วันอาทิตย์ แรม ๓ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๔๒ ตรงกับวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๔๒๓ เวลา ๑๕.๕๗ น. พระราชโอรสลำดับที่ ๒๘ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง พระมารดาคือเจ้าจอมมารดาโหมด จากราชนิกูลบุนนาค

กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๑ อาภากรเกียรติวงศ์

เจ้าจอมมารดาโหมด (๒๔๐๕-๒๔๗๕) เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค, ๒๓๗๑-๒๔๓๑) ผู้เคยดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม คนจึงมักเรียกว่า “เจ้าคุณทหาร”

บิดาของ “เจ้าคุณทหาร” คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค, ๒๓๕๑-๒๔๒๕) อดีตผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์รัชกาลที่ ๕ เมื่อยังทรงพระเยาว์ แต่ในปี ๒๔๒๓ นี้ ท่านพ้นจากตำแหน่งมาหลายปีแล้ว

คำว่า “โหมด” เป็นชื่อผ้าไหมอย่างดี “หนังสืออักขราภิธานศรับท์” พจนานุกรมยุคต้นรัชกาลที่ ๕ ของหมอบรัดเลย์ อธิบายว่าคือ (ตัวสะกดตามต้นฉบับ) “ผ้าไหมศรีเหมือนทอง, เขาธอเปนผืนผ้ามีศรีต่างๆ, มีศรีเหลืองเปนต้น เขาเอามาแต่เมืองจีนแลเมืองแขกนั้น”

จากหลักฐานร่วมสมัย คำนี้เมื่อนำมาตั้งเป็นนามบุคคล ใช้ได้ทั้งเพศหญิงและชาย เพราะนอกจากปรากฏเป็นชื่อธิดาขุนนางตระกูลบุนนาคแล้ว ยังมีพระยากระสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล, ๒๓๖๒-๒๔๓๙) อีกคน

พระเจ้าลูกยาเธอที่ประสูติจากเจ้าจอมมารดาโหมด เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๔๒๓ ได้รับพระนามว่า “พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์”

ผู้ที่คิดผูกพระนาม (ตั้งชื่อ) ถวาย คือพระศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร, ๒๓๖๕-๒๔๓๔ ต่อมาเป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ นักปราชญ์ด้านภาษาคนสำคัญประจำราชสำนัก

หนังสือ “จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน รัชกาลที่ ๕ ภาคที่ ๑๑” บันทึกรายละเอียดการพระราชทานพระนามพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ว่า รุ่งขึ้น หลังจากวันประสูติ คือวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๒๓ พระศรีสุนทรโวหารเข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ ๕

“…พระศรีสุนทรโวหารเฝ้า เรื่องคิดพระนามพระเจ้าลูกเธอที่ประสูติให้ ต้นพระนามว่า ‘อาภากร’ ให้พระศรีสุนทรคิดสร้อยพระนามต่อ ยังไม่ตกลง…”

ถัดมาอีกสองวัน สร้อยพระนามพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหม่ก็สำเร็จเรียบร้อย

“…เสด็จออกบ่ายโมงเศษ พระศรีสุนทรเฝ้า คิดพระนามพระเจ้าลูกเธอ ตกลงเป็นพระนามว่า ‘พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์’ จะพระราชทานในวันสมโภชพรุ่งนี้…”

สิ่งที่น่าคิดคือที่มาของพระนามนี้

ผมสันนิษฐานว่าพระนาม “อาภากรเกียรติวงศ์” น่าจะมาจากการที่ทรงเป็น “เหลน” ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้ได้รับความนับถือในฐานะ “เป็นพระบรมญาติอันยิ่งใหญ่ ควรเป็นที่คำนับในพระบรมราชวงศานุวงศ์ทั้งปวง” นี่จึงสมควรเป็นสาเหตุที่พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์แรกในเจ้าจอมมารดาโหมดแห่งสกุลบุนนาค ได้รับพระราชทานนามว่า “พระองค์เจ้าอาภากร” ตามราชทินนามของสมเด็จเจ้าพระยา (อาภากร = พระอาทิตย์ = สุริยะ) ผู้เป็นใหญ่แห่ง “สุริยวงศ์” กำกับด้วยสร้อยพระนาม “เกียรติวงศ์” อันแปลว่าเป็นเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูล ซึ่งย่อมหมายถึงสกุลบุนนาค

ในระยะนั้นดูเหมือนมีธรรมเนียมในอันที่จะพระราชทานพระนามพระเจ้าลูกยาเธอ พระราชโอรส ชั้นพระองค์เจ้าในรัชกาลที่ ๕ โดยอิงกับวงศ์สกุลฝ่ายพระมารดา เช่น พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ (กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม, ๒๔๒๕-๒๔๕๒) อันน่าจะเนื่องกับ “ขรัวตา” ของท่าน คือเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง หรือ เพ็ญ เพ็ญกุล, ๒๓๖๔-๒๔๓๗)

รวมถึงพระองค์เจ้าซึ่งประสูติจากเจ้าจอมมารดาทิพเกษร เจ้านายฝ่ายเหนือ ผู้ได้รับพระราชทานพระนาม “ดิลกนพรัฐ” (กรมหมื่นสรรควิไสยนฤบดี, ๒๔๒๗-๒๔๕๖) อันมีความหมายว่า “ศรีเมืองเชียงใหม่”


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ