กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ 38 - นายทหารกองหนุน

จนล่วงเข้าพุทธศักราช ๒๔๕๙ อันเป็นปีที่ ๗ ในรัชกาล ดูเหมือนว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ยังทรงขุ่นเคืองพระราชหฤทัยเรื่องพระเจ้าพี่ยาเธอพระองค์นี้อยู่ เช่นในคราวงานนมัสการพระพุทธชินราช (จำลอง) วัดเบญจมบพิตร ประจำปี ๒๔๕๙ มีการจัดประกวดภาพวาด ทางกระทรวงวังทูลเชิญ “สมเด็จครู” สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ เป็นนายก (ประธาน) กรรมการตัดสิน ในการนี้ สมเด็จฯ ทรงส่งรายชื่อขอเพิ่มกรรมการขึ้นอีก หนึ่งในจำนวนนี้คือกรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ผู้ทรงมีพระอัธยาศัยในทางงานช่างและการวาดเขียน ทว่าในหลวงทรงมีลายพระราชหัตถเลขาเป็นพระบรมราชโองการลงมาว่า “กรมชุมพร ระงับเสียเถิด…นอกนั้นอนุญาต”

แต่แล้วเกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ส่งผลอย่างยิ่งต่อกรมหมื่นชุมพรฯ

เมื่อสยามเข้าสู่ “มหาสงคราม”

ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๕๗ (ค.ศ. ๑๙๑๔) นักศึกษาหนุ่มชาวเซิร์บบุกเดี่ยวใช้ปืนสั้นปลงพระชนม์อาชดุค ฟรานซ์ เฟอร์ดินันด์ (Archduke Franz Ferdinand) รัชทายาทแห่งจักรวรรดิออสเตรีย – ฮังการี และพระชายา คารถยนต์พระที่นั่งกลางขบวนเสด็จที่เมืองซาราเยโว (ปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา แต่ขณะนั้นยังอยู่ในอาณาเขตจักรวรรดิออสเตรีย – ฮังการี) เหตุการณ์นี้นำไปสู่การประกาศสงครามระหว่างออสเตรีย – ฮังการี กับเซอร์เบีย ก่อนที่จะลุกลามบานปลายกลายเป็น “มหาสงคราม” (the Great War) ครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก ระหว่างฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Power) ได้แก่ออสเตรีย – ฮังการีและเยอรมนี กับฝ่ายสัมพันธมิตร (Allied) คืออังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย กับสหรัฐอเมริกา

มหาสงครามครั้งนั้นเรียกกันในเวลาต่อมาว่า “สงครามโลกครั้งที่ ๑“ (๒๔๕๗-๒๔๖๑ / ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘)

ในช่วงแรกของสงคราม ราชอาณาจักรสยามประกาศยืนยันความเป็นกลาง แต่ในที่สุดด้วยแรงกดดันจากประเทศมหาอำนาจตะวันตก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระราชหฤทัยให้มีพระบรมราชโองการประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย – ฮังการี เมื่อเวลาเที่ยงคืน เข้าสู่วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๖๐

หลวงรักษาราชทรัพย์ (รักษ์ เอกะวิภาต ๒๔๒๖-๒๔๙๘) เล่าว่า รุ่งเช้าวันนั้นเอง กรมหมื่นชุมพรฯ เสด็จมายังกระทรวงทหารเรือ เพื่อรายงานตัวตามข้อบังคับ ในฐานะ “นายทหารกองหนุน ไม่มีเบี้ยหวัด” คุณหลวงอ้างว่านี่คือสิ่งที่ตนเองได้พบเห็น

“พอถึงเวลาย่ำรุ่ง ยังไม่สว่างดี เห็นเรือกลไฟลำหนึ่งแล่นตรงมาที่โป๊ะที่ ๑ ต่างคนต่างมองดู พอถึงโป๊ะที่ ๑ เสด็จในกรมฯ ก็เสด็จขึ้น ทรงฉลองพระองค์แต่งทหาร สวมเสื้อกางเกงสีกากี คาดกระบี่ยาว ทหารที่อยู่ในที่นั้นร้องเสียงดังลั่นว่า ‘เจ้าพ่อเสด็จมาช่วยแล้วๆ’…”

ต่อมาเพียงหนึ่งสัปดาห์ ในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๖๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ กลับเข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือ ในตำแหน่งจเรทหารเรือ ผู้ตรวจสอบดูแลทั่วไปในกรมทหารเรือ อันเป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นใหม่

กล่าวได้ว่าตั้งขึ้นเพื่อรองรับการเสด็จกลับเข้ารับราชการของพระองค์โดยเฉพาะ


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ