อีกแง่มุมหนึ่งของกรมหลวงชุมพรฯ ที่เพิ่งเป็นที่รับรู้กันในช่วงไม่กี่ปีมานี้ คือความสนพระทัยในเรื่องธรรมชาติวิทยา

เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๘ ระหว่างที่ ดร. องุ่น ลิ่ววานิช นักกีฎวิทยาอาวุโส เดินทางไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อนำตัวอย่างหิ่งห้อยที่เก็บสำรวจจากประเทศไทยไปศึกษาเปรียบเทียบกับหิ่งห้อยต้นแบบ (type specimen) ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาที่ลอนดอน เธอเล่าไว้ในรายงานข่าวของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ว่า

นักธรรมชาติวิทยา

“…ในพิพิธภัณฑ์จะมีการเก็บหิ่งห้อยต้นแบบแต่ละชนิดไว้ในลิ้นชัก มีป้ายบอกชื่อชนิดทางด้านหน้า ส่วนแหล่งที่มาของตัวอย่างและผู้ค้นพบจะมีรายละเอียดอยู่ในป้ายที่ปักไว้กับตัวหิ่งห้อย เนื่องด้วยเวลาที่มีอยู่นั้นน้อยมาก ทั้งอาจารย์และลูกศิษย์เองจึงต้องพยายามหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด ต้องช่วยกันถ่ายรูป วัดขนาด จดข้อมูลสำคัญของหิ่งห้อยแต่ละชนิดอย่างเร่งด่วน ซึ่งขณะนั้นเองอาจารย์ก็ได้พบหิ่งห้อย ๒ ตัว ซึ่งมีป้ายบ่งบอกว่ามาจากประเทศไทย จึงอยากรู้ว่ามาจากไหน หลังจากนำป้ายขึ้นมาอ่านดู ก็ต้องรู้สึกตกใจและยินดียิ่งนัก เมื่อพบว่าหิ่งห้อย ๒ ตัวนี้ ถูกมอบให้แก่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา โดยสมเด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์…”

จากการตรวจสอบข้อมูลกับเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ ดร.องุ่น ยังพบอีกว่า นอกจากหิ่งห้อยแล้ว กรมหลวงชุมพรฯ ยังส่งตัวอย่างแมลงชนิดอื่นจากสยาม เช่น ด้วง ตั๊กแตน ฯลฯ ให้แก่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย

การค้นพบข้อมูลหิ่งห้อยของเสด็จในกรมฯ ถือเป็นการเปลี่ยนความรับรู้ด้านประวัติศาสตร์ของวงการกีฏวิทยาไทยเลยทีเดียว เนื่องจากก่อนหน้านี้ หลักฐานการศึกษาหิ่งห้อยในประเทศไทยระบุไว้ว่า หิ่งห้อยตัวแรกที่นำมาศึกษาและเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์แมลง กองกีฏวิทยาและสัตววิทยา ได้รับจาก พันตรี ดับเบิลยู. อาร์. เอส. ลาเดลล์ นายทหารอังกฤษ ซึ่งจับได้เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๗๒ ขณะที่กรมหลวงชุมพร ฯ ส่งตัวอย่างหิ่งห้อยจากสยามไปให้พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา กรุงลอนดอน ศึกษาจำแนกชนิด มาแล้วตั้งแต่ปี ๒๔๖๔ หรือ ๘ ปีก่อนหน้านั้น

หลักฐานความสนใจด้านธรรมชาติวิทยาอีกชิ้นหนึ่งของเสด็จในกรมฯ คือหนังสือชุด The Cambridge Natural History อันเป็นตำราสำคัญที่เป็นหมุดหมายในประวัติศาสตร์การศึกษาวิชาสัตววิทยา (Zoology) ของโลก ประกอบด้วยหนังสือเรื่องสัตว์ต่างๆ จำนวน ๑๐ เล่ม ไล่เรียงตั้งแต่โปรโตซัว หนอนตัวแบน แมลง สัตว์เลื้อยคลาน นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ดังนี้

The Cambridge Natural History ทยอยจัดพิมพ์ขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ต่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ จนถึงช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ เฉพาะหนังสือส่วนพระองค์ของกรมหลวงชุมพรฯ ชุดที่กล่าวถึงนี้ ทุกเล่มมีตราประจำพระองค์รูปสุริยมณฑล กับคาถา “กยิรา เจ กยิราเถนํ” พร้อมลายเซ็นพระนามเป็นอักษรโรมัน Abhakara (อาภากร) เคยทราบมาว่าปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ ณ โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ โดยคุณสถาพร (เติม) เหรียญสุวรรณ สามีของท่านหญิงศิริมาบังอร เป็นผู้มอบให้เมื่อปี ๒๕๓๑

น่าเสียดายที่หนังสือชุดของเสด็จในกรมฯ ดังกล่าว ขาดเล่ม ๙ ที่เป็นเรื่องนก สันนิษฐานว่าอาจสูญหายตั้งแต่เมื่อนานมาแล้ว


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ