ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงานและถ่ายภาพ

เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ค.ศ.๒๐๒๑ เว็บไซด์ www.ohchr.org ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นำเสนอข่าว “Thailand : UN experts warn against heritage status for Kaeng Krachan national park” หรือ “ประเทศไทย : ผู้เชี่ยวชาญยูเอ็นเตือนเรื่องสถานะมรดกโลกสำหรับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน” เนื้อข่าวถูกเผยแพร่ในช่วงที่คณะกรรมการมรดกโลกกำลังจัดประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ ๔๔ แบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ ๑๖-๓๑ กรกฎาคม ค.ศ.๒๐๒๑ เพื่อพิจารณาสถานะมรดกโลกให้กับพื้นที่ต่างๆ โดยจะพิจารณากลุ่มป่าแก่งกระจานของประเทศไทยวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ค.ศ.๒๐๒๑

เรากังวลว่าคณะกรรมการมรดกโลกจะรับรองชนพื้นเมืองแค่บนกระดาษ



หน้าเว็บไซด์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นำเสนอข่าวอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานก่อนการพิจารณามรดกโลก (ภาพ : www.ohchr.org)

การทำงานของผู้เชี่ยวชาญ UN เป็นหนึ่งในกลไกการสืบสวนและติดตามสถานการณ์เฉพาะหรือประเด็นเฉพาะในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ผู้เชี่ยวชาญไม่ใช่เจ้าหน้าที่ UN เป็นอาสาสมัครที่ไม่ได้รับเงินเดือน ให้คำแนะนำตามความชำนาญอย่างเป็นอิสระจากรัฐบาลหรือองค์กรใดๆ คณะผู้เชี่ยวชาญที่นำเสนอข่าวชิ้นนี้ประกอบด้วย

José Francisco Cali Tzay ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศกัวเตมาลา อาจารย์สอนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยแอริโซนา มีประสบการณ์เรื่องการปกป้องสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองทั้งในกัวเตมาลาและนานาชาติ เป็นผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง

David R. Boyd จากประเทศแคนาดา รองศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย นโยบาย และความยั่งยืนที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย เป็นผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม

Mary Lawlor จากประเทศไอร์แลนด์ รองศาสตราจารย์ด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่ศูนย์นวัตกรรมทางสังคม ที่ Trinity College Dublin Business School เป็นผู้รายงานพิเศษเกี่ยวกับสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทั้งสามคนเรียกร้องให้คณะกรรมการมรดกโลกยกเลิกการพิจารณาขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมกำลังถูกละเมิดสิทธิในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการมรดกโลกขององค์การยูเนสโก้เคยปฏิเสธการผลักดันให้แก่งกระจานเป็นมรดกโลกของรัฐบาลไทยมาแล้ว ๒ ครั้ง คือปี ค.ศ.๒๐๑๖ และ ค.ศ.๒๐๑๙ คณะผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นตามข่าวว่า

“กรณีแก่งกระจานเป็นตัวอย่างสำคัญที่อาจส่งผลต่อนโยบายด้านการแสดงออกเกี่ยวกับการเคารพสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในพื้นที่คุ้มครองของทวีปเอเชีย…ชาวกะเหรี่ยงชนเผ่าพื้นเมืองในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานถูกบังคับขับไล่ และบ้านเรือนของพวกเขาถูกไฟไหม้ ผู้นำคนสำคัญเสียชีวิตหลังจากถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติควบคุมตัวไว้

“ในปี ค.ศ.๒๐๒๑ การล่วงละเมิดสิทธิของชาวกะเหรี่ยงทวีความรุนแรงขึ้น สมาชิกในชุมชนกว่า ๘๐ คนถูกจับ และ ๒๘ คนในนั้นซึ่งประกอบด้วยผู้หญิง ๗ คน และเด็ก ๑ คน ถูกตั้งข้อหา ‘บุกรุก’ พื้นที่ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยและทำกินดั้งเดิมของพวกเขาเองในอุทยานแห่งชาติ

“ไม่มีความจริงใจที่จะให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเสนอชื่อมรดกโลกขององค์การยูเนสโก หากการเสนอชื่อเป็นมรดกโลกได้รับการอนุมัติ จะถือเป็นการปฏิเสธสิทธิของชาวกะเหรี่ยงที่จะอาศัยอยู่ในดินแดนดั้งเดิม รวมถึงปฏิเสธการดำรงชีวิตด้วยการทำไร่หมุนเวียนตามประเพณี นอกจากนี้ยังบ่อนทำลายบทบาทสำคัญในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของผืนป่า

“รัฐบาลไทยต้องหยุดคุกคาม และเริ่มพูดคุยกับชาวกะเหรี่ยงอย่างจริงจัง ตระหนักถึงบทบาทของชาวกะเหรี่ยงในฐานะผู้พิทักษ์รักษาธรรมชาติ ทำงานร่วมกันแทนที่จะปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความเกลียดชังราวกับว่าพวกเขาเป็นภัยคุกคาม”

kkjcaution02
สะพานแขวนใกล้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน สถานที่พบกระดูกพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ ผู้นำชาวกะเหรี่ยงที่ต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชน อยู่ในถังน้ำมันขนาด ๒๐๐ ลิตร ที่จมอยู่ใต้น้ำ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

รายงานข่าวระบุว่าก่อนหน้านี้ผู้ตรวจสอบอิสระเคยถูกรัฐบาลไทยปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงพื้นที่อุทยานซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศเมียนมาร์ ขณะที่ สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN (The International Union for the Conservation of Nature) แนะนำอย่างชัดเจนว่าต้องจัดการแก้ไขข้อกังวลต่างๆ อย่างเต็มที่ก่อนพิจารณาอนุมัติให้กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับสถานะมรดกโลก

“เราแสดงความกังวลซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับรัฐบาลไทย และคณะกรรมการมรดกโลกขององค์การยูเนสโกมาตั้งแต่ปี ค.ศ.๒๐๑๙ ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่พวกเขาจะแสดงให้เห็นว่ามีการทำงานเพื่อปกป้องชนเผ่าพื้นเมืองอย่างจริงจัง”

“เรากังวลอย่างยิ่งว่าคณะกรรมการมรดกโลกขององค์การยูเนสโกจะรับรองพันธสัญญาต่อชนพื้นเมืองแค่บนกระดาษ แต่ในทางปฏิบัติไม่มีวิธีการทำงานที่เปิดโอกาสให้ชนเผ่าพื้นเมืองมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ และมีสิทธิมีเสียงในกระบวนการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการมรดกโลกที่มีตัวแทนจากทั้ง ๒๑ ชาติเคารพและปกป้องสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง การขอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกควรเลื่อนออกไปจนกว่าข้อกังวลต่างๆ จะได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลไทย และให้ผู้ตรวจสอบอิสระเข้าถึงอุทยานได้”

Francisco Cali-Tzay หนึ่งในคณะผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำถึงความตั้งใจที่จะเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติและประเมินสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

หมายเหตุ:

  • ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ Christine Evans (+41 22 917 9197 / cevans@ohchr.org)
  • ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เชี่ยวชาญของ UN ติดต่อ Renato de Souza (+41 22 928 9855 / rrosariodesouza@ohchr.org)

อ้างอิง :