กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ 30 - ุหลักฐานใหม่ใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6”

ในปี ๒๕๕๘ หรือกว่า ๑๐๐ ปีต่อมาหลังจากเหตุการณ์การปลดกรมหมื่นชุมพรฯ ออกจากราชการในปี ๒๕๕๔ จึงมีหลักฐานใหม่ปรากฏขึ้น เมื่ออาจารย์วรชาติ มีชูบท (ถึงแก่กรรมแล้ว) ตีพิมพ์แพร่บทความ “เหตุที่กรมหลวงชุมพรฯ ถูกปลดจากทหารเรือ” ลงในนิตยสาร“ศิลปวัฒนธรรม” ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๘

เอกสารสำคัญที่อาจารย์วรชาตินำมาเปิดเผยคือ “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ เล่ม ๒” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบันทึกพระราชทานเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท พระราชบันทึกฉบับนี้เป็นเอกสารส่วนพระองค์ซึ่งไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่มาก่อน เท้าความถึงเรื่องราวแต่หนหลังที่ทรงเคยสนิทสนมกับพระองค์เจ้าอาภากรฯ ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ แต่แล้วจุดหักเหก็คือการหม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ พระชายาของเสด็จในกรมฯ ปลงพระชนม์พระองค์เองเมื่อปี ๒๔๕๑ ซึ่งนับแต่นั้นมา “กรมชุมพรดูตีตนห่างจากฉันออกไปทุกที”

โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุทะเลาะวิวาท ระหว่างนักเรียนนายเรือสองคนกับมหาดเล็กของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๕ ทว่าเรื่องราวที่ขึ้นไปถึง “พระเนตรพระกรรณ” กลับ “เป็นคนละเรื่อง” กับปากคำของนักเรียนนายเรือที่อยู่ในเหตุการณ์ ดังที่ทรงบันทึกไว้ว่าต้นเหตุนั้น คือ “พวกเด็กๆ ของฉัน” กำลังเล่นกันอยู่ที่สนามหน้าวังสราญรมย์ จู่ๆ มีนักเรียนนายเรือสองคนเดินผ่านมา แล้วตรงเข้าไปขู่ว่าไม่ให้หัดทหาร จึงเกิดเป็นปากเสียงกันขึ้น เมื่อทรงทราบเรื่องจึงให้หลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (นกยูง วิเศษกุล ภายหลังเป็นพระยาสุรินทราชา) เลขานุการส่วนพระองค์ ทำหนังสือไปต่อว่าผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือ ว่าการที่จะมีใครฝึกหัดให้ “อกผายไหล่ผึ่ง” บ้างนั้น “ไม่ใช่กงการอะไรของนักเรียนนายเรือจะมาห้ามปราม” แล้วก็ทรงเข้าใจว่าเรื่องคงยุติแต่เพียงเท่านั้น ทว่าวันหนึ่ง “พระเจ้าหลวง” (หมายถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงมีรับสั่ง “ให้หา” เข้าไปในที่รโหฐาน แล้วทรงต่อว่าเรื่องที่ให้ทำหนังสือไปข่มขู่ผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือ ไม่นานหลังจากนั้น ทรงรับทราบมาอีกว่า

“กรมชุมพรได้ทอดทิ้งการงานทางทหารเรือมากขึ้นเปนลำดับ, จนนับว่าไม่มีเยื่อใยอะไรในกองทัพเรือ นอกจากยังคงเปนหัวโจกของทหารหนุ่มๆ บางคนอยู่เท่านั้น. ในยุคนั้นกรมชุมพรได้ริอ่านทำการค้าฃาย, คือตั้ง “บริษัทชุมพร”, มีพวกนายทหารเรือหนุ่มๆ ถือหุ้นอยู่หลายคน; บริษัทนั้นกระทำกิจไม่เปนผลสมปรารถนา, เกิดมีหนี้สินรุงรังขึ้น, จึ่งต้องขอพระราชทานกู้เงินพระคลังฃ้างที่ไปใช้, และพระเจ้าหลวงทรงยึดที่ดินไว้เปนประกัน, รับสั่งว่าถ้าประพฤติเรียบร้อยต่อไปจึ่งจะพระราชทานคืนให้…”

รวมถึงเรื่องการปลูกผักที่ทุ่งพญาไทในรัชกาลก่อน ก็ทรงรับทราบมาว่าเป็นแค่เรื่อง “ตบตา” เพื่อ “หาความชอบ”

“…กรมชุมพรจึ่งได้ริอ่านหาความชอบในส่วนพระองค์พระเจ้าหลวง… ในชั้นต้น, เมื่อทรงเริ่มจัดสร้างที่สวนพญาไท, กรมชุมพรรับอาสาปลูกผักที่นั้น, ทุกๆ เดือนได้มีผักเฃ้าไปถวายคราวละหลายถาด, ซึ่งกราบทูลว่าผักที่ปลูกที่พญาไท, แต่ซึ่งที่แท้เที่ยวหาซื้อเอาดื้อๆ…”


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ