เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : Beach for life

กำแพงกันคลื่นหาดแม่รำพึง ประจวบคีรีขันธ์ ๙๖๖ เมตร บนคำถาม
ภาพตัวอย่างกำแพงกันคลื่นหาดแม่รำพึงมีลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตขั้นบันไดและกำแพงคอนกรีตกันคลื่น  ความยาวทั้งหมด ๙๖๖ เมตร

เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๕ กลุ่มประชาชนที่อ้างว่ามีส่วนได้ส่วนเสียในการใช้ประโยชน์ชายหาดแม่รำพึงในนาม “เครือข่ายประชาชน Saveหาดแม่รำพึง” ได้เดินทางไปยื่นหนังสือให้กับนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เเม่รำพึง ขอให้ยกเลิกโครงการสร้างกำเเพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการและผังเมือง รวบรวมรายชื่อประชาชนที่คัดค้านได้ทั้งหมด ๑๙๓ รายชื่อ

โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแม่รำพึง ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นโครงการก่อสร้างของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย มีลักษณะเป็นเขื่อนหินใหญ่วางเรียง กำแพงกันคลื่น (Block Revetment) และกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได ความยาว ๙๖๖ เมตร หรือเกือบ ๑ กิโลเมตรตามแนวชายหาด

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ กรมโยธาธิการและผังเมืองเคยจัดให้มีการประชุมชี้แจงโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งทะเลหาดแม่รำพึงมาแล้วที่หอประชุมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แม่รำพึง โดยมีประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้แทนส่วนราชการ เข้าร่วมรับฟังรายละเอียดโครงการ มีการระบุว่าโครงการผ่านการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่มาแล้ว ๔ ครั้ง กิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นการชี้แจงแผนงานของโครงการก่อนที่ผู้รับจ้างจะเข้ามาทำงานในพื้นที่

อ้างอิงตามการนำเสนอข่าวของสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ ชัชชัย อภินันทิตยา วิศวกรบริษัทที่ปรึกษาโครงการ ชี้แจงว่า จังหวัดประจวบฯ มีแนวชายฝั่งยาวติดทะเลอ่าวไทย บางพื้นที่ประสบปัญหาถูกน้ำทะเลกัดเซาะจากมรสุมคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าหาฝั่ง สร้างความเสียหายให้กับประชาชน กรมโยธาธิการและผังเมือง จึงดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งทะเลของตำบลแม่รำพึง โดยเป็นการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ๒ รูปแบบ ได้แก่ 

เขื่อนคอนกรีตขั้นบันไดความยาว ๒๔๗ เมตร โครงสร้างทั้งหมดอยู่บนเสาเข็ม เน้นจุดที่เป็นพื้นที่สาธารณะและมีบ้านเรือนประชาชน 

และอีกรูปแบบหนึ่งคือกำแพงคอนกรีตกันคลื่น ความยาว ๗๑๙ เมตร คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ช่วงต้นปี ๒๕๖๕ ระยะก่อสร้างประมาณ ๒๔ เดือน  หลังจากโครงการแล้วเสร็จจะเกิดความมั่นคงแข็งแรงในการป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่ริมฝั่ง ช่วยลดผลกระทบต่อชุมชน ส่งผลดีทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวในพื้นที่

maeraumpung02
ตัวแทนเครือข่ายประชาชน Saveหาดแม่รำพึง เดินทางไปยื่นหนังสือขอให้ยกเลิกโครงการ
กับนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เเม่รำพึง รวบรวมรายชื่อประชาชนผู้คัดค้านได้ ๑๙๓ รายชื่อ
maeraumpung03
ชายหาดแม่รำพึงมีลักษณะเป็นเวิ้งอ่าว ยามน้ำลงผู้คนและนักท่องเที่ยวจะพบภาพชายหาดที่ทอดยาวและแผ่กว้างตามธรรมชาติ

หนังสือ องค์ความรู้ตามประเด็นยุทธศาสตร์กรมโยธาธิการและผังเมือง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๑ เรื่องแนวทางการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในประเทศไทย ให้รายละเอียดของ เขื่อนคอนกรีตขั้นบันได (Stepped Sloping Concrete Revetment) ว่ามีข้อเด่น คือ ความสอดคล้องกับสภาพชายหาดท่องเที่ยว การที่เขื่อนเป็นขั้นบันไดจะสามารถลงสู่ชายหาดได้ง่าย โครงสร้างเขื่อนก่อสร้างจากคอนกรีตที่ทนน้ำทะเลจึงมีความแข็งแรง ไม่ต้องการการบำรุงรักษามาก และวัสดุก่อสร้างหาได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นคอนกรีตหรือเสาเข็ม

อย่างไรก็ตาม เขื่อนคอนกรีตขั้นบันไดก็มีจุดอ่อนหรือข้อด้อยเช่นกัน หนังสือเล่มเดียวกันระบุว่า

“อาจต้องสูญเสียความกว้างของหาดทรายไปบ้าง การก่อสร้างเขื่อนนั้นยากและมีราคาค่าก่อสร้างสูง ซึ่งรวมไปถึงวิธีการขั้นตอนการก่อสร้างที่ซับซ้อนโดยจะต้องมีการตอกเสาเข็ม หล่อคอนกรีต รอเวลาให้คอนกรีตเซตตัว รัดหัวเข็มและปรับแต่งขั้นบันได ข้อเสียอีกข้อคือ พื้นที่ด้านบนสันเขื่อนอาจถูกคลื่นไถลซัดขึ้นไปจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งปลูกสร้างด้านบนได้ แต่ผิวของเขื่อนที่เป็นขั้นบันไดนั้นจะสามารถลดปริมาณคลื่นที่จะกระโจนข้ามไปด้านหลังได้บ้าง จึงอาจต้องมีการซ่อมแซมพื้นที่ด้านบนสันเขื่อนบ้าง”

maeraumpung04
  • maeraumpung05
  • maeraumpung05 2

ผู้คนใช้ประโยชน์จากหาดแม่รำพึงในหลายมิติ ทั้งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ นันทนาการ หาหอย จอดเรือ ทำกิจกรรมด้านการประมงและการท่องที่ยว

กรมโยธาธิการและผังเมืองอ้างเหตุผลในการผลักดันโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลว่ามีจุดเริ่มต้นจากข้อร้องเรียนของประชาชน โดยมีการร้องขอโครงการผ่านองค์การบริหารส่วนตำบลแม่รำพึง (ชุดก่อน) ซึ่งทำหนังสือถึงกรมโยธาธิการและผังเมือง จำนวน ๓ ฉบับ ระบุว่าชายหาดแม่รำพึงมีการกัดเซาะชายฝั่ง ต้องของบประมาณสนับสนุนป้องกันการกัดเซาะ

อย่างไรก็ตาม ประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง เห็นว่าตั้งแต่มีการร้องขอโครงการครั้งแรกในปี ๒๕๕๙ จนถึงปัจจุบัน ชายหาดแม่รำพึงไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงแต่อย่างใด การกัดเซาะที่เกิดขึ้นบ้างเป็นการกัดเซาะตามฤดูกาล แม้แต่กรณีเหตุการณ์พายุปาบึกพัดผ่านหาดแม่รำพึง เมื่อปี ๒๕๖๑ เมื่อพายุพัดผ่านไป สภาพชายหาดที่ถูกกัดเซาะก็งอกกลับเข้าสู่สภาพปกติ จึงไม่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างกำแพงกันคลื่น โดยเฉพาะกำแพงกันคลื่นที่มีขนาดใหญ่เกินความจำเป็นดังเช่นที่กรมโยธาธิการและผังเมืองวางแผนว่าจะสร้าง

“การกล่าวอ้างว่าทรัพย์สินของทางราชการและประชาชนได้รับความเสียหายจากการกัดเซาะชายฝั่งหลังพายุปาบึกพัดผ่านไป จนเป็นเหตุให้ต้องป้องกันการกัดเชาะชายฝั่งด้วยโครงสร้างกำแพงกันคลื่น ปิดทับชายหาด ๙๖๖ เมตร นั้น เป็นการมาตรการที่เกินความจำเป็น เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากพายุปาบึกได้ถูกจัดการแก้ไขด้วยมาตรการของท้องถิ่น และเยียวยาความเสียหายเสร็จสิ้นไปเรียบร้อยตั้งแต่พายุพัดผ่าน และสภาพชายหาดกลับเข้าสู่สภาพปกติแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นทับบนชายหาด เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง” ข้อความส่วนหนึ่งของหนังสือที่เครือข่ายประชาชน Saveหาดแม่รำพึงยื่นเรื่องขอให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดแม่รำพึง

หนังสือฉบับเดียวกันยังชี้แจงข้อห่วงกังวลหากมีการเดินหน้าสร้างกำแพงกันคลื่น อาทิ

โครงสร้างแข็งของกำแพงกันคลื่นจะวางทับปิดชายหาดแม่รำพึงทำให้ชายหาดส่วนที่มีความกว้างไม่มากถูกแทนที่ด้วยกำแพงกันคลื่น ทำให้ชายหาดหายไป และปรากฎชายหาดในช่วงน้ำลงต่ำสุดเท่านั้น นอกจากนี้กำแพงกันคลื่น ยังทำให้เกิดการเลี้ยวเบนของคลื่นด้านท้ายน้ำ ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งด้านท้ายน้ำตรงจุดสิ้นสุดโครงการ จะเป็นเหตุให้ต้องป้องกันชายฝั่งต่อเนื่องด้วยโครงสร้างกำแพงกันคลื่นเพิ่มขึ้นอีก
สภาพชายหาดแม่รำพึง มีการใช้ประโยชน์ด้านการจอดเรือ หาหอย กิจกรรมประมง รวมถึงมีการใช้ประโยชน์ชายหาดในการประกอบกิจกรรมการท่องเที่ยว หากปล่อยให้แหล่งหอยธรรมชาติบริเวณชายหาดถูกทับด้วยกำแพงกันคลื่น ย่อมจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการทำกิจกรรมของผู้คนเหล่านั้น
ยกตัวอย่าง หาดชะอำหลังจากก่อสร้างกำแพงกันเสร็จแล้วชายหาดหายไป เกิดตะไคร่น้ำและนักท่องเที่ยวลดลงอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นของกรมโยธาธิการและผังเมืองในช่วงการดำเนินงานที่ผ่านมาไม่ได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน ไม่มีการชี้แจงผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนวิถีชีวิตของประชาชนอย่างครบถ้วนรอบด้าน ด้วยเหตุนี้ จึงขอให้พิจารณายกเลิกโครงการ

maeraumpung06
ชาวบ้านกังวลว่าโครงสร้างกำแพงกันคลื่นจะวางทับปิดชายหาด ทำให้ชายหาดส่วนที่มีความกว้างไม่มากถูกแทนที่ด้วยกำแพงกันคลื่น ทำให้ชายหาดหายไป ปรากฎหาดทายแค่ในช่วงน้ำลงต่ำสุด นอกจากนี้ มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งด้านท้ายน้ำ บริเวณจุดสิ้นสุดโครงการก่อสร้าง ทำให้ต้องป้องกันชายฝั่งด้วยกำแพงกันคลื่นต่อเนื่องไปอีก

ภูมิทัศน์ของชายหาดแม่รำพึงมีลักษณะเป็นเวิ้งอ่าว ยามน้ำลงผู้คนและนักท่องเที่ยวจะพบภาพชายหาดที่ทอดยาวและกว้างไกล สภาพชายหาดลักษณะนี้คลื่นที่พัดเข้ามาสู่ชายหาดจะเกิดการสลายพลังงานตามธรรมชาติ มีพลังงานลดลงเนื่องจากถูกหาดทรายดูดซับพลังงานไว้ เมื่อคลื่นเคลื่อนมาถึงฝั่ง คลื่นตามธรรมชาติที่พัดเข้ามาสร้างความเสียหายได้ไม่มากนัก เครือข่ายประชาชน Saveหาดแม่รำพึง จึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องทำกำแพงกันคลื่น

บทเรียนจากชายหาดต่างๆ ที่มีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแล้วไม่ว่าจะเป็นหาดทรายแก้ว จังหวัดสงขลา หาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ดังกล่าวมา ได้ทำให้สภาพตามธรรมชาติของชายหาดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันและหายไป ทำให้ทัศนียภาพอันงดงามของชายหาดถูกทำลาย

เครือข่ายประชาชน Saveหาดแม่รำพึง จึงขอเรียกร้องต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่รำพึง และกรมโยธาธิการและผังเมือง ให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดแม่รำพึง ขอให้รับฟังเสียงของผู้ที่ปรารถนาดีต่อการรักษาสภาพแวดล้อมชายหาดไว้ให้คงสภาพตามธรรมชาติ เลือกกำหนดมาตรการอื่นๆ ในการดูแลรักษาที่น่าจะเหมาะสมกว่า

เลี่ยงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นตามที่กรมโยธาธิการและผังเมืองนำเสนอมาให้ประชาชนเลือกเพียงทางเลือกเดียวเท่านั้น

ขอขอบคุณ

  • คุณอภิศักดิ์ ทัศนี