ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน

สินเชื่อต้องห้ามบนลำน้ำโขง ?
ความคืบหน้าโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ล่าสุดมีการตัดถนนเข้ามายังหัวงานเขื่อน ปรับสภาพพื้นที่เพื่อสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ท่าเรือ ปั๊มน้ำมัน คลังอุปกรณ์ แคมป์คนงาน ฯลฯ

เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อติดตามผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของภาคธนาคารไทย และผลักดันให้ธนาคารไทยเข้าสู่วิถีปฏิบัติแห่ง “การธนาคารที่ยั่งยืน” (Sustainable Banking) ด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) มีสมาชิกประกอบด้วยบริษัท ป่าสาละ จำกัด,องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw), และมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ได้ส่งจดหมายถึงผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ไทย ๗ แห่ง เรียกร้องให้แสดงจุดยืนต่อโครงการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง และพิจารณาเพิ่ม “โครงการผลิตไฟฟ้าในแม่น้ำโขงสายหลัก” ในรายการ “สินเชื่อต้องห้าม” (exclusion list) ของธนาคาร

รายนามธนาคารพาณิชย์ทั้ง ๗ แห่งประกอบด้วย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพานิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทิสโก้ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นธนาคารที่เคยให้สินเชื่อเงินกู้แก่โครงการเขื่อนในประเทศลาว จดหมายฉบับเดียวกันยังถูกส่งถึงผู้บริหารสมาคมธนาคารไทย และธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะหน่วยงานกำกับ

โครงการเขื่อนหลวงพระบาง (Luang Prabang dam project) ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงสายหลัก ห่างจากตัวเมืองหลวงพระบางซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ประมาณ ๒๕ กิโลเมตร ตั้งอยู่ระหว่างเขื่อนไซยะบุรี (ก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว) และเขื่อนปากแบง (ยังไม่ได้ลงมือก่อสร้าง) ในพื้นที่บ้านห้วยย้อ เมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพระบาง

หากเขื่อนหลวงพระบางสร้างเสร็จจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าประมาณ ๑,๔๙๐ เมกะวัตต์ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ ๓,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แม้ล่าสุดเจ้าของโครงการจะยังไม่ได้เซ็นต์ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับหน่วยงานใด และยังไม่ปรากฏว่ามีธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทยธนาคารใดอนุมัติปล่อยสินเชื่อเงินกู้ แต่โครงการเขื่อนหลวงพระบางกลับดำเนินการรุดหน้า แม้แต่ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-๑๙ การก่อสร้างก็ไม่ได้หยุดชะงัก

ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๖๓ แผนกพลังงานและบ่อแร่ เมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพระบาง รายงานความคืบหน้าโครงการเขื่อนหลวงพระบางว่ามีการก่อสร้างสถานีสายส่งไฟฟ้าและระบบสายส่ง ก่อสร้างสะพานคอนกรีตข้ามน้ำโขงระหว่างเมืองปากอูกับเมืองจอมเพ็ด ก่อสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ท่าเรือ ปั๊มน้ำมัน คลังอุปกรณ์ แคมป์คนงาน ฯลฯ รวมทั้งมีการลำเลียงเครื่องจักรที่เคยใช้ก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีมาใช้สร้างเขื่อนหลวงพระบางด้วย

ทั้งนี้ มีรายงานว่าผลจากการสร้างเขื่อนหลวงพระบางจะทำให้บ้านห้วยย้อซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงถูกอพยพทั้งหมู่บ้าน เมืองปากอูซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามบ้านห้วยย้อมีหลายหมู่บ้านได้รับผลกระทบ ทางการเมืองจอมเพ็ดได้ทำพิธีมอบเงินชดเชยแก่ชาวบ้านกรณีที่ต้องสูญเสียที่ทำกินและที่อยู่อาศัยเมื่อวันที่ ๒๕-๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
นอกจากชาวบ้านที่ต้องถูกโยกย้าย โครงการเขื่อนหลวงพระบางยังสร้างความหวั่นวิตกใจให้แก่ผู้คนในชุมชนใกล้เคียง เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำซึ่งเชื่อมโยงกับการทำมาหากิน ทั้งการทำประมงพื้นบ้านการเกษตรริมโขง การเก็บไกหรือสาหร่ายแม่น้ำโขง ในประเทศไทยเครือข่ายประชาชนไทย ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขงกังวลว่าการผลิตไฟฟ้าของเขื่อนหลวงพระบางจะสร้างผลกระทบในวงกว้าง ซ้ำรอยเขื่อนไซยะบุรีที่ก่อสร้างไปก่อนหน้านี้ที่มีการรายงานข่าวผ่านสื่อมวลชนไปทั่วโลก จนเกิดคำถามตามมาเกี่ยวกับความชอบธรรมในการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าของคนไทยและรัฐบาลไทยซึ่งเป็นคู่ค้าคนสำคัญของเขื่อนหลายแห่งในลาว ความรับผิดชอบข้ามพรมแดนของบริษัทเจ้าของกิจการตลอดจนธนาคารผู้อนุมัติปล่อยสินเชื่อเงินกู้

โครงการเขื่อนหลวงพระบางมีมูลค่าก่อสร้างสูงถึง ๓,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ ๙๙,๐๐๐ ล้านบาท โปรเจคยักษ์นี้เกิดขึ้นได้ยากหากเจ้าของโครงการไม่ได้รับเงินกู้จากธนาคารที่ถือเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญ

ที่ผ่านมาเจ้าของโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าในลาวหลายแห่งได้รับสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นเขื่อนน้ำงึม ๒ เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย

ปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทยหลายแห่งประกาศว่าจะปฏิบัติตามแนวทางการดําเนินกิจการธนาคารที่ยั่งยืน (Sustainable Banking Guidelines) หนึ่งในนั้นการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) คือการพิจารณาปล่อยสินเชื่อโดยคํานึงความเสี่ยงและผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทยจึงเรียกร้องให้ธนาคารไทยประกาศจุดยืนต่อโครงการเขื่อนหลวงพระบางและโครงการผลิตไฟฟ้าในแม่น้ำโขงสายหลัก มีเนื้อหาดังต่อไปนี้

๑. ประกาศว่าธนาคารจะระงับกระบวนการพิจารณาการสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการเขื่อน
หลวงพระบาง จนกว่าบริษัทเจ้าของโครงการจะมีการแก้ไขรายงานและปฏิบัติตามข้อเสนอตามแถลงการณ์ของคณะกรรมการร่วม (Joint Committee’s Statement) เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๒ และข้อเสนอจาก ๓ ประเทศสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Reply Form) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประเมินผลกระทบขามพรมแดนและผลกระทบสะสม และวางมาตรการบรรเทาผลกระทบที่เป็นรูปธรรมก่อนที่จะดําเนินโครงการตามกระบวนการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (PNPCA)
๒. ประกาศว่าธนาคารจะเพิ่ม “โครงการผลิตไฟฟ้าในแม่น้ำโขงสายหลัก” ในรายการสินเชื่อต้องห้าม(exclusion list) ของธนาคารภายในสิ้นปี พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยให้มีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ เป็นต้นไป

ที่ผ่านมารายการสินเชื่อต้องห้ามที่ทางธนาคารมักจะพิจารณาไม่ให้สินเชื่อหรือการสนับสนุนทางการเงิน อาทิ กิจกรรมที่ขัดต่อกฎหมายของประเทศที่ดำเนินธุรกิจ กิจกรรมที่มีการบังคับใช้แรงงาน หรือแรงงานเด็กที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรืออนาคตทางการศึกษา การผลิตหรือการค้าแร่ใยหินที่ไม่ได้ฝังตัวอยู่ในวัสดุอื่น การผลิตหรือค้าอาวุธนิวเคลียร์ อาวุธเคมีและชีวภาพ การค้าพืชและสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เป็นต้น

โดยธนาคารมักจะพิจารณาความเหมาะสมของสินเชื่อต้องห้ามกับบริบทของประเทศนั้นๆ

ในขณะที่การคำนึงถึงธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นหัวข้อที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในระดับชาติและระดับโลก อาทิ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ภัยแล้ง อุทกภัย ยังไม่ได้รับการประกาศนโยบายสินเชื่อที่ชัดเจน

ถึงเวลาหรือยังที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งของประเทศไทยจะพิจารณา “โครงการผลิตไฟฟ้าในแม่น้ำโขงสายหลัก” อยู่ในรายการ “สินเชื่อต้องห้าม” ของธนาคารอย่างจริงจัง เพื่อให้สอดรับกับแนวทางการธนาคารที่ยั่งยืน

resize finance03
resize finance04
resize finance05
resize finance06
จดหมายของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) เรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยแสดงจุดยืนต่อโครงการเขื่อนหลวงพระบาง และเพิ่มโครงการผลิตไฟฟ้าในแม่น้ำโขงสายหลักในรายการ “สินเชื่อต้องห้าม”

เนื้อหาของจดหมายที่แนวรวมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทยส่งถึงผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ ๗ แห่ง ระบุถึงเหตุผลสำคัญ ๕ ข้อที่ธนาคารไทยไม่ควรให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการเขื่อนหลวงพระบาง สรุปได้ดังนี้

๑. ไม่มีความจําเป็นใด ๆ ที่ไทยต้องซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนหลวงพระบาง เพราะในช่วงการระบาดของโควิด-๑๙ ปริมาณไฟฟ้าสำรองของไทยมีมากกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่า ๑๐,๐๐๐ เมกกะวัตต์ เทียบเท่าไฟฟ้าจากเขื่อนหลวงพระบาง ๖.๘ เขื่อน จนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ประกาศว่ากําลังพิจารณายกเลิกการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ
๒. ความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของเขื่อนหลวงพระบางอยู่ในระดับสูง บางด้านสูงกว่า เขื่อนไซยะบุรี เช่น ความเสี่ยงจากแผนดินไหว และความเสี่ยงต่อเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง ขณะที่เจ้าของโครงการไม่มีการประเมินความเสี่ยงเพียงพอ อาทิ ไม่ประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน และไม่คํานึงถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการทํางานของเขื่อน
๓. ผลจากกระบวนการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (PNPCA) ประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม เรียกร้องให้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบขามพรมแดนและผลกระทบสะสม
๔. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ในภูมิภาคนี้ เมื่อเจ้าหนี้ลาวเกือบร้อยละ ๕๐ คือประเทศจีน ซึ่งให้ลาวกู้เงินสร้างเขื่อนหลายแห่งผลิตไฟฟ้าป้อนมณฑลยูนนาน
๕. ความเสี่ยงจากการที่ประเทศลาวถูกลดอันดับเครดิตทางการเงิน เช่น สถาบัน Moody’s ลดอันดับเครดิตของลาวรวดเดียว ๒ ขั้น จาก B3 เป็น Caa2 หรือเทียบเท่าระดับ junk bond

resize finance02
เมืองหลวงพระบางตั้งอยู่ห่างจากเขื่อนหลวงพระบางประมาณ ๒๕ กิโลเมตร องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ห่วงกังวลว่าการสร้างเขื่อนอาจส่งผลกระทบต่อสถานะแหล่งมรดกโลกของเมืองหลวงพระบาง