ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

เด็กเท่ากัน คนเท่ากัน บางสิ่งไม่หวนกลับ ที่บางกลอย
เด็กๆ อาบน้ำและเล่นน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี ช่วงไหลผ่านหมู่บ้านโป่งลึกและหมู่บ้านบางกลอยล่างภายในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

ปัญหาขาดสิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ตลอดจนการเข้าไม่ถึงคุณภาพศึกษา ถือเป็นปัญหาสำคัญของชาวกะเหรี่ยงที่ถูกบังคับให้อพยพลงมาจากผืนป่าอุดมสมบูรณ์ใกล้แนวชายแดนไทย-พม่า ที่มีชื่อว่า “บางกลอยบน” / “ใจแผ่นดิน”

ทุกวันนี้ชาวบ้านบางกลอยซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกำลังเผชิญสถานการณ์ยากลำบาก เนื่องจากพื้นที่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่ได้รับการจัดสรรไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนเพื่อเพาะปลูกข้าว และมีบางส่วนไม่ได้รับการจัดสรรที่ดิน บางครอบครัวที่มีลูกมากต้องอดมื้อกินมื้อ เด็กบางคนต้องประทังชีวิตด้วยกับข้าวจำพวกพริกและผงชูรส ทางออกที่พ่อแม่ไม่อาจหลีกเลี่ยงคือพึ่งพาข้าวสารอาหารแห้งจากการรับบริจาค ที่ผ่านมามีเครือข่ายองค์กรต่างๆ ณรงค์รับบริจาคข้าวและอาหารเพื่อแก้ปัญหาความยากลำบากเฉพาะหน้า ทั้งๆ ที่รู้ว่าวิถีกะเหรี่ยงหากมีที่ทำกินแล้วไม่เคยต้องแบมือขอข้าวใคร

หลังความพยายามของชาวบ้านที่จะกลับขึ้นไปยังบางกลอยบน-ใจแผ่นดินครั้งล่าสุด

ผลลัพธ์คือชาวบ้านจำนวน ๘๕ คน ที่มีทั้งเด็กและผู้สูงอายุถูกเจ้าเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวลงมา จับกุมคุมขัง แจ้งข้อกล่าวหา และดำเนินคดีร่วม ๓๐ คน

เมื่อได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยยังคงได้รับคำมั่นสัญญาจากเจ้าหน้าที่ว่าจะดูแลชีวิต พัฒนาอาชีพ จัดสรรที่ทำกิน แหล่งน้ำ รวมถึงพัฒนาคุณภาพด้านสุขภาพและการศึกษา

ต้นเดือนเมษายน ๒๕๖๔ วางคดีข้อหาบุกรุกป่า

ฟังเสียงสะท้อนที่ดังออกจากบ้านบางกลอยล่าง ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ถึงสิทธิเสรีภาพ และความเป็นอยู่ที่อาจไม่มีวันหวนคืน

ขอขอบคุณ เครือข่ายองค์กรด้านเด็ก ผู้หญิง นักศึกษา และแรงงาน ในนามเครือข่ายเด็กเท่ากัน

bangkloyequal01

อนาคตอยากให้มีโรงเรียนที่สามารถรับเด็กมัธยมได้”

จัน ต้นน้ำเพชร
อายุ ๑๖ ปี

“ที่นี่ (บางกลอยล่าง) ไม่มีชั้นมัธยม พอจบ ป.๖ เราต้องไปเรียนต่อในตัวเมือง ด้วยความที่พ่อแม่ไม่มีเงิน และเราเป็นพี่คนโต ที่บ้านมีน้องหลายคน ก็ต้องทำงานส่งเสียตัวเองเรียน เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ปกติก็ไม่ค่อยได้กลับบ้าน

“เรื่องการศึกษา พอเรียนจบจากที่นี่ก็ต้องเลือกว่าจะไปเรียน ม.ต้น ที่ไหน เราตัดสินใจไปเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๔๗ เพราะเป็นโรงเรียนประจำ ฟรีทุกอย่าง ไปอยู่แล้วไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก พวกขนม หรือสตางค์เวลาไปเรียนก็แทบจะไม่มี เวลาไปเรียนก็ไม่ได้เอากระเป๋าสตางค์ไป ไม่ได้ซีเรียสอะไร เพราะรู้อยู่แล้วว่าพ่อแม่ไม่มีเงิน

“ส่วนมากเด็กที่ออกไปเรียนข้างนอกจะออกไปเรียนโรงเรียนที่ไม่เสียค่าเทอม อยู่ฟรี กินฟรี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะ ก็พออยู่ได้ ไม่ได้ขัดสน

“อยากให้มีการศึกษาที่ดีมากขึ้น เด็กจากภายนอกก็จะกลับมา ถ้ามีโรงเรียนมัธยมที่นี่เราก็จะได้กลับมาเรียน เราก็จะได้อยู่กับพ่อแม่ ไม่ต้องจากกันไกล

“จริงๆ เราอยากอยู่กับพ่อแม่มาก เพราะว่าเวลาที่เราไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เราก็ไม่ได้ช่วยงาน ไม่ได้ติดต่อก็ไม่รู้ว่าพ่อแม่เป็นยังไง บางครั้งจะโทรมาก็ไม่มีสัญญาณ ถ้าพ่อแม่แก่ก็อย่างอยู่กับบ้าน คอยช่วยงาน

“อนาคตอยากให้มีโรงเรียนที่สามารถรับเด็กมัธยมได้ อยากให้ทุกคนได้อยู่ด้วยกัน ไม่ต้องแยกจากกัน เราจะได้อยู่ช่วยงานพ่อแม่ สำหรับเด็กที่นี่การได้อยู่กับพ่อแม่คือสิ่งหนึ่งที่มีความสุขมาก มันมีหลายอย่างที่ทำให้เราอยู่ที่นี่แบบมีความสุข

ที่เราตัดสินใจกลับมาบ้าน จริงๆ ยังลังเลอยู่ว่าจะกลับไปเรียนดีมั๊ย วันนี้ถ้าถามหนูว่ากลับไปอยู่ใจแผ่นดินหนูอยู่ได้มั๊ย ไม่มีสัญญาณ ไม่มีโทรศัพท์ให้เล่น บอกเลยว่าหนูอยู่ได้ หนูไม่แคร์สิ่งแหล่านี้ การศึกษาหนูขอแค่อ่านได้ เขียนได้ หนูไม่สนใจฐานะอะไร คิดว่าถ้าได้กลับไปทำไร่หมุนเวียน ก็พอมีพออยู่”

bangkloyequal02

ขอให้มีความมั่นคงทางอาหาร หรือปัจจัยในการดำรงชีวิตก่อน ผมคิดว่าเด็กๆ จะไปได้ดี”

พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร
อายุ ๒๓ ปี

“เด็กกะเหรี่ยงส่วนใหญ่พูดไทยไม่ได้ เมื่อเข้าโรงเรียนก็จะถูกบังคับให้พูดไทย ไม่ให้พูดภาษากะเหรี่ยง เรื่องการเรียนค่อนข้างจะลำบาก โรงเรียนอยู่ทางฝั่งโป่งลึกมีถึงชั้น ป.๖ ที่นี่เรียนฟรี แต่หลังจบ ป. ๖ ถ้าลงไปเรียนข้างล่าง (ในตัวเมือง) ก็จะมีค่าใช้จ่าย การเดินทางลำบาก ไม่มีรถรับส่ง เด็กบางกลุ่มก็ยังไม่ได้โอกาส

“พ่อแม่บางคนต้องออกไปทำงานในเมือง เพราะอยู่ที่นี่ (บางกลอยล่าง) ปลูกข้าวไม่ได้ ก็ไม่รู้จะเอาอะไรกิน ไม่มีเงินซื้อข้าวของก็จำเป็นต้องไป บางคนอยากให้ลูกเรียนหนังสือ แต่ห้องเช่าในเมืองมีเนื้อที่แคบ เอาลูกไปอยู่ด้วยไม่ได้ ก็ต้องฝากญาติๆ ไว้ ซึ่งญาติเองก็ลำบากอยู่แล้ว

“เด็กๆ ตามบ้านบางคนได้กินแค่พริกกับผัก ไข่ไก่หรือเนื้อสัตว์มีน้อยมาก ส่วนมากชาวบ้านจะเป็นหนี้เรื่องข้าวเพราะปลูกเองไม่ได้ แล้วก็พวกอาหาร ผงชูรส ที่ติดหนี้เพราะต้องไปซื้อที่ร้าน

“เด็กๆ มีน้อยมากที่จะเรียนจบปริญญา ในแต่ละรุ่นมีจบปริญญาก็แค่คนหรือสองคน อย่างรุ่นผมจบปริญญาสองคน พ่อแม่ไม่มีเงินส่งให้เรียน ลำบากเรื่องเงินทอง มันเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย ต้องซื้อข้าวซื้อของ รุ่นผมสมัยเรียนคอมพิวเตอร์ไม่ได้จับ พอลงไปเรียนข้างล่าง ครูเขาให้พิมพ์ชื่อ พงษ์ศักดิ์ หาตัว พ.พาน กว่าจะเจอนี่นาน การศึกษาถือว่ายังด้อยอยู่ สุดท้ายผมก็เรียนจบแค่ ป.๖

”คนที่เรียนจบสูงๆ ที่จะกลับมาทำงานในหมู่บ้านก็น้อย ส่วนใหญ่กลับมาก็จะเป็นครู เป็นอาสาสมัครด้านสาธารณสุข น้องอีกคนที่เรียนรุ่นผมก็ไปเป็นเสมียนที่อำเภอ ส่วนคนที่เรียนไม่จบก็ไม่มีโอกาส กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะทำงานรับจ้างในเมือง ไปตามพื้นที่ต่างๆ ถ้าได้งานในเมืองก็ใช้ชีวิตเป็นคนเมืองไปเลย เด็กรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งจะใช้ชีวิตเหมือนคนในเมืองแล้ว

“นึกถึงสมัยก่อนส่วนใหญ่เด็กจะไม่ค่อยได้เข้าเรียน ตื่นมาก็ถูกชวนไปเข้าไร่เข้าสวน ให้ช่วยถอนหญ้าทำงานเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่ทำได้ เรียนวิชาชีวิตมากกว่าวิชาพาณิชย์ มีกินมีใช้ ถ้าทำไร่หมุนเวียนอยู่ข้างบน (บางกลอยบน) ปีหนึ่งมีเงินแค่สามพันก็อยู่ได้ ลงมาซื้อของแค่ปีละครั้ง พวกผงชูรส เกลือ เครื่องใช้ในครัว ล่องแพลงมา ขากลับก็เดินเท้ากลับ

“การศึกษาสำคัญมั๊ยก็สำคัญ แต่ผมคิดว่าสมัยก่อนที่ผมเรียน พ่อแม่อยู่ข้างบน (บางกลอยบน) ส่วนผมลงมาเรียนที่นี่ (บางกลอยล่าง) ถึงช่วงปิดเทอมก็จะกลับไปช่วยพ่อแม่ทำไร่ คิดว่าเป็นแบบนั้นก็ได้ เราสามารถส่งเด็กลงมาเรียนที่นี่ แต่ขอให้มีความมั่นคงทางอาหาร หรือว่าปัจจัยในการดำรงชีวิตก่อน ผมคิดว่าเด็กๆ จะไปได้ดี”

bangkloyequal03

พวกสมุนไพรถ้าเอามาปลูกในบ้านมันจะไม่รอด เพราะเป็นของที่อยู่ในป่า แต่ทุกวันนี้เราถูกห้าม”

สุพรรณ กว่าบุ
อายุ ๒๑ ปี

“ไปอยู่กรุงเทพฯ มา ๓ ปี ทำงานร้านอาหาร พักอยู่แถวเดะมอลล์บางแค เพิ่งกลับมาอยู่บ้านได้ปีกว่าๆ กลับมาตั้งแต่โควิด-๑๙ ระบาด พอโควิดระบาดก็ตกงาน ไม่มีงานทำก็ต้องกลับบ้านเพราะอยู่กรุงเทพฯ ไม่มีข้าวกิน แล้วจะเอาเงินที่ไหนจ่ายค่าห้อง

“ตอนนี้ข้าวที่คนเข้ามาบริจาคมีเยอะ แต่ก่อนที่จะเกิดเรื่อง (ชาวบ้านบางกลอยจำนวนหนึ่งอพยพกลับขึ้นไปบางกลอยบนและใจแผ่นดิน) ก็ไม่ค่อยจะมีข้าวกิน ปรกติแล้วข้าวกับอาหารสดไม่ค่อยมี บางทีต้องกินข้าวกับเกลือและน้ำมันพืช เพิ่งจะมาช่วงที่คนรุ่นพ่อแม่พยายามกลับขึ้นไปข้างบน ถูกจับกุมและเป็นข่าว ก็จะมีคนเอามาม่า ปลากระป๋องมาบริจาค แต่พวกเนื้อสดผักสดก็ยังไม่ค่อยมี ทุกวันนี้กินข้าวกับปลากระป๋อง มาม่า ต้องกินทุกมื้อมันก็มีเบื่อบ้าง

“เรื่องบริจาคมีผู้ใหญ่บางคนบอกว่าไม่อยากรับ ถ้าคนข้างนอกเอาของมาบริจาค มันเหมือนคนรับไม่มีศักดิศรี เหมือนกับว่าแบมือขอเขากิน

“วิธีที่ดีที่สุดคือทำไร่ ปลูกข้าวกินเอง ให้พวกเราไม่ต้องขอใครกิน อย่างที่ลุงนอแอะพูด ขอที่ดินที่อุดมสมบูรณ์พอจะทำไร่ได้ นอกนั้นเราก็ไม่ต้องการอะไรมาก พวกเราต้องการแค่ทำไร่ได้ ปลูกข้าวได้ก็พอ เรื่องการเจ็บป่วยหรือรักษาพยาบาล เรามีสุขศาลา แต่บางคนเวลาไปขอยา ลูกตัวร้อนหรือมีน้ำมูกไปขอยาก็จะได้แค่พารา ไม่ได้ยาลดน้ำมูก บางทีทั้งตัวร้อน ไอ มีน้ำมูก แต่ก็ได้ยาแค่สองอย่าง ไม่ครบ

“ความรู้เรื่องพืชสมุนไพรยังมีอยู่ พ่อของหนูเวลาถูกตะขาบกัด เขาจะรู้ว่าใช้ยาอะไร แต่พวกสมุนไพรถ้าเอามาปลูกในบ้านมันจะไม่รอด เพราะเป็นของที่อยู่ในป่า แต่ทุกวันนี้เราถูกห้าม”

“เราขอขึ้นไปข้างบน (บางกลอยบน) ดีกว่าให้กลับไปทำงานในเมือง ไปอยู่กรุงเทพฯ ถ้าวันหนึ่งบ้านเราเกิดสู้รบกันแบบพม่า (หมายถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่ทหารทำกับประชาชนภายหลังรัฐประหาร) ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นมา พวกเราจะหนียังไง”

bangkloyequal04

วิถีการอยู่กับธรรมชาติ เรื่องพิธีกรรมความเชื่อที่มีต่อธรรมชาติส่วนใหญ่ก็จะหลงลืมไป เด็กเกือบทั้งหมดที่ลืมเรื่องพวกนี้”

กิ๊ป ต้นน้ำเพชร
อายุ ๔๓ ปี

“นามสกุลต้นน้ำเพชรได้มาหลังปี ๒๕๓๙ ตอนที่ถูกบังคับให้อพยพลงมาอยู่บางกลอยล่าง เดิมเรานามสกุลว้าก่อ แต่เจ้าหน้าที่บอกให้เป็นเปลี่ยนเป็นต้นน้ำเพชร อันที่จริงเราไม่ได้ชอบนามสกุลต้นน้ำเพชร เราอยากจะได้นามสกุลว้าก่อมากกว่า เพราะว้าก่อเป็นชื่อของปู่ทวด ว้าแปลขาว ก่อแปลว่าคอ รวมกันแปลว่าคอขาว

เมื่อลงมาอยู่ที่นี่ เรื่องของการศึกษา เด็กๆ ได้เรียนหนังสือ แต่ที่ถูกตัดขาดคือการเรียนรู้วิถีชีวิต เด็กๆ กำลังจะถูกทำให้ลืมในวิถีชีวิตของตัวเอง

“วิถีเดิมของเราที่อยากให้ลูกได้เรียนรู้ก็มีการทำไร่หมุนเวียน ทั้งขั้นตอน วิธีการ แล้วก็พวกการทอผ้า การจักสาน เด็กส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่อง นี่คือเรื่องหลักๆ ที่เด็กๆ กำลังจะลืมไป เมื่อเราถูกย้ายลงมาอยู่ข้างล่าง (บางกลอยล่าง) เราสอนจักสานหรือผ้าทอเหมือนเดิมไม่ได้ ยกตัวอย่างการปั่นด้ายหรือพันด้าย เพื่อที่จะนำมาทอผ้า สีที่ใช้ต้องทำมาจากธรรมชาติ แต่ ณ ตอนนี้มันไม่มี เราไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ หรืออย่างด้ายที่จะใช้ทำ ลำลี มาจากต้นฝ้ายที่ปลูกตามไร่ หมอนก็ทำจากใยที่ได้จากฝักต้นนุ่น เมื่อไม่มีไร่หมุนเวียนก็เลยไม่ได้ทำ ไม่ได้ปลูก มันก็เลยกำลังจะสูญหายไป

“ตอนนี้เราอายุ ๔๓ ปี ถูกบังคับให้ลงมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ ตอนนั้นอายุประมาณ ๒๓ ก่อนปี ๒๕๓๙ ยังมีการสอนทอผ้าอยู่ แต่หลังจากถูกอพยพลงมา กลุ่มของเราส่วนใหญ่ต้องหนีเข้าป่า จากนั้นก็ไม่มีใครสอน เราเคยทอผ้ามาก่อน ช่วงแก่แล้วที่ไม่ได้ทอ ไม่ได้ทำงานจักสาน วิถีการอยู่กับธรรมชาติ เรื่องพิธีกรรมความเชื่อที่มีต่อธรรมชาติส่วนใหญ่ก็จะหลงลืมไป เด็กเกือบทั้งหมดที่ถูกทำให้ลืมเรื่องพวกนี้

“เราอยากกลับไปอยู่ที่บางกลอยบน ส่วนลูกจริงๆ จะอยู่ที่นี่ก่อนก็ได้ หลังเรียนจบแล้วก็แล้วแต่ความสมัครใจของลูก ถ้าอยากจะเรียนต่อขนาดไหนก็เรียน แต่หลังเรียนจบขอให้ลูกกลับไปเรียนรู้วิถีชีวิต กลับไปช่วยทำไร่ คิดว่าทางเลือกนี้น่าจะดีที่สุด ถ้าได้กลับไปอยู่ที่โน่น เรื่องอาหาร ข้าว ก็ไม่ต้องซื้อ”