เรื่อง : ลดาวัลย์ ตาไชยยศ
ภาพ : ภาพิมล วีระเกียรติกิจ

ตอกๆ ตำๆ รากเหง้าแห่งวัฒนธรรมทำพาน กับแนวทางสืบสานของคนสองรุ่น
คุณพิมพ์ศิริ สุวรรณนาคร สาธิตการตอกลายบนขันเงินตามแบบฉบับตรอกบ้านพาน อีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของย่านบางลำพูที่ค่อยๆ เลือนจาง ทิ้งไว้เพียงผลงานชั้นครูและคำบอกเล่าของคนในพื้นที่

“ถ้าเป็นไปได้หมิวก็อยากเกิดเป็นคนยุคนั้น อยากเห็นด้วยตาของตัวเองว่าเขาขึ้นรูป เคี่ยวชันกันยังไง ไม่ใช่แค่ถามจากยายและนึกภาพตาม เพราะตอนนี้มันไม่มีให้เห็นแล้ว”

ประโยคที่แฝงความเสียดายต่อศิลปะแขนงหนึ่งของเยาวชนหัวใจอนุรักษ์ หมิวพรชิตา บัวประดิษฐ อายุ 21 ปี พูดในฐานะไกด์เด็กเยาวชนผู้สืบทอดวัฒนธรรมผ่านเรื่องเล่า ถึงเครื่องเงินดุนลาย งานหัตถกรรมชั้นครูที่กำลังไร้ผู้สืบทอด ณ ย่านตรอกบ้านพาน แห่งบางลำพู

พูดถึงบางลำพู หลายคนคงรู้จักดีในฐานะย่านแห่งดุริยศิลป์และโรงพิมพ์เมื่อครั้งเราเรียกเมืองหลวงว่าพระนคร ทั้งขึ้นชื่อว่ามีช่างทำเครื่องเงินจากห้าตระกูล ที่ฝีมือถึงขั้นเป็นช่างประจำพระราชวังมาแล้ว

ช่างเงินสลักดุนเหล่านี้อาจอยู่ในพื้นที่ “บ้านพานถม” ใกล้ซอยวัดตรีทศเทพ ตามป้ายที่กรมการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานครได้ให้ข้อมูลไว้ แท้จริงแล้วทักษะและวิถีเครื่องเงินของช่างกลุ่มนี้ไม่เหมือนกับหัตถกรรมเลื่องชื่อจากนครศรีธรรมราชอย่าง “เครื่องถม” จึงมักถูกทำให้เข้าใจผิดว่า บ้านพานถมคือทำเครื่องถมเงิน ไม่ใช่เครื่องเงินสลักดุน จนถึงปัจจุบัน

เพราะไม่อยากให้ป้ายเป็นเครื่องมือสร้างความเข้าใจผิดให้กับนักท่องเที่ยว นักวิชาการท่านหนึ่งได้รวบรวมข้อมูลและอธิบายประวัติย่านหัตถกรรมช่างเงินสลักดุนลายทั้งห้าตระกูลไว้ การเรียบเรียงที่น่าสนใจถือเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญให้แก่การอนุรักษ์หัตถกรรมเครื่องเงินประเภทนี้และผู้ที่สนใจศึกษาตรอกบ้านพานได้เป็นอย่างดี

toktok02
พิมพ์ศิริ สุวรรณนาคร หรือยายหมู บรรยายถึงประวัติความเป็นมาของเครื่องเงินดุนลาย ขณะที่หมิว-พรชิตา บัวประดิษฐ ไกด์เด็กบางลำพูผู้เป็นหลานนั่งฟังอยู่ไม่ห่าง

เครื่องเงินดุนลายแห่งพระนคร

บันทึกที่ผ่านการเรียบเรียงจาก วลัยลักษณ์ ทรงสิริ บนเว็บบล็อก ถึงตรอกบ้านพาน แหล่งรวมช่างเงินห้าตระกูล ที่เคยรุ่งเรืองตั้งแต่ช่วงต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ แม้ไม่ได้มีหลักฐานอย่างชัดเจนว่างานหัตกรรมแขนงนี้มีที่มาและต้นกำเนิดอย่างไรที่บ้านพาน

แต่จากบทสัมภาษณ์ ละออศรี รัชตะศิลปิน หรือยายออ ทายาทแห่งตระกูลช่างทำพานเงินที่สืบเชื้อสายจากทางเวียงจันทน์ กล่าวว่า เดิมทีตรอกบ้านพานมีการทำพานเงินหรือขันดุนลายกันอยู่แล้ว ภายหลังราวปี 2453 มีการฟื้นฟูสนับสนุนการเรียนการสอนของหัตถกรรมเครื่องถมนครศรีธรรมราชในพระนครสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน แต่เพราะวิธีการที่ซับซ้อนกว่า จึงไม่เป็นที่นิยมทำในตรอกบ้านพานกันนัก ทั้งนี้ในห้วงเวลาของความรุ่งโรจน์ของเครื่องเงินดุนลาย มี “ห้างไทยนคร” จำหน่ายสินค้าเครื่องถมนครและเครื่องเงินดุนลายในพื้นที่นี้ด้วย

ข้อมูลจากหนังสือ สลักดุน ภูมิปัญญาเชิงช่าง จากอดีตสู่ปัจจุบัน ได้รวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติและลักษณะงานสลักดุนในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านเอาไว้ถึงงานหัตถกรรมเครื่องเงินดุนลายหรือสลักลาย ณ ตรอกบ้านพาน ว่าคือหัตถกรรมการดุนโดยใช้วิธีการสลักดุนลวดลายเบา คือการย้ำรอยลงไป ไม่ได้ตอกดุนลายขึ้นมาให้นูนจนเห็นชัดมาก การย้ำรอยลายนิยมทั้งในพานและขันเงินเรียกว่าขันน้ำพานรอง ทักษะและวิธีการของหัตถกรรมที่โดดเด่นได้รับการสืบทอดให้แก่ทายาทเหล่านายเตาห้าตระกูลของตรอกบ้านพาน จนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบทอดต่อกันมาที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้

toktok03
สายตาของยายหมูสะท้อนแววเศร้าลึก ขณะเล่าถึงการเปลี่ยนผ่านจากยุคสมัยของขันเงินดุนลายที่มากด้วยคุณค่าทางภูมิปัญญา สู่อุตสาหกรรมขันอะลูมิเนียมที่มาพร้อมราคาอันย่อมเยาและความสะดวกสบาย

วิถีตอกทำเครื่องเงิน วิถีตอกย้ำสัมพันธ์ชาวช่าง

“จากที่ได้ยินยายเล่ามา เขามีทั้งวิธีขึ้นรูป ใช้ชันที่ทำจากยางไม้ใส่รูปพานหรือขัน จากนั้นใช้สิ่วสลักดุนให้เป็นลวดลายต่างๆ ส่วนมากลายที่ทำจะเป็นลายกระหนก หรือถ้าคนที่มีฐานะหน่อยก็สั่งทำลายพิเศษ ถ้าละเอียดกว่านี้จริงๆ หนูไม่แน่ใจแล้วค่ะ”

หมิวอธิบายวิธีการทำพานจากสิ่งที่ตนเองได้ยินมาจากยายของเธอ และยังบอกอีกว่า ที่ไม่สามารถเล่าถึงรายละเอียดได้มากขนาดนั้นเป็นเพราะไม่เคยเห็นมาก่อน แน่นอนว่าบุคคลสำคัญที่จะมาสาธิตให้กระจ่างว่าวิถีหัตถกรรมช่างเงินแบบดั้งเดิมเป็นอย่างไร คงเป็นใครไม่ได้นอกจากยายของเธอเอง

พิมพ์ศิริสุวรรณนาคร หรือยายหมู อายุ 80 ปี ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยฝากฝีไม้ลายมือการเป็นช่างเหยียบพื้นสลักดุนพาน ได้พูดถึงกระบวนการทำขันดุนลายผ่านความทรงจำห้าขั้นตอน

ตั้งแต่กระบวนการแรกของการขึ้นรูปพานหรือภาชนะที่ต้องการ ตามด้วยการเคี่ยวชัน เพื่อรองรับน้ำหนักของการสลักดุนลาย ต่อด้วยช่างสลักจะเริ่มบรรเลงสลักทำให้เกิดลวดลายที่แสนประณีตขึ้นมา เคี่ยวชันไม้ออก จบด้วยการขัดรูปให้ผิวเรียบเป็นภาชนะพร้อมใช้งาน

ยายหมูบอกว่าตนเองรับหน้าที่เหยียบพื้นหรือสลักดุนลาย โดยช่างแต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน คนสลักดุนลายย่อมมีลักษณะการสลักที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวเอง ปัจจุบันยายหมูอายุได้ 80 ปีแล้ว คงไม่เป็นที่ครหาว่าไม่เจนจัดในเรื่องของการสลักดุน เพราะสลักมาแล้วนับไม่ถ้วน

“ตั้งแต่เป็นไกด์เด็กมา มีคนมากมายถามถึงลายที่ยายชอบมากที่สุดในชีวิต และมักมีคำตอบเดียวที่ยายจะตอบทุกคนว่า ไม่เคยมีลวดลายใดที่ยายหรือช่างคนอื่นบรรจงทำขึ้นโดยไร้ทักษะและความมั่นใจ จะกี่การขึ้นรูป เหยียบหรือสลักดุนลาย ทุกขั้นตอนล้วนมาจากความมุมานะจนกลายเป็นความภูมิใจ ดังนั้นจะสลักออกมาอีกสักกี่ลายล้วนแล้วแต่คือลายที่ชอบ”

ความภูมิใจของยายได้รับการถ่ายทอดผ่านหมิวอีกครั้ง ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นครั้งที่เท่าไรแล้ว แต่จากแววตาของหมิวเหมือนจะรู้ได้ว่า ความภูมิใจของยายหมูและช่างฝีมือสมัยนั้นจะถูกแบ่งปันผ่านตัวหมิวและไกด์เด็กอีกแน่นอนในอนาคต

ความเอื้ออาทรของชุมชนสมัยเก่ายังตราตรึงในความทรงจำของยายหมู เพราะนอกจากเครื่องเงินที่สร้างชื่อให้กับตรอกบ้านพาน ยังเป็นตัวเชื่อมสายใยของช่างฝีมือจากต่างตระกูลอีกด้วย

“ทุกขั้นตอนต้องใช้ช่างคนละคนนะ ขึ้นรูปคนหนึ่ง สลักคนหนึ่ง เคี่ยวชันคนหนึ่ง ขัดเงาคนหนึ่ง ทุกคนถนัดไม่เหมือนกัน นายเตาแต่ละบ้านมีช่างของตนเอง แต่ยืมช่างกันได้หมดนะ เขาไม่หวงช่างกัน”

ความมีน้ำใจของคนไทยได้ถูกยืนยันโดยยายหมูอีกเสียง เล่าถึงช่างฝีมือเครื่องเงินของเหล่านายเตาแต่ละบ้าน ว่าสามารถยืมแรงช่วยเหลือบ้านนายเตาสักตระกูลหนึ่งเมื่อขาดคน

อีกนัยหนึ่งจากการที่ช่างฝีมือไม่พอต่อการผลิตเครื่องเงินแต่ละครั้งนั้น สันนิษฐานได้ว่าธุรกิจหรือวิถีการทำเครื่องเงินดุนลายในสมัยนั้นเป็นที่นิยมมากแค่ไหน ในทางกลับกัน ปัจจุบันธุรกิจเครื่องเงินดุนลายได้สืบทอดผ่านตัวหมิวผู้ไม่เคยเห็นวิธีการจริงเลยสักครั้ง

แม้จะเป็นธุรกิจที่เลื่องลือในสมัยนั้น แต่กลับไม่มีการแข่งขันหรือแย่งชิงความโดดเด่นแต่อย่างไร กลับช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกผ่านแรงงานและทักษะฝีมือชั้นยอดให้แก่กันและกัน

หรือเพราะความเป็นชุมชนเมืองได้เริ่มกลืนกินความเป็นวิถีชุมชนดั้งเดิม ทำให้ความใกล้ชิดแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยของผู้คนค่อยๆ หายไป ความสะดวกสบายก็ได้กลืนกินทักษะของเหล่าช่างทั้งหลายให้หายไปตามกันด้วย

toktok04
ลวดลายต่างๆ บนขันเงินจะแตกต่างกันออกไปตามความถนัดของช่างฝีมือแต่ละบ้านที่สืบทอดอาชีพนี้ในอดีต เช่น เทพพนม ดอกพิกุล หอยสังข์ เป็นต้น
toktok05
รอยยิ้มของยายหมูและหมิว ยายหลานซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของคนสองรุ่นที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการอนุรักษ์มรดกของชุมชนบางลำพูให้คงอยู่เหนือกาลเวลา

ภูมิปัญญา กาลเวลา และความเปลี่ยนแปลง

กว่าจะเป็นภาชนะหนึ่งใบจะใช้เวลานานมาก ราคาจากความประณีตและตั้งใจหลอมหลวมให้มูลค่าของเครื่องใช้จากหัตถกรรมประเภทนี้สูงตามไปด้วย

เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ยุคสมัยและเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตของชาวบ้าน เครื่องใช้อะลูมิเนียมผลิตโดยวิธีปั๊มลายจากเครื่องจักรเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การทำเครื่องเงินดุนลายเดินทางมาถึงจุดจบและกลายเป็นตำนานที่สืบสานผ่านเรื่องเล่าแทน

ระหว่างการอธิบายกระบวนการทำเครื่องเงินดุนลาย น้ำเสียงที่มั่นใจไม่สะดุดของยายหมู ทำให้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคือทายาทผู้เคยเห็นและลงมือเหยียบพื้นด้วยตนเอง ท่าทางการสาธิตของยายหมูที่ชำนาญจนทำให้ผู้ที่เข้ามาศึกษาเรื่องเครื่องเงินดุนลายจดจ่อกับการสาธิตมาก

อาจเป็นเพราะมีเพียงยายหมูคนเดียว ณ เวลานี้ที่จะสามารถทำให้ทุกคนได้เห็นกระบวนการทำอย่างชัดเจน แต่คงไม่ละเอียดมากพอจนเห็นว่า เปลวไฟที่ลุกโชนขณะขึ้นรูปภาชนะมีลักษณะพลิ้วไหวอย่างไร นั่นเพราะแม้แต่ยายหมูเองตอนนี้ก็ไม่มีเตาเผาอีกแล้ว

เธอยังบอกอีกว่า เด็กยุคนี้ไม่ได้สนใจการทำที่ใช้เวลานานแบบนี้ เพราะเมื่อการปั๊มภาชนะแบบง่ายและราคาถูกกว่าหลายเท่าเข้ามาแทนที่ บ้านที่เคยทำงานฝีมือจึงต้องปรับตัวทิ้งมรดกทางภูมิปัญญานี้ไป รุ่นลูกหลานต่อจากนั้นก็ไม่ได้รับสืบทอดจนถึงปัจจุบัน

“ป้าเคยพยายามติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อที่จะทำศูนย์อนุรักษ์ เพราะไม่อยากให้มันหายไป ป้าลองทุกอย่างแล้ว แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ป้าทำอะไรไม่ได้เลย”

แววตาที่เศร้าหมอง น้ำเสียงสั่นเครือของยายหมูบ่งบอกถึงความอัดอั้นใจต่อความพยายามของตนเองที่ไม่ได้รับการสนับสนุนและจำใจยอมปล่อยให้มรดกทางภูมิปัญญาชิ้นนี้สูญหายไปพร้อมกับตนเอง แม้จะมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาศึกษาและรวบรวมข้อมูลไปหลายต่อหลายรุ่นก็ตาม

เรื่องราวดำเนินไปตามกาลเวลา ผ่านสายตาของหมิวที่อยู่กับยายหมูแต่เล็กจนโต กระทั่งหมิวได้ตระหนักถึงคุณค่าของงานหัตถกรรมแสนล้ำค่านี้ สู่การเป็นไกด์เด็กเยาวชนรุ่นแรกให้กับกลุ่มเกสรลำพู

toktok06
หมิว หนึ่งในสมาชิกไกด์เด็กบางลำพู บรรยายถึงความเป็นมาของชมรมเกสรลำพู เบื้องหลังเธอคือผนังสีสันสดใสของอาคารที่พวกเธอใช้เป็นที่ทำการชมรมนั่นเอง
toktok07
พิพิธบางลำพู อาคารคอนกรีตเรียบง่ายสองชั้นริมถนนพระสุเมรุ สถานที่ที่ขันดุนลาย และมรดกทางภูมิปัญญาอื่นๆ ของชุมชนบางลำพูจะมีลมหายใจผ่านการบอกเล่าสืบไป ผ่านความร่วมมือของคนในชุมชนและเยาวชนรุ่นใหม่

คนต่างรุ่น ต่างแนวทาง เพื่อเป้าหมายเดียว

“มีหลายหน่วยงานเข้ามาศึกษา ยายออกับยายมักเป็นคนสาธิตเสมอ ตอนที่ยายสาธิตให้คนอื่นดู หมิวไม่ได้คิดว่ามันวิเศษอะไร แต่ก็รู้ว่าบ้านเรามีภาชนะชนิดนี้นะ จนกระทั่งได้เป็นไกด์ให้กับกลุ่มเยาวชนเกสรลำพูนั่นแหละถึงรู้ว่า เครื่องเงิน พาน ขัน ของเหล่านั้นเป็นของดีต้องรักษา”

หมิวเริ่มต้นจากการเป็นอาสาสมัครตั้งแต่อายุ 15 ปีจากการชักชวนของเพื่อนในกลุ่มเกสรลำพู กลุ่มเยาวชนที่ขับเคลื่อนเพื่อรักษาวัฒนธรรมชุมชนย่านบางลำพู

ถึงแม้ก่อนหน้านี้มักเห็นยายเอาพาน ขัน ออกมาตอกให้คนอื่นดู แต่เพราะหมิวเด็กมากจึงไม่มีความสนใจพิเศษอะไรกับเครื่องเงินภาชนะเหล่านั้น แต่เพราะเริ่มรู้สึกผูกพันกับวัยที่รู้ความมากขึ้น การเป็นอาสาสมัครชุมชนจึงเป็นจุดเปลี่ยนทำให้หมิวได้เริ่มศึกษาประวัติและวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างแท้จริง

แม้เติบโตภายในพื้นที่ แต่กลับไม่รู้ว่าสถานที่บางแห่งหรือสิ่งบางสิ่งนั้นเคยรุ่งโรจน์ในสมัยเก่า ตอนนี้กำลังไร้ผู้สืบทอด โดยเฉพาะ “ภาชนะเหล่านั้น” คำที่หมิวใช่เรียกหัตถกรรมชั้นครู ผ่านช่วงชีวิตของหมิวตอนวัยเยาว์ หัตถกรรมเครื่องเงินดุนลายจากต้นตระกูลของตนเอง

เมื่อตระหนักได้ถึงคุณค่าของสิ่งที่กำลังจะหายไป หมิวและไกด์เด็กจึงมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้เผยแพร่และสืบทอดมรดกชิ้นนี้และของดีชิ้นอื่นๆ ในชุมชนที่กำลังถูกล้อมด้วยระบบทุนนิยม ให้มีกลิ่นอายของความเป็นชุมชนพึ่งพาอาศัยกันแบบดั้งเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะคำว่าอนุรักษ์ให้คงอยู่ ไม่สูญหาย-ไร้ผู้สืบทอด ความหวงแหนในวัฒนธรรม จึงเป็นเป้าหมายเดียวกันของทั้งสองรุ่น

คนต่างรุ่นย่อมมีความคิดและกระบวนการทำงานที่แตกต่างกัน จึงต้องมีการปรับตัวให้อยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจและรับฟัง เป็นการทำงานด้วยกันที่ดีที่สุด อย่างหมิวกับยายหมูที่มีบทบาทนอกเหนือจากยายหลานก็คือคนทำงานเพื่อสืบทอดวัฒนธรรม

“ในฐานะผู้นำ หมิวมองว่ายายเขาเป็นที่พึ่งและได้รับความไว้วางใจจากทุกคน แม้ปัญหาเพียงเล็กน้อยยายก็ช่วยแก้ไขเสมอ”

ยายหมูที่อยู่ในฐานะผู้นำชุมชนและเสาหลักของการถ่ายทอดเรื่องเครื่องเงินดุนลายร่วมกับยายออ-ละออศรี รัชตะศิลปิน ได้รับการเคารพทั้งผู้ใหญ่และยุวชนอย่างกลุ่มไกด์เด็กเป็นอย่างมาก

แม้สุดท้ายตอนนี้ยังไม่มีหนทางในการรักษามรดกชิ้นนี้ให้เห็นเป็นรูปธรรม แต่ทางกลุ่มไกด์เด็กที่คอยเก็บข้อมูลอยู่เสมอจะบันทึกเรื่องราวภาชนะดุนลายเป็นข้อมูลสำคัญในหนังสือประวัติชุมชนในอนาคตอย่างแน่นอน เรื่องราวที่ไม่ใช่แค่เรื่องเล่าจากไกด์เด็กที่ได้รับฟังเรื่องเล่าจากผู้ใหญ่มาอีกที

“ถามว่าเสียดายไหม ตัวหมิวเสียดายนะ เพราะถ้าเป็นไปได้ หมิวก็อยากเกิดเป็นคนยุคนั้น อยากเห็นด้วยตา ของตัวเอง ว่าเขาขึ้นรูป เคี่ยวชันกันยังไง ไม่ใช่แค่ถามจากยายและนึกภาพตาม เพราะตอนนี้มันไม่มีให้เห็นแล้ว”

อย่างไรก็ตามจุดหมายสุดท้ายของเครื่องเงินดุนลายในทางของหมิวคือตั้งอยู่ใน “พิพิธบางลำพู” เพื่อแสดงให้คนทั่วโลกได้เห็นถึงหนึ่งในงานหัตถกรรมชั้นครูประเภทนี้ ณ ห้วงเวลาหนึ่ง และทางป้าหมูเองยังคงมีความหวังเล็กๆ ผ่านคำพูดนี้ว่า

“ต่อไปข้างหน้า หากมีใครสักคนมาเอาความรู้ตรงนี้ไปอนุรักษ์ แม้รูปลักษณ์หรือวิธีการจะไม่ใช่การทำเครื่องเงินดุนลายแบบโบราณ ขอแค่ได้ชื่อว่ารากเหง้าของภาชนะในยุคใหม่นั้น มาจากตรอกบ้านพานแห่งบางลำพูก็พอแล้ว”

อ้างอิง

  • เผ่าทอง ทองเจือ. สลักดุน ภูมิปัญญาเชิงช่าง จากอดีตสู่ปัจจุบัน. พิมพ์ครั้งที่ 1. บริษัท เนติกุลการพิมพ์ จำกัด, 2559, หน้า 86.
  • วลัยลักษณ์ ทรงสิริ. “ปิดฉาก” งานช่างชั้นครูที่ครอกบ้านพาน. สืบค้น 15 กรกฎาคม 2565 จาก “ปิดฉาก” งานช่างชั้นครูที่ตรอกบ้านพาน