สัมภาษณ์ : สุเจน กรรพฤทธิ์
ถ่ายภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

cyprusthai00

เรื่องหนึ่งที่คนจำนวนมากอาจไม่ทราบคือ ในเมืองไทย เรามี “กงสุลกิตติมศักดิ์” อันถือเป็นตัวแทนของประเทศที่ไม่มีสถานเอกอัครราชทูตในไทยจำนวนมากถึง 61 ชาติ และงานของ “กงสุลกิตติมศักดิ์” ก็มิได้เบาหรือน้อยกว่า “เอกอัครราชทูต” หรือ “อุปทูต” (รองเอกอัครราชทูต) แต่อย่างใด

ด้วยคนไทยที่ทำหน้าที่ “ตัวแทน” ประเทศอันห่างไกล (ด้วยระยะทาง) เหล่านี้ ต้องอาศัยความเป็นคนท้องถิ่นประสานงานกับรัฐบาลของตน ทำงานแทนเอกอัครราชทูตที่อาจจะอยู่ห่างออกไปนับพันกิโลเมตร ในนามของรัฐบาลต่างประเทศ

สารคดี พบเรื่องราวน่าสนใจใน “โลกการทูต” ที่คนไทยจำนวนมากอาจไม่เคยรับรู้ ระหว่างสนทนากับ ปณิธิ วสุรัตน์ กงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐไซปรัส ประจำประเทศไทย รวมถึงเรื่องราวของ “ไซปรัส” ประเทศที่คนไทยจำนวนมากอาจไม่คุ้นหู และคงมีคำถามแรกว่า “อยู่ตรงไหน” และ “ทำไมเราต้องสนใจไซปรัส”

“ผมไม่อยากให้คนไทยตกขบวนรถไฟไซปรัส” - ปณิธิ วสุรัตน์ กงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐไซปรัส ประจำประเทศไทย

ปณิธิ วสุรัตน์ : ผมได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ไซปรัสประจำประเทศไทยในปี ค.ศ.2011 ปีนี้เป็นปีที่ 11 แล้ว กงสุลกิตติมศักดิ์คนก่อนคือคุณพ่อของผม (ดร.จิรายุ วสุรัตน์) ผมไม่เคยคิดจะรับตำแหน่งนี้มาก่อน จนคุณพ่อถึงแก่อสัญกรรมกะทันหันตอนอายุ 62 ปี (ค.ศ. 2008) เอกอัครราชทูตไซปรัสที่ดูแลความสัมพันธ์กับไทยสมัยนั้นก็ยังคงประจำอยู่ที่กรุงนิวเดลี (อินเดีย) ท่านก็มาปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ในไทยในปี ค.ศ.2009 และจัดการเรื่องเอกสารที่คั่งค้าง ตอนนั้นผมก็ช่วยนัดหมายให้เข้าพบกับคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ประธานรัฐสภา รมว.พาณิชย์ องคมนตรี ฯลฯ ปรากฏว่าตอนเอกอัครทูตจะกลับก็ชวนผมว่าจะรับตำแหน่งนี้หรือไม่

ผมขอเวลาตัดสินใจอยู่ 3 เดือนก็ตัดสินใจรับ เราเริ่มจากไม่รู้ขั้นตอนอะไรเลยเพราะไม่ใช่นักการทูตอาชีพ ตอนนั้นผมอายุ 40 ปี ที่ผ่านมาก็แค่ช่วยคุณพ่อต้อนรับเอกอัครราชทูตบางครั้ง และเราเป็นนักธุรกิจมากกว่า (เจ้าของร้านอาหาร “ภรณี”) ปรกติถ้าเราไม่รับทางไซปรัสก็ต้องหาคนใหม่ ทางแรกคืออาจถามมายังกระทรวงการต่างประเทศไทยให้แนะนำคนให้ อีกทางคือเสนอตั้งเองแบบที่ทาบทามผม

ภารกิจหลักคือเป็นตัวแทนของสาธารณรัฐไซปรัส คอยประสานกับหน่วยงานของไทยไม่ว่าจะรัฐบาล เอกชน ดูแลคนไซปรัสที่เดินทางมาเมืองไทยกรณีมีความเดือดร้อน ไม่ต่างกับเวลาคนไทยไปต่างประเทศมีปัญหาก็จะติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลในต่างประเทศ

การเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ เราต้องหาทีมงานและออกค่าใช้จ่ายเอง เป็นความตั้งใจแต่ต้นว่าเราต้องการช่วยประเทศไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ค่าธรรมการทำวีซ่าที่เราเก็บได้ ทางไซปรัสจะให้กับสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ที่กรุงเทพฯ ครึ่งหนึ่ง รายได้ตรงนี้ใช้จ่ายเงินเดือนพนักงานคนหนึ่งก็หมดแล้ว ส่วนมากคนที่เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์จะใช้วิธีจัดการคือ เราใช้เลขาของเราดูแลงาน กรณีผมก็จ้างเจ้าหน้าที่คนหนึ่งดูแลขั้นตอนการขอวีซ่าไซปรัสแบบเต็มเวลา กรณีกงสุลกิตติมศักดิ์ของประเทศอื่นก็คล้ายกัน อย่างกรณีของคุณ สนั่น อังอุบลกุล ท่านก็มีฝ่ายทำงานของบริษัท ศรีไทย ซูเปอร์แวร์ อยู่แล้ว เราจึงบริหารคล้ายกับเอกชนมากกว่า

เรามี สมาคมกงสุลกิตติมศักดิ์ (ประเทศไทย) คล้ายเป็นศูนย์กลางข้อมูล ผมเองก็เป็นกรรมการสมาคมฯ และได้รับคำแนะนำจากหลายท่านที่อยู่ที่นั่นในช่วงแรกว่าต้องทำงานอย่างไร ในสมาคมยังมีกงสุลกิตติมศักดิ์อีกแบบคือ ประเทศต้นทางมีสถานทูตในกรุงเทพฯ แต่ขยายงานไปยังจังหวัดสำคัญโดยใช้คนในท้องถิ่นหรือคนไทย เช่น คุณศุภกิจ เจียรวนนท์ เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ของรัสเซียที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น จะเห็นว่าประเทศต้นทางจะเลือกคนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและมีศักยภาพ จะเห็นว่าสามารถตอบสนองภารกิจ กรณีงานมมีมากขึ้น ค่อยไปขั้นต่อไปว่าจะส่งเจ้าหน้าของตนมาเอง

cyprusthai02

ปณิธิ วสุรัตน์ : คนไซปรัสรู้จักเมืองไทยในมุมบวกมาก โดยเฉพาะสามเมือง กรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา โดยภูเก็ตเป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวไซปรัสที่มีฐานะ เขานิยมมาแต่งงานกันที่ภูเก็ต ผมเองก็ไม่เข้าใจเรื่องนี้มากนัก คิดว่าคงต้องหาโอกาสลงไปดูงานแต่งงานของคนไซปรัสที่ภูเก็ตเหมือนกันครับ นอกจาก 3 แห่งนี้ อาจมีเกาะพะงัน เกาะสมุยเข้ามาในความรับรู้ด้วย

งานหลักของผมส่วนหนึ่งคือดูแลนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ มีหลายคนมาขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นรายหนึ่งกระเป๋าลากหายที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในนั้นมียาและหนังสือเดินทาง เขาต้องมาเริ่มกระบวนการทำหนังสือเดินทางและหายากินใหม่ทั้งหมด อีกรายเป็นวัยรุ่นลูกครึ่งไทยกับไซปรัส กลับไซปรัสไม่ได้ นั่งแท็กซี่มาที่สถานกงสุลเพราะเจอปัญหาเรื่องการลงตราหนังสือเดินทางซึ่งเป็นกรณีพิเศษมากที่เราไม่เคยพบ

ตอนโควิดระบาดหนักในปี ค.ศ.2020 น่านฟ้าปิด เราต้องหาทางให้คนไซปรัสที่อยากกลับได้กลับ มันท้าทายมากเพราะไซปรัสเป็นประเทศเล็กไม่มีเครื่องบินมารับคนของตัวเอง เราต้องจัดการปัญหานี้ตั้งแต่การรวมคน หาที่พัก หาสายการบินให้กลับ รู้ก่อนแค่ 2 วันว่าจะมีเที่ยวบินของเยอรมันที่เราสามารถส่งคนไปด้วยได้ โดยเราส่งไปให้ถึงยุโรปเพื่อให้รัฐบาลไซปรัสมารับไม้ต่อ

cyprusthai03

ปณิธิ วสุรัตน์ : ในแง่ของการท่องเที่ยว ในโลกนี้มีร้อยกว่าประเทศ ไซปรัสน่าสนใจตรงที่ไม่ได้เดินทางไปยากลำบากมากนัก เป็นประเทศที่เพิ่งเปิดตัวสู่โลกภายนอก ผมเองเดินทางไปก็พบแง่มุมใหม่ๆ เราชอบพูดกันว่าไทยไม่เคยตกเป็นอาณานิคม แต่ทางไซปรัสคิดตรงข้าม เขาบอกว่าเขาโดนปกครองมาหลายรอบจนเป็นอย่างที่เขาเป็นในตอนนี้ ถนนหนทางก็ได้จากสมัยเป็นอาณานิคมอังกฤษ เป็นต้น แค่ไปเที่ยวผมคิดว่าก็คุ้มมากๆ แล้ว

ไซปรัสอาจเล็ก ส่วนตัวผมแนะนำให้ลองไปเที่ยวสัก 10 วัน ไปเที่ยวเมืองต่างๆ เมืองละ ๒ วัน คนไซปรัสตอนนี้ยังมีความเป็นชุมชนสูง เป็นมิตรมาก ไทยก็เคยเป็นแต่เราเร่งรีบมากขึ้นจากภาวะแวดล้อม สิ่งที่มีอยุ่ที่ไซปรัสจึงหายากมากในโลกสมัยนี้ อาหารของเขาก็อร่อยมาก แต่ด้วยความที่ปลูกตอบสนองตลาดในประเทศมันก็ไม่สามารถส่งออกได้ น้ำมันมะกอก มะเขือเทศ ดีมากๆ เพราะมันธรรมชาติ อาหารที่คนไทยอาจรู้จักดีมากคือ “ฮารูมีชีส” (Hallumi Cheese) ที่มีถิ่นกำเนิดในไซปรัส แต่ตอนนี้ผลิตมาขายจากออสเตรเลีย แต่ต้นฉบับอร่อยกว่ามากและต้องไปกินที่นั่น

ในไซปรัสยังมีแหล่งโบราณสถานอีกมากที่เป็นอารยธรรมกรีก บางอาจถามว่าทำไมไม่ไปกรีกเสียเลย ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นความชอบส่วนบุคคล แต่ในไซปรัสมีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายและน่าสนใจมากๆ ทางด้านคนไซปรัสเองก็ยังไม่รู้จักไทยนอกจากการเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ส่วนมากเขาคุ้นกับยุโรปมากกว่า และตรงนี้เราต้องร่วมกันทำให้จำนวนเพิ่มมากขึ้น

ประเด็นทางเศรษฐกิจน่าสนใจตรงที่ในไซปรัสการแข่งขันยังไม่สูง มีโอกาสเยอะมาก ในไซปรัสยังไม่มีเครือโรงแรมขนาดใหญ่เข้าไปเปิดกิจการ เดิมเขามีแต่โรงแรมที่เป็นกิจการครอบครัว เขาอยู่มาได้และเรามองว่ามันสามารถยกระดับได้ ผมคุยกับนักธุรกิจสปาคนไทยว่า ในไซปรัสแค่เรื่องสบู่ เราก็มีโอกาสเข้าไปทำตลาดแล้ว เพราะเขามีประชากรล้านกว่าคน แต่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปปีละตกสี่ล้านกว่าคน เรื่องนี้เราโดดเด่นและไม่มีใครไปแข่งกับเราด้วย หรือกรณีที่ไซปรัสมีคนชอบไปเกษียณและอาศัยที่นั่น ธุรกิจเรื่องสุขภาพก็มีโอกาสอีกมาก

ผมจำได้ว่าราว ค.ศ.2015 มีนักธุรกิจไทยไปซื้อที่ดินในไซปรัสเพราะภาษีต่ำ และที่ดินที่ได้ติดทะเล ปรากฎว่าจากเดิมตั้งใจซื้อแค่ 2 ล้านยูโร กลายเป็นซื้อเพิ่มอีกเป็น 20 ล้านยูโร เพราะมองว่าไม่ต่างกับ อ.หัวหิน ก่อนการท่องเที่ยวจะบูม หลังจากนั้นก็ปรากฎว่ากฎหมายใหม่ออกมาว่าห้ามซื้อที่ดินเปล่า ถ้าซื้อต้องมีแผนพัฒนาประกอบด้วย จะเห็นประตูจะเปิดกว้างแล้วค่อยๆ ปิดลง แต่ยังมีอีกหลายประตูเปิดอยู่

ตอนนี้ก็มีนักธุรกิจเข้าไปทำโรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ รายใหญ่ที่ครองตลาดยุโรปคือสเปน ส่วนจีนโดนกีดกัน ผมก็มองว่าทำไมไทยจะเข้าไปไม่ได้ เพราะถ้าเราตั้งฐานผลิตที่ไซปรัสก็ขายกับตลาดยุโรปได้ทั้งหมด จริงๆ เรื่องนี้นักธุรกิจหากได้ไปเห็นจะมองออกเองว่าจะทำอะไรได้ ตรงไหนมีโอกาส

ตลาดไซปรัสยังง่ายกว่าการไปทำตลาดในสเปน ฝรั่งเศส อังกฤษ ที่มีผู้เล่นเยอะกว่ามาก เราไปก่อนได้เปรียบก่อน ในภาคธุรกิจที่เราถนัด อย่าลืมว่าเราต้องดีลกับนักท่องเที่ยวที่มากกว่าหลายสิบล้าน และเราไปไกลกว่าไซปรัสในเรื่องนี้มาก ผมคุยกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ว่า เราแค่เอาร้านอาหารไทยเข้าไปอย่างไรก็ไม่ยาก ตอนนี้มมีร้านอาหารร้านหนึ่งแล้วที่นั่นชื่อ “ศาลา” และคนไซปรัสอุดหนุนกันแน่นร้านตลอดเวลา และด้วยขนาดที่เล็ก เราเข้าถึงผู้กำหนดนโยบายของประเทศไม่ยาก รัฐบาลของเขาบุคลากรส่วนมากเป็นคนรุ่นใหม่ อายุเฉลี่ย 40 ปีเท่านั้น และถ้าเข้าถึงไซปรัสได้ ก็เข้าถึงตลาดยุโรปได้ทั้งหมดเพราะเขาคือสมาชิกสหภาพยุโรป และภาษีที่เก็บก็ต่ำมาก และนโยบายรัฐก็ชัดเจนไม่เปลี่ยนง่ายๆ

จังหวะสำหรับการลงทุนในไซปรัสตอนนี้ก็ถือว่าดีมาก เพราะเป็นช่วงหลังโรคโควิดซาลง เพราะถ้าย้อนไปก่อนหน้าอีกนิดในปี ค.ศ.2013 ไซปรัสได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรป ตอนนี้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไซปรัสก็คาดว่าน่าจะสูงที่สุดในยุโรป และการฟื้นจากวิกฤติทำให้พื้นฐานเขาแข็งแกร่ง และเขาต้องการโครงสร้างเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวอีกจำนวนมาก ยังไม่นับว่ายังพบบ่อน้ำมันอีก นักธุรกิจไทยจึงควรรีบเข้าไป และผมไม่อยากให้คนไทยตกขบวนรถไฟไซปรัส

cyprusthai04

ปณิธิ วสุรัตน์ : ในส่วนของการท่องเที่ยว เราเคยโปรโมตแกรมทัวร์ไว้ก่อนโรคโควิดระบาด หลังโรคระบาดเบาบางลง เมื่อเดือนที่แล้ว (พฤษภาคม 2565) มีกรุ๊ปทัวร์ไป 3 คณะ และจำนวนกำลังเพิ่มขึ้น เพราะคนไทยชอบหาที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ เดิมทีเราออกวีซ่าหลักร้อยต่อเดือนเท่านั้น และการไปไซปรัสสามารถเชื่อมไปยังกลุ่มประเทศในย่านใกล้กันได้ด้วย ไม่ว่าจะจอร์เจียที่คนไทยนิยมไปกันมากแล้ว หรือเอสโตเนียในยุโรป

ถ้าจะไปก็ขอแค่มีแผนการเดินทางชัดเจน ไปอยู่ได้สูงสุด 90 วัน ส่วนใหญ่ที่ขอวีซ่ามี 2 กรณีคือ ไปกับกรุ๊ปทัวร์ส่วนมากก็จะอยู่ราว 8 วัน ก็จะได้ระยะวีซ่าราว 10 วันเผื่อเหลือเผื่อขาดกรณีตกเครื่อง อีกแบบคือเยี่ยมญาติ จะอยู่ราว 30 วัน แต่ตรงนี้ต้องมีจดหมายรับรองจากญาติและเงินในบัญชีธนาคารของญาติมารับรองราว 5 หมื่นบาท มาตรการนี้เขาทำขึ้นเพื่อคัดกรองคน ระยะเวลาการขอวีซ่าจากสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ในไทยใช้เวลาราว 10 วัน เมื่อเร็วๆ นี้ท่านทูตก็ได้คุยกับท่านนายกฯ (ไทย) ประเด็นเรื่องการยกเว้นการลงตราที่จะส่งเสริมการไปมาหาสู่กันได้ เราก็จะพยายามผลักดันเรื่องนี้ การเดินทางจะไม่ต่างจากไปญี่ปุ่นที่ซื้อตั๋วไปได้เลย แต่คงต้องค่อยเป็นค่อยไปครับ

หมายเหตุ :
สถานกงสุลกิตติมศักดิ์แห่งสาธารณรัฐไซปรัส กรุงเทพฯ ประเทศไทย
ชั้น 3 อาคารภรณี 96/4 สุขุมวิท 23 เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110
โทร 02-2618408
เวลาทำการ อังคาร-ศุกร์ เวลา 9.30-12.00น.
เฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/Cyprusconsulateinbangkok
เว็บไซต์ www.consulate-info.com/consulate/3581/Cyprus-in-

หมายเหตุ : ภาพสถานที่ท่องเที่ยวไซปรัสได้รับการสนับสนุนจากสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไซปรัส ประจำประเทศไทย