หมายเหตุ : ชื่อบทความฉบับเต็ม “อีอีซี นิคมฯ จะนะ ยกเว้นผังเมืองกิจการขยะ รัฐบาลปรกติไม่น่าจะทำได้ ถ้ามันเป็นแนวทางประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของประชาชนจะมีความหมายมากกว่านี้” - สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม EnLaw

ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : สัมภาษณ์
ณภัทร เวชชศาสตร์ : ถ่ายภาพ
วันสัมภาษณ์ : ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๔

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม EnLaw

จากรัฐประหารสู่การลงประชามติ

ปี ๒๕๔๙ เราทำงานที่ EnLaw แล้ว เป็นองค์กรด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน ช่วยเหลือชาวบ้านกรณีต่างๆ แต่เราเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับรัฐประหารและมิติทางการเมืองหลังสลายการชุมนุมปี ๒๕๕๓ เข้าร่วมกับองค์กรด้านสิทธิ ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนผู้ได้รับผลกระทบ รับหน้าที่เหมือนเป็นผู้จัดการ ประสานงานว่าเขาจะใช้สิทธิรับการเยียวยาหรือร้องเรียนร้องทุกข์ตามกลไกของรัฐได้อย่างไร แต่ยังไม่ได้ถึงขั้นขับเคลื่อนเชิงโครงสร้างมากนัก

ปี ๒๕๕๗ เกิดรัฐประหาร เราและ EnLaw มองว่าไม่ไหวแล้ว เครือข่ายภาคประชาชนควรคุยกัน จนมาจัดกิจกรรมร่วมกันก่อนลงมติร่างรัฐธรรมนูญ คิดว่าต้องส่งเสียงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

กิจกรรมครั้งแรกจัดที่ธรรมศาสตร์ช่วงเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๙ รวม ๔๓ องค์กร บอกว่าถึงเวลาก้าวออกมาใส่ใจเรื่องการลงประชามติรัฐธรรมนูญ

เราประสานงานให้องค์กรต่างๆ เข้าร่วมเป็นเครือข่ายประชาชนในแต่ละพื้นที่ ทั้งเครือข่ายเกษตร รัฐสวัสดิการ ให้แต่ละองค์กรเสนอความคิดเห็น

บรรยากาศตอนนั้นจำกัดสิทธิที่จะเข้าถึงการทำความเข้าใจรัฐธรรมนูญ มีการปิดกั้นข้อมูล น้องๆ ที่ไปแจกใบปลิวถูกจับ แต่เราคิดว่าเลิกไม่ได้ พยายามสื่อสารว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้น่าจะมีปัญหา

จริงๆ กิจกรรมของเราก็คือการรณรงค์ไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าคุณจะเห็นว่าร่างมันดีก็ได้ พูดมาสิว่ามันดีอย่างไร ปรากฏว่าเครือข่ายทั้งหมดตัดสินใจไปในทางเดียวกันคือโหวตโน เพราะต่างก็เห็นปัญหาอยู่แล้ว