“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ 56 - Manhattan

ต้นทศวรรษ ๒๔๙๐ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม (๒๔๔๐-๒๕๐๗) หรือที่รู้จักกันในนาม “จอมพล ป.” วัย ๕๑ ปี หวนคืนสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี ๒๔๗๕ เขาคือหนึ่งในสมาชิกระดับแกนนำของคณะราษฎรสายทหารบก ผู้เข้าร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามตั้งแต่ยังเป็นนายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม จากนั้นเข้าสู่วงการเมือง ด้วยผลงานโดดเด่นจากการปราบกบฏบวรเดชในปี ๒๔๗๖ ในที่สุดได้รับเสียงสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี ๒๔๘๑ ตั้งแต่อายุเพียง ๔๑ ปี

จอมพล ป. คือผู้เปลี่ยนชื่อสยามเป็น “ประเทศไทย” และเป็น “ท่านผู้นำ” ที่ชักนำเอาประเทศไทยเข้าร่วมแกนอักษะกับนาซีเยอรมนีและจักรวรรดิญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรในปี ๒๔๘๕ ก่อนถูกสภาผู้แทนราษฎร “สอย” ร่วงจากเก้าอี้นายกฯ เมื่อปี ๒๔๘๗

หลังสงครามมหาเอเชียบูรพา ในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๐ เมื่อ “คณะทหารแห่งชาติ” ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนเดียวในประวัติศาสตร์ไทยที่เป็นนายทหารเรือ จอมพล ป. ก็ถูกจับเชิดขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกสมัยเมื่อปี ๒๔๙๑

นับแต่นั้นมาเขาก็ต้องเผชิญกับความพยายามโค่นล้มอำนาจครั้งแล้วครั้งเล่า และนี่เป็นอีกครั้งหนึ่ง

ราวบ่าย ๓โมง วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๔ ณ ท่าราชวรดิฐ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าพระบรมมหาราชวัง กลุ่มนายทหารเรือหนุ่มในนาม “คณะกู้ชาติ” นำโดยนาวาตรี มนัส จารุภา พยายามก่อรัฐประหารด้วยการจี้จับตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ระหว่างพิธีรับมอบเรือขุดลอกสันดอนชื่อ “แมนฮัตตัน” (Manhattan) จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

เหตุการณ์ที่ต่อมาจะรู้จักกันในนาม “กบฏแมนฮัตตัน” ยุติลงในอีก ๒-๓ วันต่อมา พร้อมกับความพินาศย่อยยับของกองทัพเรือ

เรือหลวง “ศรีอยุธยา” เรือปืนหนักขนาดใหญ่ที่สุดของราชนาวี ซึ่งรอดพ้นการโจมตีของฝ่ายสัมพันธมิตรระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพามาได้ ถูกเครื่องบินกองทัพอากาศไทยทิ้งระเบิดจนไฟไหม้ทั้งลำ จมลงในแม่น้ำเจ้าพระยาตรงปากคลองบางกอกใหญ่ ทั้งที่ขณะนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังถูกกักตัวไว้บนเรือ

ขณะที่การปะทะระหว่างทหารบกฝ่ายรัฐบาลกับทหารเรือลุกลามไปตามหัวมุมถนนต่างๆ ทั่วพระนคร คร่าชีวิตของทั้งสองฝ่ายและประชาชนนับร้อย

สุดท้ายเมื่อการยึดอำนาจล้มเหลวจนแปรสภาพเป็น “กบฏ” ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือจำนวนมาก นับตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารเรือลงมา กลายเป็นผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนสมรู้ร่วมคิด ถูกจับกุม คุมขัง หรือถึงขั้นปลดออกจากราชการ บรรยากาศหดหู่เศร้าหมองปกคลุมทั่วกองทัพเรือ อดีตนายทหารเรือท่านหนึ่งรำพันว่า “…ศักดิ์ศรีของทหารเรือไทย ได้ตกต่ำทรุดลงแต่วินาทีนั้นเป็นต้นมา นอกจากเสียเรือรบและชีวิตทหารแล้ว ดินแดนของทหารเรือยังถูกริบไปอีกหลายแห่งด้วย…”

ทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยที่เคยเป็นของทหารเรือ กลับถูกโอนให้ “เหล่าอื่น” เข้าปกครองแทน เช่น กองบินทหารเรือที่สัตหีบกลายเป็นหน่วยของกองทัพอากาศ วังนันทอุทยาน ธนบุรี ที่ตั้งโรงเรียนนายเรือสมัยแรก ถูกทหารบกเข้ายึดครอง ใช้เป็นที่ตั้งกองพันทหารช่าง

โดยเฉพาะกองสัญญาณทหารเรือ (สญ.) ที่อาจถือว่ามีประวัติสืบเนื่องมาแต่นักเรียนทัศนสัญญาณรุ่นแรกที่กรมหลวงชุมพรฯ ทรงฝึกหัดด้วยพระองค์เอง ถูกยุบเลิกหน่วยในปี ๒๔๙๖ และเป็นที่ตั้งโรงเรียนเตรียมทหาร


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ