เรื่องและภาพ : ณัฐนนท์ ณ นคร

“ปีใหม่ กรรมใหม่ เหมือนเวลาเพิ่งผ่านไปเพียงครู่ เสียงสังสรรค์แว่วๆ
ไม่รู้ทาง มะลิอวยพรต่างๆ วางเรียงราย คลายกลิ่นอวยพรปีใหม่ในปีเดิม
วัน เวลา ผ่านไป ไม่หวนกลับ เหมือนประทีปเมืองกรรมกง ที่ส่งเสริม
เป็นสิ่งเพิ่มและลดค่าราคาคน เราไม่รู้ถึงกรรมเก่าที่เราสร้าง นับแต่ปางไหน
มาให้ผลแต่กรรมใหม่ที่ทำประจำตน คือแรงบันดลบันดาลในปัจจุบัน
วัน เดือน ปีใหม่ใกล้มาแล้ว เสมือนแก้วสดใสไร้สีสัน สิ่งที่เติมลงในแก้ว
คือคืนวัน ดีและชั่วของตัวเอง ”
อารีย์ บุญดาว
8 มกราคม 2534
บทร้อยแก้วกล่าวถึงวันปีใหม่จากสมุดบันทึกเล่มโปรดของ อารีย์ บุญดาว ผู้ก่อตั้งร้านเครื่องเขียนโชคอารีย์ ที่มีอายุร่วม 70 ปี ประจำอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชานี เมื่อเวลาเปลี่ยนผัน ชีวิตเกิดมาก็ย่อมดับไป ร้านนี้ได้รับการสานต่อโดย จุไรรัตน์ ณ นคร ซึ่งมีพี่น้องอีก 14 คนช่วยสนับสนุนค้ำชู


โชค–อารีย์
“เลือกขายเครื่องเขียน เราก็จะเจอคนมีความรู้มาซื้อ” เป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดร้านของอารีย์ จึงตั้งชื่อว่าโชคอารีย์
ก่อนเพลงชาติจะเริ่มขึ้น เด็กนักเรียนครูอาจารย์ต่างพากันมาซื้อเครื่องเรียนเครื่องเขียนที่ร้านนี้ ซึ่งมีสินค้ามากมายให้เลือกสรร นับเป็นที่เดียวและที่แรกในอำเภอพิบูลมังสาหารที่เปิดร้านเครื่องเขียน ทำให้ทุกคนต่างหลั่งไหลมาที่นี่ ถือเป็นความสำเร็จในการค้าขายของอารีย์ แต่ความสุขเมื่อมีมากก็ต้องชดเชยด้วยความทุกข์ที่เข้ามาเหมือนดั่งตาชั่งที่ปรับสมดุลชีวิต
การเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ทำให้สินค้าและทรัพย์สินต่างๆ เสียหาย เป็นการล้มที่หนักสุดของอารีย์แม้ไม่ได้มีใครบาดเจ็บ แต่ก็สร้างรอยแผลเป็นที่เรียกว่าหนี้ให้เธอ รอยแผลเป็นนั้นเสมือนเครื่องย้ำเตือนถึงความเจ็บปวด แต่กระนั้นในที่สุดเราก็จะผ่านมันไปได้เพราะเรายังมีชีวิตอยู่ บางทีการเกิดรอยแผลก็แสดงถึงการเติบโตใหม่ของชีวิตก็ได้ หนี้ก้อนนั้นกลายเป็นแรงผลักดันให้อารีย์เริ่มต้นใหม่


ยุค–ลูก
ภาระที่เพิ่มขึ้นคนคนเดียวไม่สามารถแบกไหว แรงผลักดันจากครอบครัวจึงสำคัญ ลูกๆ ของอารีย์มีทั้งหมด 15 คน พวกเขาเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของเธอได้เป็นอย่างดี ลูกๆ ต่างร่วมมือกันในด้านต่างๆ อารีย์ส่งลูกผู้หญิงเกือบทั้งหมดให้เรียนบัญชี ลูกผู้ชายให้เรียนวิศวะฯ และเกษตร เธอส่งเสียลูกทุกคนให้จบอย่างน้อยปริญญาตรีซึ่งต่างจากบ้านอื่นในสมัยนั้น เพื่อหวังให้ลูกๆ มีงานดีๆ ทำ อารีย์เต็มที่กับการศึกษาเสมอ
เวลาเปลี่ยนผ่าน อายุอารีย์ก็มากขึ้น แต่เมล็ดพันธุ์ที่เธอเลี้ยงดูก็เริ่มแตกหน่อออกผล ลูกๆ เข้ามามีบทบาทในร้านโชคอารีย์มากขึ้น คนไหนเรียนบัญชีก็มาช่วยจัดการเรื่องเอกสาร คนไหนเรียนวิศวะฯ คอมก็ช่วยเขียนโปรแกรมให้ ลูกๆ ทุกคนต่างมีส่วนร่วมในร้านนี้ไม่มากก็น้อย ทำให้ร้านโชคอารีย์เติบโตและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในแถบอำเภอพิบูลมังสาหาร
หนึ่งในลูกสาวของอารีย์ คือ จุไรรัตน์ ลูกสาวคนที่ 9 ได้รับหน้าที่ทำบัญชีให้ทางร้านมาตั้งแต่เด็กๆ เปรียบเสมือนการทำแบบฝึกหัดคณิตศาสตร์หลังเลิกเรียน เธอจึงมีทักษะทางคณิตศาสตร์ จุไรรัตน์ถูกส่งไปเรียนต่อสายงานบัญชี เมื่อเรียนจบได้เข้าทำงานเป็นพนักงานธนาคาร ทำงานได้ประมาณ 8 ปี อารีย์ล้มป่วย เธอจึงต้องลาออกจากงานมาช่วยงานที่ร้านอย่างเต็มตัวร่วมกับพี่น้อง
จุไรรัตน์ช่วยงานด้านบัญชีและใช้ทักษะงานธนาคารจัดระบบภายในร้านให้มีระเบียบแบบแผนมากขึ้น กาลเวลาเคลื่อนผ่าน หลายๆ อย่างเปลี่ยนไป พี่น้องต่างไปตามเส้นทางของตัวเอง มีเพียงจุไรรัตน์ที่บริหารร้านนี้อยู่ การบริหารงานไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับเธอ สิ่งที่เธอเลือกใช้เป็นอาวุธของร้านคือการบริการที่เป็นมิตร และการเป็นผู้รับฟังที่ดี ทำให้เหล่าครูอาจารย์ต่างแวะเวียนมาซื้อของบ่อยๆ อาจเพราะเมื่อเข้ามาที่ร้าน จุไรรัตน์จะคอยรับฟังปัญหาต่างๆ นั่นอาจเป็นเสน่ห์หนึ่งของร้านเครื่องเขียนแห่งนี้
ยุค–โควิด
ยุคสมัยเปลี่ยน เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท ร้านค้าคู่แข่งก่อตั้งเพิ่มขึ้น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง โจทย์ใหม่ของจุไรรัตน์คือนำพาร้านเครื่องเขียนรุ่นคุณแม่ก้าวให้ทันตามยุคสมัย เธอและพี่น้องช่วยกันสรรหาวิธีต่างๆ เพื่อกระตุ้นยอดขาย เช่นนำตุ๊กตา ของกิ๊ฟช็อปมาขายเพิ่ม เพื่อดึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักเรียนให้มาจับจ่ายซื้อของที่ร้านมากขึ้น แต่ก็ยังไม่อาจตามทันยุคโลกาภิวัตน์นี้ ซ้ำร้ายสถานการณ์โรคระบาดโควิดในปัจจุบันเหมือนโดนหมัดซ้ายชกที่คาง หมัดขวาชกลิ้นปี่ ร้านโชคอารีย์แบกรับความสูญเสียมากมาย จากรายได้หลักหมื่นสู่รายได้หลักพัน จากเด็กนักเรียนที่เข้ามาซื้อของตอนเช้ากลับเจอเพียงความว่างเปล่า จากอาจารย์ที่แวะเวียนทักทายต้องหันมาใส่หน้ากากเข้าหากัน
“โควิดระบาดครั้งนี้ทุกที่ทั่วโลกก็โดนเหมือนกันแหละ” การมองโลกในแง่ดีช่วยประโลมหัวใจของจุไรรัตน์ รวมทั้งกำลังใจจากคนรอบข้าง สามี และลูกๆ ก็ช่วยหล่อเลี้ยงหัวใจที่แห้งเหี่ยวนี้ได้ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ถูกตัดทอนลง
“ตั้งแต่มีโควิดมามีอะไรที่ไม่เปลี่ยนบ้าง?”


“คงเป็นพนักงานมั้ง ฮ่าๆ” สิ่งหนึ่งที่จุไรรัตน์คงไว้คือไม่ปลดพนักงานออก เธอเลือกแบกรับความเสี่ยงไว้ เพราะถ้าหากพวกเขาถูกให้ออกจะหาเงินจากไหนเลี้ยงครอบครัว ในยุคที่การหางานยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร
บทเรียนที่อารีย์สอนลูกๆ ทุกคนก็คือการให้ อาจยังไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร จะดีขึ้นหรือแย่ลง สิ่งเดียวที่จุไรรัตน์ทำได้ก็คือส่งมอบกำลังใจให้แก่คนอื่น ท่ามกลางสถานการณ์อันหดหู่หรือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่
ไม่ช้าหรือเร็วทุกๆ คนต้องเจอการเปลี่ยนแปลง บางคนอาจเคยชิน บางคนอาจหวาดกลัว แต่สุดท้ายเราก็ต้องยอมรับมันให้ได้ หากให้ความหมาย การเปลี่ยนแปลงก็คงเปรียบเหมือนหยดน้ำ อาจควบแน่นเป็นไอน้ำไว้ขับเคลื่อนรถไฟเพื่อให้เราไปถึงสถานที่ต่อไป เป็นหยดน้ำค้างยามเช้าที่ให้ความชุ่มฉ่ำแก่เรา หรืออาจเป็นเม็ดฝนที่ทำให้รองเท้าเราเปียกยากจะก้าวต่อ แต่เมฆฝนย่อมมีวันจางหาย สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงก็กลับมาสู่ปรกติ เผลอๆ เราอาจได้เห็นสายรุ้งหลังฝนตกก็ได้