สัมภาษณ์ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : ณัฐพล สุวรรณภักดี

ธรรมนัส พรหมเผ่า ตอบปมปัญหา มรดกโลก | แก่งกระจาน | บางกลอย

ช่วงระหว่างวันที่ ๑๖-๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ คณะกรรมการมรดกโลกจัดประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ ๔๔ แบบออนไลน์โดยมีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพ เพื่อพิจารณาพื้นที่หลากหลายแห่งว่าสมควรได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกหรือไม่ หนึ่งในนั้นคือ “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ของประเทศไทย ที่ทางการไทยยื่นเรื่องนำเสนอเป็นครั้งที่ ๔ หลังก่อนหน้านี้ถูกคณะกรรมการมรดกโลก “ตีกลับ” ด้วยปัญหาด้านการบริหารจัดการชุมชนในผืนป่าอนุรักษ์ ยังไม่แก้ไขข้อกังวลเรื่องพื้นที่ทำกิน และสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม

ช่วงคาบเกี่ยวกันคือวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ชาวบ้านบางกลอย หมู่ที่ ๑ ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นชุมชนชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ได้เขียนจดหมายความยาว ๑ หน้ากระดาษ เพื่อส่งสารถึงคณะกรรมการมรดกโลก ชี้แจงว่าปัญหาของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยยังคงไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย การกลับขึ้นไปทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม ความเป็นไปได้ในการทำไร่หมุนเวียนตามวิถีวัฒนธรรม ตลอดจนคดีความของชาวบ้าน ๒๘ คน

ชาวบ้านบางกลอยยืนยันว่าแม้จะมีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย” ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี แต่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข

ก่อนที่วาระของกลุ่มป่าแก่งกระจาน “Thailand – Kaeng Krachan” จะถูกส่งขึ้นโต๊ะพิจารณาวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔ นิตยสารสารคดี สอบถามความเห็น ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ถึงปมปัญหา “มรดกโลก-แก่งกระจาน-บางกลอย” ที่ยืดเยื้อมานานถึง ๗ ปี

thammanas01

การแก้ปัญหาชุมชนในป่าก่อนยื่นเสนอมรดกโลก

Q : มีความคิดเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เวลานี้ที่คณะกรรมการมรดกโลกกำลังประชุมเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกลุ่มป่าแก่งกระจาน ขณะที่ชาวบ้านเขียนจดหมายเรียกร้องให้แก้ปัญหาชุมชนในป่าก่อน

A : เรื่องนี้ต้องแยกออกเป็นสองประเด็น หนึ่ง เรื่องการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกบริเวณบางกลอยเป็นเรื่องที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอไปก่อนแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาอยู่ระหว่างดำเนินการ

ส่วนอีกประเด็นเป็นเรื่องวิถีชีวิตของพี่น้องบางกลอย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีปัญหามาตลอดตามที่เป็นข่าว

ในฐานะที่เราเป็นรัฐบาล มีหน้าที่ดูแลพี่น้องประชาชน จะเป็นประชาชนเสียงข้างน้อยหรือประชาชนเสียงข้างใหญ่มันมีความสำคัญที่ต้องดูแลเหมือนกันหมด ที่ผมต่อสู้เพื่อพี่น้องชาวบางกลอย เพราะเห็นว่าเราไม่ควรทอดทิ้งเขาอยู่อย่างนั้น ถ้าจะเอาเขาลงมาก็ควรจะเอาลงมาในสถานที่ที่มีความพร้อม ที่เขาสามารถดูแลชีวิตครอบครัวได้ ไม่ใช่เอาลงมาแล้วทิ้งๆ ขว้างๆ

แต่เวลานี้ก็มีการบูรณาการหลายภาคส่วน กระทรวงเกษตรฯ ก็เข้าไปช่วย ฉะนั้น มันเป็นสองประเด็น การขึ้นทะเบียนมรดกโลกเรื่องหนึ่ง ส่วนการเอาเขาลงมามันต้องให้เขาอยู่ได้ ไม่ใช่ให้เขามาลำบากอีกเรื่องหนึ่ง สภาวะเวลานี้ชาวบ้านลำบากมาก ทำมาหากินลำบาก ก็ต้องดูแลเขาดีๆ

thammanas02

ความคืบหน้าในการทำงานของอนุกรรมการ ๕ ชุด

Q : ในส่วนของอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นมา ๕ ชุด* ความคืบหน้าในการทำงานเป็นอย่างไร ข่าวที่ออกมาจะได้ยินว่าไม่มีความคืบหน้า โควิด-๑๙ ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก

A : อนุกรรมการทุกชุดผมให้นโยบายไปว่า ถึงแม้จะไม่สามารถประชุมได้ แต่ก็ต้องใช้วิธีประชุมแบบ video conference จะมาอ้างโควิด-๑๙ ไม่ได้ เพราะความเดือดร้อนของพี่น้องชาวบางกลอยยังต่อเนื่องอยู่ ต้องรีบประชุม ผมให้นโยบายไปแล้ว
(แล้วมีความคืบหน้าอย่างไร สามารถเปิดเผยให้สาธารณชนทราบได้หรือไม่ เพราะแม้แต่ชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าเรื่องถึงขั้นไหนแล้ว)

แต่ละคณะก็ทำงานกันอยู่นะตอนนี้ แต่ว่าผมยังไม่ได้ข้อสรุป ผมจะต้องเรียกประชุมทุกคณะอีกครั้งหนึ่ง คิดว่าสักอาทิตย์สองอาทิตย์จะเรียกประชุม*

คณะอนุกรรมการ ๕ ชุด ประกอบด้วย
๑. คณะอนุกรรมการศึกษาประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานชุมชน และผลกระทบจากการประกาศอุทยานแห่งชาติ และการอพยพชุมชน
๒. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหากฎหมาย
๓. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาคดีความ
๔. คณะกรรมการศึกษาแนวทางและผลกระทบต่อระบบนิเวศ สัตว์ป่า และการให้การบริการทางนิเวศ กรณีกลับไปอยู่อาศัยและทำกินที่บางกลอยบน
และ ๕. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตบ้านบางกลอยล่าง

thammanas03

การถูกตัดขาดด้านความช่วยเหลือหลังโควิด-๑๙

Q : ชาวบ้านร้องเรียนว่าสถานการณ์โควิด-๑๙ ทำให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานประกาศปิดหมู่บ้านบางกลอย ปิดด่านเขามะเร็วที่เป็นทางเข้าออก ทำให้ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ถูกตัดขาดด้านความช่วยเหลือ

A : เรื่องความช่วยเหลือภาครัฐ ทางผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีแจ้งว่ายังมีความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ส่วนเรื่องมาตรการควบคุมการระบาดของเชื้อโควิดเป็นอีกเรื่อง ถ้ามีปัญหาเรื่องนี้ผมสามารถประสานไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้ได้

thammanas05

มรดกโลกแบบผสมทั้งทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรม

Q : มีความคิดเห็นอย่างไรเรื่องการประกาศมรดกโลกแบบผสมทั้งทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรม เพราะหลายแห่งในต่างประเทศก็ส่งเสริมเรื่องการดำรงอยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองในป่า

A : เท่าที่ทราบ อนุกรรมการชุดศึกษาประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานชุมชน และผลกระทบจากการประกาศอุทยานแห่งชาติ และการอพยพชุมชนกำลังศึกษาอยู่ ผมจะขอเรียกดูข้อมูลว่าเป็นอย่างไร พื้นที่ตรงนั้นบางข้อมูลก็ขัดแย้งกัน ผมจะขอสรุปอีกที ยังไม่อยากพูดตอนนี้เดี๋ยวจะเป็นประเด็นขึ้นมา

thammanas04

ในมุมมองรัฐมนตรี

Q : ระหว่างคุณธรรมนัสกับคุณวราวุธ (วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) มีความเห็นต่างกันหรือไม่อย่างไร เรื่องการเสนอชื่อกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก เพราะทางกระทรวงทรัพยากรฯ ก็ชัดเจน ยื่นเรื่องเป็นครั้งที่ ๔ แม้ที่ผ่านมาจะถูกตีเรื่องกลับ

A : ในมุมของผมซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผมมองเรื่องของปากท้องของประชาชนเป็นที่ตั้ง ผมไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องอื่น เราดูว่าประชาชนเดือดร้อนอะไร เรื่องปากท้องประชาชนถือว่าสำคัญ ก่อนที่จะมองเรื่องอื่น

เรื่องเสนอชื่อแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ผมคิดว่าไม่ได้เริ่มในยุคของรัฐมนตรีวราวุธ เขาทำกันมาก่อน ส่วนท่านวราวุธจะติดตามความคืบหน้าอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง