เสด็จเตี่ย

นับตั้งแต่ปี ๒๔๔๘ เมื่อกรมหมื่นชุมพรฯ ทรงได้รับมอบหมายจากองค์ผู้บัญชาการกรมทหารเรือให้จัดการศึกษา การปกครอง และการบริหารโรงเรียนนายเรือ พระองค์ได้ทรง “ฝึกสอนเอง กวดขันไม่ให้เวลาคลาดเคลื่อน ตรวจตราควบคุมอย่างกวดขัน” โดยเสด็จไปประทับอยู่ที่โรงเรียนนายเรือ ตั้งแต่ “เวลาเช้า ๒ โมง จนค่ำแล้วทุกวัน”

แม้ประสูติในพระบรมราชจักรีวงศ์ หรือทรงเป็น “เจ้านาย” หากแต่การปกครองโรงเรียนนายเรือและฝึกสอนวิชา ทำให้พระองค์ต้องทรงคลุกคลีกับนักเรียนนายเรืออย่างใกล้ชิด

ตามเรื่องที่จดจำและเล่าขานกันมา กรมหลวงชุมพรฯ มิได้ถือพระองค์ว่าเป็น “เจ้า – นาย” ทว่า ดูเหมือนว่าทรงปรารถนาจะเป็น “เจ้า – พ่อ” มากกว่า คือโดยฐานันดรศักดิ์ แล้วยังทรงเป็น “เจ้า” แต่ขณะเดียวกันก็ทรงประกาศพระองค์เป็น “พ่อ” และทรงถือเอานักเรียนนายเรือทั้งหมดเป็น “ลูก – ศิษย์” ของพระองค์

โดยเฉพาะช่วงที่ทรงกลับเข้ามารับราชการอีกครั้งหนึ่งนับตั้งแต่ปี ๒๔๖๐ พระอัธยาศัยในแง่นี้ยิ่งโดดเด่นมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะการออกพระนามโดยลำลองว่า “เสด็จเตี่ย” ซึ่งนับเป็น “สิ่งใหม่” ที่เกิดขึ้นในระยะนี้

เรื่องนี้อาจเกี่ยวข้องสืบเนื่องจากช่วง “ปีที่หายไป” เมื่อทรงต้องไปเป็น “หมอพร” อยู่หลายปี

เนื่องด้วยพระอัธยาศัยที่โปรดการใกล้ชิดคลุกคลีกับ “พวกเด็กๆ” จึงปรากฏหลักฐานบันทึกความทรงจำมากมาย ว่าทรงเอาพระทัยใส่เรื่องนักเรียนนายเรือและโรงเรียนนายเรือเป็นพิเศษ นับตั้งแต่วันสมัครเข้าเรียน จนถึงการออกฝึกภาคทางทะเล โดยเสด็จในกรมฯ มักทรงใช้สรรพนามแทนพระองค์ว่า “เตี่ย” อันน่าจะเป็นสาเหตุให้นักเรียนนายเรือพลอยเรียกพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย” ตามไปด้วย

พลเรือตรี ดาว เพชรชาติ (๒๔๔๕-๒๕๔๐) เล่าว่าเมื่อเดือนตุลาคม ๒๔๖๒ ตั้งแต่แรกเข้าเป็นนักเรียนนายเรือ ได้สมทบออกฝึกภาคทางทะเลพร้อมกับนักเรียนรุ่นเก่าบนเรือ “พาลีรั้งทวีป” ท่านบันทึกว่าครั้งแรกที่พบเสด็จในกรมฯ น่าจะเป็นเช้าวันถัดมาหลังจากที่เรือแล่นออกจากกรุงเทพฯ มีการหัดทำความสะอาด ล้างเรือ ตัวท่านเองถือไม้กวาด มีเพื่อนนักเรียนนายเรืออีกคนคอยสาดน้ำ

“…เสด็จในกรมจะประทับอยู่ในบริเวณนั้น หรือเสด็จมาจากไหนข้าพเจ้าไม่ทันได้สังเกต ตรงมายังข้าพเจ้า รับสั่งว่า ‘ไม่ถูก ไม่ใช่ทำอย่างนั้น’ พร้อมกับยื่นพระหัตถ์มาขอไม้กวาดไปจากข้าพเจ้า แล้วพระองค์ท่านก็เอาไม้ปลายไม้กวาดกดลงกับพื้นอย่างหนัก แล้วกวาดไปขวาทีซ้ายทีอย่างแรงๆ สัก ๓-๔ หน แล้วหันมาทางข้าพเจ้า รับสั่งว่า ‘ทำอย่างนี้-เอ้า’ ส่งไม้กวาดคืนให้กับข้าพเจ้า แล้วก็ทรงพระสรวลเบาๆ พร้อมกับหลีกนักเรียนไปยืนประทับทอดพระเนตรนักเรียนทำงานอยู่ทางท้ายเรือสุด…”

หลังจากนั้นอีกหลายวัน ขณะที่นักเรียนนายเรือ ดาว เพชรชาติ กำลังทำงานอยู่ทางท้ายเรือ นายทหารเรือคนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของพี่ชาย คือนายเรือเอก กลับ เพชรชาติ ผู้ถึงแก่กรรมไปแล้ว เดินจูงมือนักเรียนนายเรือหนุ่มไปเข้าเฝ้าเสด็จในกรมฯ พร้อมกราบทูลถวายตัวว่านักเรียนนายเรือนายนี้เป็นน้องชายของนายเรือเอกผู้ล่วงลับ

“…เสด็จในกรมฯ พยักพระพักตร์พร้อมกับรับสั่งว่า ‘จำได้ – ตากลับ – นักเรียนนายเรือเป็นลูกข้าทุกคน’…”


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ