สัมภาษณ์ : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

ประเด็นต่อเนื่องจากการประท้วงเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ของกลุ่ม Free Youth ที่ตอนนี้กลายเป็นกระแสที่คนสนใจที่สุดเรื่องหนึ่งคือแฮชแท็ก “แบนฟู้ดแพนด้า” อันเนื่องมาจากการแสดงออกของแอดมินฟูดแพนด้าในกรณีของไรเดอร์คนหนึ่งที่เข้าไปร่วมประท้วงกับกลุ่ม Free Youth

เรื่องเริ่มจากมีผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์รายหนึ่งไปเขียนในช่องตอบทวิตเตอร์ foodpanda Thailand ของฟู้ดแพนด้าว่า มีผู้ที่น่าจะเป็นพนักงานของฟู้ดแพนด้ามาร่วมและน่าจะ “ตั้งใจทำเรื่อง” เพราะมีการถอดป้ายทะเบียนรถจักรยานยนต์ออก (มีกระเป๋าสัญลักษณ์ฟู้ดแพนด้า) โดยแอดมินทวิตเตอร์ฟู้ดแพนด้าตอบว่า “จะเร่งดำเนินการตามกฎระเบียบขั้นเด็ดขาดของบริษัท” โดยจะให้ “พ้นสภาพการเป็นพนักงานทันที” และระบุว่าฟู้ดแพนด้า “มีนโยบายต่อต้านความรุนแรงและการก่อการร้ายทุกรูปแบบ และยินดีช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดีต่อคนร้ายอย่างเต็มที่ค่ะ”

จึงกลายเป็นดราม่าในที่สุด
ด้วยด้านหนึ่ง คนจำนวนมากมองว่า การเข้าร่วมประท้วงและแสดงทางการเมือง ไม่ควรต้องมีผลกับหน้าที่การงาน การแสดงออกของแอดมินเป็นการลงโทษก่อนสอบสวน มีท่าทีสนับสนุนอำนาจนิยม

ส่วนคนอีกด้านหนึ่ง มองว่า ชายคนนี้มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพราะมีหลักฐานว่าเขาพยายามทำลายสิ่งของ

ต่อมาเกิดกระแส #แบนfoodpanda จนติดอันดับหนึ่งของทวิตเตอร์ในคืนเดียวกัน จนต่อมา ฟู้ดแพนด้าต้องโพสต์ในโซเชียลมีเดียส่วนหนึ่งว่า “ขออภัยสำหรับข้อความจากทีมงานที่โพสต์ก่อนหน้า” โดยจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป

สารคดี สนทนากับอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ ที่สนใจทำวิจัยแพลทฟอร์มการส่งอาหารและสื่อดิจิทัล เกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าวนี้ ในฐานะนักวิชาการที่ศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ

บทเรียนจาก #แบน Foodpanda อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมมองว่าน่าจะเป็นเรื่องส่วนบุคคล เป็นทัศนคติของคนทำหน้าที่แอดมิน เหตุการณ์เกิดขึ้นรวดเร็ว ผมไม่แน่ใจว่าแอดมินมีอำนาจแค่ไหน ถึงขั้นตัดสินใจและให้ความเห็นแทนบริษัทได้แค่ไหน แม้ว่าโดยทั่วไปตัวบริษัทหรือเจ้าของบริษัทอาจมีจุดยืนทางการเมือง แต่ปกติบริษัทมักวางตัวไม่แสดงออกจนทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจ แต่นี่ตัวบริษัทแม่อยู่ในเยอรมัน ไม่น่าที่จะมีจุดยืนต่อการเมืองไทยชัดเจน หรือถ้ามีคงไม่แสดงออกเพราะกระทบกับการทำธุรกิจ เขาน่าจะมองผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นตัวตั้งมากการแสดงตัวเองชัดเจนกับกรณีทางการเมือง ยกเว้นเป็นกรณีละเมิดสิทธิสวนบุคคลร้ายแรงอย่างกรณีเมียนมา เหตุที่เกิดขึ้นก็ยังไม่ชัดว่าไรเดอร์ที่เป็นต้นเรื่องทำงานให้ฟู้ดแพนด้าจริงหรือไม่ ยังไม่นับว่าสถานะว่าไรเดอร์ไม่ได้ผูกพันกับบริษัทจนถึงขั้นต้องออกตัวบอกว่าบริษัทจะไม่รับผิดชอบการกระทำ ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นทัศนคติแอดมิน หลังจากนั้นเราจะเห็นการแสดงออกของของฟู้ดแพนด้าที่ไปอีกแบบ จึงคิดว่าบริษัทไม่น่ามีจุดยืนแบบนั้น

“นี่เป็นปัญหาที่แก้ยาก นี่คือการบริหารการสื่อสารในภาวะวิกฤติ ถ้าจะถึงขั้นให้แอดมินออกก็อาจจะไม่เป็นธรรมกับแอดมิน เพราะเราไม่รู้ว่าเขามีข้อตกลงเรื่องขอบเขตอำนาจการทำงานในหน้าที่แอดมินซึ่งเป็นเรื่องภายในอย่างไร แต่น่าจะมีการหารือ ถ้าทำเกินอำนาจก็อาจถูกทำโทษถูกพักงานหรืออะไรก็ว่าไป ตอนนี้เราไม่รู้ว่าตัวจริงของแอดมินคือใคร ต้องดูว่าบริษัทให้อำนาจในการสื่อสารกับแอดมินแค่ไหน แล้วดูไปตามกรณี ถ้าผมเป็นผู้บริหารผมจะเชิญแอดมินมาคุย ถ้าเรื่องที่แอดมินทำอยู่ในอำนาจของแอดมิน หากมองว่าไม่เหมาะก็อาจตักเตือน หรือถ้าหากที่ทำเกินอำนาจเกินภาระงานก็อาจให้ออกได้ ต้องดูสัญญา ดำเนินการภายใต้กฎหมายแรงงาน ผมจะแถลงกับสาธารณะว่าเกิดอะไรขึ้น อาจต้องขอโทษ ต้องรับผิดชอบเพราะเป็นโซเชียลมีเดียที่เป็นบัญชีทางการของบริษัท มีมาตรการอะไรก็อธิบายไป

“สถานการณ์เกิดขึ้นในช่วงกลางคืน ผมคิดว่าที่แพลทฟอร์มต้องทำนอกเหนือจากโพสต์บนโซเชียลมีเดีย คือแถลงอย่างเป็นทางการ และต้องทำหลังจากสอบสวนว่าไรเดอร์คนนั้นทำงานให้จริงไหม แอดมินทำเกินหน้าที่หรือไม่ มีมาตรการต่อไปอย่างไร ยุคนี้ต้องทำให้โปร่งใสมากที่สุด”

foodpand02

“สงสารคนที่ได้รับผลกระทบ พวกไรเดอร์ที่โดนผลกระทบ cancel culture นี้ ไปด้วย วัฒนธรรมการแบนนี้ยังไม่มีการศึกษา เป็นเรื่องใหม่มากทางวิชาการโดยเฉพาะในไทย มีรุ่นน้องที่รู้จักเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองอยากทำเรื่องนี้ เขาถามผมว่ามันคือเศรษฐศาสตร์หรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าใช่ มันคือพฤติกรรมของคนที่ตอบสนองผ่านกลไกตลาด ที่จริงมีหลายกรณีที่ส่งผลให้ธุรกิจต้องปรับตัวตามค่านิยมของสังคม เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันว่าแล้วคนที่ทำงานในธุรกิจที่ไม่รู้เรื่องต้องโดนผลกระทบไปด้วยนั้น มีความเป็นธรรมแค่ไหน เส้นแบ่งระหว่างมาตรการกดดันจากสังคมต่อของธุรกิจที่อาจเปลี่ยนพฤติกรรมของธุรกิจได้สำเร็จโดยเป็นธรรมกับผู้ที่อาจได้รับผลกระทบหรือโดนหางเลขไปด้วยอยู่ตรงไหน ยังต้องรอการศึกษา และอยากให้มีคนทำเรื่องนี้จริงจัง”

foodpand03

“ไรเดอร์ไม่ได้ย้ายค่ายได้ง่ายๆ มันมีต้นทุนของการโยกย้ายเปลี่ยนค่าย ตัวแพลทฟอร์มก็พยายามทำให้มันมีต้นทุนที่สูงเพื่อให้ไรเดอร์ย้ายยาก ไม่อย่างนั้นการให้บริการของแพลตฟอร์มจะไม่มั่นคง การย้ายจึงมีความยาก ปัจจุบันเมื่อเข้าสู่อาชีพนี้ ต้องซื้ออุปกรณ์เอง เสื้อ กระเป๋า บางบริษัทให้คุณออกเงินก่อน กรณีแพนด้าหากวิ่งครบตามที่กำหนดจะคืนเงินให้ แต่หลายเจ้าไรเดอร์ต้องลงทุนซื้อเอาเอง

“ผมเคยลองไปเป็นไรเดอร์ของแพนด้า แพนด้าแปลกกว่าคนอื่น จะมีการกำหนดกรอบเวลาการทำงาน แบ่งพื้นที่ทำงาน เจ้าอื่นนี่พร้อมทำงานได้เลยไม่แบ่งโซนละเอียดมีบ้างคือกว้างๆ อย่าง กทม และ ปริมณฑล แต่กรณีแพนด้าไรเดอร์จะต้องกำหนดเวลา พื้นที่ ล่วงหน้า ผมคาดเดาว่าบริษัทต้องการสร้างความมั่นใจว่าจะต้องมีคนให้บริการเพียงพอ ผมสมัครเข้าไปในช่วงที่โควิดยังไม่ระบาดหนักมาก ต้องเข้าไปอบรมที่สำนักงาน การสมัครต้องกรอกข้อมูลในแอพ ไม่เข้าใจก็ถามใครไม่ได้ ไม่มีเบอร์โทรให้โทรถามนะครับ หลังจากนั้นระบบจะกำหนดให้คุณเข้าไปอบรม สอนเปิดระบบ สอนการทำงาน เข้าใจว่าการอบรมตอนนี้น่าจะปรับเป็นออนไลน์แล้ว เหมือนเจ้าอื่นๆ ที่ให้ดูคลิปและตอบคำถามหลังดูคลิป

“ต้องเปิดบัญชีธนาคารที่เขากำหนด ฟู้ดแพนด้านี่ผูกกับ SCB เท่านั้น ข้ามธนาคารไม่ได้นะครับ ถ้าไม่มีก็ต้องไปเปิดบัญชี จากนั้นต้องจ่ายค่าเสื้อ กระเป๋า ๖๐๐ บาท พอวิ่งได้เที่ยวที่กำหนดจะได้คืน ผมไม่ได้คืนเพราะลองแค่วิ่งสามกะ เขามีการกำหนด batch แบ่งไรเดอร์เป็นหกกลุ่ม ตามประสบการณ์ เข้าใหม่คือ batch 6 คือต่ำสุด จะมีโอกาสได้เลือกกะและพื้นที่ทำงานรองจาก batch 1 ผมเรียกพวกนายพล batch 1 นี่ เปิดมาพุธบ่าย เลือกได้เลย ทั้งพื้นที่และ เวลาที่อยากทำงาน พวก batch 6 นี่เขาเอาใจหน่อย เพราะเพิ่งมาทำงาน ถ้าจะให้ทำงานกะที่เวลาไม่ดี โซนที่ไม่ดี เขาคงออกไปหมด batch 6 จะได้เลือกตอนสามทุ่มของวันพุธ

“พวก batch 5 นี่ทาส ซวยที่สุด ได้เลือกช้ากว่าพวก 2-4 และ 6 ไม่ค่อยเหลือให้เลือก ที่เหลือคือคุณจะต้องทำงานในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย และช่วงเวลาไม่ดี บ้านคุณอยู่บางนา อาจจะต้องไปทำงานปทุมธานี มีอิสระจริงไหม มันไม่ควรเรียกว่าเป็นอิสระ เวลาทำงานและสถานที่ก็เลือกได้จากที่คนอื่นไม่เลือกแล้ว คุณต้องไต่ไประดับ 1 ให้ได้ เพื่อที่จะมีอิสระเลือกได้ทั้งเวลาทำงานและโซนจริง ค่าตอบแทนก็ได้ไม่เท่ากันแม้จะทำงานในเวลาและโซนเดียวกัน พวก batch 1 ได้ต่อรอบสูงกว่ากลุ่มอื่น แย่สุดคือ batch 5 และแต่ละพื้นที่ยังไม่เท่ากันด้วย ลาดพร้าว batch 6 ได้รอบละ ๓๖ บาท แต่ถ้า batch 1 จะได้รอบละ ๔๓ บาท นี่คือตัวอย่าง batch 5 ได้ ๓๓ บาท มันต้องพยายามขยับระดับตลอด

“การขยับ batch ก็คือต้องทำรอบต่อกะมาก เช่นหากในกะคุณมี ๒ ชม. แต่คุณรับออเดอร์ช้า ขับรถช้าได้แค่ ๕ คำสั่งซื้อ เทียบกับไรเดอร์อื่นที่ได้จำนวนรอบมาก พวกเขาจะได้เลื่อน batch เร็วกว่า สภาพการทำงานแบบนี้นำมาสู่การขับรถเร็ว ยังมีการให้คะแนนของลูกค้าอีก ซึ่งสัมพันธ์กับความพึงพอใจซึ่งก็คือเวลาที่ใช้ไปในการส่งอาหารด้วย ยิ่งทำงานเสร็จเร็วจะมีโอกาสรับงานอื่นเร็ว นี่คือการสร้าง ‘สภาพควบคุม’ ที่บางครั้งไรเดอร์ไม่รู้ตัว ว่าแพลทฟอร์มกำลังขูดรีดพวกเขา”

foodpand04

“ช่วงแรกของอุตสาหกรรมนี้ มีคนที่ทำงานไรเดอร์เป็นอาชีพเสริมเยอะ แต่ช่วงหลังคนตกงานมาก มาทำเป็นอาชีพหลัก แพนด้ายังไม่เคร่งครัดเรื่องการตรวจประวัติ คนที่สมัครแอพอื่นไม่ได้จะมาสมัครที่แพนด้ากันมาก ไรเดอร์แพนด้าจึงจะมีบุคลิกที่แตกต่างจากไรเดอร์แอพอื่น เป็นวัยรุ่นหน่อย เป็นต้น ผมทำวิจัยคุยกับเขาเป็นร้อยคน บางคนก็มาทำเพราะไม่มีทางเลือก เป็นอาชีพไม่มีสวัสดิการ ค่าตอบแทนต่ำ เครียดกับการทำงาน ไม่คุ้มเลยเที่ยวหนึ่งๆ ได้เฉลี่ย ๓๐ กว่าบาท แต่ก็ต้องทำ

“ไรเดอร์แพนด้าเคยมีการประท้วง แต่ก็ไม่ได้มีการตอบสนองมากนัก บริษัททำให้คุณกลัว เพราะบริษัทให้โทษเขาได้ จะปิดแอพ จะทำโทษคุณยังไงก็ได้ การรวมตัวกันจึงเกิดยาก แรกๆ เป็นการรวมตัวกันในลักษณะเพื่อระบายความในใจ เมื่อคุณสมัครเป็ไรเดอร์คุณจะโดนดึงเข้ากลุ่มไลน์ จะมีคนที่เป็นกัปตัน หรือได้รับความไว้วางจากบริษัทคอยให้คำปรึกษา ไม่แน่ใจว่ากัปตันอาจจะได้ค่าตอบแทนเพิ่มเรื่องการเทรนหรืออาจเป็นลูกจ้างของบริษัท แต่ในกลุ่มเหล่านี้ที่มีกัปตันอยู่ ใครจะมั่นใจว่าไม่มีครทำหน้าที่สอดส่องหากมีการแสดงความเห็น ความไม่พอใจ จนนำไปสู่การรวมตัวกันประท้วงในกลุ่มเหล่านี้เกิดได้ยาก

“ในโซเชียลมีเดียมีการรวมตัวกันของไรเดอร์กลุ่มต่างๆ โดยมากไม่ได้นำไปสู่การเรียกร้องเป็นกิจลักษณะ จนเริ่มมีการตั้งกลุ่มสหภาพไรเดอร์ที่เข้มแข็งขึ้นมา

“เท่าที่คุยกับไรเดอร์ สิ่งที่เป็นอันดับหนึ่งของปัญหาที่พวกเขาคิดไม่ใช่อันตรายจากอาชีพ แต่เป็นค่าตอบแทนที่ต่ำ แพลทฟอร์มพยายามที่จะผลักให้พวกเป็นคนทำงานนอกระบบ จะได้ไม่ต้องมีข้อผูกพันธ์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน การที่แอดมินทวิตบอกว่าจะให้พ้นสภาพพนักงาน แสดงทัศนคติที่มองตัวเองเป็นเจ้านาย คิดว่าสามารถไล่เขาออกได้ ที่จริงตามตรรกะของแพลตฟอร์มที่อ้างมาตลอดไรเดอร์ไม่ใช่ลูกจ้างจะไปบอกว่าเลิกจ้าง พ้นสภาพมันขัดแย้งในตัวมันเอง ความสัมพันธ์การจ้างงานของแรงงานแพลตฟอร์มตอนนี้คือภาวะก้ำกึ่ง ในทางพฤตินัยแพลทฟอร์มเหมือนเป็นนายจ้าง ออกคำสั่งในการทำงาน แต่ในทางกฎหมายแพลตฟอร์มพยายามเลี่ยงสถานะนายจ้าง-ลูกจ้าง เพื่อจะได้ไม่ต้องมารับผิดชอบดูแลคนทำงาน สภาพการทำงานของไรเดอร์ในแอพอื่นก็ไม่ได้ดีไปกว่าฟู้ดแพนด้า”

foodpand05

“เรื่องนี้ยากมาก คุณอาจจะประณามบริษัท ขณะที่ผมมองเห็นความเปราะบางของไรเดอร์ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของตัวแอดมิน ผมยังคงมองว่าเป็นความผิดของตัวแอดมิน แน่นอนว่าบริษัทปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้เพราะแอดมินทำไปในนามบริษัท เรื่องยากคือเราจะสมดุลอย่างไรให้คนทำงานที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ทัศนคติทางการเมืองอาจจะคนละฝ่ายกับคนที่เป็นแอดมินด้วยซ้ำต้องมาเดือดร้อน การย้ายค่ายก็ไม่ง่าย มันมีคนที่ไม่ได้อยากทำอาชีพนี้ แต่จำใจต้องทำเพราะไม่มีทางเลือกอื่น ไม่มีอย่างอื่นให้ทำ ต้องดูแลครอบครัว มันยากลำบากมากว่าจุดสมดุลระหว่างการแบนเพื่อลงโทษบริษัทกับกับการไม่ทำให้คนที่เปราะบางได้รับผลไปด้วยอยู่ตรงไหน

“ไรเดอร์อาจจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนคนที่แบนก็ได้ การแบนอาจจะได้ผล เพราะหลายครั้งแบรนก็ทำให้ธุรกิจต้องทำตาม แต่ผลที่เกิดเกิดกับบริษัทหรือคนทำงานก่อน ตรงนี้ผมนึกไม่ออกจริงๆ มันอาจจะมีมาตรการสำหรับ cancel culture ที่จะสมดุลได้ระหว่างการเรียกร้องของผู้บริโภค เกิดผลกระทบกับลูกจ้างบริษัทไม่รุนแรงมาก แต่ยังไม่มีใครเสนอออกมา

“กรณีที่เกิดขึ้น มีไรเดอร์ที่ออกมาแสดงจุดยืนด้วยการลาออกจากแพนด้าก็หลายคน ผมมองว่าเขาอาจมีทางเลือก สมัครแอพอื่นได้ หรือมีบัญชีทำงานกับอีกแอพอยู่แล้ว แต่ต้องรู้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ หลายคนบอกผมว่าเลือกแพนด้าเพราะแอพอื่นไม่ยอมให้เขาทำ กรณีของร้านค้า ยังมีปัญหาที่ที่แอพเก็บส่วนแบ่งที่สูง บางร้านก็มีทางเลือกอื่น ยังขายผ่านแอพอื่นได้ แต่มันก็มีบางร้านที่ไปอยู่ในพื้นที่ที่มีแต่แพนด้าให้บริการ พอมีกระแสแบนเหล่านี้การขายที่เป็นช่องทางเดียวในภาวะล็อคดาวน์แบบนี้ ที่แม้ต้องจ่ายส่วนแบ่งเยอะยังต้องยอม ก็ได้รับผลกระทบซ้อนไปอีก

“ผู้บริโภคมีอำนาจมากที่สุดแล้วในวงจรนี้ ผู้บริโภคต้องกดดันรัฐ กดดันแพลทฟอร์ม ผู้บริโภคเป็นสิ่งเดียวที่แพลทฟอร์มฟัง เขาบีบร้านค้าได้ บีบไรเดอร์ได้ แต่กับผู้บริโภคนี่บีบไม่ได้ ผู้บริโภคจึงต้องตระหนักรู้ เท่าทัน และมีความรับผิดชอบกับการตัดสินใจ”