เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

หลังเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงาน “หมิงตี้” ผู้ประกอบกิจการผลิตเม็ดโฟม EPS (Expandable Polystyrene) กำลังการผลิต 36,000 ตันต่อปี กำลังเครื่องจักร 11,489 แรงม้า ย่านกิ่งแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

คณะกรรมการ และกองบรรณาธิการจัดทำวิศวกรรมสาร วสท. ,สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมจัดงานเสวนาหัวข้อ

“ระบบ ‘ฟื้นฟู-เยียวยา-ป้องกัน’ ที่ควรมี (ทำ) กรณีเหตุระเบิดกิ่งแก้ว” เพื่อให้ความรู้แก่ผู้คนในสังคม เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564

หนึ่งในหัวข้อปภิปรายที่ได้รับความสนใจคือแง่มุมด้านกฎหมาย “เหตุระเบิดโรงงานกิ่งแก้วสะท้อนปัญหาอะไรในกฎหมายสิ่งแวดล้อมไทย ?” ของ อชิชญา อ๊อตวงษ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานประมาณ 50 ครั้ง ระเบิด 2 ครั้งในปี 2563 จนเข้าสู่ปี 2564 แม้จะผ่านไปเพียงครึ่งปี ก็เกิดเหตุโรงงานระเบิดแล้ว 4-5 ครั้ง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะชี้ชัดว่า “กฎหมายสิ่งแวดล้อมไทยกำลังมีปัญหาอะไรบางอย่าง”

อชิชญา อ๊อตวงษ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

“ทำไมคนถึงย้ายเข้ามาอยู่ติดโรงงาน เมื่อเข้ามาอยู่ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงหรือเปล่า มันมีแง่มุมทางผังเมือง โซนนิ่ง บัฟเฟอร์โซนที่เราต้องถกเถียงกัน

“แท้จริงแล้วไม่ว่าใครจะอยู่ก่อนหรือหลัง ชุมชนจะมาก่อนหรือโรงงานมาก่อน กฎหมายโรงงานไม่ได้ถูกออกแบบมาให้มีระยะห่างระหว่างโรงงานกับชุมชนอยู่แล้ว มันก็เลยเกิดเหตุการณ์ทั้งสองกรณี คือชุมชนตั้งมาก่อนแล้วอยู่ดีๆ ก็มีเพื่อนบ้านใหม่คือโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งโรงงานตั้งมาก่อนแล้วชุมชนเข้ามาอยู่รอบโรงงาน กลายเป็นเพื่อนบ้าน มาอยู่ใกล้กัน ห่างแค่รั้วบ้านกั้นหรือแค่ข้ามถนนก็เจอกันแล้ว

“กฎหมายโรงงานบอกแค่ว่าห้ามประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นโรงงานภายในบ้านหรือที่อยู่อาศัย ไม่ได้บอกระยะห่างที่ชัดเจน สิ่งที่บอกคือให้ห่างจากศาสนสถาน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล โบราณสถาน สถานที่ราชการประมาณ 50-100 เมตร แล้วแต่ขนาดแล้วแต่ประเภทของโรงงาน ถ้าโรงพยาบาลมาตั้งแล้วอยู่ห่าง 500 เมตรก็เป็นไปตามกฎหมาย

“โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศไทยก็สามารถสร้างในพื้นที่ผังเมืองสีเขียวหรือทุ่งนา เพราะถึงจะประกาศผังเมืองเป็นสีเขียวแต่มีเขียนข้อยกเว้นว่าให้ตั้งโรงไฟฟ้าได้ ที่ตั้งของชุมชนไม่เคยอยู่ในสมการของหน่วยงานรัฐที่จะให้ตั้งหรือไม่ให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม”

achichaya02

กฎกระทรวงฉบับที่ 2 ข้อ 4 บอกว่าแม้โรงงานจะปฏิบัติตามกฎข้ออื่น คือ ไม่ได้อยู่ในระยะ 50-100 เมตร ไม่ได้อยู่ในบ้าน แต่ก็ต้องตั้งอยู่ในทำเลและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทีนี้ทำเลและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมคืออะไร ประโยคเดียวเถียงกันแทบทุกกรณีของโรงงานที่ตั้งใกล้กับชุมชน ฝั่งโรงงานจะบอกว่าเขาอยู่ใกล้แหล่งน้ำ แหล่งทรัพยากรต่างๆ การจราจรสะดวก มีบริเวณเพียงพอที่จะประกอบกิจการอุตสาหกรรม ก็มีความเหมาะสมในแบบของเขา ขณะที่ชุมชนก็จะมองความเหมาะสมในแบบของชุมชน มันก็เลยเกิดคดีความต่างๆ ขึ้นมา เมื่อกฎหมายใช้คำกว้างขนาดนี้แล้วก็เป็นเรื่องดุลพินิจเรื่องของคนที่จะตัดสินใจ โยนให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจว่าอะไรที่เหมาะสม ซึ่งหลายๆ กรณีอยู่ที่หน่วยงานรัฐคือกรมโรงงานว่าจะให้ใบอนุญาตหรือจบที่ศาล

“เท่าที่พบ คำว่าทำเลที่เหมาะสมไม่ค่อยคำนึงถึงระยะห่างระหว่างชุมชนกับโรงงานสักเท่าไหร่ สิ่งที่ศาลพิจารณารับรองคือเขามีมาตรการที่เหมาะสมเพียงพอแล้วในการป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้กับชุมชนหรือเปล่า ดังนั้นหลายๆ กรณี ถึงโรงงานมาทีหลังก็ยังตั้งได้”

achichaya03

“กรณีคนย้ายมาทีหลัง เราคิดว่าเขาต้องยอมรับความเสี่ยงได้อยู่แล้ว ก็รู้ว่าโรงงานอยู่ตรงนั้น แต่ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยคือไม่มีกฎหมายที่บังคับให้รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลด้านความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมต่อสาธารณะให้เราได้รู้

“เวลาที่บอกว่าเราจะยอมรับความเสี่ยง เราต้องรู้ก่อนว่าความเสี่ยงนั้นคืออะไร แค่เราเสิร์จกูเกิ้ลในรัศมีบ้านเราแล้วพบว่ามีโรงงานตั้งอยู่ เป็นโรงงานผลิตพลาสติก โฟม ถ้ารู้แค่นี้ เราจะรู้ว่ามีความเสี่ยงได้ขนาดนั้นเลยเหรอ เราจะรู้หรือว่าเขาผลิตด้วยสารเคมีอะไร ลักษณะโรงงานเป็นแบบไหน กำลังการผลิตเท่าไหร่ ปลดปล่อยมลพิษออกมาแค่ไหน มีขยะมลพิษหรือขยะอุตสาหรรมอะไรออกมามั๊ย การดูแค่แผนที่ไม่สามารถบอกเราได้ ฉะนั้นในต่างประเทศจึงมีกฎหมาย PRTR ย่อมาจาก Pollutant Release and Transfer Registers หรือทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม

“ในเมืองไทยจริงๆ มีการพูดคุยเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้มายาวนาน ภาคประชาชนพยายามผลักดันมามากกว่าสิบปี อยากให้รัฐมีกฎหมายนี้ โดยเอาข้อมูลมลพิษมาจากแหล่งกำเนิด ระบุประเภทของมลพิษที่ถูกจัดเก็บไว้ แล้วเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนเข้าถึงได้ ให้รับรู้ เข้าใจสถานที่ที่ตัวเองอยู่ จะได้ระมัดระวัง ถ้ามีชุมชนอยู่ใกล้โรงงาน เราจะรู้ทันทีว่ามีสารเคมีชนิดใดอยู่เท่าไหร่ มีการปลดปล่อยสารมลพิษแค่ไหน มีข้อมูลเบื้องต้นสำหรับวางแผนจัดการไฟไหม้ อุบัติภัย แต่กฎหมายฉบับนี้ก็เพิ่งจะถูกปัดตกไปอย่างไม่ใยดีจากรัฐบาล”

achichaya04

“สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าระบบ monitoring ของประเทศไทยมีปัญหา ปีที่แล้วเกิดไฟไหม้โรงงานประมาณ 50 ครั้งใน 50 โรงงาน ปีที่แล้วระเบิด 2 ครั้ง ปีนี้เพิ่งเดือนกรกฎาคมก็มีระเบิด 4-5 ครั้งแล้ว กรมโรงงานหรือกระทรวงอุตสาหกรรมต้องตั้งคำถามมากขึ้นในฐานะที่มีอำนาจหน้าที่ติดตามและบังคับใช้กฎหมายว่ามันเกิดอะไรขึ้น

“กฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยมีลักษณะเหมือนสามเหลี่ยม ส่วนฐานคือรายละเอียดจะเยอะมาก การส่งเอกสาร ขั้นตอน flowchart ต่างๆ ใครจะพิจารณา ถ้าต้องทำ EIA ก็มีรายละเอียดอีกมากมาย แต่มันจะค่อยๆ ลู่ลงเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่ระบบ monitoring คือระบบที่จะตรวจสอบหลังจากได้ใบอนุญาต ว่าเขาปฏิบัติตามเงื่อนไขใบอนุญาตหรือทำตามกฎหมายรึเปล่า มันจะเริ่มมีรายละเอียดน้อยลง พอพูดเรื่องฟื้นฟูจะเป็นสามเหลี่ยมหัวแคบ คือแทบไม่มีอยู่เลย

achichaya05

“ระบบ monitoring ของประเทศไทยหลักๆ มี 2 แบบคือ รัฐสุ่มตรวจว่าโรงงานปฏิบัติตามกฎหมายหรือเปล่า และ self-reporting โรงงานตรวจเองแล้วส่งให้อุตสาหกรรมจังหวัดหรือกรมโรงงานตรวจ มันเป็นระบบแค่นี้ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานรัฐคือกรมโรงงานหรืออุตสาหกรรมจังหวัดกับเจ้าของโรงงาน เราจะพบสถานการณ์ที่มันค่อนข้างเป็นแดนสนธยาพอสมควร คือไม่ค่อยมีคนภายนอกรับรู้เรื่องการตรวจสอบ กฎหมายของกรมโรงงานจะไม่ค่อยมีใครเข้ามายุ่ง อย่างมากก็จ้างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงานในโรงงาน ตรวจสอบและทำรายงาน ไม่ได้เปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ เข้ามาร่วม ฉะนั้นมันเป็นโปรเสจที่แคบมาก

“เราใช้ระบบแบบนี้มาจนกระทั่ง พรบ.โรงงาน ฉบับล่าสุดปี 2562 เริ่มมองว่าจะให้บทบาทผู้ตรวจสอบเอกชนเข้ามาตรวจโรงงาน ไม่ได้บอกว่าหน่วยงานรัฐไม่มีหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ เพียงแต่ให้ความสำคัญกับผู้ตรวจสอบเอกชนมากขึ้น นั่นหมายความว่ารัฐจะลดบทบาทการตรวจสอบด้วยตัวเองลง แล้วให้เจ้าของโรงงานไปจ้างบริษัทผู้ตรวจสอบเอกชนที่ผ่านเกณฑ์ได้ใบอนุญาตขึ้นทะเบียนจากกรมโรงงาน คล้ายๆ การจ้างบริษัทที่ปรึกษาในรายงาน EIA

“เราจะเห็นว่าระบบของกฎหมายสิ่งแวดล้อม ไม่ว่ากฎหมายสิ่งแวดล้อมเลยหรือกฎหมายแรงงาน กฎหมายแร่ มักจะมีลักษณะนี้ เราให้อาญาสิทธิกับคนกลุ่มหนึ่งสามารถเข้ามาตรวจสอบหรือทำข้อมูลทางเทคนิค แล้วโรงงานก็ไปจ้างคนเหล่านั้น

“นี่คือการให้บทบาทกับผู้ตรวจสอบเอกชนและเจ้าของโรงงานมากขึ้น ลดบทบาทของหน่วยงานรัฐ จนกระทั่งช่วงโควิด-19 ระบาดเขาบอกว่ามันตรวจไมได้ ก็หันไปใช้ระบบ remote inspection หรือตรวจสอบทางไกล ให้ส่งเอกสารประมาณสองหน้ากระดาษมาแล้วมีใบให้ติ๊กให้กรอก พูดง่ายๆ คือเจ้าของโรงาน self-reporting ตรวจสอบตัวเองแล้วส่งไปให้หน่วยงานรัฐ หน่วยงานรัฐก็รอเอกสาร ฉะนั้นช่วงโควิดยิ่งไม่มีการสุ่มตรวจยิ่งไม่มีการควบคุมตรวจสอบ จะเป็นทางฝั่งโรงงานที่ทำ

“มีงานศึกษามากมายที่บอกว่าการให้เอกชนตรวจสอบตัวเองเป็นอย่างไร ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ไม่ค่อย make sense สักเท่าไหร่คือใครจะบอกว่าชั้นมีปัญหา เรื่องการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายของโรงงานเป็นแดนสนธยา ควรจะถูกเปิดออกมาได้แล้ว”