หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติได้ไม่ถึง ๘ ปี เมื่อเวลาย่ำรุ่งของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ กลุ่มนายทหารและพลเรือนที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร” ประกาศยึดอำนาจ ทำการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยาม จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย

“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๕๔ - ๒๔๗๕

“ทูลกระหม่อมบริพัตร” จอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระชันษาใกล้ ๕๑ ปี ผู้มีอำนาจเป็นรองแต่เพียงพระเจ้าอยู่หัว ถูกควบคุมพระองค์จากวังบางขุนพรหมทั้งชุดนอน เพื่อประทับเป็น “องค์ประกัน” ให้แก่คณะราษฎร ร่วมกับพระบรมวงศ์องค์อื่นๆ เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งคณะราษฎรยึดครองเป็นที่ตั้งกองบัญชาการ

ต่อมาอีกไม่กี่วัน สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตต้องเสด็จโดยสารรถไฟสายใต้ “ลี้ภัยการเมือง” ออกนอกราชอาณาจักร ตราบจนสิ้นพระชนม์ที่เมืองบันดุง เกาะชวา เมื่อเดือนมกราคม ๒๔๘๗ สิริพระชันษา ๖๓ ปี

ส่วนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงทราบข่าวการยึดอำนาจในกรุงเทพฯ วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ระหว่างทรงกอล์ฟอยู่ในสนามกอล์ฟหลวง พระราชวังไกลกังวล หัวหิน

วันรุ่งขึ้น คณะราษฎรส่งเรือรบหลวง “สุโขทัย” ไปพร้อมกับนายทหารเรือจำนวนหนึ่ง นำโดยผู้บังคับการเรือ คือนายนาวาตรี หลวงศุภชลาศัย เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือกราบบังคมทูล อัญเชิญให้เสด็จนิวัตพระนครและทรงรับเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญต่อไป ทว่าพระองค์ตัดสินพระทัยให้คณะราษฎรจัดขบวนรถไฟพระที่นั่งถวายเป็นพิเศษแทน

เมื่อเสด็จฯ นิวัตยังกรุงเทพฯ แล้ว พระองค์ทรงยินยอมเป็นกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญของระบอบใหม่ และพระราชทานรัฐธรรมนูญในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ปีเดียวกัน หากแต่ความขัดแย้งระหว่างพระองค์กับคณะราษฎรยังมีปะทุขึ้นเป็นระยะ จนในที่สุด ขณะประทับอยู่ในประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงมีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ และมิได้เสด็จนิวัตสยามประเทศอีกเลยกระทั่งเสด็จสวรรคต ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๔๘๔ พระชนมพรรษาได้ ๔๘ พรรษา

ทั้งนี้ หนึ่งในสามของแกนนำคณะราษฎรที่กระทำการ “อภิวัฒน์” ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ คือนายทหารเรือรุ่นหนุ่มระดับกลาง คือต่ำกว่านายนาวาโทลงมาทั้งสิ้น

ทั้งหมดล้วนเป็น “ลูกศิษย์” กรมหลวงชุมพรฯ

หากเพียงกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงมีพระชนม์ชีพยืนยาวจากปี ๒๔๖๖ อันเป็นปีที่สิ้นพระชนม์ มาอีกไม่ถึง ๑๐ ปี เมื่อถึงเดือนมิถุนายน ๒๔๗๕ “เสด็จเตี่ย” พระชันษา ๕๓ ปี อาจทรงดำรงตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของรัชกาลที่ ๗ เช่นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม

ผลที่เกิดขึ้นตามมาในประวัติศาสตร์จะเป็นเช่นไรทหารเรือยังจะเข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ หรือไม่

หรือหากยังมีแผนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นตามเดิม

ในเช้าวันนั้น พระองค์จะเป็นฝ่ายไหน และอยู่ที่ใด ?


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ