เราไม่มีรายละเอียดพระประวัติพระองค์เจ้าอาภากรฯ เมื่อทรงพระเยาว์มากนัก จึงทำได้เพียงสันนิษฐานจากบริบทแวดล้อมว่าทรงเติบโตขึ้นภายในเขตพระราชฐานชั้นในของพระบรมมหาราชวัง ท่ามกลาง “เจ้าพี่เจ้าน้อง” จำนวนมาก หลักฐาน “ทางการ” กล่าวว่าทรงศึกษาวิชาหนังสือเบื้องต้น ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ณ โรงเรียนราชกุมาร ในพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกับพระราชโอรสที่มีพระชนม์รุ่นราวคราวเดียวกัน

“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๒ เมื่อทรงพระเยาว์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนราชกุมารขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเป็นสถานศึกษาพิเศษสำหรับพระราชโอรส ตั้งแต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกยาเธอ ตลอดจนถึงเจ้านายชั้นหม่อมเจ้าบางพระองค์ ได้ศึกษาวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เลข ภูมิศาสตร์ ฯลฯ

โรงเรียนราชกุมาร มีมิสเตอร์มอรันต์ (Robert L. Morant, 1863-1920) พระอาจารย์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นผู้จัดการ และเป็นครูผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษ ส่วนวิชาภาษาไทย สอนโดยพระยาอิศรพันธุ์โสภณ (ม.ร.ว. หนู อิศรางกูร, ๒๓๘๐-๒๔๔๙)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนราชกุมารเมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๔๓๔ ซึ่งถ้านับตามปฏิทินปัจจุบัน จะเป็นเดือนมกราคม ๒๔๓๕ แต่ขณะนั้นสยามยังกำหนดวันขึ้นปีใหม่ในเดือนเมษายน ดังนั้น มกราคมจึงยังเป็นปีเดิมต่อเนื่องกับเดือนธันวาคม

หลังจากพิธีเปิดในช่วงเช้าที่ใช้เวลายาวนาน ตอนค่ำวันเดียวกันมีงานเลี้ยงและการแสดงของนักเรียนเป็นการเฉลิมฉลอง “ราชกิจจานุเบกษา” บันทึกไว้ว่า “…นักเรียนแลครูทรงแต่งพระองค์แลแต่งตัว ด้วยเครื่องแต่งต่างๆ กัน (แฟนซีเดรส)…”

เหตุการณ์ดังกล่าวนี้น่าจะเป็นวาระเดียวกันกับที่มีพระรูปหมู่เจ้านายเล็กๆ ในงานแฟนซียุคทศวรรษ ๒๔๓๐ แลเห็นพระองค์เจ้าอาภากรฯ (แถวยืนลำดับที่ ๔ จากซ้าย ดูเหมือนจะแต่งพระองค์เป็นแขกมุสลิม ?) ทรงเข้าแถวร่วมกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงศภูวนาถ พระองค์เจ้าสุริยงประยูรพันธ์ ฯลฯ

หากพระรูปนี้ถ่ายในวาระงานแฟนซีวันเปิดโรงเรียนราชกุมารจริง ขณะนั้นพระองค์เจ้าอาภากรฯ จะมีพระชันษา ๑๑ ปี

จากหลักฐานชิ้นเล็กชิ้นน้อยยังอาจปะติดปะต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้อีกว่า พระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงคุ้นเคยกับดนตรีตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ดังที่ ศ.นพ. พูนพิศ อมาตยกุล นายแพทย์อาวุโสผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ดนตรีไทย เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของ ดร. รังสิพันธุ์ แข็งขัน เรื่อง “การศึกษาบทเพลงทหารเรือในพระนิพนธ์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” โดยคุณหมออ้างเรื่องที่ได้รับฟังมาโดยตรงจากหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรจแรง อาภากร พระธิดาของกรมหลวงชุมพรฯ (พระองค์เจ้าอาภากรฯ) ตอนหนึ่งว่า

“…เจ้าจอมมารดาโหมด แม่ของท่านเกิดในสกุลบุนนาค…เป็นน้องสาวแท้ๆ ของเจ้าจอมมารดาแพ (ต่อมาคือเจ้าคุณพระประยูรวงศ์) เจ้าจอมมารดาโหมด ยังมีน้องสาวอีกคนหนึ่งชื่อหม่อมแม้น เป็นหม่อมของสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช (วังบูรพา) ทั้งสามคนพี่น้องนี้ ชอบดนตรี ชอบร้องเพลง ชอบละครมาตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อทั้งสามท่านเจริญขึ้นมาเป็นเจ้าจอมและเป็นหม่อม เวลาท่านมีลูก ท่านก็สอนให้ฟังเพลง ให้ร้องเพลง ให้เล่นละคร…”


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ