อีกหนึ่งร่องรอยของคติจักรวาลแบบเขาพระสุเมรุในระดับชาวบ้านอาจจะได้แก่ “บายศรีปากชาม”
บายศรีเป็นคำเขมร “บาย” แปลว่าข้าวสุก “ศรี” หรือสรี แปลว่ามิ่งขวัญ สิริมงคล
“บายศรีปากชาม” อันเป็นบายศรีพื้นฐานที่สุด มีองค์ประกอบสำคัญคือการบรรจุข้าวปากหม้อ (ข้าวที่หุงเสร็จใหม่ๆ ตักครั้งแรกจากหม้อ ถือกันว่าเป็นอาหารอย่างดี) ใส่ลงในกรวยใบตองยอดแหลม เสียบไข่ต้มที่เรียกว่า “ไข่ขวัญ” ไว้ยอดบนสุด แล้วตั้งวางลงในชาม
นอกจากข้าวในกรวยใบตองแล้ว ยังต้องมีเครื่องสังเวยเป็นของกินต่างๆ ได้แก่กล้วยน้ำ [โบราณมีทั้งกล้วยน้ำไท และกล้วยน้ำ(ละ)ว้า] กับแตงกวาผ่าซีก ใส่ลงไปข้างๆ ด้วยจึงจะครบเครื่อง อย่างที่ใน “เสภาขุนช้างขุนแผน” ตอนทำขวัญพลายแก้ว บรรยายไว้
“แล้วเร่งรัดจัดแจงแต่งบายศรี เงินทองของดีมาผูกให้
กล้วยน้ำแตงกวาเอามาใส่ ธูปเทียนดอกไม้มีหลายพรรณ”
บายศรีปากชามนี้เป็นเสมือนเครื่องประกาศความ “เป็นงานเป็นการ” หรือการ “มีพิธี” เพราะต้องใช้ในสารพัดพิธีกรรมเนื่องด้วยขั้นตอนต่างๆ ของชีวิต อาจารย์เยื้อน ภาณุทัต (๒๔๓๓-๒๕๒๘) ผครูบาอาจารย์คนสำคัญของงานช่างอย่างไทยยุคร่วมสมัย เคยเขียนเล่าไว้ว่า
“ในสมัยก่อนๆ ข้าพเจ้ามั่นใจว่าเย็บบายศรีปากชามกันได้แทบทุกบ้าน ทั้งนี้เพราะต้องใช้กันในการทำขวัญมากมายหลายอย่าง เช่น ทำขวัญเด็กที่เกิดใหม่อายุได้สามวัน และอายุหนึ่งเดือน ตอนโกนผมเด็ก ที่เรียกว่าโกนผมไฟ ใช้ตอนโกนจุก ถ้าเป็นเด็กชายก็ใช้ทำขวัญเมื่อบวชอีก เวลาปลูกบ้านก็ใช้บายศรีทำขวัญเสาเอก ตั้งศาลพระภูมิประจำบ้านก็ต้องใช้บายศรี วันขึ้นปีใหม่ก็ต้องใช้สังเวยพระภูมิ ใช้ทำขวัญบ้าน และทำขวัญผู้ที่อยู่ในบ้าน ใช้ในงานไหว้ครูเป็นประจำทุกปี ใช้ในการทำขวัญเรือน และ ฯลฯ…”
ขณะเดียวกัน ความรู้เรื่องนี้ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงต้องมีพิธีกรรมกำกับ
“ถือกันนักหนาว่าผู้ฝึกทำจะต้องมีครูครอบ ที่เรียกว่าครอบก็คือผู้สอนจะต้องจับมือให้ทำ ยิ่งกว่านั้น แม้ผู้สอนจะเป็นคุณย่าคุณยายก็ตาม ผู้เรียนก็ต้องมีเครื่องเคารพครูตามธรรมเนียม”
อาจารย์เยื้อนท่านมิได้อธิบายความหมายไว้ว่าบายศรีปากชามนั้นเป็นสัญลักษณ์ของอะไรหรือไม่ แต่มีผู้รู้บางท่านสันนิษฐานว่าบายศรีคือรูปจำลองของเขาพระสุเมรุ แวดล้อมด้วยใบตองที่พับทบไปมาให้เป็นปลายแหลมเรียว (บางทีเรียกว่า “นมแมว”) ซึ่งว่ากันว่ามีความหมายถึงเขาสัตตบริภัณฑ์
ดังนั้น เมื่อมีการตั้งเขาพระสุเมรุ-คือบายศรี-ขึ้นแล้ว นั่นหมายความว่าเป็นการอัญเชิญเทวดาทั้งจักรวาลมาสถิตเป็นสักขีพยานในการพิธีต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วนั่นเอง
การที่แต่โบราณนิยมตั้งบายศรีปากชามลงใน “ชามเทพนม” ที่เป็นชามเบญจรงค์เขียนลายเทวดานางฟ้าอย่างไทย (แต่เป็นฝีมือช่างเมืองจีน) ก็ยิ่งสอดคล้องกับแนวคิดการตั้งบายศรีเพื่อชุมนุมเทวดาทำนองนี้
ตามคติโบราณ ท่านตั้งบายศรีปากชามนี้เดี่ยวๆ เป็นประธานของเครื่องสังเวย แต่ด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ พอถึงยุคปัจจุบันที่บายศรีปากชามกลายร่างไปอยู่ในชามโฟมกันหมดแล้ว คนกลับมักนิยมซื้อไปตั้งไปใช้เป็นคู่ จึงไม่อาจเป็นพิธีตั้งเขาพระสุเมรุได้อีกต่อไป เพราะจักรวาลย่อมมี “ศูนย์กลาง” เพียงหนึ่งเดียว