ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง

13 ปี เขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด ปลายทางอยู่ที่ใด

พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ นับเป็นกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีความก้าวหน้าในยุคนั้น เนื้อหาที่สำคัญ คือการกำหนดแนวทางผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ผ่านกระบวนการเก็บภาษี การจ่ายเงินอุดหนุน การเก็บค่าธรรมเนียม นอกจากนี้ยังมีเรื่องการกระจายอำนาจบริหารจากส่วนกลางไปสู่ระดับจังหวัดและท้องถิ่น สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน กำหนดเขตคุ้มครองและเขตควบคุม เป็นต้น

หากแบ่งเนื้อหาออกตามหมวด จะพบว่า กฎหมายฉบับนี้ประกอบด้วยหมวดต่างๆ รวมทั้งสิ้น ๗ หมวด ได้แก่ ๑) คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ๒) กองทุนสิ่งแวดล้อม ๓) การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ๔) การควบคุมมลพิษ ๕) มาตรการส่งเสริม ๖) ความรับผิดชอบทางแพ่ง และ ๗) บทลงโทษ

เฉพาะหมวดที่ ๔ การควบคุมมลพิษ เนื้อหาแบ่งออกเป็นหลายส่วนด้วยกัน หนึ่งในนั้นว่าด้วยเรื่อง “เขตควบคุมมลพิษ”

เนื้อหาในส่วน เขตควบคุมมลพิษ (pollution control area) มาตรา ๕๙ ระบุว่า “ในกรณีที่ปรากฎว่าท้องที่ใดมีปัญหามลพิษ ซึ่งมีแนวโน้มที่ร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้ท้องที่นั้นเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลดและขจัดมลพิษได้”

วัตถุประสงค์ของการประกาศเขตควบคุมมลพิษคือรักษาสภาพแวดล้อมไม่ให้ถูกทำลายมากกว่าที่เป็นอยู่ หลังจากพื้นที่นั้นมีปัญหามลพิษเกิดขึ้นแล้ว หรือมีแนวโน้มว่าจะเกิดในลักษณะวิกฤติ หรือรุนแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชน กรมควบคุมมลพิษเคยให้คำจำกัดความของเขตควบคุมมลพิษว่าเป็นพื้นที่ที่มีปัญหามลพิษ เริ่มมีแนวโน้มร้ายแรง มีผลกระทบต่อสุขภาพ

การกำหนดว่าพื้นที่ใดสมควรประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ จะพิจารณาจากตัวแปรหรือดัชนีชี้วัดต่างๆ เช่น น้ำผิวดิน คุณภาพอากาศ ขยะมูลฝอย ความดังของเสียง และมักจะมี “ความซับซ้อน” อื่นๆ ถูกนำมาพิจารณาร่วมด้วย เช่น ความเป็นสถานที่ท่องเที่ยว การเป็นพื้นที่ที่มีโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม

เมื่อมีการประกาศแล้วสิ่งที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นตามมา คือ การมีส่วนร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการลดการสร้างขยะ หรือน้ำเสีย การบำบัดมลพิษก่อนปล่อยสู่พื้นที่สาธารณะ การประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ประโยชน์ที่ได้รับที่น่าจะเห็นเป็นรูปธรรม เช่น การเกิดระบบกำจัดขยะ ระบบบำบัดน้ำเสียรวม เตาเผามูลฝอยติดเชื้อ การติดตั้งเครื่องตรวจสอบคุณภาพอากาศ การสร้างระบบบำบัดมลพิษให้เพียงพอ การกำหนดเขตควบคุมมลพิษจึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งเพื่อรักษา เยียวยา และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

13mabtapud01
แผนที่ท้ายประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติปี ๒๕๕๒ กำหนดให้พื้นที่ต่างๆ ทั้งบนบกและทะเล เป็นเขตควบคุมมลพิษ [อ้างอิง : ราชกิจจานุเบกษา ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒ / ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๒ (พ.ศ. ๒๕๕๒)]

นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ ที่มีการประกาศ พ.ร.บ.เสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม มีพื้นที่ถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ รวม ๑๘ พื้นที่ ได้แก่

  • ปี ๒๕๓๕ ประกาศ ๕ พื้นที่ ได้แก่ ตำบลนาเกลือ เมืองพัทยา, จังหวัดภูเก็ต, อำเภอหาดใหญ่, อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา และหมู่เกาะพีพี ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่
  • ปี ๒๕๓๗ ประกาศ ๑ พื้นที่ คือ จังหวัดสมุทรปราการ
  • ปี ๒๕๓๘ ประกาศ ๔ พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐม
  • ปี ๒๕๓๙ ประกาศ ๖ พื้นที่ ได้แก่ อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  • ปี ๒๕๔๗ ประกาศ ๑ พื้นที่ คือ ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี
  • ปี ๒๕๕๒ ประกาศ ๑ พื้นที่ คือ ตำบลมาบตาพุด ตำบลห้วยโป่ง ตำบลเนินพระ ตำบลทับมา อำเภอเมือง จังหวัดระยอง

การประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษของแต่ละพื้นที่มีเหตุผลแตกต่างกัน ยกตัวอย่างพื้นที่ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี เกิดจากกิจการเหมืองหิน โรงงานโม่ บด ย่อยหิน ปล่อยฝุ่นละออง

พื้นที่สมุทรปราการ นนทบุรี ปุทมธานี จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐม อันเป็นเขตปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร เกิดจากปัญหามลพิษในแหล่งน้ำ อากาศ ของเสียต่างๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีเหตุผลเพียงเพราะกิจการด้านอุตสาหกรรมเท่านั้น ดังจะเห็นได้ว่าสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง เช่น พัทยา ภูเก็ต หาดใหญ่ พีพี เกิดจากกิจการโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร บ้านพักตากอากาศ ที่ก่อมลพิษ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม

สำหรับพื้นที่มาบตาพุดถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เหล็ก เคมีภัณฑ์ โรงกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้า ฯลฯ มีปัญหาการจัดการขยะมูลฝอย ของเสียอันตราย ถ่านหิน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามลพิษทั้งทางน้ำและทางอากาศ มีแนวโน้มเป็นอันตรายต่อสุขภาพ


ทั้งนี้ กว่าที่มาบตาพุดจะถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ ได้มีการเรียกร้องและผลักดันจากภาคประชาชน นำโดยชาวชุมชน ๑๑ ชุมชนรอบนิคมฯ ที่ต้องเผชิญมลพิษและปัญหาสุขภาพเรื้อรัง โดยมีการยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฐานละเลยต่อหน้าที่ไม่ประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อควบคุม ลด และขจัดมลพิษต่อศาลปกครองระยองในปี ๒๕๕๐

หากพิจารณาลำดับเวลาหรือ “ไทม์ไลน์” จะเห็นว่า พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศใช้ในปี ๒๕๓๕ แต่กว่าจะมีการกำหนดให้ท้องที่เขตเทศบาลตำบลมาบตาพุดและพื้นที่ข้างเคียง รวมทั้งพื้นที่ทะเลภายในแนวเขต เป็นเขตควบคุมมลพิษ ก็ต้องรอถึงปี ๒๕๕๒ หรือผ่านไปนานถึง ๑๗ ปี

มลพิษส่วนใหญ่ในมาบตาพุดเกิดจากอุตสาหกรรมหนัก ในดิน น้ำ อากาศ สัตว์น้ำ ตรวจพบค่ามลพิษบางอย่างเกินค่ามาตรฐาน เช่น สารอินทรีย์ระเหยง่ายที่เป็นสารก่อมะเร็ง รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่มีอุบัติภัยเกิดขึ้นเป็นประจำ ปีละเกือบสิบครั้ง ทั้งสารเคมีระเบิด ไฟไหม้ น้ำมันดิบรั่วไหลลงสู่ท้องทะเล

หลังจากมาบตาพุดถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ หลายฝ่ายคาดหวังว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนจะทำแผนลด และขจัดมลพิษ สร้างระบบบำบัดมลพิษให้เพียงพอ หากแต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่เป็นเช่นนั้น เหตุการณ์จริงดูจะย้อนแย้งสวนทางกับเจตนารมย์ของการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษด้วยซ้ำไป

ปัจจุบัน พื้นที่มาบตาพุดเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม ๕ แห่ง ท่าเรือน้ำลึก ๑ แห่ง โรงงานอุตสาหกรรมประมาณ ๑๕๑ แห่ง ที่มีทั้ง โรงกลั้นน้ำมัน โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานผลิตเหล็กกล้า

สนธิ คชวัฒน์ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้ว ทุกวันนี้พื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง เป็น “เขตควบคุมมลพิษ” หรือเป็น “เขตส่งเสริมมลพิษ” กันแน่

นับตั้งแต่ประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีโรงงานขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษได้รับอนุญาตให้ก่อตั้งใหม่และขยายขนาดเพิ่มขึ้นทุกปี ถึงขนาดไม่รู้ว่ามลพิษมาจากที่ใด

หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลยังส่งเสริมให้เกิดโครงการเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี สนับสนุนการลงทุนภาคอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ในพื้นที่ ๓ จังหวัด นอกจากระยองแล้วยังขยายรวมถึงชลบุรีและฉะเชิงเทรา อำนวยความสะดวกให้อุตสาหกรรมหนักเข้ามาดำเนินการในพื้นที่ ทั้งๆ ที่ปัญหาเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไข ประชาชนที่อาศัยโดยรอบนิคมฯ ยังได้รับผลกระทบจากมลพิษ ชาวประมงพื้นบ้านที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรในท้องทะเล ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเผชิญความยากลำบากในการประกอบอาชีพตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนดูเหมือนจะต้องเป็นผู้เสียสละตลอดกาล

ล่าสุดยังมีความพยายามอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐที่จะยกเลิกสถานะเขตควบคุมมลพิษทั่วประเทศ จนทำให้เครือข่ายประชาชนคนรักระยองต้องออกมาเคลื่อนไหวยื่นข้อเรียกร้องให้แก้ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นก่อนคิดยกเลิก

อันที่จริงแล้วทุกภาคส่วนคาดหวังว่าเมื่อมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษแล้ว สักวันหนึ่ง พื้นที่ดังกล่าวจะถูกถอดออกจากสถานะ “เขตควบคุมมลพิษ” เมื่อปัญหาได้รับการแก้ไข การดำรงชีวิตในแง่มุมต่างๆ จะได้กลับเข้าสู่สภาวะปรกติ หากแต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับเป็นความพยายามหาทางยกเลิกสถานะเขตควบคุมมลพิษเพื่อเปิดทางให้ “แหล่งกำเนิดมลพิษ” ขยายกิจการ อันมีแนวโน้มว่าจะยิ่งทำให้ปัญหาหนักขึ้น

ขนาดมีเขตควบคุมมลพิษยังมีปัญหา ไม่สามารถลดและขจัดมลพิษได้ตามความคาดหวัง ทั้งๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย หากยกเลิกก็คงจะมองเห็นชะตากรรมผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตควบคุมมลพิษได้ไม่ยากว่าจะเป็นเช่นไร