เรื่อง : ณฐาภพ  สังเกตุ   
ภาพ : วันวิสาข์ คำบุญเรือง / กลุ่มมนตร์อาสา 

มนตร์อาสา - ชุมชนคนอาสาสมัคร ทำต่อหรือพอแค่นี้ก่อน? 

อยากให้การออกค่ายอาสาเป็นมากกว่าไปทาสีโรงเรียนให้ใหม่” 

หนักสุดคือโดนไล่ให้ไปค่ายอาสา ไปดูความลำบากของชุมชน งง ถ้าไปแล้วได้มาเท่านั้นก็อยู่บ้านเหอะ” 

จากที่เคยไปค่ายอาสามา มันไม่สามารถช่วยชาวบ้านได้จริงๆ แถมยังไปใช้ทรัพยากรของเขาอีก ถ้าจะให้แก้ปัญหาตรงนั้น ต้องให้รัฐเลิกหันหลังให้คนชายขอบก่อน” 

สิ่งที่ Romanticize วิถีชุมชนได้อย่างเลวร้ายที่สุดทางหนึ่งก็คือค่ายอาสานั่นแหละค่ะ” 

เสียงจากโซเชียลมีเดียข้างต้นทำให้เกิดคำถามว่า งานจิตอาสา ค่ายอาสา ยังเป็นคำตอบของสังคมหรือไม่? 

เรื่องราวต่อจากนี้จะพาทุกคนไปหาคำตอบ 

volunteer03

เสกเวทมนตร์ไปกับมนตร์อาสา 

“ผมเป็นผู้ป่วยซึมเศร้า เป็นคนธรรมดาที่ไม่อยากยอมแพ้กับภาวะนี้ หลายๆ อย่างเริ่มต้นขึ้นช่วงก่อนปี 2551 สมัยกำลังเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย ที่บ้านมีปัญหาจนสุดท้ายต้องแยกทาง 

“ตอนนั้นผมสอบติดคณะรัฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ตัดสินใจไม่กลับบ้าน มุ่งแต่เรียนกับทำกิจกรรม ชีวิตมีความสุข ได้ทำกิจกรรมรู้จักผู้คนมากมาย แต่พอเรียนจบถึงรู้ตัวว่าภายใต้ความสุขที่มี เราซ่อนปัญหาภายในใจจากอดีตพร้อมปะทุอยู่เสมอ 

“เข้าสู่ชีวิตการทำงานได้ปีกว่าๆ มีเหตุการณ์ที่ทำให้ภูเขาไฟภายในใจระเบิดออก จำได้ว่าช่วงนั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับ ในหัวคิดวนแต่ปัญหา และมีความรู้สึกว่า ‘ไม่อยากอยู่แล้ว’  

“ไม่ได้หมายความว่าผมอยากฆ่าตัวตาย แต่มันคือความรู้สึกอยากตาย พร้อมที่จะตาย ตายไปก็ไม่ห่วงอะไร น่าจะรู้สึกดีกว่าการมีชีวิต ผมเลือกไปหาจิตแพทย์ หมอวินิจฉัยว่าเป็นซึมเศร้า นอกจากกินยาแล้วหมอบอกให้ไปปฏิบัติธรรม และพยายามพูดถึงเรื่องเวรกรรม ซึ่ง ณ เวลานั้นผมไม่อิน 

“สุดท้ายผมเลือกกินยาอย่างเดียว ในทางกลับกันผมพยายามหาทางเยียวยาตัวเอง ทั้งออกกำลังกาย อ่านหนังสือจิตวิทยา หันไปหาอะไรทำไม่ให้ว่าง เหมือนจะดี แต่วันหนึ่งมันมีคำถามกับตัวเองว่า จะออกกำลังกายหาเงินไปทำไม กับการที่เราไม่ได้อยากมีเป้าหมายอะไรให้ตัวเอง? 

“ผมพยายามหาทางเยียวยาตัวเองในมุมมองที่ต่างไป มามองว่าอะไรคือความสุข จึงนึกได้ว่าเราเคยมีความสุขกับการทำกิจกรรมอาสาสมัครสมัยมหาวิทยาลัย จึงตัดสินใจตั้งกลุ่ม ‘มนตร์อาสา’ ช่วงแรกๆ ทำเพื่อไม่ให้ตัวเองว่าง และการทำอะไรเพื่อคนอื่นในสังคม คงดีกว่าการทำเพื่อตัวเอง  

“ผลลัพธ์ทำให้เจออะไรเกินคาด ผมพบคนสองกลุ่มที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยน กลุ่มแรกคือธนาคารจิตอาสา (JitArsa Bank) ทำให้ผมได้รู้จักคนที่พร้อมรับฟัง รวมทั้งการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อพัฒนาตัวเองและกิจกรรมอาสาที่เราจัด 

 “กลุ่มต่อมาคือผู้คนที่เกี่ยวข้องกับงานอาสาที่ผมจัด พบว่ามีผู้คนอีกมากที่เป็นซึมเศร้า และเขามีความสุขกับพื้นที่ที่เราจัดขึ้น เป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อค้นหาคุณค่าของตัวเองและช่วยเหลือสังคม มีพื้นที่ในการรับฟังแลกเปลี่ยนวางใจพักไว้ นั่นทำให้เราก้าวข้ามการทำอะไรเพื่อตัวเอง” 

เรื่องราวของเน-ทิพย์ชยพล ปารีณาพัฒน์นรี อายุ 32 ปี ชายผู้เคยประสบกับภาวะซึมเศร้า ก่อนตัดสินใจมาทำกลุ่มมนตร์อาสาเมื่อ 3 ปีก่อน เขาบอกกับเราว่าสำหรับเขา คนที่ประสบกับภาวะซึมเศร้าและอยากดีขึ้นต้อง 1.รู้ว่าตัวเองเป็นแล้วอยากหาย 2.หาหมอและกินยา 3.เปลี่ยนสภาพแวดล้อม  

“ตั้งแต่ทำมนตร์อาสา เจอคนเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นซึมเศร้าค่อนข้างเยอะ ปัญหาคือส่วนใหญ่เขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มันไม่โอเค ต่อให้ยาดีขนาดไหนมันหายไม่ได้เลยถ้าไม่เปลี่ยนสภาพแวดล้อม บางคนจากที่ทำงาน บางคนจากครอบครัว”  

เนเปลือยประสบการณ์ชีวิตตัวเองเพื่อหวังจะเป็นกำลังใจให้ใครอีกหลายคนที่ประสบภาวะเดียวกันกับเขา ก่อนที่เราจะสนทนากันต่อถึงงานอาสาสมัครที่เขาคลุกคลีมาตลอดตั้งแต่สมัยมัธยมฯ ต้น 

“ปัญหาตอนนี้คือกลุ่มที่จัดอาสากันเองนี่แหละ” เนเปิดประเด็นเพื่อเผยให้เห็นถึงอีกแง่มุมหนึ่งของสังคมกลุ่มอาสาสมัคร ที่ใช่ว่าจะมีแต่สิ่งดีๆ ไปทั้งหมด  

“เราเจอกลุ่มแอบอ้างงานอาสาเกิดขึ้นเยอะมาก ที่เคยเจอเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว คือเก็บค่าเข้าร่วมกิจกรรมราคาถูก พาไปสถานที่ท่องเที่ยวมีชื่อเสียง คนสมัครหลักร้อย แต่พอถึงกิจกรรมจริงไม่สามารถจัดการอะไรได้ คนเข้าร่วมเลยกลับมาเขียนลงพันทิป เป็นกระแสโซเชียลขึ้นมา” 

เนในฐานะคนจัดค่ายอาสาฝากคำแนะนำเพื่อให้อาสาสมัครทุกคนไม่ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มแอบอ้าง โดยเราควรที่จะอ่านรายละเอียด กำหนดการของกิจกรรมให้ถี่ถ้วน กลุ่มที่ทำงานอาสากับกลุ่มที่แค่พาไปเที่ยว จะเห็นความแตกต่างค่อนข้างชัด นอกจากนี้คือการกดเข้าไปตามเพจของกลุ่ม ดูรูปกิจกรรมที่ผ่านมา  

“ปัญหาอีกอย่างของงานอาสาตอนนี้คือเรื่องเด็กเก็บชั่วโมงอาสาสมัคร” เนเสียงเอื่อยลงและพูดต่อถึงปัญหาที่ตนเองเผชิญ “เจอตั้งแต่เด็กอนุบาลจนถึงมหา’ลัย เด็กเก็บชั่วโมงบางส่วนเป็นปัญหา เพราะว่ามาทำส่งๆ ให้มันจบๆ ไป” เนบอกว่าบางครั้งต้องทะเลาะกับเหล่าผู้ปกครอง เพราะเขาไม่ยอมเซ็นเก็บชั่วโมงอาสาให้เด็กที่ไม่ตั้งใจทำงาน แต่สุดท้ายเขาก็มองปัญหาในอีกมุมมอง  

“เรามองว่ามันคือโอกาสมากกว่าปัญหา เพราะว่าเมื่อสถาบันการศึกษาบังคับให้เด็กมาทำกิจกรรมแล้ว กิจกรรมที่เราจัดมันควรออกแบบมาให้เด็กเข้าถึงคำว่าอาสาได้จริงๆ ให้เขาเรียนรู้และอาจทำให้เขากลับมาชอบ” ซึ่งเมื่อเป็นได้เช่นนั้น จากงานเก็บชั่วโมงมันจะกลายเป็นเขาอยากทำมันด้วยหัวใจจริงๆ มีน้องคนหนึ่งเคยมาทำกิจกรรมกับมนตร์อาสาและเขียนฟีดแบ็กให้แก่เขาไว้ว่า  

วันนี้สนุกและตื่นเต้นมากๆ เพราะหนูเป็นคนชอบสัตว์อยู่แล้ว ได้มาทำจิตอาสาครั้งนี้เลยรู้สึกดีมากๆ เป็นแรงบันดาลใจให้หนูได้เรียนคณะสัตวแพทย์อีก แรงค่ะ  

volunteer04

กิจกรรมของมนตร์อาสาสามารถแบ่งได้ทั้งหมดสี่รูปแบบ คือ 1.กิจกรรมครึ่งวัน  2.กิจกรรมเช้า-เย็นกลับ 3.ค้างคืนทำค่าย  4.กิจกรรมทำที่บ้าน  ซึ่งกิจกรรมที่สร้างชื่อให้กับมนตร์อาสาคือกิจกรรมการพาเหล่าจิตอาสาไปล้างกรงเสือ  

“บังเอิญเราขับรถเล่น ไปเจอศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่จังหวัดนครนายก ไปคุยกับเจ้าหน้าที่ว่าเราทำกลุ่มอาสาอยู่อยากมาล้างกรงเสือ ตอนนั้นไม่คาดคิดว่าจะมีคนกล้าไปกับเรา แต่ปรากฏว่ารุ่นแรกมีคนมาร่วม 80 คน ถึงตอนนี้จัดกิจกรรมมา 20 รุ่นแล้ว” 

มนตร์อาสาพยายามหากิจกรรมแปลกใหม่และเป็นปัญหาที่คนยังไม่รู้จัก เช่น ปัญหาเรื่องสัตว์ป่าของกลาง คนส่วนใหญ่คิดว่าจับสัตว์มาแล้วคงปล่อยคืนสู่ป่าหมด ซึ่งกระบวนการจริงๆ มันไม่ใช่อย่างที่เราคิด สัตว์บางชนิดไม่สามารถอยู่ในประเทศไทยได้ เพราะเรื่องระบบนิเวศ  และที่สำคัญสัตว์ป่าพวกนี้ต้องเก็บไว้เป็นของกลาง จนกว่าการพิจารณาคดีจะสิ้นสุด “เราจึงอยากจัดกิจกรรมให้คนรู้จักสัตว์กลุ่มนี้มากขึ้น” เนเล่าถึงที่มาของกิจกรรมที่ตนเองประทับใจ ก่อนจะกล่าวต่อไปถึงองค์กรที่คอยสนับสนุนมนตร์อาสามาตลอด 

“ตอนที่เราเริ่มต้นทำมนตร์อาสา มีข้อจำกัดเรื่องคนกับเรื่องเงิน สมัยเรียนเรามีเงิน มีนิสิตในมหาวิทยาลัยซัปพอร์ต แต่ตอนนี้เราเป็นคนธรรมดา ไม่รู้จะหาคนหาเงินมาจากไหน จนมาเจอกับธนาคารจิตอาสา” 

ธนาคารจิตอาสาเปรียบเสมือนตัวกลางช่วยประชาสัมพันธ์กิจกรรมให้กลุ่มอาสาสมัครต่างๆ ได้มาฝากงานอาสาไว้บนหน้าเว็บไซต์ แต่ไม่ใช่เพียงแค่นั้น เพราะธนาคารจิตอาสายังทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้แก่กลุ่มคนทำงานจิตอาสาด้วย 

“จากที่เราไปอบรมกับธนาคารจิตอาสา เราเรียนรู้ว่าไม่ได้แค่อยากให้คนมาทำกิจกรรมแล้วกลับบ้าน เราอยากให้มีการแชร์พูดคุยกันว่าคุณได้อะไรจากกิจกรรมบ้าง” 

หลังจากผ่านการอบรมกับธนาคารจิตอาสาในหลักสูตร “กระบวนกรสร้างเสริมสุขภาวะ Transformative Experience Provider (TEP)” เนพบความเปลี่ยนแปลงในการจัดกิจกรรมของตนเอง จากที่ก่อนหน้านี้เขาคิดเพียงว่าคนจะรู้จักและสนิทกันผ่านกิจกรรมนันทนาการเท่านั้น แต่หลังจากผ่านการอบรมทำให้เนเปลี่ยนมุมมองกับเรื่องนี้ และเข้าใจว่าสิ่งที่ดีกว่ากิจกรรมนันทนาการคือการทำให้ผู้เข้ากิจกรรมได้คุยกันในพื้นที่ปลอดภัยไร้การตัดสินจากผู้คน 

“มีกิจกรรมที่เราชอบมากคือ ‘หินน้อยค่อยเจรจา’ โดยการให้คนมาพูดคุยกันผ่านก้อนหินก้อนหนึ่ง ในวงสนทนาคนที่สามารถพูดได้คือคนที่หยิบหินขึ้นมา คนอื่นๆ ที่ไม่มีหินทำได้เพียงรับฟัง กลายเป็นว่าคนกล้าบอกความรู้สึกตนเองเพราะมีคนรับฟัง สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนเป็นโรคซึมเศร้ากล้าแสดงตัว มันทำให้เห็นว่ากิจกรรมของเราสามารถเยียวยาคนที่มาได้”   

ก่อนจบบทสนทนาเราถามเขาว่ามนตร์อาสาในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ก็ได้คำตอบว่า “เรามีภาพในหัวเยอะมาก…แต่เราขี้เกียจทำ” พร้อมเสียงหัวเราะที่อัดอั้นกันมานานทั้งคนพูดและคนฟัง ก่อนที่เขาจะกลับเข้าสู่โหมดจริงจัง  

“เราอยากทำเครือข่ายอาสา ตอนนี้คนที่เข้าถึงงานอาสาส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ  เราเคยจัดกิจกรรมที่พิษณุโลก มีคนหนึ่งเขาอยู่ภูเก็ต แต่อยากร่วมกิจกรรม จึงต้องนั่งรถมากรุงเทพฯ และต่อรถมากับเราที่พิษณุโลก คนเดินทางจากหลายๆ ที่เพื่อมาหาเรา เราอยากทำเครือข่ายขึ้นมาตามภูมิภาคต่างๆ”  

เพื่อมนตร์อาสาจะออกเดินทางไปหาทุกคน เพราะหนุ่มสวมแว่น ผู้มีรอยยิ้มอย่างเป็นธรรรมชาติ เขาเป็นนักฝัน นักเดินทาง และเป็นนักจัดค่ายอาสาที่เชื่อว่า “งานอาสามันไม่ใช่ยารักษาโลก แต่มันเป็นเพียงจุดหนึ่งที่จะมาช่วยเยียวยาคนที่มีภาวะอะไรก็ตามในจิตใจให้มันเบาบางลงได้” 

volunteer05

ฝากเวลาไปกับธนาคารจิตอาสา 

-ถือกำเนิด- 

07.58 . ลึกลงไป 30 กิโลเมตรจากระดับะเลใต้มหาสมุทรอินเดียอันเงียบเชียบ แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนตัวเบียดเสียดเข้าหากัน แผ่นหนึ่งถูกผลักดันให้เบียดผ่านอีกแผ่นหนึ่ง แรงกดดันสูงเหนือแรงเสียดทาน ทันใดนั้น! มันสปริงตัวเคลื่อนไหวอย่างฉับพลัน ผ่อนแรงทั้งสองฝั่งที่อัดอั้นกันมานาน เกิดเป็นแผ่นดินไหวใต้ท้องทะเล 9.1 แมกนิจูด 

ธนาคารจิตอาสาเกิดขึ้นโดยสองผู้ก่อตั้ง คือ ดร.เอเชีย-สรยุทธ รัตนพจนารถ และอาจารย์หนุ่ม-ธีระพล เต็มอุดม เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ให้เราสามารถค้นหางานอาสาในแบบที่เราอยากทำ เปรียบเสมือนตัวกลางที่ทำให้คนจัดงานอาสาได้มาพบกับคนอยากทำงานอาสา และไม่เพียงแค่นั้นระบบของเว็บไซต์ธนาคารจิตอาสายังสามารถคัดเลือกงานอาสามานำเสนอได้ตรงกับทักษะและความสนใจของสมาชิก

 หลังจากสมัครสมาชิก เราสามารถฝากเวลาของเราไว้กับธนาคารจิตอาสาได้สูงสุด 240 ชั่วโมง ซึ่งเวลาดังกล่าวที่ได้ฝากไป สามารถนำไปใช้ในการทำกิจกรรมอาสาต่างๆ ในเว็บไซต์ ภายใต้แนวคิดที่ว่า “การให้เวลาคือการมอบสมบัติล้ำค่า” โดยข้อมูล ณ วันที่ 9 มีนาคม 2563 บนหน้าเว็บไซต์ JitArsaBank มียอดฝากเวลาไปแล้วทั้งหมด 8,200,425 ชั่วโมง 

volunteer06

-ก่อร่างสร้างตัว- 

09.35 . กระแสน้ำถอยร่นออกจากชายฝั่ง เผยให้เห็นขุมทรัพย์ใต้ท้องทะเล กระโดดโลดเต้นบนความเหือดแห้งน่าฉงน กระแสน้ำถอยกลับยากลึกเกินจะเข้าใจ ณ ห้วงเวลาดังกล่าว ผู้คนต่างเดินลงไปกลางท้องทะเล ทะเลที่เป็นดั่งหญิงสาวในห้วงเวลาสงบ และเป็นดั่งอสรกายในห้วงเวลาพิโรธ 

www.jitarsabank.com ของธนาคารจิตอาสา มีการให้หน่วยงานภายนอกโดย Zanroo (บริษัทอินเตอร์เน็ต เบส บิซิเนสกรุ๊ป จำกัด) คอยดูแลระบบเว็บไซต์ให้ ด้วยเหตุผลเพราะว่า “ปัจจุบันธนาคารจิตอาสามีสมาชิกอยู่ในระบบกว่า 1 แสนคน มีกลุ่มเครือข่ายคนจัดงานอาสาอีก 186 กลุ่ม การทำเว็บไซต์ให้เกิดเสถียรภาพจึงมีความสำคัญ”มิ้นต์-ณัฏฐนันท์ เจริญรัตนธนิน ผู้ประสานงานของธนาคารจิตอาสากล่าว 

ในส่วนของการบริหารจัดการภายในองค์กร มิ้นต์เล่าให้เราฟังว่า “ธนาคารจิตอาสามีหัวหน้าโครงการสองคน มีฝ่ายอบรมวิชาการสองคน และมีผู้ประสานงานสามคน รวมทั้งหมดเจ็ดคน” โดยจะมีดอกเตอร์เอเชียกับอาจารย์หนุ่มเป็นผู้ดูแลภาพรวมขององค์กร มีอาจารย์เล้ง-โชติศักย์ กิจพรยงพันธ์ และอาจารย์เกิ๊ก-วิเศษ บำรุงวงศ์ เป็นผู้ดูแลหลักสูตรต่างๆ ของโครงการ  และทีมซัปพอร์ตอีกสามคนคอยดูแลปัญหารับข้อร้องเรียนและประสานงานต่างๆ  

มิ้นต์เป็นหนึ่งในผู้ประสานงาน แม้เธอจะอายุเพียง 24 ปี แต่เธอมีประสบการณ์ทำงานในแวดวงเพื่อสังคมมาตั้งแต่อายุ 19 ปี  โดยมีจุดเริ่มต้นจากการทำงานเป็นอาสาสมัครในโครงการ Food For Friends แจกอาหารให้คนไร้บ้านของมูลนิธิกระจกเงา “การทำงานจิตอาสาทำให้พบมิติการทำเพื่อคนอื่น เราเจอความสุขในชีวิตจากการทำงานเพื่อสังคม” มิ้นต์บอกถึงเหตุผลที่เธอตัดสินใจไม่ศึกษาต่อและเข้ามาทำงานเพื่อสังคมเต็มตัว

-ขับเคลื่อน เดินหน้า- 

10.03 .มวลน้ำเหนือรอยเลื่อนกระเพื่อมเป็นคลื่นขาวโพลน สะสมความเชี่ยวกรากเดินทางเข้าสู่ชายฝั่งด้วยความเร็ว 800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วค่อยๆ ลดแต่แทนที่ด้วยคลื่นสูงราว 10 เมตร เสียงลมอืออึงก่อนตามมาด้วยเสียงดั่งเปลวไฟจากอเวจี คลื่นสาดกระทบเข้ากับสิ่งก่อสร้างดังสนั่นหวั่นไหว พื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันหลายแห่งหายวับไปต่อหน้าต่อตา 

สมาชิกของธนาคารจิตอาสาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 18-35 ปี และในส่วนของกลุ่มอาสาสมัคร “ทางธนาคารจิตอาสามีกระบวนการคัดเลือกกลุ่มที่มีจุดยืนการทำงานเพื่อสังคม ไม่แสวงหาผลประโยชน์หรือทำเป็นธุรกิจเพื่อกำไรจนเกินไป เราอยากทำให้เหล่าอาสาสมัครได้มาเจอกับกลุ่มคนที่อยากทำงานอาสาจริงๆ” มิ้นต์พูดถึงสิ่งที่เน กลุ่มมนตร์อาสา เคยบอกเล่าไว้ก่อนหน้านี้ในเรื่องของกลุ่มอาสาสมัครปลอม ซึ่งทางธนาคารจิตอาสาเองมิได้นิ่งนอนใจ และพยายามคัดกรองกลุ่มที่จะเข้ามาจากการพูดคุยสัมภาษณ์ ดูประวัติย้อนหลังของผู้จัดงานและกลุ่มอาสานั้นๆ  

ธนาคารจิตอาสามิใช่เป็นเพียงตัวกลางอย่างเดียว แต่มีบทบาทในด้านอื่นๆ ด้วย “เรามีการเปิด LINE OpenChat กับกลุ่มชุมชนผู้ดูแลงานจิตอาสา เพื่อให้แต่ละกลุ่มได้มาพบปะ เล่าถึงปัญหาที่ตนเองเจอ มาแลกเปลี่ยนเรื่องราวดีๆ หรือมีปัญหาติดขัดตรงไหน มีอะไรที่ช่วยได้เราจะดูแลพวกเขาเต็มที่” มิ้นต์บอกเล่าถึงหลักการทำงานของธนาคารจิตอาสา ที่นอกจากคอยดูแลให้คำปรึกษาแล้ว ยังมีการจัดหลักสูตรอบรมต่างๆ ให้ทางภาคีเครือข่ายได้เรียนรู้ 

ในส่วนของการดูแลเหล่าจิตอาสา “ความสุขประเทศไทย HappinessisThailand.com” เป็นอีกหนึ่งโครงการของธนาคารจิตอาสา เป็นพื้นที่สร้างเสริมสุขภาวะทางจิตใจสำหรับทุกคนให้สามารถเข้าถึงความสุขในหลากหลายช่องทาง ทั้งความสุขจากการสัมผัสธรรมชาติ (กิจกรรม Park ใจ ชุมชนของคนรักธรรมชาติ) ความสุขจากความสัมพันธ์ (กิจกรรมฟังสร้างสุข ชุมชนที่พร้อมรับฟังเรื่องราวของกันและกัน)  

หรืออย่างกิจกรรมล่าสุด “อ่าน สร้าง สุข” ที่จัดขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2564 กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้แต่ละคนนำหนังสือวรรณกรรมเยาวชนที่ตนเองชื่นชอบมาแลกเปลี่ยนเรื่องราวซึ่งกันและกัน ซึ่งในตอนท้ายของกิจกรรมอาจารย์เล้ง กระบวนกร พาผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนกลับมาสะท้อนเรื่องราวของตนเองที่เชื่อมโยงกับหนังสือ โดยมีผู้เข้าร่วมคนหนึ่งหยิบหนังสือเจ้าชายน้อยมาร่วมกิจกรรม และสะท้อนออกมาผ่านการอ่านเรื่องราวที่เขาได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองเขียนมันออกมา 

“อย่าได้หลงลืมวัยเด็กเชียว เธอน่าจะรู้การเป็นผู้ใหญ่น่ะมันน่าเบื่อเพียงใด เขาเอาแต่พูดกันถึงเหตุผลผิดถูก เธออย่าได้หลงลืมจินตนาการที่ซ่อนอยู่ เราทุกคนมีเด็กน้อยซ่อนอยู่ในหัวใจทุกคน ขอเพียงอย่าเพิ่งเชื่อในสิ่งที่เธอเห็นหรือได้ยิน สิ่งสำคัญน่ะไม่อาจเห็นได้ด้วยดวงตาหรอกนะ เราจำเป็นต้องใช้หัวใจให้มากเข้าไว้ หัวใจแห่งเยาว์วัยจะโอบกอดในวันที่เธอหมดแรง และหากวันใดที่เธอเหนื่อยอ่อน เพียงเธอแหงนหน้ามองบนท้องฟ้า เธอจะพบดาว B612 ส่งรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับเธอ”  

“ธนาคารจิตอาสาพยายามทำให้คนเข้าถึงความสุขง่ายๆ ในช่องทางต่างๆ เราอยากให้คนเรียนรู้ว่าการทำให้ตัวเองมีความสุขมันมีหลายช่องทาง มันจึงเกิดความสุขประเทศไทยขึ้นมา”  

นอกจากนี้มิ้นต์ยังบอกว่า การทำให้คนทำงานจิตอาสาได้สะท้อนกลับมาหาตัวเอง ได้ขบคิดถึงสิ่งที่ตนเองทำไป เป็นเหมือนหัวใจสำคัญของการจัดงานอาสา “เสียงของคนทำงานอาสาเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้งานอาสามันเติบโตต่อไป”  

-อาสาเข้ามา- 

12.00 .น้ำทะเลกลับสู่ระดับปกติ ความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย ความสูญเสียมิอาจแลกกลับคืนมาได้ด้วยสิ่งใด แต่อีกฟากหนึ่งมหันตภัยสึนามิ 26 ธันวาคม 2547 ได้ปลุกจิตสำนึกผู้คนต่อการเป็นอาสาสมัคร หลังเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้น เครือข่ายกลุ่มอาสาสมัครในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก 

 “คำว่าจิตอาสาเริ่มถูกนำมาใช้หลังเหตุการณ์สึนามิ เกิดการรวมกลุ่มของคนที่ไปทำงานอาสาสมัครในช่วงเวลาดังกล่าว จนเกิดเป็นเครือข่ายคนทำงานจิตอาสา” มิ้นต์เล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่เป็นจุดกำเนิดของคำว่า “จิตอาสา” ในประเทศไทย ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมิ้นต์บอกว่า 

“ยังไม่มีหน่วยงานใดมารวบรวมงานอาสาสมัคร มีคนอยากเป็นอาสา แต่ไม่มีคนมาบอกว่างานอาสาสมัครมีอยู่ตรงไหนบ้าง” ธนาคารจิตอาสาจึงได้เกิดขึ้นในปี 2555 เพื่อให้คนอยากทำงานอาสาสมัครได้มาเจอกับคนจัดงานอาสา และตลอด 8 ปีที่ผ่านมามีงานอาสาที่จัดไปแล้วทั้งสิ้น 3,402 งาน 

volunteer07

งานอาสา ทำต่อหรือพอแค่นี้ก่อน?

“เราอาจไม่จำเป็นต้องมีค่ายอาสาพัฒนาชนบท แต่อย่างไรก็ดีดิฉันคิดว่ามันยังมีอีกสองถึงสามมุมมองที่อาจทำให้คำตอบของการพัฒนามันน่าจะยังมีความจำเป็นอยู่ต่อไป” 

กิจกรรมเสวนาออนไลน์ “ค่ายอาสายังเป็นคำตอบของการพัฒนาหรือไม่” ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 16.45-18.30 น. จัดโดยชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ดร.วงอร พัวพันสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่แฝงอยู่ในการจัดค่ายอาสาพัฒนาต่างๆ ว่า   

“มันแฝงด้วยอำนาจไม่เท่าเทียมกันอยู่ เป็นการผลิตซ้ำภาพของผู้ได้รับการพัฒนาที่ไร้อำนาจ ในมุมของผู้พัฒนาจะรู้สึกภูมิใจในความเป็นคนดีของตนเอง หรือที่คนในโซเชียลฯ ชอบใช้กันคือ สำเร็จความใคร่ทางศีลธรรม”  

แต่อย่างไรแล้วค่ายอาสาพัฒนายังคงมีความจำเป็น ประการแรกวงอรอ้างถึงแนวคิดของ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าการให้ในลักษณะของค่ายอาสามันคือการให้รูปแบบหนึ่งที่ยังมีความจำเป็นในสังคม เพราะว่ามันเป็น safety valve  ยิ่งสังคมมีความเหลื่อมล้ำมากเท่าไร การให้ที่เป็นจิตอาสาโดยสมัครใจยังจำเป็นอยู่เพื่อคลายความตึงเครียดในสังคม  

ประการต่อมาวงอรพูดในมุมของการจัดสรรทรัพยากร มหาวิทยาลัยหรือภาคประชาชนที่มีทรัพยากรเพียงพอควรมีบทบาทของการจัดสรรทรัพยากรออกไปเพื่อบรรเทาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่มันรุนแรง เพราะฉะนั้นค่ายอาสาควรมีบทบาทส่วนนี้ต่อไป 

ประการสุดท้ายค่ายอาสาคือ  learning space เป็นพื้นที่เปิดให้ผู้คนเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน เรียนรู้ที่จะเข้าไปศึกษาชุมชน มันคือพื้นที่เสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้ผู้มาเข้าร่วม  ซึ่งในยุคปัจจุบันพื้นที่เช่นนี้เหลือน้อยลงไปทุกทีจากการเข้ามาของสังคมโซเชียลมีเดีย ก่อนจบการอภิปรายวงอรทิ้งท้ายไว้ว่า  

“คิดว่าค่ายมีได้ แต่ควรต้องออกจากกรอบคิดของการพัฒนา และเน้นให้เกิดความเชื่อมโยงร่วมมือกันระหว่างต้นทางคนทำค่ายกับปลายทางคนในพื้นที่”  

นอกจากในมุมมองจากนักวิชาการ เสียงจากณัฐพลสืบศักดิ์วงศ์  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ตัวแทนของคนชนบทกล่าวถึงความสำคัญของการจัดค่ายอาสาว่า   

“ค่ายอาสาพัฒนายังคงเป็นคำตอบในการพัฒนา บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชนบท ความลำบาก หรือสิ่งที่พวกเขาต้องการคืออะไร การมีค่ายอาสาจะทำให้คนจากภายนอกได้รับรู้ถึงปัญหาต่างๆ” 

สอดรับกับมุมมองตัวแทนของภาครัฐโดย สุริชาติ จงจิตต์  ผู้อำนวยการกองกิจการอาสาสมัครและภาคประชาสังคม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ มองว่าค่ายอาสาสมัครยังเป็นคำตอบของการพัฒนา โดยอธิบายถึงวิวัฒนาการ การพัฒนาของประเทศเราไว้ว่า ยุคแรกการพัฒนาเกิดขึ้นจากรัฐบาล จากนั้นมอบหมายให้องค์กรปกครองท้องถิ่นทำต่อ และยุคที่ 3 คือการขยายให้ภาคประชาสังคมดำเนินการแทน  สุริชาติทิ้งท้ายในฐานะตัวแทนของภาครัฐว่า  

“รัฐพยายามสนับสนุนให้ชุมชนสามารถยืนได้ด้วยตนเอง ทุกวันนี้ภาครัฐไม่ใช่พระเอกในการพัฒนา แต่เป็นคนหนุนเสริมให้ภาคชุมชนได้แสดงบทบาทของตนเองอย่างเต็มที่ เพราะคนในพื้นที่ย่อมเก่งกว่าคนข้างนอกที่จะเข้าไปพัฒนา” 

ทั้งสามเสียงจากภาควิชาการ ตัวแทนคนในพื้นที่ ภาครัฐ ต่างให้มุมมองต่อทิศทางของการทำค่ายอาสาในอนาคตตามบทบาทที่ตนเองมองเห็น จึงไม่อาจหาข้อสรุปดีที่สุดได้จากคำตอบในงานเสวนานี้ ดั่งที่ รศ.ดร.จักรกริชสังขมณีอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ดำเนินรายการ กล่าวสรุปตอนท้ายว่า  

“ความสำคัญของค่ายอาสาคือ เราได้มีโอกาสเปิดประสบการณ์ของตัวเองเข้าไปเรียนรู้จากคนในพื้นที่ ได้เห็นสภาพปัญหา วิถีชีวิต การประกอบอาชีพที่แตกต่างไปจากสิ่งที่เรามี การไปเรียนรู้ปัญหาของคนอื่นมันจะทำให้เรามองเห็นได้รอบด้านขึ้น 

“แนวคิดเรื่องการพัฒนาไม่มีคำตอบใดคำตอบหนึ่งตายตัว สิ่งสำคัญคือเราต้องกลับมาสะท้อน กลับมาตั้งคำถามอยู่เสมอ เพราะว่าผู้คนเปลี่ยนไปตลอด สังคมเปลี่ยนไปตลอด ปัญหาเปลี่ยนไปตลอด แม้กระทั่งตัวเราเองก็เปลี่ยนไปตลอด”   

volunteer08

สิบปากว่าไม่เท่าลงมือคลำ 

กรอบ…แกรบ…กรอบ…แกรบ  สองเท้าย่ำเหยียบลงไปบนพื้น  ความหนาของมันประมาณ 30-40 เซนติเมตร ไม่ว่าจะเดินไปทางไหนเหมือนมีมันแผ่ปกคลุมไปทั่วอาณาเขต  ผมต้องจัดการมัน ไม่สิ! พวกเราต้องจัดการเพราะไม่ได้มีแค่ผมคนเดียว วันนี้มีทั้งพ่อ-แม่จูงมือลูกตัวน้อย/นักเรียน-นักศึกษา/คนวัยทำงาน/คู่รักอีกหลายคู่ แน่ละวันนี้มันวันแห่งความรัก 

พึ่บ…พึ่บ… ผมกางถุงใบใหญ่ออกมาถือไว้ที่มือขวา ฟึบ…มือซ้ายใส่ถุงมือให้มั่น  แสงแดดแผดเผาลงมาไม่ปรานีทุกสรรพสิ่ง ดีที่มีต้นแสมขาวแผ่กิ่งก้านบังแสงแดดเป็นร่มเงา  ผมใช้มือซ้ายหยิบมันขึ้นมาใส่ถุงดำใบใหญ่ หยิบ…ใส่…หยิบ…ใส่ ให้ตายเถอะ! มันเยอะกว่าที่คิดไว้แฮะ ผ่านไปหลายนาทียังไม่มีวี่แววเลยว่าจะเห็นผืนดินด้านล่าง  แล้วเธอคนหนึ่งก็ปรากฏตัว 

“นี่มาคนเดียวเหรอ” ผมเอ่ยทักทาย เธอเป็นหญิงสาวผมสั้นทัดหูรุ่นราวคราวเดียวกับผม   

“ค่ะ มาคนเดียว เพิ่งลาออกจากงานประจำ เลยว่าจะหาอะไรทำสักหน่อย” หญิงสาวในชุดเสื้อยืดแขนยาวสีดำ กางเกงขายาวสีครีม เธอปิดหน้ากากอนามัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการพูดจาอย่างคล่องแคล่วชัดเจน ในมือขวาของเธอมีถุงมือเหมือนกันกับผม  

 บทสนทนาขาดห้วงไปชั่วขณะ เราต่างมีภารกิจให้ต้องทำ  เหงื่อเริ่มไหลขึ้นเม็ดหยดน้ำไปทั่วทั้งร่าง บรรยากาศรอบข้างทุกคนต่างก้มทำหน้าที่ของตน สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่เราต้องจัดการมันให้หมดอย่างเดียว แต่อยู่ที่จะทำอย่างไรให้สิ่งตรงหน้าไม่เพิ่มปริมาณไปมากกว่านี้   

“มากิจกรรมอย่างนี้บ่อยไหมครับ” ผมทำลายความเงียบงันที่มีถุงดำกั้นกลางระหว่างเราสอง 

“สมัยเรียนทำบ่อยค่ะ แต่จบมาไม่มีโอกาสได้ทำเลย” เสียงเธอตอบกลับ ในขณะที่สองมือยังทำงานอย่างขันแข็ง 

“แล้ววันนี้กลับมาทำรู้สึกอย่างไรบ้าง”  

“มาตรงนี้มันก็ดี ตัวเราเองรู้สึกดีแถมยังได้ประโยชน์กับสังคม ถึงวันนี้เรายังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง แต่เชื่อว่าดีกว่าไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย” 

ฉึบ…ฉึบ ผมผูกปากถุงที่เต็มเอี้ยด หยิบถุงใบใหม่มาแทน ไม่นานถุงที่ 2 ก็แน่นขนัดแทบจะปิดปากถุงไม่ได้ ผมกับเธอช่วยกันยกถุงขึ้นไปไว้บนกำแพงคอนกรีตขนาดสูงเท่าเอว   ฉึบ…ฉึบ..ฉึบ ถุงที่ 3 4 5 ล้วนเต็ม ด้วยฝีมือของผมและเธอเพียงใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง  เรากำลังทำงานแข่งกับอะไร แข่งกับเวลาน้ำขึ้น แสงแดดยามเที่ยงที่รอเวลาเผาหัว หรือแข่งกับเศษเดนลอตใหม่ที่กำลังลอยมาทับถมเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีวันหมด เก็บให้ตายมันก็ไม่มีวันหมดหรอก (ลึกๆ ผมนึกคัดค้านอยู่ในใจ)  

ฉุบ!…สัมผัสได้ถึงอะไรบางอย่างทิ่มทะลุถุงมือ ก้มสายตาลงไปสำรวจก็เห็นไม้เสียบลูกชิ้นแหลมเปี๊ยบแทงทะลุขึ้นมา ติดคากับถุงมือหวุดหวิดทิ่มมือผมไปแค่คืบ ไม่ใช่แค่ไม้เสียบลูกชิ้นหรอก เพราะสถานที่แห่งนี้มีทั้งโฟม พลาสติก เชือก ยาง ศาลพระภูมิ กล่องข้าว ขวดนม ทุกอย่างที่พอจะนึกได้และคาดไม่ถึง เพียงแค่ตัวอักษรคงไม่สามารถบรรยายได้หมด ถ้าไม่ได้มาเห็นด้วยตาตัวเอง 

“นี่แค่ขยะที่ลอยมาติดชายฝั่งป่าชายเลนส่วนน้อยเท่านั้นนะลูก ในมหาสมุทรยังมีขยะอยู่มากกว่านี้อีกมหาศาล” ผู้เป็นแม่บอกกล่าวกับลูกเล็กอายุรุ่นราว 9-10 ขวบ เด็กชายพยักหน้าขมวดคิ้ว ภายใต้คิ้วคู่นั้นที่ขมวด เขากำลังนึกคิดอะไรอยู่…เจ้าตัวคงมีคำตอบ ผมเดินไปล้างตัวก่อนจะร่วมไปทำกิจกรรม ปลูกโกงกาง สร้างกิ่งก้าน กลางชายเลน กับกลุ่มมนตร์อาสา ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) ต่อไป 

สองเท้าเปลือยเปล่าย่ำลงสู่พื้นดินโคลนผิวสัมผัสนุ่มนิ่ม ระดับน้ำสูงขึ้นมาถึงหน้าแข้ง อุณหภูมิเย็นกำลังดีรู้สึกผ่อนคลายอย่างบอกไม่ถูก มือซ้ายประคองต้นโกงกางสามต้น ทะนุถนอมดั่งไข่ในหิน  

ค่อยๆ ดึงถุงดำบริเวณรากออกมา มีดินห่อหุ้มรากเล็กจ้อยไว้อยู่ ผมวางมันลงกับพื้น สอดส่ายสายตาหาหลักไม้ไผ่ที่ยังคงว่าง คอยเป็นหลักยันให้ต้นโกงกางในระยะตั้งไข่  ไม่รอช้าผมบรรจงเอาส้นเท้ากดลงหน้าดินโคลนจนเกิดหลุมชิดกับหลักไม้ไผ่ ขนาดความลึกให้พอดีกับรากของต้นโกงกางเป็นอันใช้ได้ 

“หย่อนลงให้ชิดและผูกต้นไม้ให้แน่นกับหลักยึด” เจ้าหน้าที่แนะนำว่าหากอยากให้ต้นไม้ที่ปลูกรอด สิ่งสำคัญคือต้องผูกมันให้แน่นเพื่อทานทนกับกระแสคลื่นเวลาน้ำขึ้น ผมผูกต้นโกงกางจนแน่น แต่มิอาจมั่นใจได้ว่ามันจะรอดหรือไม่  

“เขาให้เราปลูกน้อยจังเลยเนอะแค่สามต้น” ผมบังเอิญเจอเธออีกครั้งระหว่างเดินกลับ 

“สามต้นแหละกำลังดี เจ้าหน้าที่เขาจะได้ดูแลอย่างทั่วถึง ดีกว่าปลูกไปเยอะๆ แต่ตายหมด” เธอตอบกลับในสิ่งที่ผมลืมนึกถึง  

อาทิตย์ลอยตัวขึ้นอยู่เหนือศีรษะกลางท้องฟ้าสีสดไร้หมู่เมฆ หากมองไกลลงมาจากบนท้องฟ้า สิ่งที่ทำลงไปในวันนี้แทบไม่เห็นผลลัพธ์แห่งการเปลี่ยนแปลง แต่หากมองผ่านสองมือที่ได้ลงมือทำ อย่างน้อยวันนี้มีขยะลดลงจากท้องทะเลไป 100 กว่ากิโลกรัม มีต้นไม้เพิ่มขึ้นในป่าชายเลนอีก 100 ต้น คงต้องกลับมาทบทวนกับตัวเองว่าจะมองจากมุมไหน หรือจะมองมาจากทั้งสองมุมมอง  มองจากระยะใกล้เพื่อให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงตรงหน้าอย่างเด่นชัดและเข้าใจ มองจากระยะไกลเพื่อให้เห็นถึงภาพรวม และรู้ว่าควรจะเดินต่อไปในทิศทางไหนดี 

volunteer09

มุมมองของค่ายอาสาที่เชื่อมโยงกับคำว่าการพัฒนา

ดร.วงอร พัวพันสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ  พูดถึงแนวคิด Post development (แนวคิดที่ต้องการออกจากกรอบคำว่า “การพัฒนา”) มองว่าการพัฒนาเป็นเหมือนโครงการในจักรวรรดินิยมยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ถูกนำมาใช้โดยสหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน เพราะต้องการเข้าไปมีบทบาทในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก  ในแง่นี้คำว่าการพัฒนาจึงมีลักษณะเป็นข้ออ้างของการจะเข้าไปปกครอง ขูดรีดทรัพยากรในดินแดนอันห่างไกลที่ตนไม่มีสิทธิ์ยึดครอง แต่ใช้ความชอบธรรมในการอ้างว่าเข้าไปพัฒนา  

แนวคิด Post development ตั้งคำถามว่าวิธีการพัฒนาที่เราดำเนินมากันในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมามันถูกต้องหรือไม่ เพราะว่ายิ่งพัฒนายิ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ก่อให้เกิดความอยุติธรรมขูดรีดมากขึ้น  

volunteer10

มุมมองต่อคำถาม “ค่ายอาสายังเป็นคำตอบของการพัฒนาหรือไม่?” ของนิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมวงเสวนาออนไลน์

กัญญ์วรา จากฝ่ายพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ คณะคุรุศาสตร์ จุฬาฯ มองว่าค่ายอาสาไม่ได้ตอบโจทย์การพัฒนา100% เนื่องจากการจัดค่ายมันเป็นระยะเวลาสั้นๆ ทำให้ผลที่ได้ไม่เกิดความยั่งยืน  ค่ายยังสามารถจัดได้ แต่ต้องปรับตัว การทำค่ายอาสาคือการที่เราเข้าไปเห็นปัญหา เราสามารถเป็นสื่อกลางในการสื่อสารให้คนภายนอกเข้าใจถึงปัญหา และมันต้องเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ

ณภัทร จากชมรมค่ายอาสาพัฒนาชาวไทยภูเขา จุฬาฯ มองว่าค่ายอาสายังเป็นคำตอบของการพัฒนา ค่ายอาสาเป็นเหมือนกลไกเล็กๆ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนที่เขาต้องการความช่วยเหลือ “การทำค่ายอาสา เหมือนเป็นการหยอดเมล็ดพันธุ์ให้เราได้รับรู้ถึงปัญหาของคนในประเทศ และเราสามารถไปช่วยเขาได้”

เจณิตตา จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ  มองว่าค่ายไม่ได้จำเป็นมาก  แต่เห็นด้วยว่าวิธีแก้ปัญหาไม่ใช่การยกเลิกจัด  ภาครัฐควรมีบทบาทมากที่สุดในการแก้ไขปัญหา แต่ภาคประชาสังคมสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้  โดยควรปรับวิธีคิดในการทำค่ายอาสา มองไปให้ไกลกว่าคำว่าค่ายเข้าไปเพื่อพัฒนาหรือช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาสกว่าเรา

อารยา จากชมรมค่ายอาสาพัฒนาชาวไทยภูเขา จุฬาฯ บอกว่าบ่อยครั้งรู้สึกว่ากิจกรรมที่เธอทำมันไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่อย่างไรแล้วยังไม่ควรยกเลิกจัดค่ายอาสา ในตอนนี้ความช่วยเหลือจากภาครัฐไม่สามารถเข้าถึงคนทุกกลุ่มในประเทศ