ทีมทำไมไม่อ่านไลน์
เรื่อง : ศิริพร ทุมสิงห์
ภาพ : วสุ สมอไทย
เบื้องหน้าห้องประชุมตึกคณะเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลศิริราช คนหลายช่วงวัยกำลังยืนลงทะเบียนเข้าร่วมอบรม “กิจกรรมนอนภาวนาของโครงการเยียวยาใจผู้ดูแล”
ชุดเครื่องแบบที่สวม ทำให้เดาไม่ยากนักว่าพวกเขาเป็นบุคลากรสาธารณสุข อย่างหนุ่มใส่แว่นมาดสุขุมที่สวมเสื้อสีน้ำเงินของโรงพยาบาลคงเป็นคุณหมอ หรือผู้หญิงหมวกพยาบาลที่แววตาเหนื่อยล้า ข้างน้องชุดกาวน์แขนสั้นสีขาว
เสียงเรียกของผู้จัดงาน แจ้งว่ากิจกรรมกำลังจะเริ่มแล้ว
วิทยากรศูนย์กุมารบริรักษ์ หยิบไมค์พูดแนะนำกิจกรรมนอนภาวนาแล้วชวนผู้เข้าร่วมจับคู่ คนแปลกหน้าผลัดกันบอกเล่าเรื่องราวชีวิต ซึ่งเป็นภาพแปลกตาในรั้วศิริราช ก่อนจะชวนทุกคนล้มตัวลงนอนกลางวันในยามบ่ายของวันพุธ
ขณะที่หลับตาลงเสียงเรียกของวิทยากรก็พาใจกลับมารับรู้ถึงลมหายใจแสนบางเบากับกระบังลมที่กำลังขยับขึ้นลงอย่างช้าๆ
นานเท่าไหร่แล้วที่ไม่ได้มีเวลากลับมาสังเกตสิ่งเล็กๆ เหล่านี้
ลมหายใจอุ่นๆ ที่สัมผัสเหนือริมฝีปากของตนเอง
กลไกเอาตัวรอด
หากมองหาว่าชีวิตเปรียบเสมือนสิ่งใดก็คงคล้ายอาหาร
ความทุกข์ให้รสสัมผัสขมเคลือบปากจนฝาดคอ เมื่อทนความขมได้สักพักก็ผลักตัวออกจากครรภ์มาลิ้มรสชีวิต เสียงกรีดร้อง “อุแว้ อุแว้” ส่งสัญญาณให้พยาบาลและหมอได้สบตากันก่อนลงมืดตัดสายสะดือ พอเติบใหญ่มีสติสัมปชัญญะ รับรู้ว่าการใช้ชีวิตแต่ละก้าวนั้นช่างยากลำบากสิ้นดี จะให้กลับไปนอนกลิ้งในตัวแม่ก็คงขัดขวางความประสงค์ของผู้สร้างโลก ที่ได้มอบจิตวิญญาณและกระเป๋าวิเศษให้พวกเราได้ออกผจญภัย
ต่อให้มีภัยใดมาก็ไม่แพ้ใจ เหนื่อยแค่ไหนก็ยังต้องก้าวออกไป แต่หากแพ้ใจคงแตกสลายราวกับปราสาททรายเจอเมฆมรสุม และอีกไม่นานทะเลที่แสนเกรี้ยวกราดจะปะทะชายฝั่งอย่างบ้าคลั่ง
ทะเลใจแห่งนี้ที่สุดท้ายเหลือทิ้งไว้เพียงแค่ฟองคลื่นน้ำตรงซอกร่องน้ำตา
มหาสมุทรไม่เคยไร้คลื่นลม ความสงบในยามค่ำคืนจรดเช้าของอีกวันเป็นเพียงฝัน เพียงเสี้ยววินาทีที่คลื่นยักษ์ของความสิ้นหวังได้ฉุดลากเหล่าเม็ดทรายนับล้านคืนกลับสู่ก้นทะเล เหลือเพียงความว่างเปล่า จำไม่ได้ว่าทำไมถึงหายใจสั้นและถี่ลง ทำไมรู้สึกหายใจไม่ทั่วท้อง รึเพราะตั้งแต่เผชิญเรื่องที่แสนบีบคั้นหัวใจ กล้ามเนื้อทุกส่วนหดเกร็งจนทรมานอย่างนี้ซ้ำๆ แม้ไม่อยากมีชีวิตแต่ต้องพยายามนึกถึงเหตุผลของการเลือกจะมีชีวิตอยู่ต่อไป
ทางการแพทย์เรียกปรากฎการณ์ทางใจนี้ว่า “ภาวะเครียดสะสม”
ความเครียดจึงไม่ใช่ภาระเล็กน้อยของคนที่ชอบเก็บเอามาคิด แต่เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของระบบประสาทอัตโนมัติที่ต้องเลือกระหว่างการ สู้ หรือ หนี เพื่อให้อยู่รอด
แต่ละคนได้รับผลกระทบของความเครียดไม่เหมือนกัน หนทางการฟื้นฟูดูแลจิตใจย่อมแตกต่างกัน สำหรับบางคนใช้วิธีนอนเป็นการพักผ่อน บางคนเลือกใครสักคนที่เข้าใจ
แต่บางคนแทบไม่รู้สึกตัวว่ากำลังเผชิญความเครียด และละเลยการดูแลสภาพจิตใจจนเผชิญภาวะหมดไฟในการทำงาน
ถ้าหมอได้ช่วยคน แล้วใครล่ะจะช่วยหมอ?
สิ่งที่รัฐอาจหลงลืม คือบุคลากรด้านสาธารณสุขที่กำลังเผชิญความเหนื่อยล้าจากระบบที่ไม่จำกัดชั่วโมงการทำงาน ยิ่งช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโรคโควิด19 เจ้าหน้าที่ด่านหน้าต้องตรึงกำลังเผชิญกับโรคอุบัตใหม่ที่มาพรากชีวิตผู้คน
ตลอดระยะเวลา 4 ปีและการปฏิบัติภารกิจหน้าที่ พวกเขาได้รับ “บาดแผลทางใจมือสองโดยไม่รู้ตัว”(Secondary Traumatization) ซึ่งเป็นความเครียดที่รู้สึกร่วมกับเหตุการณ์ของผู้ป่วยจนกระทบกระเทือนจิตใจ การทำงานที่หนักหน่วงและแบกรับความคาดหวัง เผชิญความขัดแย้ง ต้องพบเจอ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ตามสงสารวัฏที่เหนี่ยวนำความรู้สึกโศกเศร้า จนสร้างความทรมานใจอย่างต่อเนื่อง (Vicarious Trauma)
โครงการเยียวยาใจผู้ดูแล (Healing the Healer)จึงเริ่มต้นด้วยความเชื่อว่าจะช่วยลดความทุกข์ของบุคลากรทางการแพทย์ของศิริราชและคนในชุมชน เปิดโอกาสให้เข้ามาเรียนรู้วิธีการหาความสุขที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แค่เดินลงจากวอร์ดก็มาเข้าร่วมกิจกรรมได้ โครงการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2566 ด้วยรูปแบบกิจกรรมมีความแตกต่างหลากหลาย
อย่างบ่ายวันพุธที่ทุกคนได้มาพบกันเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมนอนภาวนา เป็นกิจกรรมชวนมานอนเจริญสติ ฝึกทอดสมอให้หัวใจได้หยุดนิ่ง กับปัจจุบัน ความคิดเป็นอิสระไร้ห่วงความกังวล
บรรยากาศในห้องเงียบสงัดลงหลังจากทุกคนนอนเอนกายกับพื้นพรม
พวกเขาได้ปลดปล่อยกล้ามเนื้อ ได้ยืดเหยียด กระดูกสันหลังแนบพื้นในท่าที่ผ่อนคลาย กระบังลมและลมหายใจขยับเป็นจังหวะขึ้นลงอย่างมีสติ
วิธีการนี้คล้ายคนเล่นกล้ามที่จะสังเกตกล้ามเนื้อยืดและหดขณะยกดัมเบล มีช่วงเวลารับรู้จังหวะที่เกิดสมาธิกับร่างกาย หากสิ่งที่ผู้เข้าร่วมกำลังฝึกคือการรู้เท่าทันความรู้สึกตนเอง
แม้เป็นการพบเจอของคนแปลกหน้า แต่ก็รู้สึกถึงความไว้เนื้อเชื้อใจให้ผู้ดำเนินกิจกรรมพาผู้เข้าร่วมแบ่งปันเรื่องราวความทุกข์ของกันและกัน พบเพื่อนใหม่หลากวัยมาโอบอุ้มความรู้สึกผ่านการรับฟัง
เมื่อการให้ได้มากกว่าที่รับ
“เกตุ” – สรัญญา ภัทรมาลัย พยาบาลวิชาชีพหน่วยตรวจโลหิตวิทยา โรงพยาบาลศิริราช หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม บอกว่ารู้ข่าวการจัดกิจกรรมจากอาจารย์คณะกรรมการดูแลผู้ป่วยประคับประคอง
หากพูดถึงผู้ป่วยระยะประคับประคองนั้นหมายถึงระยะของผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงที่การรักษาดำเนินสิ้นสุดลง แต่ไม่หายขาดจากโรค จึงจำเป็นต้องวางแผนการดูแลให้พวกเขามีความสุขและสบายที่สุดตราบที่มีลมหายใจอยู่
เกตุให้เหตุผลการเลือกเข้าร่วมกิจกรรมเยียวยาใจผู้ดูแล เพราะอยากเรียนรู้วิธีรับมือกับสถานการณ์ที่กดดัน เพราะทุกวันพยาบาลต้องรับมือกับเรื่องราวหลากหลายอารมณ์ จึงอยากให้เวลากลับมาดูแลใจตัวเอง ซึ่งเธอก็เตรียมใจมาพอสมควรก่อนเข้าร่วมกิจกรรม “ละครบำบัด”
ละครบำบัด คือการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเป็นอิสระ เริ่มต้นกิจกรรมอย่างง่ายๆ โดยให้ผู้เข้าร่วมออกแบบท่าทางการเคลื่อนไหวร่างกายตามใจที่ตนเองรู้สึก จนทุกคนขยับร่างกายและใช้ใจได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่เขินอาย ไม่ตัดสิน ไม่ต้องใช้ความคิดที่อ้อมค้อมหรือมีเหตุผล
จากนั้นกระบวนการละครจะค่อยๆ พาผู้เข้าร่วมทำความเข้าใจพฤติกรรมในฉากละครชีวิต ผ่านบทสนทนาของตัวละครแต่ละตัว มีการเสนอทางเลือกใหม่ๆ ให้กับการตัดสินใจ และชวนตั้งคำถามต่อสถานการณที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ว่าในเหตุการณ์นั้นจะสามารถเปลี่ยนผลลัพธ์ด้วยวิธีการอื่นๆ ได้หรือไม่
ทุกคนเป็นทั้งผู้ชม ผู้แสดง และผู้กำกับละครฉากนั้นร่วมกัน เพื่อช่วยขยายมุมมองและฉายภาพเหตุการณ์ให้เห็นที่มาของแต่ละการกระทำ แล้วตั้งคำถามทั้งกับคนเล่นและคนดูได้เรียนรู้พร้อมกัน
เกตุได้เล่นเป็นพยาบาลในเหตุการณ์ที่มีตัวละครกินเหล้าแล้วเกิดอาการเจ็บหน้าอกจนล้มหมดสติ ทำให้ได้เปิดมุมมองเรื่องราวที่เคยเห็นจนชินตา กับเสียงสะท้อนของเพื่อนใหม่ที่เสนอทางเลือกอื่นๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์จากการกระทำของทุกตัวละคร
ละครเป็นกระจกสะท้อนให้เธอเห็นคนไข้ตรงหน้าว่าคือมนุษย์ที่กำลังเผชิญความทุกข์
สิ่งที่มีค่าสูงสุด คือช่วงเวลาที่ได้หยุดคิด และการไม่ด่วนตัดสิน เพราะภาระในวอร์ดเต็มไปด้วยผู้ใช้บริการ ต้องพบเจอคนไข้ที่อารมณ์หงุดหงิดและโกรธทุกสิ่งอย่าง
“จากเดิมที่เรามีอารมณ์ตามเขา เขาโกรธมาก็โกรธกลับ ตอนนี้คิดช้าลง เพราะเห็นใจผู้ป่วยที่เขาเองก็มารอนาน ทำให้เราเปลี่ยนมุมมองความคิด และแรงปะทะก็ลดน้อยลง ความรู้สึกโกรธและความหงุดหงิดก็ลดลง”
ขาประจำกิจกรรมเยียวยาผู้ดูแล “วา” – จิตตพัฒน์ โห่กุศลสินธุ์ เล่าว่าเธอเคยทำงานบริษัทก่อนจะผันตัวมาทำจิตอาสาให้ความรู้ในเรือนจำ จัดกิจกรรมให้กับเด็กๆ รอบชุมชน และทำงานด้านไลฟ์โค้ช จนกระทั่งพ่อล้มป่วยนอนติดเตียง วาต้องรับมือกับความทุกข์เมื่อมองพ่อนอนป่วยพร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์
ใจเธอสั่นสะเทือนไปกับความเจ็บปวดราวกับประสบชะตากรรมนั้นเอง
วาเล่าว่าหลังกิจกรรมเยียวยา เธอค้นหาเพลงทิเบตที่วิทยากรเปิดในยูทูป เพื่อฟังหากวันไหนรู้สึกเหนื่อยใจ
“กิจกรรมที่ได้กลับมาลองทำที่บ้าน คือเรนโบว์ชาวเวอร์ รู้สึกเหมือนได้กลับมากอดตัวเอง”
ในวินาทีนั้นใจที่อ่อนล้าได้กลับมาบ้าน ไม่เตลิดตามคลื่นลมมรสุมชีวิต แม้กายสังขารจะเป็นบ้านที่ไม่ถาวรแต่อย่างน้อยก็รู้สึกอุ่นใจ แม้รู้ดีว่าไม่อาจยื้อได้ มีแต่จะผุพังเสื่อมลงตามกาลเวลา การทำใจให้ยอมรับการสูญเสียก็เหมือนนักกล้ามที่แข็งแรงมีแรงยกของหนัก
แต่สำหรับนักฝึกใจเมื่อฝึกใจมาอย่างดี ใจที่แข็งแรงคือภูมิคุ้มกันภัย
การได้พบเพื่อนใหม่ๆ ทำให้วาตัดสินใจไม่ยากที่จะเข้าร่วมกิจกรรมดีๆ ที่อยู่ใกล้บ้านอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมเยียวยาผู้ดูแลจึงไม่ได้แค่มอบโอกาสแก่ชาวศิริราช แต่รวมถึงผู้คนที่มองเห็นว่าศิริราชเป็นที่พึงยามยาก
วายังมีความสุขกับการนำกิจกรรมที่เรียนรู้จากศิริราชไปจัดกิจกรรมให้เด็กๆ ในชุมชน ความสุขของเธอคือการได้ให้ ยิ่งให้ยิ่งได้รับ
อีกเสียงสะท้อนมาจาก “เอี้ยง” – ภัทรรานี โปร่งแสงอาชีพ เธอตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมเพราะต้นปีที่ผ่านมา ได้ฟังเรื่องราวคนที่มีทุกข์และอยากหาทางช่วยเหลือ แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร จึงอยากเข้ามาลองเรียนรู้ และทำให้เธอมีโอกาสฟังคำถามดีๆ จากคุณหมอที่มาเข้าร่วมกิจกรรม
“คุณหมอฉลาดและมีความรู้มากว่าเรา แต่อีกมุมหนึ่ง หมอก็เป็นคนที่เหมือนเรา ยิ่งหมอถาม เรายิ่งได้เรียนรู้ เป็นประสบการณ์ที่ดี และทำให้เห็นว่าก่อนจะเยียวยาคนอื่น ต้องเยียวยาตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก แล้วค่อยเอาเทคนิคต่างๆ ไปดูแลใจผู้อื่น”
ข้อท้าทายของการเยียวยา
“ไม่ใช่ว่าเรียนแบบนี้แล้วทุกคนคิดได้” เป็นความเห็นของอาจารย์นายแพทย์นพดล โสภารัตนาไพศาล ที่ปรึกษาโครงการกิจกรรมเยียวยาผู้ดูแล
ในอดีตอาจารย์เผชิญความทุกข์กับการดูแลคนไข้มะเร็ง จนกระทั่งเรียนรู้ว่าความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งที่แสนธรรมดาของชีวิต
อาจารย์ย้ำบ่อยครั้งว่า “การเยียวยาไม่มีหลักฐานพิสูจน์ความสำเร็จ”
ครั้งหนึ่งอาจารย์ก็เคยเชื่อว่าการเยียวยาเป็นเพียงไสยศาสตร์และการหลอกลวง
“ไม่ต้องถามคนอื่นหรอก ถามตัวเองว่าเราจัดการความเครียดได้ดีพอไหม” อาจารย์กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง
“ความก้าวหน้าทางการแพทย์กระแสหลักหยุดความเครียดไม่ได้ ทางคณะเขาก็ให้ความสำคัญกับความเครียดของบุคลากร ก็มีจัดกิจกรรมนะ แต่กิจกรรมเยียวยาผู้ดูแลตรงนี้เป็นส่วนแถม เรามองว่าเป็นความสนใจของแต่ละคน ทุกคนควรเข้าถึงวิธีการเยียวยาใจได้เหมือนกับการเข้าถึงพระรัตนตรัย บางคนก็เข้าไม่ถึง แม้ว่าจะนับถือตั้งแต่เกิด แต่ศาสตร์เยียวยาเป็นเครื่องมือที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจน มุ่งพัฒนายกระดับจิตใจ ซึ่งพิสูจน์โดยประสบการณ์ของตัวเราเอง ไม่ใช่แค่ได้รับความรู้สึกดีๆ แต่เป็นความรู้สึกที่ระดับความทุกข์นั้นน้อยลง นอนหลับได้ดีขึ้น เพราะการเยียวยา”
อาจารย์อธิบายว่าการเยียวยา คือการชวนให้ทุกคนกลับมาดูแลตนเองไม่ให้เสียสมดุล
“ถ้าตามวิทยาศาสตร์ ความทุกข์คือความไม่สุขสบาย ยกตัวอย่าง อาการคันคือความทุกข์ เพียงแต่ว่ารู้สึกคันน้อยหน่อยก็ไม่ได้กระทบแค่ทำให้รู้สึกไม่สบาย ความสุขคืออิสระ แม้ว่าเราจะมีอาการคัน เรารับรู้แล้วก็มีความสุขได้ทั้งที่เราก็ยังคัน เป็นอิสระจากสิ่งที่เราเป็นทุกข์ ถ้าเอาภาษาพระเรียก วิมุตติ หลุดพ้นก็คืออิสระ ถ้าใช้ภาษาพระก็จะไม่น่าสนใจ ต้องเรียกชื่อใหม่เป็น Freedom of Pain Suffering
“Freedom ก็คือเยียวยา แทนที่จะบอกว่าใช้ธรรมะบำบัด เพราะคนเห็นคำว่าธรรมะก็อาจไม่สนใจ ยกตัวอย่างเรื่องศีล ปรกติบอกว่าคือข้อห้าม แต่เราอาจบอกว่า ศีลคือการเคารพตนเอง และเลือกจะทำในสิ่งที่ตัวเองมีความสุขโดยไม่เบียดเบียนคนอื่น ถ้าเรามีความสุขกับการเบียดเบียนคนอื่น ความจริงคือเรามีความทุกข์แล้วเราไม่ได้รับการเยียวยา”
การเยียวยาเกี่ยวพันกับการสื่อสารกับจิตวิญญาณของตนเอง การมีพื้นที่ปลอดภัยที่ยอมรับความแตกต่าง มีใครสักคนรับฟังและแบ่งเบาความทุกข์ให้จางลงไป
หมอพนม เกตุมาน อาจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ที่ปรึกษาโครงการกิจกรรมเยียวยาผู้ดูแลใจ เล่าเสริมว่าเมื่อมีคนมาอยู่ร่วมกัน ได้แบ่งปันเรื่องทุกข์แล้วมีคนเข้าใจความรู้สึก ความทุกข์จะสลายหายไปครึ่ง ตามหลักการให้คำปรึกษารายบุคคลที่เน้นคลี่คลายความรู้สึกและสะท้อนเรื่องราวในมุมมองที่แตกต่างและหลากหลาย เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาเห็นทางเลือกต่างๆ ในชีวิต
“แนน” – บงกช ประทุมพันธุ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายงานคุณธรรมและจริยธรรม ที่มีภารกิจหลัก คือการทำงานส่งเสริมบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลศิริราช ให้ทำงานด้วยปณิธานสืบสานพระราชดำริของสมเด็จพระราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์ บอกว่าโจทย์ยากของศิริราช คือการทำให้สิ่งที่เป็นนามธรรมเกิดเป็นรูปธรรม ให้ส่งผลต่องานและความเชื่อของคนในศิริราช
“ถ้าสิ่งที่เราเลือกมาตอบโจทย์ที่เขาคาดหวัง ได้รับกลับไปเล็กๆ น้อยๆ ก็งอกงามแล้ว นี่คือโอกาสที่ทุกคนควรได้รับ ถ้าเขามีภูมิต้านทานที่ดีขึ้น มีวัคซีนดีๆ ที่ไปต่อสู้กับงาน ถือว่าประสบความสำเร็จ”
แนนเล่าว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะชวนคนเกือบ 30 คนมาเข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละครั้ง เป้าหมายหลักที่ต้องการเยียวยาใจ คือบุคลากรทางการแพทย์ศิริราช ที่ทุ่มเททำงานและเต็มไปด้วยความเครียด และ ให้โอกาสบุคคลภายนอกได้มาเรียนรู้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
เธอคาดหวังว่าโครงการ “Healing the healer” ภายใต้ความร่วมมือกับศูนย์กุมารบริรักษ์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ศูนย์บริรักษ์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กลุ่มพระอาสาคิลานธรรม และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นก้าวสำคัญของงานส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมที่เน้นสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ
“ถ้าคนที่มาเข้าร่วมกลับบ้านไปแล้วมีความสุขขึ้น ตัวเราก็มีความสุขนะ”
ในพื้นที่เล็กๆ ของรั้วของศิริราชที่มีอายุมากว่าร้อยปี มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายในทุกๆ วัน กิจกรรมเยียวยาผู้ดูแลจึงเป็นเพียงก้าวเล็กๆ โดยมีอาจารย์หมอและคณะทำงานที่ทุ่มเทและตั้งใจสร้างชุมชนดูแลใจ
ศาสตร์การเยียวยาอาจไม่ใช่วิธีขจัดความทุกข์ที่ดีที่สุด
แต่เสียงและเรื่องเล่าของผู้เข้าร่วมกิจกรรม กำลังเป็นบันทึกหน้าใหม่ของการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ เกิดขึ้นทีละนิด
ความทุกข์ยังคงเป็นมรสุมที่หลงฤดูกาล สุขเป็นเพียงแสงทองส่องจากฟ้ารอดผ่านเมฆสีเทา
หากการมีเพื่อนร่วมทางได้แบ่งเบาความทุกข์ ความทุกข์ย่อมสลายคล้ายกลุ่มเมฆฝนที่ตกลงสู่ทะเลอีกครั้ง
#ละครบำบัด #ศิลปะบำบัด #เยียวยา #บุคลากรสาธารณสุข #ศิริราช #สุขหมุนรอบตัวเรา #ค่ายนักเล่าความสุข #มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์ #นิตยสารสารคดี #เพจความสุขประเทศไทย #สสส