ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง
เครือข่ายสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล : ภาพ

๑
หลายปีที่ผ่านมา เมื่อย่างเข้าสู่เดือนพฤษภาคม ฝนในภาคอีสานเริ่มตกเป็นประจำ ปลาในแม่น้ำโขงจะว่ายอพยพเข้าสู่แหล่งน้ำสาขาเพื่อหาที่ทำรัง วางไข่ และแพร่ขยายพันธุ์ตามวัฏจักรของปลา หนึ่งในนั้นคือแม่น้ำมูล
เมื่อถึงเวลานั้นกลุ่มประมงพื้นบ้าน คนหาปลาท้องถิ่น จะเริ่มตระเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือจับปลา แต่แทบทุกปีก็จะพบว่า ประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลยังไม่เปิด
ชาวบ้านต้องออกแรงเดินขบวนเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เปิดเขื่อนปากมูลเป็นประจำ
การเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลในแต่ละปีมีความสำคัญ เพราะช่วยทำให้ปลาในแม่น้ำโขงสามารถว่ายน้ำผ่านเขื่อนปากมูลเข้าสู่แม่น้ำมูลเพื่อหาพื้นที่ทำรัง วางไข่ ซึ่งจะส่งผลให้แม่น้ำมูลมีความอุดมสมบูรณ์ มีปริมาณปลามากขึ้น
ในปี ๒๕๖๔ นี้ก็เช่นกัน แม้ถึงฤดูปลาอพยพแล้วแท้ๆ แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล

๒
มติคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล (ชุดใหญ่) เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๘ กำหนดหลักเกณฑ์การเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลในแต่ละปี ดังนี้
๑) เมื่ออัตราการไหลของน้ำที่สถานีวัดน้ำสะพานเสรีประชาธิปไตย (M7) จังหวัดอุบลราชธานี มากกว่า ๕๐๐ ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)/วินาที
หรือ ๒) เมื่อระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำห้วยสะคาม (สถานีวัดระดับน้ำในแม่น้ำโขง) ท้ายเขื่อนปากมูล สูงกว่า ๙๕ เมตรเทียบกับระดับน้ําทะเลปานกลาง (ม.รทก.)
หากอัตราการไหลของน้ำหรือระดับน้ำสูงถึงหลักเกณฑ์ข้างต้น ขอเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งมาถึงก่อน ให้ฝ่ายเทคนิค กองโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร ทำหนังสือแจ้งประชาชนในพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้า ๓ วัน ก่อนเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล
ส่วนเกณฑ์การปิดประตูเขื่อน ระบุว่า
๑) เมื่ออัตราการไหลของน้ำที่สถานีวัดน้ำสะพานเสรีประชาธิปไตย น้อยกว่า ๑๐๐ ลบ.ม./วินาที
หรือ ๒) เมื่อระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำสะพานเสรีประชาธิปไตย น้อยกว่า ๑๐๗ ม.รทก.
พร้อมกันนี้ คณะกรรมการอำนวยการฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นประธาน ทำหน้าที่ในการพิจารณา เปิด-ปิด ประตูเขื่อนปากมูล หลักเกณฑ์ดังกล่าวยังมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน

๓
เขื่อนปากมูลเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เริ่มสร้างในปี ๒๕๓๔ เปิดดำเนินการในปี ๒๕๓๗ ระหว่างการก่อสร้าง มีการชุมนุมประท้วงจากประชาชนในพื้นที่เพื่อคัดค้านการก่อสร้าง และเรียกร้องให้หยุดการระเบิดแก่งต่างๆ ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่สำคัญของแม่น้ำมูล
วัตถุประสงค์หลักของเขื่อนปากมูลที่ได้ตั้งเอาไว้ก็คือ เพื่อการผลิตไฟฟ้า พัฒนาระบบชลประทาน รวมไปถึงการทำประมงในอ่างเก็บน้ำ การควบคุมน้ำท่วม การเดินเรือ และการท่องเที่ยว แต่ประโยชน์ที่ระบุไว้ตามเอกสารโครงการของ กฟผ. คือ ผลประโยชน์ด้านไฟฟ้า ชลประทาน และการประมง
อย่างไรก็ตาม เคยมีงานวิจัยศึกษามูลค่าที่ได้จากการผลิตกระแสไฟฟ้าตกเฉลี่ยปีละประมาณ ๙๙ ล้านบาท ขณะที่มูลค่าความเสียหายจากการเสียโอกาสที่ชาวบ้านในท้องถิ่นไม่สามารถจับปลาไปตามวิถีชีวิตตกเฉลี่ยปีละ ๑๔๐ ล้านบาท
นักวิชาการได้เสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อนปากมูลว่า การเปิดประตูเขื่อนตลอดทั้งปีเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด และมีความเป็นธรรมกับทุกคนมากที่สุด อีกทั้งยังเสนอให้รัฐบาลเยียวยาความเสียหายให้กับชาวบ้านครอบครัวละ ๓๒๐,๐๐๐ บาท
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการแก้ไขปัญหาตามข้อสรุปข้างต้น คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลกำหนดแนวทางในการบรรเทาความเดือดร้อนไว้ ๒ ข้อตามที่กล่าวมาในย่อหน้าแรก
หนึ่งในนั้นคือเปิดประตูเขื่อนปากมูลเมื่อระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำห้วยสะคามมีระดับ ๙๕ ม.รทก. เพื่อให้ปลาว่ายเข้ามาในแม่น้ำมูล เป็นอาหาร เป็นรายได้ คืนวิถีชีวิตให้กับชาวบ้าน

๔
วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ ระดับน้ำที่ห้วยสะคามอยู่ที่ ๙๓.๙๕ เมตรเทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ชาวบ้านในพื้นที่ต่างใจจดใจจ่อ รอคอย เตรียมตัวนับถอยหลัง หวังว่าประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลจะถูกเปิด แม้ระดับน้ำจะยังไม่ถึง ๙๕ ม.รทก. แต่ปลาในแม่น้ำโขงเดินทางมาถึงแล้ว
อย่างไรก็ตาม พวกมันยังไม่สามารถว่ายเข้าสู่แม่น้ำมูลเพราะติดสันเขื่อนที่สร้างขึ้นจากคอนกรีต ตราบใดที่ประตูระบายน้ำยังไม่ถูกเปิด ปลาเหล่านี้ก็ทำได้แต่เพียงว่ายออกันอยู่บริเวณท้ายเขื่อน และอาจต้องบ่ายหน้าว่ายกลับเข้าสู่แม่น้ำโขงไปหาลำน้ำสาขาสายใหม่ เพื่อหาที่ทำรังและวางไข่
วันที่ ๑๔ มิถุนายน ระดับน้ำที่ห้วยสะคามอยู่ที่ ๙๔.๑๐ ม.รทก. เหลืออีกเพียง ๙๐ เซนติเมตร จะเข้าเกณฑ์ตามที่คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลกำหนดไว้ ชาวบ้านภาวนาว่าการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลในปีนี้จะเป็นไปตามหลักการ หวังว่าหน่วยงานของรัฐจะไม่บ่ายเบี่ยง หาข้ออ้าง สร้างเงื่อนไขหรือหลีกเลี่ยง
วันที่ ๑๗ มิถุนายน ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำห้วยสะคามอยู่ที่ ๙๕.๒๔ ม.รทก. เป็นไปตามเกณฑ์กำหนด ถึงเวลาเปิดเขื่อนปากมูล แต่การปฏิบัติตามข้อตกลงก็มีเพียงความว่างเปล่า
ช่วงนั้นเอง ผู้ที่เดินทางไปเยือนโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี จะมองเห็นปลาสดๆ ถูกวางขายริมสองข้างทาง หากเดินทางไปถึงสะพานข้ามแม่น้ำมูล จะมองเห็นเรือหาปลาลำน้อยลำใหญ่ลอยลำหาปลาในลำน้ำใต้เขื่อน
ผ่านไปนานมากกว่าหนึ่งเดือนหลังระดับน้ำสูงตามเกณฑ์กำหนด วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ระดับน้ำที่ห้วยสะคามอยู่ที่ ๙๕.๖๒ ม.รทก. แต่ก็ไม่มีการเปิดเขื่อนปากมูลแต่อย่างใด
ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคม ในช่วงเวลากลางคืน และเช้ามืด หากมองไปทางด้านใต้เขื่อนปากมูล จะพบภาพผู้คนสาละวนอยู่กับการจับปลากันเต็มคุ้งน้ำ
การที่ประตูบายน้ำไม่ถูกเปิดออกทำให้ปลาว่ายมาออกันบริเวณสันเขื่อน ง่ายต่อการถูกจับ

๕
ชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ต่างจากการเปิดเสรีให้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปลา เพราะปลาเหล่านี้เป็นปลาที่ต้องการว่ายเข้าไปในแม่น้ำมูลเพื่อวางไข่ ขยายพันธุ์ เมื่อรอดชีวิตแล้วก็จะว่ายออกสู่แม่น้ำโขง
“มีคนไปดักจับปลาที่บันไดปลาโจน ทั้งๆ ที่มันขึ้นมาก็ลำบากพอแฮงแล้ว” กฤษกร ศิลารรักษ์ ให้ความเห็น
ขณะที่ชาวบ้านพากันตั้งคำถามว่าการที่คนทั่วไป แม่ค้าปลา พ่อค้าปลา จากต่างสถานที่ไม่ว่าจะเป็นอำเภอโขงเจียม อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอสิรินธร รู้เรื่องและเดินทางมายังเขื่อนปากมูลเพื่อรับซื้อปลา เกิดจากเจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจ อนุญาตและปล่อยให้เหตุการณ์เกิดขึ้นใช่หรือไม่
“การที่คนจะเข้าออกพื้นที่นี้ได้ต้องผ่านด่านตรวจของ รปภ.เขื่อนปากมูล ห่างออกไปไม่ไกลก็เป็นที่ตั้งของสำนักงานหน่วยประมง เจ้าหน้าที่ประมงที่เดินทางเข้าออกจะหูหนวก ตาบอด มองไม่เห็นการกระทำพวกนี้เลยเหรอ สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล แจ้งเรื่องนี้ต่อผู้บริหารในจังหวัดอุบลราชธานีทุกปี หากใช้วิจารณญาณไตร่ตรองดูดีๆ คุณคิดว่าเจ้าของเขื่อนปากมูลรับรู้ รู้เห็น เป็นใจ ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ แบบนี้หรือไม่ ถามจริงๆ ว่าเป็นไปได้หรือที่ทางผู้บริหารจังหวัดอุบลราชธานีจะไม่รับรู้เรื่องนี้” กฤษกรตั้งคำถาม และให้ความเห็นว่า “นี่เป็นสถานการณ์ร้อนที่เขื่อนปากมูลที่คนนอกไม่ค่อยรู้กัน เป็นปฏิบัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปลาในธรรมชาติให้ดับสิ้นสูญพันธุ์ ให้หมดไปจากแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว รัฐบาลก็ควรสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเปิดประตูเขื่อนปากมูล
วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ กฤษกร ศิลารักษ์ ในฐานะตัวแทนสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล เดินทางจากภูมิลำเนาจังหวัดศรีสะเกษไปศาลปกครองอุบลราชธานี เพื่อยื่นคำฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่เปิดประตูเขื่อนปากมูลเพื่อให้ปลาจากแม่น้ำโขงว่ายข้ามเขื่อนเข้ามาวางไข่ในแม่น้ำมูล ทำให้ชาวบ้านได้รับความเสียหาย และได้รับผลกระทบ
คำขอของผู้ฟ้องคดีระบุวัตถุประสงค์หรือความต้องการของผู้ฟ้องคดีตอนหนึ่งระบุว่า “ข้าพเจ้าไม่มีช่องทางใดที่จะทำให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ตามข้อตกลง ทำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้ จึงใคร่ขอความเมตตาจากศาล ได้โปรดพิจารณาพิพากษาให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือการเร่งเปิดประตูเขื่อนปากมูลในทันที”
และ “การทำหน้าที่ของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการนำเขื่อนปากมูล และผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ไม่ทำตามข้อตกลง ไม่ทำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ย่อมเป็นการละเลย ละเว้นการปฏิบัติโดยชอบ ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้างนั้น ถือว่าเป็นความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ ข้าพเจ้า จึงใคร่ของความเมตตาต่อศาล ได้โปรดมีคำสั่ง หรือคำพิพากษา ให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล และผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยยุติการสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน ด้วยการให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน”

๖
กฤษกรอธิบายว่าการฟ้องศาลปกครองอุบลราชธานีเป็นการเปิดสนามสู้ใหม่ บรรยากาศที่เกิดขึ้นในวันที่เดินทางมายื่นฟ้องศาลสร้างความมั่นใจต่อตัวแทนสมัชชาคนจนได้ระดับหนึ่ง
ด้านฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลปกครองอุบลราชธานี เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ในเวลาต่อมาว่า จันทนา เจริญบุญ พนักงานคดีปกครองชำนาญการพิเศษ รักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มสนับสนุนงานคดีและบังคับคดีปกครองเป็นผู้ออกมาให้คำปรึกษา ตรวจเอกสารคำฟ้อง และรับคำฟ้องเพื่อให้ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาดำเนินการต่อ ทางศาลปกครองอุบลราชธานียินดีจะให้ความเป็นธรรม และพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา
การยื่นฟ้องศาลปกครองอุบลราชธานีของสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูลครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม หลังเขื่อนปากมูลสร้างปัญหาเรื้อรังให้กับชาวบ้านมายาวนานร่วมสามทศวรรษ ตัวแทนสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ยืนยันว่าจะต่อสู้ทุกสนามเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เดือดร้อนทุกคน
ทั้งนี้ การสร้างเขื่อนปากมูลกั้นแม่น้ำมูลก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขงเพื่อผลิตไฟฟ้าถือเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาเรื้อรังในภาคอีสาน นับตั้งแต่เริ่มสร้างบัดนี้ผ่านมาแล้ว ๓๐ ปี ๑๘ รัฐบาล ๑๔ นายกรัฐมนตรี มติคณะรัฐมนตรีมากกว่า ๔๕ ฉบับ ปัญหาเขื่อนปากมูลก็ยังแก้ไม่จบสิ้น
…
การสร้างเขื่อนปากมูลก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และรัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชย ดังนี้
ค่าชดเชยประเภทที่ ๑) ค่าชดเชยการสูญเสียอาชีพประมง
๑. อนุมัติวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๓๘ จำนวน ๕๗๑ ราย เป็นเงิน ๕๑,๓๙๐,๐๐๐ บาท
๒. อนุมัติวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ จำนวน ๒,๓๖๑ ราย เป็นเงิน ๒๑๒,๔๙๐,๐๐๐ บาท
๓. อนุมัติวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๙ จำนวน ๒๔๗ ราย เป็นเงิน ๒๒,๒๓๐,๐๐๐ บาท
๔. อนุมัติวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๔๐ จำนวน ๖๙๕ ราย เป็นเงิน ๖๒,๕๕๐,๐๐๐ บาท๕. อนุมัติวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๔๑ จำนวน ๙๒ ราย เป็นเงิน ๘,๒๘๐,๐๐๐ บาท
๖. อนุมัติวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๔๓ จำนวน ๒,๒๑๐ ราย เป็นเงิน ๑๓๒,๖๐๐,๐๐๐ บาท
รวมจำนวน ๖,๑๗๖ ราย เป็นเงิน ๔๘๙,๕๔๐,๐๐๐ บาท
ค่าชดเชยประเภทที่ ๒)ค่าทดแทนที่ดิน ทรัพย์สิน และอื่นๆ จ่ายสิ้นสุดเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๓
๑. ค่าทดแทนทรัพย์สิน จำนวน ๑,๘๘๓ ราย เป็นเงิน ๒๓๒,๖๓๕,๒๕๓.๘๐ บาท
๒. ค่าที่อยู่อาศัยใหม่ เป็นเงิน ๕๒,๓๘๒,๐๐๐ บาท
๓. ค่าที่ทำกินใหม่เป็นเงิน ๙๒,๖๘๐,๘๕๘ บาท
๔. ค่าก่อสร้างและพัฒนาสาธารณูปโภค ๑๑๓,๗๓๔,๐๐๐ บาท
๕. ค่าส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม เป็นเงิน ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท
๖. ค่าส่งเสริมอาชีพประมงเป็นเงิน ๔,๕๐๐,๐๐๐ บาท
รวมเป็นเงินจำนวน ๔๙๙,๙๓๒,๑๑๑.๘๐ บาท
นอกจากความเสียหายซึ่งได้มีการจ่ายเงินค่าชดเชยไปแล้ว ผลกระทบหลักๆ ที่เกิดขึ้นคือการลดลงของปลาในแม่น้ำมูล ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำมูล ไม่สามารถประกอบอาชีพประมง เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิต และได้มีความพยายามแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง