ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง
Beach for life : ภาพ
1
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ศาลปกครองสงขลามีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวพื้นที่ชายหาดมหาราช หมู่ที่ 4 ตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา จากโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นระยะที่ 3
โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ในพื้นที่หาดมหาราช หรือโครงการกำแพงกันคลื่นหาดมหาราช เป็นของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการโครงการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงระยะที่ 3 อันเป็นระยะสุดท้าย
หลังจากกำแพงกันคลื่นหาดมหาราช ระยะที่ 1 และ 2 ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2562 และ 2565 ตามลำดับ
ศาลปกครองสงขลามีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โครงการระยะที่ 3
2
หลายปีที่ผ่านมา โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดมหาราชถูกคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ โดยมีการยื่นฟ้องศาลปกครองสงขลา ขอให้เพิกถอนโครงการและมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา ด้วยเห็นว่าถ้าปล่อยให้โครงการเดินหน้า กำแพงกันคลื่นที่เกิดขึ้นจะสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อชายหาดและชุมชน
โครงการนี้มีลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตแบบขั้นบันได การก่อสร้างแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 ความยาว 92 เมตร ระยะที่ 2 ความยาว 1,102 เมตร และระยะที่ 3 ความยาว 555 เมตร รวมกันเป็นความยาว 1,749 เมตร
การยื่นฟ้องครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2564 ขณะที่โครงการระยะที่ 1 เสร็จแล้ว ระยะที่ 2 กำลังก่อสร้าง และระยะที่ 3 อยู่ในขั้นขออนุญาตก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจากกรมเจ้าท่า ผลออกมาว่าศาลยกฟ้อง
ต่อมาเดือนกันยายน 2565 มีการยื่นฟ้องอีกครั้ง ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนโครงการ เร่งฟื้นฟูชายหาดที่เสียหายจากกำแพงกันคลื่นระยะที่ 1 และ 2 กลับสู่สภาพเดิม รวมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชายหาดจากโครงการระยะที่ 3 ยืนยันว่าสภาพชายหาดยังสมบูรณ์ ไม่มีร่องรอยการถูกกัดเซาะชายฝั่งแต่อย่างใด
คราวนี้ศาลปกครองสงขลามีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ระงับโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดมหาราช ระยะที่ 3 จนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
3
คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาของศาลปกครอง หรือ “คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว” คือ การสั่งระงับโครงการไว้ก่อนที่จะมีคำพิพากษา ถือเป็นมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอ
สืบเนื่องจากในบางกรณี หากปล่อยให้มีการดำเนินโครงการหรือเดินหน้าก่อสร้าง จะสร้างความเสียหายต่อสภาพแวดล้อม ชุมชน สังคม อาจสิ้นเปลืองงบประมาณ หรือยากต่อการรื้อถอนฟื้นฟูในภายหลัง
กรณีหาดมหาราช ประชาชนผู้ฟ้องคดีเห็นว่า หากปล่อยให้กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นต่อจนแล้วเสร็จ จะยิ่งสร้างความเสียหายต่อชายหาด จึงขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนที่จะมีคำพิพากษา
4
โดยทั่วไปแล้ว หลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่ศาลปกครองใช้พิจารณาสั่งคุ้มครองชั่วคราวมี 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย
(1) ต้องมูลให้เชื่อได้ว่าโครงการดังกล่าวนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(2) มีเหตุผลเพียงพอในการนำมาตรการวิธีการชั่วคราวมาใช้ก่อนคำพิพากษา
และ (3) คำนึงถึงหลักความรับผิดของหน่วยงานทางปกครอง กล่าวคือการมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอ จะต้องคำนึงถึงปัญหาหรืออุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐด้วย
กรณีหาดมหาราช เหตุผลสำคัญที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว สรุปได้ดังนี้
(1) สภาพชายหาดสมบูรณ์ ไม่พบการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นชายหาดที่ชาวประมงใช้ประโยชน์ในการจอดเรือเเละขนถ่ายอุปกรณ์
(2) กรมโยธาธิการฯ ไม่สามารถยืนยันข้อมูลทางวิชาการได้ว่ากำเเพงกันคลื่นจะปกป้องการกัดเซาะชายฝั่งได้จริง ไม่สร้างความเสียหาย เเละไม่ส่งผลกระทบต่อชายหาดทั้งด้านหน้ากำเเพงกันคลื่นเเละพื้นที่ใกล้เคียง
(3) หากปล่อยให้ดำเนินการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นจนเเล้วเสร็จ อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชายหาดอาจไม่สามารถฟื้นฟูกลับสู่สภาพเดิมได้ จะส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยตรง หากศาลมีคำสั่งให้รื้อถอนหลังคำพิพากษาก็จะสิ้นเปลืองงบประมาณในการรื้อถอนเเละคืนสภาพชายหาด
(4) ปัจจุบันโครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างจากกรมเจ้าท่า การมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จึงมิได้ให้ก่อเกิดปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ แก่การบริหารงานของหน่วยงานทางปกครอง คือกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมเจ้าท่า
5
จากหัวข้อที่ผ่านมา หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว คือ บริเวณที่จะก่อสร้างโครงการกำแพงกันคลื่นหาดมหาราช ระยะที่ 3 เป็นชายหาดที่สมบูรณ์ ไม่พบการกัดเซาะชายฝั่ง
ชุมชนชาวประมงชี้แจงว่าพวกตนใช้ชายหาดสำหรับจอดเรือและขนถ่ายอุปกรณ์ประมง ชายหาดเป็นจุดจอดเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กที่ต้องจอดบนพื้นทราย
นอกจากนี้ ยังชี้ว่ากรมโยธาธิการและผังเมืองไม่ได้แสดงหลักฐานทางวิชาการที่รับรองหรือยืนยันได้ว่า การก่อสร้างตามรูปแบบของกรมโยธาธิการและผังเมืองจะสามารถป้องกันการกัดเซาะชายหาดได้จริงและได้ผลดีจริง โดยไม่สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อพื้นที่หาดทรายบริเวณหน้าเขื่อน รวมถึงบริเวณต่อเนื่องที่ไม่ได้สร้าง
วิชัย แก้วนพรัตน์ ตัวแทนชุมชนหาดมหาราช ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ฟ้องคดีให้ความเห็นว่าการที่ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดมหาราชไว้ก่อนนั้นเป็นเรื่องที่ดีสำหรับชุมชน
“หากโครงการดังกล่าวดำเนินการจนแล้วเสร็จจะทำให้ชุมชนชาวประมงชายฝั่ง ไม่สามารถจอดเรือริมชายหาด และอาจทำให้ชายหาดหายไป การระงับโครงการไว้ก่อนจึงทำให้ใช้หาดยังคงถูกรักษาไว้”
สอดคล้องกับ อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงานกลุ่ม Beach for life ซึ่งดูแลการยื่นฟ้องคดีนี้ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ให้ความเห็นหลังศาลปกครองสงขลามีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวว่า
“โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดมหาราชระยะที่ 3 ไม่มีความจำเป็น เนื่องจากชายหาดบริเวณดังกล่าวไม่ได้มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงแต่อย่างใด อีกทั้งโครงสร้างกำแพงกันคลื่นที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบกับชุมชน ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งมากขึ้น การที่ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวจึงเป็นการทำให้ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการนั้นถูกระงับยับยั้งไว้”
6
โดยทั่วไปแล้วการมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จะต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐด้วย (ตรงตามหัวข้อย่อย (3) คำนึงถึงหลักความรับผิดของหน่วยงานทางปกครอง จากหัวข้อ 3 ของบทความนี้)
กรณีหาดมหาราช ขณะที่ยื่นฟ้องศาล คำขออนุญาตก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดมหาราช ระยะที่ 3 ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการออกใบอนุญาตปลูกสร้างของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ยังไม่ได้มีการออกใบอนุญาตให้กรมโยธาธิการและผังเมือง สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณชายฝั่งหาดมหาราชแต่อย่างใด
เพจ Beach for life Thailand อธิบายไว้ในบทความ “สรุปคำสั่งศาลปกครองสงขลา สั่งคุ้มครองหาดมหาราช จากกำแพงกันคลื่น” ตอนหนึ่งว่า
“การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งหาดมหาราช ระยะที่ 3 ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้าง ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอ จึงมิได้ให้ก่อเกิดปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ แก่การบริหารงานของกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมเจ้าท่า
“ตรงกันข้ามหากให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินโครงการก่อสร้างต่อไปอีกจนเสร็จสิ้นโครงการ อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชุมชน และชายหาด ซึ่งอาจจะไม่สามารถฟื้นฟูกลับสู่สภาพเดิมได้ อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนในบริเวณชายหาดมหาราช
“และในภายหลังหากศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนโครงการก่อสร้างของกรมโยธาธิการและผังเมือง จะทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐที่ต้องสูญเสียงบประมาณแผ่นดินสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการไปโดยเปล่าประโยชน์ รวมทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนและปรับสภาพพื้นที่ ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมอีกด้วย”
7
คดีหาดมหาราชนับเป็นคดีที่ 3 ของคดีพิพาทเกี่ยวกับกำเเพงกันคลื่น ที่ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
หลายปีที่ผ่านมา การฟ้อง “คดีชายหาด” หรือข้อพิพาทในคดีกำแพงกันคลื่นได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐ เพื่อปกป้องคุ้มครองชายหาดจากกำแพงกันคลื่น
เฉพาะคดีที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก็มีพัฒนาการมาตามลำดับขั้น นับตั้งแต่ คดีอ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อันเป็นคดีแรกที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ในเวลานั้นศาลพิจารณาเพียงแค่เรื่องความไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำซ้ำ หมายถึงการเดินหน้าสร้างโครงการระยะที่ 2 และ 3
ต่อมา คดีหาดม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ทั้งศาลชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ศาลพิจารณาถึงสภาพชายหาด และผลกระทบจากโครงการกำแพงกันคลื่น
จนถึงล่าสุดคดีหาดมหาราช จังหวัดสงขลา จุดเด่นของคดีนี้ คือ การที่ศาลพิจารณารายละเอียดของเนื้อหา ตั้งแต่ประเด็นเรื่องความที่เป็นชายหาดที่สมบูรณ์ ไม่พบการกัดเซาะชายฝั่ง ชาวบ้านใช้ชายหาดในการจอดเรือประมงพื้นบ้าน หากให้กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการก่อสร้างต่อระยะที่ 3 อาจสร้างความเสียหายต่อชายหาดและยากต่อการฟื้นฟู
นอกจากนี้ยังพบว่า วันที่ 9 มีนาคม 2565 ก่อนที่จะมีคำสั่งศาลปกครอง ผู้พิพากษาได้ลงพื้นที่เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงด้วย
8
อธิวัฒน์ เส้งคุ่ย ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ให้ความเห็นว่าคดีหาดมหาราชมีพัฒนาการของคำสั่งศาลสูงกว่าคดีอื่นๆ ที่เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับกำเเพงกันคลื่นเหมือนกัน
“การที่ประชาชนนำคดีไปสู่ศาลปกครอง ตั้งแต่คดีสะกอม คดีแรกที่เป็นการฟ้องร้องโครงการของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อชายหาด จนถึงคดีชายหาดมหาราช กว่า 10 ปีที่ผ่านมา การใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ข้อมูลทางวิชาการ และข้อเท็จจริงของพื้นที่ พิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าผลกระทบจากกำแพงกันคลื่นเป็นอย่างไร ชายหาดถูกกัดเซาะจริงหรือไม่ ข้อเท็จจริงเหล่านี้ทำให้เกิดการเรียนรู้ของศาลเช่นกัน และเป็นส่วนสำคัญให้เกิดการพัฒนาบรรทัดฐานทางกฎหมาย ไม่ได้ทำให้ศาลพิจารณาแค่กฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่พิจารณาไปถึงหลักกฎหมายซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม”
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมที่ภาคประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้