เรื่องและภาพ : ณัฐนนท์ ณ นคร

“อยากนั่งโง่ๆ ริมทะเล” ใครสักคนเคยรำพึงให้ได้ยิน ยามอยากไปพักผ่อนท่องเที่ยวตามเกาะแก่ง
ภาพของชุมชน รสของอาหารทะเล กลิ่นของไอเกลือ เสียงของสายลม และหลายๆ สิ่งที่จะจินตนาการถึงความสวยงามเมื่อได้ไปที่เกาะปันหยี ชุมชนกลางทะเลที่เต็มไปด้วยความสงบ กับวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวเกาะน่าสนใจไม่ใช่น้อย…ถ้าเกาะปันหยียังคงเป็นแบบนั้น
เกาะปันหยี เกาะหมู่บ้านชาวประมงในจังหวัดพังงา ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามมากของไทย สวยติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่นั่นคงเป็นเมื่อก่อน ตอนนี้สถานการณ์ Covid-19 ไม่ได้แค่ทำลายระบบร่างกายของผู้คน แต่ทำลายระบบเศรษฐกิจด้วย
การท่องเที่ยวที่เฟื่องฟูกลับซบเซาตามๆ กัน จากสถานที่ท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าไปตลอด ก็กลับกลายเป็นเงียบเหงาไร้วี่แววคนมาเยี่ยมเยือน
ชาวเกาะปันหยีกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ จึงต้องกลับไปใช้วิถีแบบเก่าเพื่อความอยู่รอดในปัจจุบัน
ยังไง–ต่อ–ดี?
“มาเที่ยวหรอ?”
เสียงชาวบ้านทักถามคนแปลกหน้าที่เดินขึ้นจากท่าเรือด้วยความสงสัย ขณะเราเองเมื่อมองขึ้นไปบนเกาะก็เกิดความประหลาดใจ เพราะภาพนักท่องเที่ยวมากมายที่มาเที่ยวเกาะหายไป เหลือแต่ภาพความเงียบเหงา ประตูร้านรวงหลายแห่งปิดสนิท ถนนแคบๆ ก็กลับดูกว้างกว่าปกติ
เราเริ่มเดินสำรวจดูสภาพบนเกาะ เส้นทางเต็มไปด้วยซอยเล็กซอยน้อยมากมาย เสียงเชิญชวนให้แวะชมสินค้าตามร้านรายทางดังขึ้น ถึงอย่างนั้นก็ยังพ่ายให้แก่ความเงียบเหงา
ด้วยการจำกัดการท่องเที่ยวตามสถานการณ์ปัจจุบัน เกาะปันหยีจึงเกือบๆ กลายเป็นเกาะร้างไปแล้ว เหล่าพ่อค้าแม่ขายทยอยปิดร้านไปเรื่อยๆ จนเหลืออยู่เพียงไม่กี่ร้าน
ภาพที่เห็นตรงหน้าค่อยๆ เปลี่ยนจินตนาการที่เราวาดไว้ไปทีละน้อย ป้ายกลุ่มผู้สูงอายุเกาะปันหยีเต็มไปด้วยหยากไย่ เมื่อมองเข้าไปข้างในศูนย์ของกลุ่มฯ ก็คล้ายๆ จะเป็นห้องเก็บของไปเสียแล้ว
ชุมชนท่องเที่ยวที่เราวาดฝันจะได้มาเยือน ตอนนี้ต้องเจ็บหนักเพราะ Covid-19 เมื่อไม่มีสิ่งใดให้เยี่ยมชม เราจึงย้อนกลับมาถึงจุดเริ่มต้นเร็วแทบไม่รู้ตัว
“หรือกลับบ้านดี?”
ความรู้สึกสับสนในใจเรายิ่งทวีคูณ เมื่อภาพความจริงกับสิ่งที่วาดหวังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พาให้อยากถอดใจถอนตัวกลับเมืองกรุง
แต่แล้วเมื่อถึงเวลาเลิกเรียน ความเงียบเหงาในหมู่บ้านค่อยๆ คลายลง เสียงเด็กเล็กดังไล่ขึ้นเรื่อยๆ ครั้นเดินตามเสียงนั้นไปก็พบกับโรงเรียนเกาะปันหยีซึ่งมีนักเรียนจับกลุ่มเล่นกันสนุกสนาน เสียงหัวเราะดังแข่งเสียงคลื่นที่พัดเข้าฝั่ง


นอกจากนักเรียนแล้ว เรายังเห็นนักกีฬารุ่นใหญ่แบ่งทีมเตะบอลกันด้วย บรรยากาศต่างจากตอนกลางวันที่ดูเงียบเหงา ทุกๆ ที่เริ่มครึกครื้น สนามบอลพื้นปูนสนามใหม่ของโรงเรียนเป็นเหมือนที่รวมพลของคนต่างวัยในเกาะ
เรามองออกไปยังท้องทะเล เห็นสนามบอลลอยน้ำอันขึ้นชื่อของเกาะนี้มีเด็กเล็กเกาะกลุ่มเตะบอลสนุกสนานไม่แพ้ผู้ใหญ่ คงเป็นเพราะเมื่อเตะออกสนามก็จะเป็นโอกาสได้โดดลงทะเลว่ายไปเก็บลูกบอล
จากจุดที่ยืนอยู่ เรายังได้ยินเสียงเพลงจากศาลาอเนกประสงค์ซึ่งมีกลุ่มสาวน้อยสาวใหญ่รวมตัวกันเต้นแอโรบิก เสียงเพลงนั้นคลอกับเสียงหัวเราะ โดยมีลมทะเลคอยซับเหงื่อให้กับสาวๆ รวมถึงทุกผู้คนบนเกาะ
“มาเที่ยวหรอ?”
ประโยคทักทายประโยคเดิมดังขึ้นอีกครั้ง แต่คราวนี้มาจากร้านอาหารเล็กๆ เจ้าของร้านยิ้มทักทายพร้อมยื่นจานหอยแมลงภู่ทอดเสร็จใหม่ๆ ให้ลองชิม เรามองเลยเข้าไปก็เห็นเด็กและคนแก่กำลังเรียนศาสนากันในบ้านอย่างอบอุ่น
เราเตรียมยื่นเงินให้สำหรับหอยแมลงภู่นั้น แต่เจ้าของร้านรีบบอกไม่เป็นไรในทันที เขาแค่ให้ลองชิมดู ทอดไว้ก็ให้เด็กๆ พวกนี้แหละ
“คงอยู่ต่อตามแผนเดิมไปก่อนก็ได้มั้ง…”
ข้างในตัวเราซึ่งไม่เคยหยุดคิดเรื่องงานส่งเสียงบอก จริงๆ เราแค่แวะมาเที่ยวพักผ่อนเฉยๆ ก็ได้ แต่คงเพราะเสน่ห์น่าหลงใหลของภาพความสุขตรงหน้านี่แหละชวนให้เราอยู่ที่นี่ต่อ
ความ–เป็น–จริง
“น้องครับ กลับมาที่บังกะโลที พี่ที่เขาจะแนะนำเกาะมาถึงแล้ว” เจ้าของบังกะโลที่เราไปพักบอกให้กลับที่พักก่อน เพราะผู้ที่จะแนะนำการทำงานครั้งนี้มาถึงแล้ว
“อาทิตย์” หรือ อธิตตรีเลิศสมุทร์ คือบุคคลผู้นั้น เราเริ่มสัมภาษณ์ทันทีโดยไม่รอพักให้หายเหนื่อย
“เกาะปันหยีเจอโควิดมาเป็นยังไงบ้างครับ?” คำถามแรกเพื่อคลายสงสัยถึงสภาพเกาะในขณะนี้
แสงไฟนีออนเริ่มสว่างขึ้น แสงอาทิตย์กำลังจะลับหาย เพียงชั่วครู่ท้องทะเลกว้างใหญ่เบื้องหน้าก็มีแต่ความมืดปกคลุม บรรยากาศน่าพิศวงกว่ายามสว่าง
อาทิตย์เล่าว่า เกาะปันหยีเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวมากขึ้น จนรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว ดังนั้นเมื่อพบสถานการณ์การระบาดของเชื้อ Covid-19 จึงได้รับผลกระทบมาก รายได้หลักของชุมชนขาดหายไป เป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องกลับมาเรียนรู้วิถีชีวิตเดิมกันใหม่อีกครั้ง
ทว่าการปรับเปลี่ยนในทันทีไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากชาวเกาะปันหยีละทิ้งวิถีดั้งเดิมมานาน ทั้งวิธีหาอยู่หากิน ทั้งอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ ต่างพลัดหายไปตามกาลเวลา
“ที่นี่ฟรีอย่างเดียวก็คือลมหายใจ”
อาทิตย์เล่าพลางอมยิ้มเมื่อย้อนเวลากลับไปตอนเขายังเด็ก ถ้ามีการขึ้นบ้านใหม่ ทุกคนภายในเกาะจะพากันไปช่วย ในงานก็จะมีอาหารหม้อใหญ่แจกจ่ายอย่างถ้วนหน้า แต่ปัจจุบันค่าใช้จ่ายต่างๆ สูงขึ้น ค่าน้ำค่าไฟบนเกาะมีอัตราสูงมาก เพราะเป็นหมู่บ้านกลางทะเล การต่อไฟฟ้ามาจากฝั่งยากมาก บริษัทเอกชนจึงเข้ามาดำเนินการ ทำให้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้สูงขึ้นไปอีก หลังๆ พอมีงานอะไร ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงต้องถามถึงค่าจ้างค่าแรงกันมากกว่า
“คนเกาะปันหยีนั้นแปลก ไม่มีเงินเก็บกัน มีเท่าไหร่ก็ใช้ไปหมด”
รายได้ที่สำคัญของเกาะคือการท่องเที่ยว สิ่งนี้จึงเป็นตัวแปรหลัก เพราะนอกจากจะสร้างรายรับมากมายให้คนในชุมชนแล้ว มันยังได้มารวดเร็วกว่าการทำประมงแบบดั้งเดิมอีกด้วย แต่นั่นก็แค่พอจ่ายค่าน้ำค่าไฟเท่านั้น เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์อย่างปัจจุบัน ชาวบ้านก็ยิ่งขัดสน แทบหาเงินกันไม่ได้เลย
“แล้วทำไมพี่อาทิตย์ยังอยู่ที่เกาะล่ะครับ บนฝั่งน่าจะดีกว่า?”
“น้องเชื่อมั้ย พี่แต่ก่อนก็เคยออกจากฝั่งไป แต่สุดท้ายก็กลับมาตายรังที่บ้าน ทุกคนที่นี่เป็นเหมือนกันหมด มีน้อยคนนะที่ออกจากเกาะไปแล้วไม่กลับมา ส่วนใหญ่เขาออกไปก็กลับมาที่นี่หมดทั้งนั้นแหละ เพราะที่นี่มันสงบ”
คงไม่ผิดไปจากที่พี่อาทิตย์บอกหรอก เพราะนักท่องเที่ยวหลายๆ คนเลือกมาพักที่เกาะปันหยีก็ด้วยความสงบและห่างไกลผู้คนจริงๆ ความเป็นอยู่อันเรียบง่ายของคนบนเกาะบางทีอาจจะฝังลึกในดีเอ็นเอไปแล้วก็ได้
การสนทนาในค่ำคืนนี้จบลงแล้ว ท้ายที่สุดความสุขของชาวเกาะปันหยีคงเป็นการได้อยู่ในบ้านที่สงบและมีความเป็นอยู่ทัดเทียมกับคนทั่วไปกระมัง
การ–เรียน–รู้
“ป้าครับ โอวัลตินร้อนแก้วนึงครับ” คำทักทายแรกในยามเช้าที่เราเอ่ยกับเจ้าของร้านขายกาแฟประจำเกาะ พี่อาทิตย์นัดให้มาเจอกันที่ร้านนี้เพื่อจะพาไปดูการทำประมงพื้นบ้านภายในเกาะ
“แล้วเดี๋ยวนี้การประมงในเกาะยังมีอยู่เหรอครับ?”
อาทิตย์เล่าว่า เพราะ Covid-19 นี่แหละทำให้ชาวบ้านต้องกลับมาลงทะเลเพื่อหาปลาขายแทนการค้าขายของที่ระลึกบนเกาะ แต่เมื่อก่อนการประมงของพวกเขายังคงผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้นำเรือไปขึ้นทะเบียนและยังทำประมงในเขตอุทยานแห่งชาติด้วย เพราะชาวบ้านไม่รู้ว่ามีการแบ่งเป็นเขตอุทยานฯ แล้ว
ต่อมาจึงมีการจัดตั้งกลุ่มประมงท้องถิ่นขึ้นเพื่อแบ่งปันความรู้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการทำประมง และพาชาวบ้านไปขึ้นทะเบียนเรือให้เรียบร้อยก่อนนำออกไปหากิน ทั้งจัดหาอุปกรณ์หาปลาแจกจ่ายให้สมาชิกในกลุ่มด้วย เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ Covid-19 ไปได้บ้าง
เสียงพูดคุยจากโต๊ะข้างๆ ที่ดังแข่งกันขึ้นมานั้น ก็คือเสียงของชาวประมงนั่นเอง หลังจากละหมาดเสร็จ พวกเขาก็มานั่งจับกลุ่มที่ร้านกาแฟนี้ก่อนจะลงทะเลกัน คล้ายเป็นสภากาแฟที่เขาจัดตั้งขึ้น เหตุนี้คนในชุมชนจึงสนิทกันมากขึ้น
“คนที่นี่เขามีเสน่ห์กันนะ”
แต่ก่อนเกาะปันหยีเป็นฝ่ายตั้งรับรอนักเที่ยวอย่างเดียว แต่มาถึงตอนนี้ได้เปลี่ยนเป็นฝ่ายรุกนักท่องเที่ยวบ้าง รุกด้วยเสน่ห์แห่งวิถีชีวิตของตนเอง พวกเขาจัดทริป 2 วัน 1 คืน ให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสกับวิถีของเกาะปันหยีมากขึ้น
ไอเดียที่ปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน นำข้อด้อยในอดีตมาปรับปรุงให้เป็นจุดแข็งในอนาคต นับรวมถึงรอยยิ้มที่ชาวปันหยีมีให้ทุกคนมาแต่ไหนแต่ไร เหล่านี้ก็เพื่อเชื้อเชิญให้นักท่องเที่ยวเข้ามาที่เกาะมากดังเดิม
เสียงความสุขของชาวปันหยีขณะรวมกลุ่มกันราวกับไม่เคยเจอปัญหาร้ายแรงอะไร หรือเสียงจากความทุกข์ที่พวกเขาต้องแบกรับเพราะความไม่ทัดเทียมประดามี หากเปรียบเป็นเสียงดนตรี ดนตรีแห่งชีวิต จะอย่างไรเสียงสูงบ้างต่ำบ้างนั้นย่อมมีวันแผ่วลง และท้ายสุดก็หยุดลงตรงความเงียบสงบ
คงไม่มีใครสุขที่สุด หรือทุกข์ที่สุด เพราะหากเราเรียนรู้ปัญหาและหาทางออก ทุกอย่างก็จะผ่านพ้นไป อาจเหมือนท่วงทำนองดนตรีที่ยอดเยี่ยมบทหนึ่งของชีวิตก่อนบรรเลงถึงโน้ตตัวสุดท้ายซึ่งลงตัวเหมาะเจาะก็เป็นได้.

เกาะปันหยี ตั้งอยู่ในจังหวัดพังงา คำว่า “ปันหยี” แปลว่าธง
ประวัติเล่าว่า เดิมชาวปันหยีอพยพมาจากอินโดนีเซีย เมื่อกลุ่มแรกเดินทางมาพบถิ่นฐานที่เหมาะสมแล้ว ก็นำธงไปปักไว้ที่ยอดเขาบนเกาะเพื่อเป็นหมุดหมายให้กลุ่มอื่นๆ เดินทางตามมาทีหลัง สิ่งนี้ยังเป็นประเพณีสืบต่อกันมาที่เมื่อใครจะเป็นผู้นำก็ต้องปืนหน้าผาสูงนำธงไปปักบนยอดเขา
หมู่เกาะปันหยีนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญมาก รองจากเมืองพังงา กรุ๊ปทัวร์ต่างหลั่งไหลมาเที่ยวชมวิถีชีวิตของชุมชนกลางทะเล ซึ่งมีสนามบอลลอยน้ำที่โด่งดังระดับโลก นักท่องเที่ยวมากมายจับจ่ายซื้อหาสินค้าบนเกาะ เป็นรายได้ส่วนใหญ่ของชาวปันหยี