระดานพิงไว้ข้างกัน
“เก็บอย่างนี้ไม่กลัวหายเหรอคะ” ฉันถามอย่างกังวล
“ขโมยมันก็ซื้อเองได้หรอก” ลุงรองระบายยิ้มบางๆ ตอบแล้วเดินจากไป
เออ ก็จริงของลุง
การเล่นหมากรุกของผู้สูงวัยในย่านนี้บอกอะไรเราหลายๆ อย่าง ทั้งความเปลี่ยวเหงาในจิตใจและการได้รวมตัวกับคนที่มีความสนใจเหมือนกัน บางคนอาจจะคิดว่าแค่มาเล่นหมากกระดานแพ้ชนะก็จบกันไป แต่สำหรับผู้สูงอายุที่อาจจะไม่มีโอกาสได้กอบเก็บความภูมิใจเหมือนครั้งยังหนุ่มสาวได้อีก ชัยชนะเล็กๆ นั้นช่างมีความหมาย ยิ่งคนเล่นจริงจังคนดูก็ยิ่งสนุก สายสัมพันธ์ระหว่างกันเหล่านี้ผูกใจคนได้แน่นเสียยิ่งกว่าการผูกตาเดินหมากเสียอีก และนาทีที่หมากเดินมาถึงจุดรุกฆาต นั่นหมายถึงบทบาทสมมุติในเกมนั้นจบลงแล้ว ไม่ว่าจะลงเอยด้วยการเป็นผู้ชนะหรือผู้แพ้ พวกเขาก็ไม่ได้เป็นแค่คนแก่ที่เดินออกจากบ้านมาเล่นหมากรุกอีกต่อไป บทบาทจำลองในโลกของเกมกระดานสร้างฐานะใหม่ให้ และทุกคนรู้ดีว่าเมื่อจบเกมจะต้องกลับไปเป็นคนเดิม
เพียงแค่พักเท่านั้น ไม่ว่าโลกข้างนอกจะไปเจออะไรมา โลกของหมากกระดานทุกคนก็มีแค่ 64 ช่อง 2 กองทัพให้เดินบนพื้นไม้อย่างเท่าเทียม แม้ชีวิตจะแย่ จะเหงา แม้โลกจะไม่ยุติธรรม ขอเพียงเล่นหมากชนะ หรือต่อให้แพ้ก็ยังได้ชื่อว่าคู่แข่งขัน ซึ่งก็ดูเท่ไม่หยอก แค่นั้นคุณลุงทุกคนก็ยิ้มได้แล้ว เพียงหวังกุมคำว่าผู้ชนะออกไปและกลับมาใหม่เมื่อเป็นผู้แพ้ของโลกความจริง
แสงไฟกะพริบของทางเท้าราวกับจะย้ำเตือนเวลากลับบ้าน เรามองกระดานหมากที่ถูกพิงไว้อย่างอ้อยอิ่ง ไม่แน่ว่าสักวันที่ชีวิตไม่เป็นดังใจ ฉันอาจจะกลับมาสวมบทบาทจอมยุทธ์กระดานไม้ที่นี่ แล้วเอาคำว่าผู้ชนะกลับไปปลอบโยนตัวเองบ้างก็ได้
พักสักหน่อยแล้วค่อยไปต่อนะ
…