เรื่องและภาพ : วิศรุต แสนคำ

แคมป์คนงาน ชีวิตและความฝันหลังม่านสังกะสี
คนงานหาเครื่องมือช่างต่าง ๆ ที่หลงเหลือจากแคมป์พักคนงานแห่งหนึ่งแถวดอนเมืองซึ่งถูกเพลิงไหม้ นับเป็นเหตุการณ์ที่มักจะเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ แทบทุกปี

โดยไม่ต้องอาศัยนาฬิกาปลุกเพื่อตื่นในยามเช้าเหมือนเด็กสาวทั่วไป นรี วัย 14 ปี อาศัยเสียงเดินย่ำเท้าของเพื่อนข้างห้อง ลุกขึ้นจากฟูกตอน 6 โมงเช้าทุก ๆ วันเพื่อไปรอเข้าคิวอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สดชื่น

เด็กสาวแรกรุ่นมีดวงตาสีน้ำตาลอ่อน ผมหยักศกลอนสลวยยาวประบ่า เธอสวมผ้าซิ่นลายดอกค่อย ๆ เอื้อมมือหยิบหมวกเซฟตี้สีเหลือง บรรจงตักน้ำจากถังแกลลอนพลาสติกขนาด 200 ลิตรราดลงผิวสีแทนของเธอ ละอองน้ำที่กระเซ็นสะท้อนแดดยามเช้าเป็นประกายระยิบระยับ พลางหยอกล้อเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน ชายหนุ่มกล้ามงามที่อาบน้ำอยู่ใกล้ ๆ ในชุดผ้าขาวม้าอาจทำให้สาวแรกรุ่นเหนียมอายในท่ามกลางที่อาบน้ำเปิดโล่งใต้ท้องฟ้ากลางกรุงเทพมหานครที่ห้อมล้อมด้วยกำแพงสังกะสี ตึกใบหยก และตึกสูงนับสิบ

ในห้องขนาดราว 4 ตารางเมตรที่พยุงด้วยโครงไม้จากต้นยูคาลิปตัสและล้อมด้วยแผ่นลอนสังกะสี นรี แม่ และน้องชาย ม้วนเก็บที่นอนแผ่นหนาเตอะ ปัดฝุ่น และช่วยกันลงมือปรุงอาหารด้วยเตาไฟฟ้าที่เพิ่งซื้อต่อจากหัวหน้า พูดคุยกันพลางตักกิน “บอบอร์” (បបរ) หรือข้าวต้มใส่กะหล่ำปลีซอยเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อสร้างกำลังวังชาในช่วงเช้าของวัน

เสร็จสรรพจากมื้ออาหาร หญิงสาวสวมชุดเครื่องแบบประจำที่ดูคล้ายชุดนอน แต่แทนที่จะมุ่งหน้าไปโรงเรียน เธอเดินจูงมือแม่ไปยังโครงสร้างตึกเจ็ดชั้นที่เธอและครอบครัวเดินทางข้ามพรมแดนมาด้วยหวังอนาคตที่ดีกว่า

ขณะสาวน้อยตาสีน้ำตาลกำลังก่อร่างสร้างกรุงเทพฯ ตุยหรือน้องชายของเธอก็ใช้เวลาตลอดวันสนุกสนานกับเพื่อนวัยเดียวกัน เล่นสมมุติว่าบริเวณที่อาบน้ำคือบ่อน้ำขนาดใหญ่ซึ่งมีจระเข้เป็นเหล่าขวดพลาสติกและถุงพลาสติกลอยอยู่รอบ ๆ และต้องกระโดดจากแผ่นไม้แผ่นหนึ่งไปอีกแผ่นโดยไม่ตกลงไปโดนจระเข้ บ้างก็ชักชวนกันเดินหาขวดพลาสติกใส ขวดพลาสติกขุ่น ในถังสีเขียวสีเหลือง มาเก็บสะสมไว้แลกเป็นเงินตอนปลายเดือน

นรีคือหนึ่งใน 137,564 ชีวิตตามตัวเลขสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่อาศัยและทำงานก่อสร้างในพื้นที่ซึ่งเรามักเรียกว่า “แคมป์คนงาน” ที่นายจ้างจัดให้ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งสำหรับนายจ้างและคนงานเอง อย่างไรก็ตามหากถามถึงความเป็นอยู่และความพึงพอใจ เกือบทั้งหมดต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าที่อยู่และห้องพักนั้นคับแคบเกินไป

แต่นรีกลับยิ้มและตอบว่า “อยู่ที่นี่ก็ได้อยู่กับแม่ อยู่บ้านไม่รู้จะทำอะไร ที่เคยทำก็มีแต่ปลูกข้าว แต่ช่วงหลังนี้ก็แล้งเหลือเกิน ปลูกอะไรไม่ค่อยขึ้นแล้ว แม่เลยพานรีและน้องมาอยู่ที่กรุงเทพฯ”

เธอบอกว่า แม่เล่าว่าตั้งเป้าหมายจะทำงานก่อสร้างที่กรุงเทพฯ นี้สัก 2 ปี แล้วจะกลับบ้านเดิมที่กัมพูชากัน และหากเงินหมดคราหน้าก็อาจจะได้กลับมาอีก

แต่เธอเพิ่งมาเพียง 3 เดือน หากนับดูแล้วหนทางกลับบ้านคงยังอีกไกล

สาวน้อยนัยน์ตาสีน้ำตาลอ่อนย้ำว่า “พอจะอุ่นใจได้เพราะอย่างน้อยก็ได้อยู่กับแม่ และมีคนเขมรอยู่เยอะ คุ้นหน้าคุ้นตากันเหมือนอยู่บ้านที่เขมร”

labor01
labor02
labor03
บรรดาคนงานในแคมป์พักคนงานถือเป็นแรงงานผู้สร้างกรุงเทพฯ ก็ว่าได้
labor04
labor05
labor07
เด็ก ๆ ที่ตามพ่อแม่มาขายแรงงาน ตอนกลางวันหากไม่อยู่ที่แคมป์ก็จะอยู่ในไซต์ก่อสร้าง
labor08
labor09
labor11
labor10
แคมป์พักคนงานก่อสร้างตั้งอยู่อย่างยากจะสังเกตเห็น
ในท่ามกลางตึกสูงและหอพักมากมายของเมืองใหญ่
  • นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 378 สิงหาคม 2559