ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : สัมภาษณ์และถ่ายภาพ

นับตั้งแต่เหตุการณ์น้ำมันรั่วกลางอ่าวไทยปี ๒๕๕๖ จนถึงครั้งล่าสุดปี ๒๕๖๕ หนึ่งในอาชีพที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน ผู้ซึ่งมีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับท้องทะเล และเชื่อมโยงกับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ ในทางตรงกันข้าม นี่น่าจะเป็นกลุ่มอาชีพที่เสียงร้องของพวกเขาดูจะแผ่วเบา และถูกมองข้ามมากที่สุด

“ชาวประมงพื้นบ้านเหมือนกินน้ำใต้ศอก”

“มาอาศัยจังหวัดเราหากิน มาสร้างความเสียหาย เข้ามาหากิน มาทำกำไร แล้วยังโกหกหมกเม็ดเราอีก”

เป็นเพียงบางส่วนของความเจ็บช้ำน้ำใจ

เสียงสะท้อนที่ดังขึ้นริมชายหาดระยองวันที่ท้องทะเลถูกปกคลุมด้วยน้ำมัน

ฝันร้ายครั้งที่ ๒ ของประมงพื้นบ้านระยองหลังน้ำมันรั่ว

มาอาศัยจังหวัดเราหากิน มาสร้างความเสียหาย แล้วยังโกหกหมกเม็ดเราอีก”

สำออย รัตนวิจิตร

นายกสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง

พอเกิดน้ำมันรั่ว น้ำมันส่วนหนึ่งเรามองเห็น แต่ที่มองไม่เห็นคือน้ำมันที่ถูกกดให้จมลงใต้น้ำ นี่แหละคือปัญหาที่เราคิดว่าหนักที่สุด ว่าต่อไปเราจะหากินกันยังไง คุณใช้สารเคมีลงไปสลายคราบน้ำมันจนเรามองไม่เห็น แต่เรามองเห็นภาพชาวประมงได้รับความเสียหาย

“อาหารคู่บ้านคู่เมืองเราคือกะปิ น้ำปลา เราเคยมีปลากะตักเป็นอาหารของสัตว์น้ำชนิดต่างๆ หลังจากน้ำมันรั่วครั้งก่อน ปลากะตักหายไป เมื่อไม่มีปลากะตักก็ไม่มีอาหารของปลาตัวใหญ่ แล้วเขาจะอยู่กันยังไง สัตว์น้ำก็หนีไป ไปหาอาหารกินที่อื่น เหมือนคนเราที่ต้องกินข้าวกินน้ำ ปลาก็เหมือนกัน เมื่อไม่มีอาหารเขาก็ต้องไป เขาไปจากเราแล้ว

“ความเสียหายครั้งนี้ใหญ่หลวง น้ำมันรั่วที่ออกมาน่าจะมากกว่าคราวก่อนตอนปี ๒๕๕๖ ด้วยซ้ำ คืนวันที่ ๒๕ ที่น้ำมันรั่ว เวลาตีสองโรงงานบอกว่าสี่แสนสิตร พอสว่างแจ้งมาว่า ๑ แสน ๖ หมื่นลิตร พอถึงรุ่งขึ้นบอกเรา ๑ แสนสี่หมื่นลิตร วันต่อมาบอกว่าห้าหมื่นลิตร เราจะเชื่อได้มั๊ย คุณมาอาศัยจังหวัดเราหากิน มาสร้างความเสียหาย เข้ามาหากิน มาทำกำไรแล้วยังโกหกหมกเม็ดเราอีก

“เราเป็นห่วงทรัพยากรที่อยู่ใต้ท้องทะเล ทะเลที่ไม่มีน้ำมันรั่วเคยทำมาหากินได้ตามปกติ ระหว่างชุมชน ชาวประมง ชุมชนชายฝั่งตอนนี้เป็นอัมพาต ถูกปิดหาด ผู้ว่าฯ ขอความร่วมมือไม่ให้จับสัตว์น้ำ ชุมชนในหาดไม่ได้ออกเรือ แม้แต่แม่ค้าก็ขายของไม่ได้ เพราะไม่มีใครมาซื้อ ที่ผ่านมาจะทำปลาเค็มขาย พอบอกว่าของระยองลูกค้าบางรายก็ไม่ซื้อ ขายกะปิก็ไม่กล้ากิน ต่อไปหาปลามาได้จะปลอดภัยหรือเปล่าก็ไม่รู้”

pramong02

ชาวประมงพื้นบ้านเหมือนกินน้ำใต้ศอก”

สมพร พันธุมาศ

รองนายกสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง

“จากที่รั่วปี ๒๕๕๖ ทะเลเพิ่งจะกลับมาดีได้ปีสองปี เอาอีกแล้ว เกิดอีกแล้ว ครั้งนี้เราไม่ต้องคอยให้ทะเลดีไปอีกสิบปีเหรอ จริงๆ ก่อน ๒๕๕๖ ก็มีเกิดเหตุบ้างประปราย แต่มันน้อย เราก็ไม่ว่ากัน

“ข้อสำคัญคือเราไม่อยากให้ปิดบัง อยากให้พูดความจริง เราอยากให้คุยกันแบบสันติ แบบเรื่องจริง ตลอดเวลาที่ผ่านมา ชาวประมงพื้นบ้านเหมือนกินน้ำใต้ศอก เราหาสัตว์น้ำได้น้อยลงมาก เหลือวันละกิโลสองกิโลเท่านั้น ผมหาปูกับหาปลา พอหามาแล้วก็หาคนซื้อยาก มิหนำซ้ำมาเจอโควิด ตอนนี้น้ำมันรั่วอีกต้องปิดชายหาด มันซ้ำเติมทุกอย่าง

“เมื่อวาน (๒๙ มกราคม ๒๕๖๕) ผมนั่งเรือออกไปดูข้างนอก โอโห ยังมีน้ำมันอยู่อีกไม่รู้เท่าไหร่ คนที่อยู่บนฝั่งอาจจะคิดว่าน้ำมันหมดแล้ว แต่ไม่ใช่ เขาไปล้อมไว้ เหมือนไล่วัวเข้าคอก มันยังลอยอยู่ ข้นเลย ออกสีแดงเรื่อ สีน้ำตาล ส่วนหนึ่งคงจะโดนสารเคมีกด แต่กดไม่ลง ที่กดลงเป็นส่วนน้อย

“เรื่องการใช้สารเคมี เขาก็ยังปิดบังเรื่องนี้ ท่านต้องบอกข้อมูลอย่างละเอียดให้เรารู้ว่าใช้สารเคมีไปแล้วเท่าไหร่ แล้วท่านมาบอกว่าไม่มีสารเคมีหลงเหลือเป็นไปได้ยังไง มันมียิ่งว่ามี เมื่อวานถ้าใครยืนอยู่ที่ริมชายหาดแม่รำพึงถึงตอนเย็น ตาจะแสบ ปากคอแสบหมด

“ทางบริษัทเหมือนหลอกพวกเราอยู่ หลอกผู้ว่าฯ หลอกรัฐมนตรีฯ อย่างเวลาเราถาม เขาจะบอกว่า เดี๋ยวผมขอถามคนนั้นคนนี้ เราก็คิดในใจ อ๋อ เขารอคำสั่งว่าจะให้พูดยังไงใช่มั๊ย เหมือนจะร้องเพลงของพรศักดิ์แต่คุณร้องไม่ได้ คุณต้องร้องเพลงของศรเพชร เหมือนคำสั่งมาแบบนั้น”

pramong03

เราไปถามอธิบดี ท่านก็รับรองให้เราไม่ได้ว่าสารตัวนี้ไม่อันตรายต่อสัตว์น้ำ”

บุรี จันทร์เรือง

กรรมการสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยองและรองประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

“จังหวัดระยองใช้กะปิเป็นคำขวัญ เราต้องใช้ตัวเคยเป็นวัตถุดิบ แต่ภายในสิบปีที่น้ำมันรั่วลงมาเนี่ย ตัวเคยเพิ่งจะมากลับมาแค่สองปี เกือบแปดปีที่หายไป สองปีนี้ก็เพิ่งจะได้นิดๆ หน่อยๆ แล้วเกิดน้ำมันรั่วอีก จะขึ้นฝั่งอีกเท่าไหร่ อีกกี่ปีที่ชาวประมงต้องทนอยู่กับสภาพแวดล้อมเลวร้าย ทุกวันนี้ชาวประมงหาเช้ากินค่ำแทบจะไม่ได้อะไร

“พวกเราต้องอยู่กับทะเลตั้งแต่เกิดจนออกทะเลไม่ไหว ได้รับผลกระทบเต็มๆ ถึงจะมีโครงการฟักไข่ปู เขี่ยไข่ปู ปล่อยปูลงสู่ธรรมชาติ แต่น้ำเสียขนาดนี้มันส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ อันตรายจากสารเหล่านี้ ใครก็รับรองไม่ได้ แม้แต่เราไปถามอธิบดี ท่านก็รับรองให้เราไม่ได้ว่าสารตัวนี้ไม่อันตรายต่อสัตว์น้ำ คำพูดของหน่วยงานต่างๆ ตอนนี้พูดมาแต่สิ่งดีๆ ทั้งนั้น โดยที่ท่านพูดฝ่ายเดียว ชาวประทงไม่ได้ออกมาพูดเลย ถึงเดือนท่านได้เงินเดือน แต่ชาวประทงไม่ได้เงินเดือน ชาวประมงต้องดิ้นรนหาเอง ผลกระทบมันตกอยู่กับชาวประมงพื้นบ้าน

“ทรัพยากรที่หายไป จะชดเชยได้จากไหน ชาวประมงอยากเรียกร้องว่าคุณจะมีมาตรการเยียวยายังไง การที่คุณจะตั้งโรงงาน ระบบการจัดการของเมืองนอกที่คุณขออนุญาตเขามาได้ คุณต้องมีระบบไม่ใช่หรือ คุณไม่ต้องบอกให้ชาวประมงไปศึกษาหรอก เพราะทุกวันนี้ชาวประมงตามศึกษา ไล่ศึกษาอย่างเดียวว่าคุณขอใบประกอบการมาได้ยังไง การที่เขาออกใบประกอบกิจการมาได้ เขาต้องมีแล้วหลักการว่าคุณต้องรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

“ชาวประมงคือผู้ได้รับผลกระทบเต็มๆ พอเกิดปัญหา คุณมาแก้ที่ปลายเหตุ คุณต้องมีระบบเยียวยา รายได้จากน้ำมันปีหนึ่งๆ คุณเก็บเงินเข้าสะสมไว้ในกองทุนของคุณเท่าไหร่ แล้วทำไมเงินที่คุณสะสม พอเกิดผลกระทบมันไม่ได้ตกมาถึงชาวประมงที่เดือดร้อนเลย”

pramong04

ถ้าสัตว์น้ำเป็นมะเร็ง เราเอามาบริโภคจะไม่เป็นมะเร็งเหรอ”

วิสุทธิ์ สุขจันทร์

รองนายกสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง และผู้ทรงคุณวุฒิด้านประมงชายฝั่ง

“สิ่งที่ทางบริษัทกลัวมากคือพวกดำน้ำ เพราะว่าเห็นทุกอย่างใต้ทะเล ตั้งแต่ก่อนที่น้ำมันจะรั่วปี ๒๕๕๖ แล้ว ผมดำน้ำหาหอย ทั้งหอยคราง หอยกระโดด หอยจอบ หอยกระปุก หลายชนิด ถ้าเป็นหอยกระโดด หอยจอบ พวกนี้เวลามีน้ำมันลงมา จะหนีไม่ได้

“เราดำในอ่าวเพ ทางนี้ที่เรียกว่าก้นอ่าวก็ดำ น้ำจะลึกกว่า ที่อ่าวเพน้ำลึกประมาณ ๕-๖ เมตร มันจะเว้าตั้งแต่หน้าเกาะเสม็ด หัวแหลมยาว เว้าเข้ามา ทั้งแถบเลย เมื่อมีผลกระทบ สัตว์ที่ตายเป็นอันดับแรกคือหอย

“พวกที่หนีได้มีพวกปู ปลา พวกที่มีหางหนีได้หมด แต่พวกตระกูลหอย พวกนี้อยู่กับที่ ตามธรรมชาติเขาจะขยายพันธุ์อยู่กับที่ พวกนี้อาศัยน้ำเป็นตัวกลางในการขยายพันธุ์ อาจจะปล่อยแพลงก์ตอน หรือปล่อยเซลล์เนื้อเยื่ออะไรของเค้า ลักษณะอย่างนั้น พอโดนสารเคเมี ก็คือไปไม่รอดแล้ว

“มีอยู่ครั้งหนึ่งผมดำน้ำเจอหอยครางอ้าปากค้างตาย ด้านในเป็นจุด เม็ดๆ สีแดง ถามผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนเขาบอกว่ามันเป็นมะเร็ง ถ้าสัตว์น้ำเป็นมะเร็ง เราเอามาบริโภคจะไม่เป็นมะเร็งเหรอ นี่แหละคือปัญหา “ความรับผิดชอบด้านการฟื้นฟูมันไม่สมส่วน ไม่เหมาะสม ถึงจะฟื้นฟูแต่ลักษณะที่แสดงออกคือมันไม่รับผิดชอบ ไม่รับช่วงต่อ คือทำเพียงแค่ปีสองปีแล้วจบ ไม่ยอมทำต่อให้เกิดการฟื้นฟูระบบนิเวศแบบต่อเนื่อง

“การใช้สารเคมีสลายคราบน้ำมันกดทำให้น้ำมันจมลงไป บางส่วนจะลอยเข้าฝั่ง บางส่วนมันจมลงอยู่หน้าดิน พอถึงหน้ามรสุม เวลามีคลื่น คลื่นโตมาก็ตีขึ้นฝั่ง พอขึ้นฝั่งผลกระทบยังไงก็ไม่หมด น่าจะยังอยู่อีกหลายสิบปี บรรดาสัตว์ทะเลก็อยู่ไม่ได้ บางตัวตาย แล้วการขยายพันธุ์ของพวกมันบริเวณพื้นที่ชายฝั่งก็จะไม่เกิดขึ้นอีกเลย

“น้ำมันที่จมลงไปเพราะจับตัวกับสารเคมี เวลาเกาะตามหิน ตามพื้นที่ที่ปลาเข้ามาอาศัย เขาเคยออกแม่แผ่ลูก ทรัพยากรสัตว์น้ำเหล่านี้ก็จะหายไป ไม่สามารถขยายพันธุ์ต่อได้

“ถ้าเป็นน้ำมันเราพอรู้ เพราะมันจับตัวเป็นก้อน พอเป็นก้อนมันก็อยู่เป็นที่ แต่สำหรับสารเคมีนี่ไม่นะ เราไม่รู้ว่ามันจะไปก่อมลพิษกับระบบนิเวศมากน้อยแค่ไหน นี่ละปัญหาใหญ่

“น้ำมันรั่วแบบนี้ พูดตามหลักความเป็นจริง ฟันธงได้เลยว่ามันเป็นความผิดประมาทเลินเล่อ ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อทรัพยากร จะบริษัท หรือรัฐ ถ้าร่วมหุ้นด้วย หรือใครก็แล้วแต่ก็ต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง จะทำยังไงให้ชาวประมงพื้นบ้าน ชุมชนชายฝั่งที่อยู่ตามชายหาดชายฝั่งเขาอยู่ได้”