ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรียบเรียงและถ่ายภาพ

อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ก่อน (และหลัง) ศาลปกครองสูงสุดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก กรณีชาวบ้าน ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขงฟ้องสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี

วันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ศาลปกครองสูงสุดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก กรณีเครือข่ายประชาชน ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง ฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี เนื่องจากเห็นว่าการสร้างเขื่อนไซยะบุรีเพื่อผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงจะส่งผลกระทบมาถึงคนไทย รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอีกกว่า ๖๐ ล้านคน

การฟ้องคดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๕ หรือผ่านมาร่วม ๑๐ ปีแล้ว ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ครั้งแรกที่มีการฟ้อง “คดีข้ามพรมแดน” ต่อศาลปกครอง

อ้อมบุญ ทิพย์สุนา อดีตเคยประกอบอาชีพเป็นแม่ค้าขายอาหารบริเวณชายหาดแม่น้ำโขง ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อความผันผวนปรวนแปรของระดับโขงน้ำรายวัน จนทำให้ต้องสูญเสียอาชีพที่รักไปตลอดกาล เฉกเช่นเดียวคนตัวเล็กตัวน้อยอื่นๆ ริมฝั่งแม่น้ำที่วางแผนการทำงานไม่ได้

ในฐานะ “ผู้ฟ้องคดีลำดับที่ ๔” และ “๑ ใน ๓๗ ผู้ฟ้องคดีเขื่อนไซยะบุรี” อ้อมบุญเดินทางไกลร่วมสิบชั่วโมงจากบ้านเกิดมายังศาลปกครองสูงสุด ริมถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อเข้าร่วมนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก

สิบปีที่ผ่านมา คดีนี้มีผู้เสียชีวิตระหว่างรอผลการตัดสินจำนวน ๓ คน ตามความเห็นของเธอแล้ว “ความล่าช้าคือความอยุติธรรม” เหนืออื่นใดสำหรับเครือข่ายประชาชน ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง คืออยากเรียกร้องให้ยุติการสร้างเขื่อนใหม่บนแม่น้ำโขง ทบทวนการซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน

“เพราะในขณะที่สถานการณ์ปัญหาถูกแก้ไขอย่างล่าช้า เรากังวลว่าระบบนิเวศของแม่น้ำโขงที่เสียหายไปจะไม่หวนคืนมา หากไม่ยุติการสร้างเขื่อนตัวต่อๆ ไป”

น้ำตาตกในแทนคนน้ำโขง

“อ่านเอกสารหมายแจ้งคำสั่งศาลคดีไซยะบุรี และสรุปข้อเท็จจริงของตุลาการเจ้าของสำนวนคดีทั้ง ๕๔ หน้า มากกว่า ๒ รอบ ด้วยความรู้สึกหลากหลาย โดยความเข้าใจส่วนตัว คำโต้กลับของหน่วยงานยังอยู่ในเรื่องเดิมๆ เช่น โครงการเขื่อนไซยะบุรีอยู่นอกเหนือเขตอธิปไตยของรัฐไทย ข้อมูลเปิดเผยไม่ได้, โครงการไซยบุรีไม่ใช่โครงการของรัฐไทยจึงไม่จำเป็นต้องทำตามระเบียบการรับฟังความเห็นของประชาชน, สิ่งที่ผู้ฟ้องกังวลเรื่องผลกระทบเป็นคำกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีหลักฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือ, เวที PNPCA เป็นการแจ้งเพื่อทราบ ไม่ใช่แจ้งเพื่อพิจารณา อ่านแล้วรู้สึกน้ำตาตกในแทนคนน้ำโขง”

“เขาบอกว่าเวที PNPCA เป็นการแจ้งเพื่อทราบ ไม่ใช่แจ้งเพื่อพิจารณา สรุปแล้วกระบวนการติดตามผลของการใช้ PNPCA คืออะไร เจตนารมณ์ของระเบียบนี้คืออะไร ถ้าไม่มีสถานะบังคับ หรือมีข้อกำหนดร่วมกัน จะมีคุณค่าตรงไหน ในเมื่อใครอยากทำอะไรก็ทำ วันหนึ่งข้างหน้า ปล่อยสารพิษมา เขื่อนแตกมา คนท้ายน้ำตายหมด ใครจะรับผิดชอบ”

ใครจะทำอะไร แล้วบอกว่าเป็นความลับที่เปิดเผยไม่ได้อย่างนั้นหรือ”

“เขาบอกว่าโครงการเขื่อนไซยะบุรีอยู่นอกเหนือเขตอธิปไตยของรัฐไทย เปิดเผยข้อมูลไม่ได้เพราะไม่ได้รับอนุญาตจากคู่สัญญาคือ สปป.ลาว อ่านแล้วเกิดคำถามขึ้นมาในใจทันที

“ที่โฆษณาว่าเขื่อนเป็นแบบน้ำไหลทิ้ง น้ำไหลเข้าเท่ากับน้ำไหลออก ไม่มีอ่างกักเก็บน้ำ ไม่กระทบกับระดับน้ำในแม่น้ำโขง แล้วหน่วยงานของรัฐไทย เช่น สทนช. กนช. หรือแม้กระทั่ง MRC แจ้งระดับน้ำขึ้นลงรายวัน ท้ายน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลง ระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมในประเทศท้ายน้ำพังเพพินาศ ข้อสงสัยว่าทางปลาผ่าน ลิฟท์ปลา การระบายตะกอนจะใช้งานได้จริงไหม สิ่งเหล่านี้จะหาคำตอบจากที่ใด ถ้าหากทุกอย่างเป็นความลับ

“ตกลงว่าใครจะทำอะไร แล้วบอกว่าเป็นความลับที่เปิดเผยไม่ได้อย่างนั้นหรือ”

สรุปคือไม่ใช่โครงการของรัฐไทยใช่มั๊ย”

“โครงการเขื่อนไซยบุรีไม่ใช่โครงการของรัฐไทย จึงไม่จำเป็นต้องรับฟังความเห็นของประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีปี ๒๕๔๘ ทั้งๆ ที่ไทยสร้าง ไทยลงทุน ไทยรับซื้อไฟฟ้าล่วงหน้าแล้วผลักภาระต้นทุนไว้อยู่บิลค่าไฟของคนไทย ไทยรับประโยชน์ในการขายไฟต่อ

“รัฐไทยทำหน้าที่จัดกระบวนการรับฟังความเห็นตามข้อตกลงแม่น้ำโขง ๒๕๓๘ ในฐานะประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง มีไทย สปป.ลาว เวียตนาม กัมพูชา แต่สรุปแล้วคือไม่ใช่โครงการของรัฐไทยใช่มั๊ย แล้ว สทนช. ที่อยู่ในฐานะหน่วยงานเลขาฯ MRC ของรัฐไทย มีบทบาทอะไร มีส่วนอย่างไร และมาทำอะไรในโครงการนี้”

ข้อมูลชาวบ้าน ข้อมูลเชิงประจักษ์ แทบไม่มีความหมาย

“งานวิจัยติดตามผลกระทบของ สทนช.เอง ที่เฝ้าทำรายงานติดตามเรื่องนี้บอกว่ามีผลกระทบชัดเจนทั้งการลดลงของปริมาณ ชนิดความหลากหลายของทรัพยากรสัตว์น้ำ ตลิ่งพัง เสียงบประมาณจำนวนมากในการทำเขื่อนกันตลิ่งพัง ตะกอนทรายย้ายที่ เทศกาลประเพณีคนลุ่มน้ำดำเนินการไม่ได้ น้ำขึ้นลงรายวัน ชาวบ้านสูญเสียอาชีพ รายได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ชัดเจนสุดๆ ในหลายปีที่ผ่านมา ข่าวออกโครมๆ แต่สรุปว่า ไม่มีหลักฐานน่าเชื่อถือใช่ไหม สิ่งที่ผู้ฟ้องกังวลเรื่องผลกระทบเป็นคำกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีหลักฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ สิ่งนี้เจ็บปวดเกินคำบรรยาย ข้อมูลชาวบ้าน ข้อมูลเชิงประจักษ์แทบไม่มีความหมาย แล้วข้อมูลแบบไหนที่น่าเชื่อถือ”