“สะใภ้หลวง” ในกรมหมื่นชุมพรฯ คือหม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ พระธิดาที่รักของ “สมเด็จฯ วังบูรพา” สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช โดยทรงเสกสมรสในปี ๒๔๔๓ ตั้งแต่เมื่อยังดำรงพระอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ และเพิ่งเสด็จกลับจากอังกฤษมาถึงกรุงเทพฯ ได้ไม่กี่เดือน

กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๒๔ - สามีและพ่อ

นอกจาก “ท่านหญิงทิพย์ฯ” แล้ว กรมหมื่นชุมพรฯ ทรงมี “หม่อม” อีกหลายท่าน ที่ปรากฏนามได้แก่ หม่อมกิม หม่อมแฉล้ม หม่อมเพื่อน หม่อมช้อย หม่อมเมี้ยน หม่อมแจ่ม หม่อมแม้น และหม่อมเดซี่

บางท่านเช่น หม่อมกิม (๒๔๒๙-๒๕๐๖) และหม่อมแฉล้ม (๒๔๓๐-๒๕๑๙) มีบิดาเป็นชาวจีน ซึ่งอาจเป็นพ่อค้าคนจีนในสยาม ขณะที่อีกหลายท่านเป็นธิดาขุนนางระดับกลาง เช่น หม่อมช้อย (๒๔๓๓-๒๕๑๗) กับคู่พี่น้องที่ถวายตัวเข้ามาด้วยกัน คือหม่อมเมี้ยน (๒๔๓๓-๒๕๑๗) และหม่อมแจ่ม (๒๔๓๗-๒๕๐๕)

ส่วนหม่อมเดซี่ (ไม่ปรากฏหลักฐานปีเกิด-ตาย) พิจารณาจากชื่อแล้ว เชื่อว่าเป็นสาวลูกครึ่ง และน่าจะตรงกับคำบอกเล่าเรื่องหม่อมคนหนึ่งของเสด็จในกรมฯ ว่า “เป็นฝรั่ง” ถึงขนาดเวลาตามเสด็จไปต่างจังหวัด ชาวบ้านจะพากันมามุงดู เพราะไม่เคยเห็นผู้หญิงที่มีสีผิวสีผมเช่นนั้น

แม้ไม่มีข้อมูลอายุของหม่อมแต่ละท่านเมื่อแรกถวายตัว แต่หากสันนิษฐานจากอายุเมื่อประสูติหม่อมเจ้าพระองค์แรก (มีลูกคนแรก) คือราว ๑๕-๑๘ ปี แสดงว่าล้วนถวายตัวกันเข้ามาตั้งแต่ยังเป็น “วัยรุ่น” เช่นเดียวกับสะใภ้หลวง คือหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ ซึ่งทรงเสกสมรสเมื่อมีพระชันษาเพียง ๑๔-๑๕ ปี

แต่แล้วเกิดเหตุน่าสลดใจขึ้น หลังจากเสกสมรสมาได้ ๘ ปี เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๕๑ ท่านหญิงทิพยสัมพันธ์ พระชันษา ๒๓ ปี เสวยยาพิษปลงพระชนม์พระองค์เอง ขณะที่พระโอรสองค์เล็ก คือหม่อมเจ้ารังษิยากร มีพระชันษาเพียงขวบเดียว

มีข่าวลือว่าสาเหตุเกิดจากความน้อยพระทัยเสด็จในกรมฯ ด้วยเรื่องที่ “พระสวามีทรงยกย่องสตรีท่านหนึ่งกว่าหม่อมคนอื่น” เพราะ “ทรงเคยรู้จักสนิทสนมมาตั้งแต่ยังประทับอยู่ต่างประเทศ และเจ้าจอมมารดาของพระสวามีก็ยังให้ความเอ็นดูกับหม่อมท่านนี้อีกด้วย…”

ปี ๒๔๕๑ จึงนับเป็นช่วงเวลาแห่งความวิปโยคซ้ำแล้วซ้ำเล่าของ “สมเด็จฯ วังบูรพา” พระชันษา ๔๙ ปี เริ่มตั้งแต่เดือนที่ ๒ ของปี คือพฤษภาคม พระโอรสผู้เป็นประดุจแก้วตาดวงใจ คือพระองค์เจ้าศิริวงศ์วัฒนเดช (๒๔๓๒-๒๔๕๑) ซึ่งประสูติจากหม่อมแม้น (น้องสาวเจ้าจอมมารดาโหมด) พระชันษา ๒๐ ปี ประชวรสิ้นพระชนม์กะทันหันในเยอรมนีระหว่างเสด็จไปศึกษาวิชาทหาร พระศพเพิ่งส่งกลับเข้ามาถึงกรุงเทพฯ และเริ่มพิธีบำเพ็ญพระกุศลที่วังบูรพาภิรมย์เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม หลังจากนั้นเพียง ๒ สัปดาห์ หม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ พระธิดาองค์ใหญ่ก็มาปลงพระชนม์พระองค์เองอีก

งานพระราชทานเพลิงพระศพหม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๑ หรือ ๗ เดือนหลังสิ้นชีพตักษัย ต่อเนื่องจากงานพระราชทานเพลิงพระศพพระองค์เจ้าศิริวงศ์วัฒนเดช พร้อมกับหม่อมแม้น พระมารดา ผู้ถึงแก่กรรมมาตั้งแต่ปี ๒๔๓๘ อัฐิและอังคารของหม่อมแม้นบรรจุไว้ ณ อนุสาวรีย์ที่ผนังตึกแม้นนฤมิต อาคารเรียนของโรงเรียนเทพศิรินทร์ ส่วนหม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ พระบิดาทรงสร้างอนุสาวรีย์เล็กๆ ด้านหลังตึกแม้นนฤมิตไว้เป็นที่บรรจุสรีรังคาร


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ