เรื่องและภาพ : สุชาดา ลิมป์

จากแผนที่ทางอากาศตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

ขยายเข้าไปจะเห็นรูปร่างเกาะหนึ่งเป็นแถบสั้นคั่นอ่าวไทย-แม่น้ำตากใบ

ขยายเข้าอีกจึงได้เห็นชายหาดที่มีชุมชนขนาดเล็กตั้งบ้านเรือนเป็นหย่อม

พื้นที่ทั้งเกาะยาว ๒,๘๓๒ เมตร กว้างเพียง ๒๒๕ เมตร ไม่มีสัญญาณ Wi-Fi ทั้งที่ห่างจากตัวเมืองเทศบาลเพียงแม่น้ำกั้น ๕๐๐ เมตร ทุกวันนี้วิถีสัญจรของชาวหมู่บ้านมีทางสำหรับมอเตอร์ไซค์ แต่ไม่มีถนนรถยนต์ หากจะขนส่งสินค้าต้องลงเรือรับจ้างข้ามฟากแม่น้ำสู่เกาะ “ปูลาโต๊ะบีซู”

ที่นั่นมีเรื่องน่าสนใจที่ชาวบ้านพร้อมเล่า หากเราเข้าใจเขา-ภาษามลายู

ปูลาโต๊ะบีซู ชุมชนสู้ชีวิตกลางแม่น้ำตากใบ

เซอลามัต (สวัสดี) ปูลาโต๊ะบีซู

“ยินดีต้อนรับสู่หมู่บ้านปูลาโต๊ะบีซู”

ใครๆ ต่างยิ้มแย้มทักทายผู้มาเยือนด้วยภาษามลายูที่แปลไทยได้ความนั้น

“เดิมมีชายใบ้อยู่ลำพังบนเกาะ วันหนึ่งก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ต่อมามีพี่น้องสามคนมาอาศัยทำอาชีพประมงและขยายครอบครัวเรื่อยมา คนบนเกาะจึงเป็นญาติกันหมด ภายหลังเกาะเล็กๆ ได้รับการตั้งชื่อ ‘ปูลาโต๊ะบีซู’ ในภาษามลายู ‘ปูลา’ แปลว่า เกาะ ‘โต๊ะ’ คือคำเรียกคนเฒ่า และ ‘บีซู’ หมายถึงเป็นใบ้”

ซูไบด๊ะ บือราเฮง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเล่าที่มาของหมู่บ้านชื่อเดียวกับเกาะ ตัวเธอเกิดปี ๒๕๒๑ เดิมเป็นชาวเมืองนราธิวาส แล้วย้ายมาอยู่กับสามีก่อนชุมชนบนเกาะนี้จะได้ยกฐานะเป็นหมู่บ้านในปี ๒๕๔๙

pulatobisu02

แต่นั้นตำบลศาลาใหม่ซึ่งเคยมีเจ็ดหมู่บ้าน (หมู่ที่ ๑ บ้านโคกมะเฟือง หมู่ที่ ๒ บ้านตะปัง หมู่ที่ ๓ บ้านศาลาใหม่ หมู่ที่ ๔ บ้านคลองตัน หมู่ที่ ๕ บ้านปูลาเจ๊ะมูดอ หมู่ที่ ๖ บ้านศาลาเชือก และหมู่ที่ ๗ บ้านคลองเลย) ก็ได้เพิ่มหมู่ที่ ๘ บ้านปูลาโต๊ะบีซู (ปัจจุบันมี ๑๓๐ ครัวเรือน รวมชาวบ้านราว ๘๐๐ คน)

กล่าวกันว่าที่นี่ถูกจัดอันดับเป็น “หมู่บ้านยากจนที่สุดของนราธิวาส” ชีวิตแร้นแค้นไม่ต่างจากการขาดแคลนน้ำจืดเพราะแหล่งน้ำจืดบนเกาะมีแต่น้ำกร่อย น้ำดื่มต้องอาศัยเจาะหาจากบาดาล ไม่ก็ใช้บ่อน้ำของหมู่บ้านที่ตั้งอยู่แถวสุสาน น้ำดื่มสะอาดต้องซื้อจากนอกชุมชนแต่ใช่ว่าใครจะมีเงินให้ทำอย่างนั้นบ่อย

pulatobisu03

อย่าว่าแต่ขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งน้ำจืด ไฟฟ้าเองก็เพิ่งเข้าถึงชุมชนเมื่อมีนาคม ๒๕๖๗!

pulatobisu04

สิ่งจำเป็นประดามียังต้องพึ่งแหล่งเงินกู้จากผู้มีอุปการคุณที่อยู่ใกล้เคียง ส่งผลให้แทบทุกครัวเรือนบนเกาะมีปัญหาหนี้สินเรื้อรัง พวกเขาล้วนถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เรียก “บัตรคนจน” เพราะต่างมีรายได้ไม่สม่ำเสมอ คนทำงานมีรายได้ต่อวันเฉลี่ยเพียงครอบครัวละ ๑๐๐ บาท ปีละ ๔๐,๐๐๐ บาท อาชีพหลักคือประมงพื้นบ้าน กับอีกส่วนโดยเฉพาะชายวัย ๓๐-๔๐ ปีจะไปรับจ้างเป็นแรงงานที่มาเลเซีย

pulatobisu05

ด้วยที่ตั้งของหมู่บ้านปูลาโต๊ะบีซูติดอ่าวไทย เป็นทะเลช่วงสุดท้ายของไทยก่อนเข้าเขตรัฐกลันตันของมาเลเซีย ประชากรเกือบทั้งหมดของที่นั่นเป็นชาวมาเลย์มุสลิม ตลกร้ายคือแม้รัฐกลันตันจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มรัฐที่ยากจนสุดในมาเลเซีย แต่เมื่อเทียบกันแล้วยังช่วยให้ชาวปูลาโต๊ะบีซูมีรายได้มากกว่าอยู่บ้านตน ซึ่งก็พูดว่า “บ้านตน” ได้ไม่เต็มปากเพราะที่ดินบนเกาะ ๗๐ เปอร์เซ็นต์เป็นโฉนดของนายทุนนอกชุมชน แม้ผู้ถือครอง น.ส.๓ ก. ไม่นับเป็นโฉนดที่ดินจริงแต่เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่มีการรังวัดระวางที่ดินและจัดทำแผนที่รูปถ่ายทางอากาศชัดเจนแล้วจึงซื้อขายเปลี่ยนมือหรือจดจำนองได้ปรกติ ชาวบ้านจึงถือเป็นผู้ขออาศัยโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครคือเจ้าของ การมีบ้านจึงไม่ใช่เรื่องน่าภูมิใจเท่ามีเรือเป็นของตน

“เมื่อก่อนครอบครัวเราก็แทบไม่ได้อยู่ด้วยกัน ต้องแยกย้ายไปทำงานที่มาเลย์ ถึงคนที่นี่ส่วนใหญ่มีอาชีพประมงแต่ไม่ใช่ทุกบ้านจะมีเรือ มันแพง คนที่ไม่มีเรือก็ต้องเป็นลูกจ้างอยู่ดี เรือของเราลำนี้ขนาด ๘ เมตร ราคา ๘๐,๐๐๐ บาท อาศัยเก็บออมจากการเป็นแรงงานที่มาเลย์ สะสมเงินผ่อนค่าเรือกับคนที่ให้กู้เดือนละหมื่น แล้วกลับไปทำงานที่มาเลย์ต่อจนผ่อนครบแปดหมื่นก็มาอยู่บ้านทำประมง”

หญิงมุสลิมวัย ๔๕ ปี เปรยข้อดีการมีบ้านล้อมสายน้ำที่ทิศเหนือเป็นอ่าวไทย ทิศใต้มีแม่น้ำตากใบไหลผ่านหมู่บ้านไปจดอ่าวไทย ช่วงมรสุมถ้าออกทะเลไม่ได้ก็ยังได้ออกเรือในแม่น้ำหาปลาอื่น

“วันหนึ่งประมงจะหาปลาได้สองช่วง ถ้าหาปลากระบอกต้องออกเรือหัวรุ่ง ถ้าหาปลากุเลาจะออกเรือหัวค่ำ พอสามีกับลูกชายกลับเข้าฝั่งมาเราก็เอาปลามาแปรรูปเลย สมมติได้ปลากุเลามาจะแช่น้ำเกลือแล้วตากแดด ถ้าเป็นปลากระบอกจะแช่น้ำทะเลค่อยตากแดดจะได้รสอร่อยกว่าแช่เกลือ”

ขณะเดินชมวิถีรอบหมู่บ้านที่ไม่มีทางถนน มีแค่ผืนทรายให้เหยียบ พบกลุ่มประมงล้อมวงคัดแยกสัตว์จากอวนอยู่ริมหาด เด็กๆ ดำผุดดำว่ายรอบเรือที่นอกจากใช้ทำกินช่วงจอดพักก็ได้ใช้เป็นบ้านจำลอง

“ทุกครั้งที่ออกเรือมีค่าน้ำมัน ๒,๐๐๐ บาท กลับเข้าฝั่งก็จะมาแยกชนิดขาย เพราะได้ราคาต่างกัน ที่ชาวประมงชอบสุดคือหมึก แต่มันมีฤดูในการจับ ช่วงมรสุมของอ่าวไทยภาคใต้ออกเรือไปก็ไม่ค่อยได้อะไร ช่วงนี้เป็นฤดูจับกุ้ง แล้วเดี๋ยวเดือนเมษา-พฤษภาก็จะเป็นฤดูจับหมึก ชาวบ้านเตรียมเฮ เวลาได้ทีก็ราว ๒๐ กว่าโล ขายได้โลละ ๒๓๐ บาท ขายหมดได้สามสี่พันบาท อาชีพอย่างเราอะไรติดอวนมาก็ต้องขาย อย่างวันนี้ที่จับได้ส่วนใหญ่เป็นปลาดุกทะเล กุ้ง กั้ง อ้อ! มีปลากระเบนติดมาด้วย”

หนุ่มผิวเข้มที่ดูร่าเริงสุดในกลุ่มเป็นตัวแทนเล่าว่าไม่ค่อยมีคนผิวขาวราวสีฟันของเขามาที่หมู่บ้าน และไม่ค่อยมีใครสนใจคุยกับพวกเขา โครงการพัฒนาที่ระดมเข้ามาหมายสร้างพลังเข้มแข็งให้ชาวบ้านพ้นความยากจน ภาวะตกงาน และไร้การศึกษา ล้วนเป็นไปแบบฉาบฉวย มามอบของให้ ถ่ายรูป แล้วกลับไป

“ที่ใครๆ บอกว่าปูลาโต๊ะบีซูเป็นชุมชนปิด ความจริงไม่ได้ปิดหรอก แค่เขายังไม่รู้จักเรา”

pulatobisu14

ความรู้มีราคา

เพราะราคาไม่ใช่แค่มูลค่าที่ลูกค้าจ่ายให้ค่าสินค้าหรือบริการ

ยังหมายรวมถึงคุณค่าที่ลูกค้าได้รับจากสินค้าหรือบริการนั้น

และบ่อยครั้งที่ผู้บริโภคยินดีจ่ายในราคาที่สูงหน่อยหากสิ่งที่ได้รับสมเหตุสมผล คือที่มาของการที่ชาวชุมชนปูลาโต๊ะบีซูรวมกลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยมีหน่วยงานรัฐช่วยหาวิธีที่เหมาะสมกับคนพื้นที่

“เราเพิ่งรู้จักที่นี่ปี ๒๕๖๖ แต่แรกจะพัฒนาในเรื่องปลากะพง แต่ระหว่างที่ทีมวิจัยเตรียมเก็บข้อมูลก็ได้รู้จักเด็กสาวที่อยากขอให้เขาช่วย แรกพบเด็กคนนี้ที่มหาวิทยาลัยต้องอธิบายกันนานว่าการเก็บข้อมูลคืออะไร วันนั้นเราให้เงิน ๒๐๐ บาท วานให้ช่วยซื้อกาแฟสดในเซเว่นและของที่ตัวเขาอยากกิน เขาหายไปสองชั่วโมง กลับมาบอกว่าเขาไม่รู้จักเซเว่น เราก็ตกใจว่าเขามาจากไหน ทำไมยุคนี้มีเด็กนักศึกษาที่ไม่รู้จักเซเว่น มันสะท้อนการขาดโอกาสที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนเลย เขาก็บอกว่า ‘หนูมาจากเกาะ ต้องนั่งเรือไป’”

ผศ.ดร.ธมยันตี ประยูรพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ย้อนจุดเริ่มการเข้าถึงชุมชนที่ห่างจากฝั่งเพียง ๕๐๐ เมตร

pulatobisu15

อันที่จริงหนทางสู่หมู่บ้านพอมีทางให้เดิน-ขี่มอเตอร์ไซค์ข้ามสู่เกาะ ทั้งจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งนราธิวาส และจากเกาะยาว-ชุมชนใกล้เคียง แต่หากชาวบ้านจะขนส่งข้าวของขนาดใหญ่ หนัก หรือจำนวนมากยังต้องใช้เรือ หลายครอบครัวที่ไม่มีเรือและไม่มีเงินจ้างจึงแทบไม่เคยออกจากเกาะ

“วันที่มาถึงยังพบว่ากลุ่มแม่บ้านส่วนใหญ่มีแต่คนว่างงาน ไม่รู้จะทำอะไรก็ออกมานั่งริมหาดเฉยๆ ที่บ้านของเด็กสาวคนนี้ก็มีฐานะยากจน แต่เชื่อไหมเขาเลี้ยงอาหารเราด้วยกุ้งต้มรสหวานจำนวนมาก ซึ่งในความรับรู้ของเรากุ้งมีราคาแพงนี่ ทำไมเขาจึงเลี้ยงเราได้ขนาดนี้ล่ะ จากวันนั้นก็ใช้เวลาทำความคุ้นเคยกับชาวบ้านพักใหญ่ พวกเขาไม่พูดไทย อาศัยสื่อสารผ่านล่ามไทย-มลายูร่วมกับภาษากาย จึงได้รู้ว่าชุมชนนี้มีต้นทุนทางทรัพยากรสัตว์น้ำเยอะเลย ทั้งจากทะเลและแม่น้ำ มีศักยภาพในการพัฒนาได้แต่ขาดโอกาสการต่อยอดรายได้ เราจึงอยากนำการศึกษาเข้ามาพัฒนา เพราะการให้ความรู้ในมหาวิทยาลัยเป็นประโยชน์แค่กับนักศึกษากลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าลงพื้นที่ทำงานวิจัยมันจะเป็นการศึกษาสำหรับคนทั้งประเทศ”

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ ขยายเหตุที่นำมาสู่การพัฒนาโจทย์ใหม่ ไม่ใช่แค่พัฒนาเรื่องปลากะพงแล้ว ต้องพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานราก สร้างอาชีพให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในความสามารถที่แต่ละคนถนัด

คือที่มาของการรื้อฟื้นกลุ่มประมงพื้นบ้านที่พวกเขาเคยทำและหยุดไปเพราะไม่เห็นผลสำเร็จ

“ตอนที่พวกเราทำก็มีครบทุกหน้าที่ตั้งแต่คนออกเรือ ได้สัตว์มาก็มีคนทำหน้าที่รวบรวมไปให้กลุ่มแปรรูป ก่อนส่งต่อให้อีกกลุ่มทำหน้าที่ขายและจัดส่งผลิตภัณฑ์แก่ผู้บริโภค แต่ติดปัญหาเรื่องการตลาดที่เราไม่รู้จักหาช่องทาง หลังเลิกทำได้สองปีก็มีอาจารย์มาลงพื้นที่แนะนำให้พวกเรากลับมารวมตัวกันใหม่ คราวนี้เขาช่วยสอนเรื่องการตั้งราคา คิดต้นทุน และบริหารจัดเก็บรายได้”

รูฮานี ยูโซ๊ะ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกาะหัวใจเกื้อกูล และหัวหน้ากลุ่มประมงปูลาโต๊ะบีซูขยายภาพว่าแต่เดิมพวกเธอคิดแค่ตั้งราคาตามท้องตลาด ใครขายกิโลกรัมละกี่ร้อยบาทก็เอาด้วยตามนั้น

pulatobisu19

“ขอแค่ขายได้ ไม่สนใจเลยว่าต้นทุนเท่าไร ไม่ได้นึกถึงว่าเราขายอาหารแห้งไม่ใช่อาหารสดเหมือนคนอื่น อาหารแห้งร้อยโลมาจากอาหารสดตั้งกี่โลล่ะ และเราไม่เคยมองว่าแรงงานของพวกเราก็เป็นต้นทุนที่ต้องคำนวณไปในราคาขาย คิดแต่ว่าถ้าทำเองก็คือไม่มีต้นทุน ตอนที่อาจารย์มาเสนอแนวคิดรวมค่าแรงในการตั้งราคา พวกเรายังค้านว่า โอ้โห…ราคาสูงแบบนี้จะขายใคร! พอเก็บมาไตร่ตรองก็เห็นว่าปลากระบอกสดน้ำหนัก ๒ กิโลกรัม ตลาดขายโลละ ๑๐๐ บาท ขณะที่ปลากระบอกตากแห้งเราขายเป็นแพ็ก แพ็กหนึ่งใช้ปลาสด ๓ โลครึ่ง ยังต้องนำปลาไปตากแห้ง ๒ ชั่วโมง มีค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายอื่นอีกกว่าจะได้สักชุดจึงต้องขาย ๓๕๐ บาท ซึ่งความจริงมันไม่ได้แพงสำหรับที่อื่น เพียงแต่คนในพื้นที่สู้ราคาไม่ไหว”

pulatobisu20

เดี๋ยวนี้เวลามีใครมาพูดให้เสียกำลังใจว่าสินค้าของเขาขายถูกกว่า เธอจะอธิบายให้คิดใหม่

“เวลาออกเรือทีมีค่าน้ำมันที่ต้องจ่ายเท่าไร เวลาที่หมดไปกับการเฝ้าดูแลปลาที่ตากแดดคือเวลาที่ปรกติเราใช้พักผ่อนหรือทำอย่างอื่นได้ สิ่งเหล่านั้นก็คือต้นทุน หลังจากนั้นเขาก็ตั้งราคาใหม่ตามเรา ตอนนี้เรากำลังช่วยสอนให้ชาวบ้านรู้จักวิธีเก็บเงิน เพราะอาชีพประมงปีหนึ่งทำงานได้ไม่เกิน ๖ เดือน อย่างเมื่อต้นมกราคมปีนี้เราออกทะเลได้อาทิตย์เดียวแล้วก็ต้องหยุดยาวจนเดือนมีนาคมถึงเพิ่งได้ออกทะเลอีกรอบ”

ผลิตภัณฑ์จากหมู่บ้านจึงไม่อาจกำหนดได้เอง ขึ้นอยู่กับธรรมชาติฤดูนั้นจะจัดสรรอะไรให้

pulatobisu21

“กลุ่มเรามีจุดยืนว่าจะผลิตสินค้าแปรรูปโดยใช้วัตถุดิบจากหมู่บ้านของเราเอง ดังนั้นสินค้าจะเป็นอะไรจึงขึ้นกับฤดูกาล ฤดูจับหมึกก็จะมีผลิตภัณฑ์พวกหมึกแห้ง ฤดูจับกุ้งอาจทำกุ้งหวานขาย ที่สม่ำเสมอคือปลากระบอกกับปลากุเลาแดดเดียว เดือนหนึ่งผลิตได้ ๖๐-๑๐๐ กิโลกรัม ช่วงที่ประมงไม่สามารถออกทะเลก็จะหาแค่ในแม่น้ำตากใบ พอได้กุ้งขาวกับปลากระบอกบ้าง สินค้าที่แปรรูปเรารับทำตามออเดอร์เป็นหลัก เน้นรับปลาสดมาปุบก็แปรรูปทันที เพื่อให้ลูกค้าได้กินของสดที่สุด เพราะเราไม่ใช้วัตถุเคมีที่เก็บแบบยืดอายุ อย่างมากก็ใส่ตู้แช่ไว้ก่อน โถ…บนเกาะเราก็เพิ่งมีไฟฟ้าให้ใช้ตู้เย็นได้ไม่กี่เดือนนี้เอง”

การกลับมารวมกลุ่มอีกครั้งภายใต้การช่วยเหลือของคณะนักวิจัยยังสอนให้ชุมชนไม่รอเพียงงานแสดงสินค้าจากจังหวัด แนะให้ซื้อสัญญานอินเตอร์เน็ตมาศึกษาวิธีใช้ แสวงโอกาสจากสื่อออนไลน์ ปรากฏว่าเมื่อมีการ Live ขายผลิตภัณฑ์ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก บ้านปูลาโต๊ะบีซู นอกจากไม่เหนื่อยเท่าการขนสินค้าไปออกบูธ ยังขายได้จำนวนเยอะและราคาดีกว่า ยิ่งทำให้ชาวบ้านตระหนักในต้นทุนของความรู้

ซึ่งผลของการลงทุนความรู้กับตัวเองจะไม่มีวันขาดทุน

pulatobisu22

กว่าจะลืมตาอ้าปาก

แม้จะมีช่องทางรายได้ที่มากขึ้น มั่นคงขึ้น แต่ความจนก็ยังไม่หมดไป

เพราะสิ่งที่ต้องปลดเปลื้องไม่ใช่แค่หนี้สิน ยังหมายรวมถึงหนี้บุญคุณ

กลับมาจัดตั้งกลุ่มคราวนี้จึงต้องนัดสมาชิกกลุ่มประมงพูดคุยเรื่องหนี้สินให้เด็ดขาด

“แต่ก่อนการขอให้ชาวประมงนำสัตว์น้ำที่หาได้มาขายกลุ่มเรามันไม่ง่าย พวกเขาลำบากใจว่าจะไม่มีส่งให้นายทุนก่อน เพราะส่วนใหญ่ติดหนี้นายทุนทั้งหนี้เก่าที่สะสมมาตั้งแต่รุ่นพ่อและหนี้ใหม่ ชาวบ้านเขามีนายทุน ๕ ราย เราจึงใช้วิธีขอความร่วมมือจากนายทุนว่าหากได้สัตว์มา ๑๐ กิโลกรัม ทางกลุ่มขอแบ่งซื้อไปแปรรูป ๒-๓ กิโลกรัม โดยจ่ายในราคาที่สูงกว่านายทุน ไม่ใช่ว่านายทุนเขากดราคานะ เป็นชาวบ้านเองที่รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณจึงอยากตอบแทนด้วยราคามิตรภาพทำให้ตนเองไม่มีกำไร ไม่มีเงินเก็บ การที่เราขอให้นายทุนช่วยเจรจาแบ่งขายเราได้แม้เพียง ๒-๓ กิโล สมมติเขาขายให้นายทุนโลละ ๔๐-๕๐ บาท เราจะให้ ๕๐-๗๐ บาท ย่อมเป็นการช่วยให้ชาวประมงได้สะสมเงินส่วนนี้ไว้ชำระหนี้”

pulatobisu23

รูฮานี-หัวหน้ากลุ่มประมงปูลาโต๊ะบีซูสะท้อนให้เรารู้จักพฤติกรรมของคนในหมู่บ้าน ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นเงื่อนไขทางวัฒนธรรมของพวกเขา ซึ่งกลุ่มนายทุน-ผู้มีอุปการคุณของชาวบ้านก็ยินดี

ด้วยเห็นว่าการให้โอกาสมากมายกับผู้มีโอกาสอยู่แล้วอาจไม่มีประโยชน์กับเขา

แต่การให้โอกาสกับผู้ขาดโอกาสแม้เพียงเสี้ยวอาจหมายถึงโอกาสทั้งชีวิตของเขา

“จากเดิมชาวบ้านไม่รู้จักเก็บออม วันนี้มีร้อยกินร้อยพรุ่งนี้อดค่อยว่ากัน กลุ่มแม่หม้ายหรือกลุ่มที่ว่างงานก็เริ่มสนใจมาเป็นผู้มีอาชีพโดยทำหน้าที่รับซื้อปลาจากชาวประมง หัดจดบัญชีครัวเรือน สมาชิกในกลุ่มเวลานี้มี ๓๐ คน ทุกคนมีกระปุกออมสินเป็นของตน หลังขายสินค้าแต่ละล็อตจะคำนวณว่าต้นทุนซื้อปลาสดเท่าไร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแพ็กเกจ ค่าเสื่อมของอุปกรณ์สิ้นเปลืองอย่างกะละมัง หักลบทุนแต่ละล็อตเหลือกำไรเท่าไรก็คำนวณส่วนแบ่งเป็นค่ากองกลาง แล้วคิดต่อว่าในการผลิตสินค้าล็อตนี้ใครมาทำงานกี่วันค่อยปันผลให้แต่ละคนตามความเหมาะสม แต่ละคนจึงได้เงินไม่เท่ากัน พวกเขาก็จะนำไปหยอดกระปุกของตัวเอง บางคนได้เยอะถึง ๓๖๐ บาท คนขยันจะถือเป็นรายได้ประจำก็ยังได้ วิธีนี้ลดหนี้ที่ชาวบ้านสะสมกันมาเป็นสิบปีได้จริง อย่างน้อยก็เห็นผลแล้ว ๕ ครัวเรือน”

เป็นสัญญานที่ดีว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าชาวปูลาโต๊ะบีซูจะปลดหนี้สินสำเร็จ

ส่วนหนี้บุญคุณขอยกให้เป็นดอกเบี้ยขายปลาราคาถูกตอบแทนตลอดไป

pulatobisu24

ฝันจะเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว

“ถ้าใช้เรือลำเล็ก ระหว่างล่องแม่น้ำจะเห็นปลากระบอกกระโดดไปมาเยอะเลย”

ซูไบด๊ะอวดทรัพยากรขณะชวนลูกชายวัย ๒๓ ปี ออกเรือนำเราชมทัศนียภาพสองฝั่งของแม่น้ำตากใบ การพานักท่องเที่ยวล่องเรือเล่นหลังอาหารมื้อเย็นก็เป็นรายได้เสริมอย่างหนึ่งของครอบครัวที่มีเรือ

เพียงเดี๋ยว เรือของซูไบด๊ะก็พาสัญจรพ้นหน้าหาดของบ้านปูลาโต๊ะบีซูที่มีสายน้ำคั่นกลางและกองหินขนาดใหญ่วางเป็นแนวกันคลื่น กลายเป็นพื้นที่ของบ้านคลองตัน หมู่ที่ ๔ มีรถยนต์ รถตู้ มอเตอร์ไซค์จอดเรียงบนถนน มีนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่ผู้ชายจะไว้หนวดเคราและผู้หญิงคลุมฮิญาบมา “หาดบลาแว” นั่งตกปลาตกกุ้งริมโขดหิน บ้างตั้งวงปิกนิกใต้ต้นสน กลายเป็นสถานพักผ่อนแห่งใหม่ของอำเภอตากใบ

“บนฝั่งมีร้านค้าขายเสื้อผ้าและอาหารยาวตลอดแนวชายหาดเลย วันหยุดคนยิ่งเยอะ เมื่อก่อนเคยมีเรือรับจ้าง ๒๐ บาท พานักท่องเที่ยวมาชายหาดของบ้านปูลาโต๊ะบีซูเหมือนกัน แต่หมู่บ้านเราไม่มีร้านค้าขายของ นักท่องเที่ยวมาแล้วไม่รู้จะทำอะไรก็ค่อยๆ หายไปไม่มากันอีก”

เป็นความต่างของชุมชนข้างเคียงที่ด้านหนึ่งเป็นทะเลอ่าวไทยอีกด้านเป็นแม่น้ำตากใบเหมือนกัน

“อนาคตผมอยากพัฒนาให้ที่นี่มีสะพานรถยนต์ข้ามแม่น้ำไปฝั่งโน้นด้วยซ้ำ ที่ผ่านมาได้ให้วิศวกรมาประเมินพื้นที่ เขาก็ร่างแบบให้มีลักษณะเป็นสะพานแบบทุ่นลอยน้ำ และประเมินงบประมาณก่อสร้างแล้วว่าค่าเขียนแบบประมาณห้าแสนบาท ค่าก่อสร้างราวหนึ่งร้อยล้านบาท เราโชคดีที่ได้ ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐที่เคยมาหาเสียงในพื้นที่ช่วยสนับสนุน ท่านรับปากว่าถ้าได้เป็น ส.ส. ในสภาจะนำประเด็นของปูลาโต๊ะบีซูเข้าไปพูด แล้วในการเปิดสภาครั้งแรกท่านก็ทำจริงโดยเสนอที่ประชุมว่าชุมชนนี้ต้องการสะพาน เวลานี้จึงมีการร่างแบบเสร็จเรียบร้อยแล้วและภายในปี ๒๕๖๗ จะเริ่มสร้างสะพานให้ชุมชนครับ”

ศุภนินทร์ สือนินายกองค์การบริหารส่วนตำบลศาลาใหม่ สะท้อนว่าที่ผ่านมาหมู่บ้านนี้เสมือนเป็นหมู่บ้านที่ถูกลืมของอำเภอตากใบจริงๆ แต่จากนี้ทาง อบต. จะเข้ามาช่วยพัฒนา

pulatobisu25

“ไม่ใช่แค่สะพานที่ชาวบ้านอยากให้ช่วยเหลือ ยังมีเรื่องการกัดเซาะ พื้นที่นี้เคยมีขนาด๗๐๐-๘๐๐ ไร่ ตอนนี้เหลือ ๕๐๐ ไร่ แต่ละปีมีพื้นที่ถูกกัดเซาะไป ๑-๒ เมตร ถนนที่เคยมีอยู่ในทะเลไปแล้ว ๓๐๐ เมตร เวลานี้พื้นที่เหยียบย่ำได้บนเกาะมีแต่ผืนทราย ถ้าไม่ปกป้องจริงจังอนาคตที่ดินบนเกาะก็จะลดอีกเรื่อยๆ พวกเราไม่ได้หวังพัฒนาแค่เรื่องคุณภาพชีวิตหรืออาชีพ ยังอยากเห็นชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วยครับ”

แถมเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวที่โดดเด่นเรื่องอาหารทะเล จึงต้องสะอาดที่สุดให้ผู้บริโภคเชื่อมั่น

“เมื่อสองปีที่แล้วหมู่บ้านนี้ยังไม่ได้สะอาดอย่างนี้ ชุมชนมีขยะเยอะมากโดยเฉพาะพลาสติก เพราะชาวบ้านไม่มีความรู้เกี่ยวกับการแยกขยะ และรถขยะก็ไม่สามารถเข้าถึงชุมชน จึงใช้วิธีทิ้งตามเขตบ้านแล้วจุดไฟเผา บางคนก็ฝังดินซึ่งขยะมันไม่ได้ย่อยสลายเร็ว น้ำหนุนทีขยะก็ลอยขึ้นเต็มชุมชนไปหมด”

ผศ.ดร.ธมยันตี-หนึ่งในทีมจากศูนย์วิจัยฯ สะท้อนสิ่งเคยประสบ และช่วยประสานความร่วมมือยัง อบต. ให้มีการจัดสรรงบพิเศษ จนได้ “ทางออกของขยะ” ที่ค่อนข้างแปลกแต่เหมาะดีกับสภาพพื้นที่แห่งนี้

“ชาวบ้านเขาคิดเห็นว่าถ้าตรงไหนมีถังตรงนั้นจะเป็นพื้นที่ทิ้งขยะ จึงไม่อยากให้มีถังขยะกองกลาง แต่ขอให้รัฐช่วยจัดสรรงบประมาณสำหรับซื้อถุงดำแจกชาวบ้านแล้วแต่ละบ้านจะช่วยคัดแยกขยะใส่ถุงดำไว้ จากนั้นทุกวันพุธก่อนสิบโมงเช้าแต่ละบ้านจะหิ้วถุงดำมารอที่จุดรับขยะของหมู่บ้าน รอจิตอาสาที่ทางเทศบาลส่งมานำเรือมาขนขยะออกไปจากชุมชน แล้วจึงมีรถขยะของ อบต. มารับไปกำจัดอีกที”

pulatobisu28

สิ่งที่พวกเขาร่วมแรงร่วมใจไม่ใช่เพียงประโยชน์ของหมู่บ้าน แต่ความสะอาดของชุมชนมันส่งผลถึงสุขอนามัยทั้งหลายที่ถือเป็นประโยชน์ของประเทศ จะพัฒนาชาติไทยให้เจริญก็ต้องพัฒนาปูลาโต๊ะบีซูด้วย

ขณะเดินทางกลับด้วยวิธีเดียวกับขามา แวบหนึ่งในใจเกือบลืมว่ากำลังอยู่ในสถานที่โอบล้อมด้วยพื้นที่อันตรายและเต็มด้วยข่าวความรุนแรงจากสถานการณ์ระเบิดใน อ.ตากใบ เพราะเมื่ออยู่ในหมู่บ้านนี้กลับสงบเงียบราวกับรอยบาดหมางขาดไปกับแผ่นดิน เขตแดนทางภูมิศาสตร์ของที่นี่จึงมีความก้ำกึ่งแบบโชคร้ายระคนโชคดีที่ยังไม่เจริญนัก หรือบางทีอาจเป็นเพราะปูลาโต๊ะบีซูยังไม่มีถนนรถยนต์

ความไม่สะดวกจึงคัดกรองผู้คนที่จะเข้าถึงเกาะขนาดเล็กที่คั่นอ่าวไทย-แม่น้ำตากใบ

pulatobisu29

สนับสนุนการลงพื้นที่ : มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

ภาพแผนที่ : Google Earth และ Google Maps