smartcommunity01

โควิด-๑๙ สายพันธุ์อังกฤษกำลังเล่นงานเมืองไทยหนักหน่วง

คาดเดาได้ยากว่าสถานการณ์จะขึ้นหรือลงอย่างไรเมื่อนิตยสาร สารคดี ฉบับนี้อยู่ในมือผู้อ่าน

ชั่วโมงนี้จึงขอส่งกำลังใจและความปรารถนาดีถึงผู้อ่านให้อยู่รอดปลอดภัยกันทุกคน

สำหรับนิตยสาร สารคดี ฉบับเดือนพฤษภาคม เราหยิบยกเรื่องของ “ชุมชน” มานำเสนอเป็นธีมเล่ม

เบื้องหลังผลงานคือการจัดกิจกรรม “ค่ายสารคดี” ที่นิตยสาร สารคดี เปิดรับเยาวชนระดับนักศึกษามาเข้าอบรมการเขียนและถ่ายภาพแนวสารคดีจำนวน ๕๐ คน เป็นนักเขียน ๒๕ คน ช่างภาพ ๒๕ คน

ปีนี้เป็นค่ายฯ ครั้งที่ ๑๖ เท่ากับว่าเราจัดค่ายฯ มาอย่างต่อเนื่องได้ ๑๖ ปีแล้ว

หากจะนับจำนวนก็คงมีเยาวชนที่ผ่านค่ายสารคดีแล้วไม่น้อยกว่า ๕๐๐ คน  ทุกวันนี้หลายคนเติบโตก้าวสู่เส้นทางอาชีพนักเขียนและช่างภาพ ทำงานในสื่อสารมวลชนสำนักต่าง ๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์  หลายคนอาจหันไปประกอบการงานอย่างอื่น แต่เชื่อว่าก็สามารถนำกระบวนการทำงานแบบนักสารคดีไปประยุกต์ใช้ได้เสมอ

ค่ายสารคดีใช้เวลาราว ๔ เดือน จัดอบรมกันเต็มวันถึงแปดครั้ง มีการลงพื้นที่เรียนรู้ในชุมชนต่าง ๆ สองครั้ง มีโจทย์ให้ทำงานสารคดีสามชิ้น ค่อย ๆ เรียนรู้ผ่านการลงมือทำงานแต่ละชิ้น ให้ครูเขียน

ครูภาพวิจารณ์งานอย่างละเอียดเพื่อนำไปพัฒนางานในชิ้นต่อไป  ระหว่างเส้นทางก็เรียนรู้กระบวนการเขียนและถ่ายภาพซึ่งถ่ายทอดจากประสบการณ์ของครูเขียนและครูภาพที่ทำงานมากว่า ๑๐ ปี กลั่นออกมาเป็นทฤษฎีให้ผู้เข้าค่ายฯ ได้ใช้เป็นเครื่องมือพื้นฐาน  เพราะงานสารคดีเป็นงานสร้างสรรค์ ซึ่งท้ายสุดแล้วนักสารคดีต้องพัฒนาฝีมือและความคิดถ่ายทอดเป็นงานที่มีเสน่ห์น่าสนใจเฉพาะตัว

“ชุมชนที่รัก Smart Community” เป็นหัวข้อผลงานชิ้นที่ ๓ ของเยาวชนค่ายฯ ๑๖ ซึ่งความจริงมีทั้งหมด ๒๕ เรื่อง

แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่หน้ากระดาษ และความพอเหมาะของการจับผลงานแต่ละเรื่องมาสร้างบทสนทนาด้วยกันในเล่ม จึงคัดมาตีพิมพ์เพียง ๖ เรื่อง (สำหรับเรื่องที่เหลือซึ่งก็น่าสนใจแทบทุกเรื่อง สามารถติดตามได้ทางเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ของ สารคดี)

กลับมาที่คำเก่า ๆ อย่าง “ชุมชน” ว่ายังจะมีประเด็นใดให้ค้นหา ?

เอซิโอ มานซินี่ เขียนไว้ในหนังสือการเมืองแห่งชีวิตประจำวัน (แปลโดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อินี่ บุ๊คส์) ว่าเรากำลังอยู่ในโลกที่ไหลเลื่อน ไม่มีความแน่นอน ผู้คนเต็มไปด้วยความเปลี่ยวเหงา การงานที่ไร้ความมั่นคง ความไม่เท่าเทียมกัน และวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม  ขณะที่โครงสร้างสังคมรวมอำนาจไว้ศูนย์กลาง และชุมชนแบบเดิมเสื่อมสลายด้วยกระแสเสรีนิยมและปัจเจกนิยม  ส่วนโลกดิจิทัลก็ทำให้เราตกเป็นเหยื่อของความตื่นเต้นเร้าใจที่มีแต่การนำเสนอเรื่องราวที่จำกัดและตื้นเขิน และสร้างชุมชนดิจิทัลที่หมกตัวอยู่แต่ในกลุ่มเพื่อนพ้องที่มีความเห็นทางเดียวกัน

เอซิโอเสนอว่า “ชุมชน” ที่จะรอดพ้นจากหายนะ ไม่ใช่ชุมชนที่ตายตัว ปิดตัว หรืออิสรเสรีจนจับต้องไม่ได้ แต่เป็นชุมชนที่พร้อมเปิดพื้นที่ให้คนต่าง ๆ ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนสานเสวนา ร่วมออกแบบสิ่งที่พวกเขาต้องการ และใช้ศักยภาพของแต่ละคนที่แตกต่าง ร่วมแรงร่วมใจทำให้เกิดขึ้น ทั้งยืดหยุ่นพอจะปรับตัวตามปัจจัยและสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปอีกในอนาคต

ชุมชนแบบใหม่นี้เรียกร้องสำนึกส่วนรวม ยอมเสียสละความเป็นปัจเจกบางส่วนแลกกับการบรรลุเป้าหมายจากพลังของความร่วมมือ เพราะความจริงคือไม่มีทางที่ใครเพียงคนเดียวจะแก้ปัญหาใหญ่ ๆ ที่สังคมหรือชุมชนกำลังเผชิญ

สิ่งสำคัญที่ผูกโยงชุมชนไว้คือ “สมบัติส่วนรวม” ที่ชุมชนช่วยกันสร้างขึ้น ดูแลและปกป้อง ขณะเดียวกันสมบัติส่วนรวมนั้นก็หล่อเลี้ยงและเป็นสิ่งที่ช่วยแก้ปัญหาให้ชุมชน

หน้าตาของสมบัติส่วนรวม เป็นไปได้ทั้งธรรมชาติ อย่างสายน้ำ ผืนป่า สิ่งของที่มีใช้ร่วมกันอย่างถนน สวนสาธารณะ หรือยังอาจหมายถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม อย่างภูมิปัญญาท้องถิ่น นวัตกรรม และแม้แต่แนวคิด “ประชาธิปไตย”

จุดเริ่มต้นนั้นอาจมาจากคนไม่กี่คน แต่เมื่อสามารถสร้างการมีส่วนร่วมขยายตัวเป็น “ชุมชน” ที่มองเห็นเป้าหมายและมีความสนใจร่วมกัน จึงอาจเปิดโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหายาก ๆ ที่โลกกำลังเผชิญขณะนี้

คานธีเคยกล่าวว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” วันนี้เราอาจบอกว่า “คำตอบอยู่ที่ชุมชน” และตัวอย่างอยู่ในเล่มนี้ครับ

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com

คอลัมน์ “จากบรรณาธิการ” สารคดี ฉบับที่ 434 พฤษภาคม 2564