ทีม ว
เรื่อง : บรรณวิชญ์ จงสุทธนามณี
ภาพ : รัตติยา ผลประพฤติ
วันนี้ ๐๕.๔๐ น. ฝนยังคงตกอย่างต่อเนื่อง กว่า ๔ ชั่วโมงแล้วที่พายุฝนถล่มจังหวัดจันทบุรี พื้นที่ต่ำกว่าระดับถนนต้องเผชิญน้ำท่วมขัง เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นสู่ฟ้า พายุจึงค่อยๆ สงบ และวันใหม่ก็เริ่มต้นขึ้น
มอเตอร์ไซค์สีแดงคันเก่าขับเข้ามาจอดที่โรงงาน ผมเห็นชายผิวคล้ำอายุประมาณ ๔๐ ต้นๆ ลงจากรถ เขาเดินย่ำน้ำขังเข้าไปในครัวและวิดน้ำออกด้วยที่โกยผงและไม้กวาดทางมะพร้าว เมื่อจัดการปัญหาเสร็จจึงเก็บอุปกรณ์ ใบหน้าดูเหนื่อยล้า คงไม่มีใครอยากตื่นขึ้นมาแล้วปวดเมื่อยจากการวิดน้ำเป็นชั่วโมง
แต่ทันทีที่เขาเดินออกจากครัวไปโรงงาน ใบหน้าเขาเริ่มมีรอยยิ้มเหมือนได้รับพลังบางอย่าง ซึ่งผมไม่เข้าใจและเกิดคำถามขึ้นมากมาย
ห้าวันก่อนผมเดินทางมาถึงอำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี และพักอาศัยอยู่บ้านญาติ ระหว่างผมกำลังขนกระเป๋าเสื้อผ้าลงจากรถก็มีเสียงทักทายมาแต่ไกลว่า “โอ๊ยยย เด็กกรุงเทพฯ เว้ย!!!”
ผมหันไปเห็นชายผิวคล้ำยืนเท้าเอวพร้อมรอยยิ้ม เขาเข้ามาช่วยผมขนกระเป๋าขึ้นบ้าน
เราคุยกันขณะแบกกระเป๋าขึ้นบันได เขาพูดเก่ง ชอบหยอกล้อคนอื่น แต่น่าแปลกคือทันทีที่ผมบอกอยากสัมภาษณ์เขาเพื่อเขียนสารคดี
เขากลับนิ่งเงียบ จิตวิญญาณนักพูดหายไป ผมงงอยู่สักพัก ก่อนนึกได้ว่า ไม่ใช่ทุกคนชอบออกสื่อและท่าทางลุงเขาก็เป็นหนึ่งในนั้น
“ซวยละ” ผมบ่นกับตัวเอง
ผมเกลี้ยกล่อมเขาอยู่นาน จนท้ายที่สุดเขายอมตกลงแต่มีเงื่อนไขว่า จะให้สัมภาษณ์แค่วันเดียวคือวันเสาร์หน้า ซึ่งเขาน่าจะว่างมากที่สุด ผมจำต้องตกลง
ในที่สุดวันเสาร์ก็มาถึง เจ็ดโมงตรงผมมานั่งคุยกับเขาข้างโรงงาน เขาแนะนำตัวเองว่าชื่อ สุวัฒชัย จินตนา ชื่อเล่น “ปอน” แต่ผู้คนละแวกนี้เรียก “อ่าง” เนื่องจากเขาพูดไม่ชัดเพราะเป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่ตั้งแต่เกิด ลุงปอนทำงานเป็นกรรมกรอยู่ในจังหวัดนี้ตั้งแต่วัยรุ่นจนปัจจุบัน ชีวิตคลุกคลีกับการใช้แรงงาน ไม่ว่าทำสวน แบกหาม ต้องทำงานกลางแดดที่แผดเผาไม่ต่ำกว่าวันละ ๘ ชั่วโมง ค่าแรงที่ได้เมื่อหักกลบลบหนี้ก็แทบไม่เหลือเงินออม เพราะนอกจากใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ยังมีภาระดูแลพ่อแม่ที่แก่ชรา
ถ้าใครต้องอยู่ในสภาพนี้คงเครียดและเบื่อหน่ายชีวิต แต่ลุงปอนกลับมีรอยยิ้มเสมอ ชายคนนี้ทำได้อย่างไร
“ลุงคิดว่าความสุขของลุงคืออะไร” ผมถาม
เขานั่งคิดพักใหญ่ ก่อนตอบ
“ลุงก็ไม่รู้”
พวกเรานั่งเงียบอยู่ ๓ วินาที ทันใดนั้นเสียงนายจ้างก็เรียกเขา
“อ่าง! อ่าง! อ่าง!”
เมื่อลุงปอนได้ยินจึงตะโกนตอบว่า
“เดี๋ยวไป”
เขาลุกจากเก้าอี้ พูดกับผมว่า
“ลุงไปทำงานก่อน เดี๋ยวโดนบ่นอีก”
จากนั้นเขาก็เดินเข้าโรงงาน ผมวางแผนจะตามไปเก็บข้อมูลต่อ แต่ดูจากสีหน้าสุนัขที่อยู่ในนั้นเหมือนไม่อยากต้อนรับผมนัก ผมเลยสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ
ย่างเข้า ๗ โมงครึ่ง ลุงปอนและเหล่าคนงานเริ่มเปิดผ้าใบกันสาดทั่วโรงงาน เสียงดังพึ่บพั่บราวใบเรือสำเภาโดนลม ซึ่งมาพร้อมเสียงกะลาสีอย่างลุงปอนและคนงานที่คุยกันสนุกสนาน
ปัจจุบันบ้านญาติที่ผมมาพักอาศัยทำธุรกิจโรงไม้ ญาติผมเล่าให้ฟังว่า ประมาณปี ๒๕๐๐ พวกเขาเริ่มจากทำสวนผลไม้ รายได้หลักมาจากการขายทุเรียน เงาะ และมังคุด นอกจากนี้ยังทำฟาร์มเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ซึ่งเป็นรูปแบบธุรกิจที่เกษตรกรในจังหวัดนิยมทำสมัยนั้น
ต่อมาปี ๒๕๑๕ พวกเขาเปลี่ยนมาทำร้านขายวัสดุก่อสร้าง และอุปกรณ์อื่นๆ อีกทั้งขยายไปทำโรงงานทำประตูหน้าต่าง มีคนงานเกือบ ๑๐๐ คน
ลุงปอนมาทำงานในปี ๒๕๓๕ ด้วยวัย ๑๕ ปี ตอนนั้นพ่อของเขามาสมัครงานเป็นกรรมกร โดยพาลูกชายมาขอให้ที่ร้านรับเข้าทำงานด้วย
ช่วงวัยรุ่นลุงปอนผอมแห้งแรงน้อยแบกของหนักไม่ไหว จึงแบกของไม่หนักมากอย่างไม้อัด กระเบื้อง และอิฐบล็อก เวลาผ่านไปเขาค่อยๆ แบกของหนักขึ้น อย่างเสาไม้ เสาปูน ปูนซีเมนต์ โดยมีรุ่นพี่กรรมกรช่วยเหลือและพร่ำสอนสิ่งจำเป็นในการทำงานแก่เขา
เมื่อก่อนลุงปอนขี้อาย ไม่ค่อยพูดเพราะกังวลกับโรคที่ตัวเองเป็น แต่พอได้ทำงานที่โรงงาน พูดคุยกับผู้ร่วมงาน มีเพื่อนเพิ่มขึ้น จากหนึ่งคนเป็นสองคน สามคน จนครบทั้งโรงงาน เขาจึงกล้าหยอกล้อกับเพื่อนร่วมงานมากขึ้น ตั้งแต่นั้นทุกๆ วัน ไม่ว่าสภาพอากาศจะเลวร้ายแค่ไหน หรืองานจะเหน็ดเหนื่อยเพียงใด ก็จะได้ยินเสียงพูดคุยของลุงปอนและเห็นรอยยิ้มของเขาเสมอ
ตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ เป็นต้นมา คนงานน้อยลงเรื่อยๆ จากการแข่งขันทางธุรกิจที่ทวีความรุนแรงขึ้น จนปัจจุบันร้านมีคนงานไม่ถึง ๑๐ คน โดยเหลือแค่โรงงาน ส่วนลุงปอนยังได้ทำงานต่อ เพราะเขาขยัน ถ้าไม่ป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุก็จะมาทำงานทุกวันแม้แต่วันหยุดสุดสัปดาห์ และเป็นคนไว้ใจได้ ไม่มีประวัติเสียหรือขโมยของในร้าน ส่วนความร่าเริงก็อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผล ญาติของผมเล่าพร้อมกับหัวเราะ
“เวลา ๘ นาฬิกา…ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน…”
เสียงเพลงชาติดังมาจากวิทยุข้างโรงงาน ผมและคนงานยืนสงบนิ่ง พอเพลงจบ ผมเห็นนายจ้างเดินเข้าไปในโรงงานและมอบหมายงานให้กรรมกรแต่ละคน เมื่อสั่งงานเสร็จ ลุงปอนก็เดินตรงไปที่ครัว นำรำข้าวออกมาต้มในกระทะ ผมจึงเดินเข้าไปถาม
“ลุงทำอะไรอยู่”
“ต้มข้าวหมา”
เขาตอบพร้อมใช้ตะหลิวขนข้าวไปมา
“ลุงยังไม่ได้ตอบผมเลยว่า ความสุขของลุงคืออะไร” ผมถามซ้ำอีกครั้ง
“…..กินเบียร์มั้ง ฮ่าๆๆๆ”
เขาตอบพร้อมหัวเราะ พอลุงปอนต้มข้าวเสร็จ ก็ตักข้าวใส่ถังและนำไปใส่กะละมังทั่วโรงงานซึ่งใช้เวลากว่า ๒ ชั่วโมง จากนั้นจึงขนไม้เต็งที่มีน้ำหนักรวมประมาณ ๖๐๐ กิโลกรัม ออกไปตากแดดเพื่อให้ไม้แห้ง แล้วส่งต่อให้ช่างทำประตูหน้าต่าง
ตอนนี้เวลาเที่ยงตรง เป็นช่วงพักกินข้าวของคนงาน เหลืออีก ๕ ชั่วโมงก่อนลุงปอนจะกลับบ้าน ผมต้องรีบหาตัวเขาและสัมภาษณ์เพิ่ม จึงตัดสินใจเดินไปที่โรงงาน ทันใดนั้นก็ได้ยินเสียงหัวเราะมาจากหน้าโรงงาน
ผมตามเสียงไปเห็นลุงปอนและเหล่ากรรมกรนั่งกินข้าวและคุยกันอยู่
ขณะผมกำลังจะเดินเข้าไปหาลุงปอน ก็ต้องชะงักเมื่อเห็นท่าทางลุงปอนที่กำลังหยอกล้อกับเพื่อนๆ อย่างสนุกสนานด้วยเสียงอู้อี้จากโรคประจำตัว แต่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา เขานั่งบนอิฐบล็อก สีหน้ายิ้มแย้มแม้เหงื่อจะไหลชุ่มหน้า มีจานข้าววางข้างตัวที่พูนด้วยอาหารซึ่งเขาแทบไม่ได้กินเลย
บางอย่างบอกผมว่าไม่ควรเข้าไปขัด ผมจึงยืนมองเขาพูด และปล่อยเวลาให้ผ่านไป
พอถึงบ่ายโมงตรง ลุงปอนก็เดินเอาจานข้าวเข้าไปเก็บในครัว ผมเข้าไปถามเพื่อนของลุงปอนที่ชื่อ “อึ่ง” ว่าลุงปอนเป็นคนยังไง
“อ่างพูดเก่งมาแต่ไหนแต่ไร ระหว่างทำงาน แกก็ชอบคุยเล่นกับพวกคนงาน แกชอบแซว ชอบล้อคนอื่นไปเรื่อย ยิ่งเดี๋ยวนี้อายุเยอะขึ้น ยิ่งพูดมากเป็นทวีคูณ” อึ่งตอบ
ผมตามสังเกตลุงปอนและสอบถามคนที่รู้จักเขา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ญาติผม และนายจ้าง เพื่อไขปริศนาว่าอะไรคือความสุขของเขา แต่ก็ไม่ได้ข้อมูลเพิ่ม
พระอาทิตย์ใกล้จะลาขอบฟ้า ตอนนี้เวลา ๑๗.๓๐ น. ผมเห็นเมฆครึ้มมาแต่ไกล ดูเหมือนฝนจะตกหนักอีก ลุงปอนและเหล่ากรรมกรช่วยกันปิดผ้าใบกันสาดทั่วโรงงาน การทำงานกำลังจะจบลง แต่ตัวผมยังไร้คำตอบที่จะนำมาเขียนสารคดี
หลังจากลุงปอนและเหล่ากรรมกรปิดโรงงานเสร็จ พวกเขาเตรียมแยกย้ายกลับบ้าน ผมเดินหาลุงปอน เห็นเขานั่งคร่อมมอเตอร์ไซค์ จึงตะโกนเรียก
“ลุงปอน! ลุงปอน!”
ลุงปอนหันมาหาผมพลางโบกมือทักทาย
“สรุปความสุขของลุงคืออะไร!!!” ผมตะโกนถาม
ลุงปอนมองผมนิ่ง ไม่พูดอะไร เพียงแต่ส่งยิ้มให้ แล้วก็สตาร์ตมอเตอร์ไซค์ขี่ออกไป ฝนเริ่มโปรยปราย ผมนั่งหลับตาครุ่นคิดท่ามกลางเสียงฝน จู่ๆ ภาพเหตุการณ์ตั้งแต่เช้าจดเย็นก็ปรากฏในหัว เหมือนฉายเรื่องราวซ้ำอีกครั้ง
ทันใดนั้นภาพหนึ่งของลุงปอนก็สะกิดความคิดผม
ผมค่อยๆ ลืมตา ในที่สุดก็เจอคำตอบ ความสุขนั้นก็คือ ภาพลุงปอนที่กำลังพูดคุยกับเพื่อนพร้อมรอยยิ้ม
รอยยิ้ม #แรงงาน #สุขหมุนรอบตัวเรา #ค่ายนักเล่าความสุข #มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์ #นิตยสารสารคดี #เพจความสุขประเทศไทย #สสส