อีกหนึ่งตำนานเนื่องด้วยกรมหลวงชุมพรฯ ที่แพร่หลายผ่านหนังสือ “อนุสรณ์พิธีเปิดกระโจมไฟชุมพรเขตอุดมศักดิ์” (๒๕๐๓) คือเหตุการณ์ในการฝึกภาคทางทะเล ปี ๒๔๕๐ อันเป็นการ “อวดธง” ในต่างประเทศครั้งแรก ของนักเรียนนายเรือสยาม
พระยาหาญกลางสมุทร (บุญมี พันธุมนาวิน) นักเรียนนายเรือรุ่นแรกๆ และลูกศิษย์ก้นกุฎิของเสด็จในกรมฯ เขียนเล่าว่าขณะที่เรือ “มกุฏราชกุมาร” แล่นอยู่ในน่านน้ำแถบช่องเรียว (Rhio Straits) ปลายแหลมมลายู ระหว่างเกาะสุมาตราและเกาะชวา
“วันนั้นยืนอยู่บนสะพานเดินเรือ ตรวจทางเรือและระวังเรือโดยปกติอยู่ ได้แลเห็นคลื่นคะนองเป็นลูกใหญ่มาแต่ไกล นึกในใจว่านอกทางเรือออกไปคลื่นช่างใหญ่จริง เรือเราจำเพาะโชคดีมาแล่นในช่องนี้ แต่แล้วเจ้าคลื่นใหญ่นั้นซัดเข้าใกล้มาทางเรือเราทุกที พออีกสักพักเดียวก็ซัดมาถึงเรือตีข้างโครมคราม ทำเอาเรือเอียงตะแคงไปมาทีเดียว
“เวลานั้น เสด็จในกรมฯ ประทับอยู่ท้ายเรือ รีบเสด็จขึ้นมาบนสะพาน พระองค์ทรงให้เปลี่ยนเข็มเบนหัวเรือสู้คลื่นเล็กน้อย และลดฝีจักรเรือลง…ท่านได้สั่งไปทางห้องเครื่องจักร ให้ระวังเครื่องพร้อมเพรียงที่สุด …หัวเรือฟันคลื่นลงไปมิดทุกทีๆ และตักเอาน้ำขึ้นมาแทบเต็มหัวเรือ…นักเรียนวิ่งหาที่เกาะยึดกันเต็มที่ ตกใจกันไม่น้อย เพราะไม่เคยพบเห็นมา…เสด็จในกรมฯ จึงทรงให้งัดปืน ๔.๗ นิ้วทางหัวเรือทิ้งทะเล
“พวกพันจ่าและนักเรียนควบคุมกันมาคลายนัตที่แท่นยึดปืน แต่คลายไม่ไหว เนื่องจากเรือยกหัวขึ้นทีไร ก็ตักเอาน้ำพัดพวกนั้นกระเด็นทุกที ประกอบกับนัตยึดสกรูแท่นปืนนั้น ได้ใส่ไว้ตายตัวนานแล้ว ไม่เคยถูกถอดจึงคลายไม่ออก…
“เสด็จในกรมฯ ทรงนิ่งและกัดพระทนต์ที่จะออกพระสติปัญญาหรือหาทางปลอดภัย แต่ก็ยังหาไม่ได้
“เมื่อเรือแล่นอยู่พักหนึ่ง ก็เคลี่อนที่ออกจากเกาะขนาบได้เล็กน้อย ยิ่งเบนหัวเรือสู้คลื่นได้มาก จึงรู้สึกค่อยโล่งใจขึ้น พอสักครู่หนึ่ง คลื่นก็ซาลงเป็นลำดับ พอออกพ้นช่องนั้นได้ พอดีคลื่นลมคงเป็นปกติ น่าประหลาดมาก อีกสักครู่จึงรับสั่งกับพระยาหาญฯ ว่า เรือเข้าเขตภูเขาไฟ เกิดระเบิดหรือเกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเลจึงกลายเป็นคลื่นขึ้นฉับพลัน…”
หลังจากเรื่องเล่าของเจ้าคุณหาญกลางสมุทรเผยแพร่ออกมาในปี ๒๕๐๓ ต่อมาเพียงปีเดียว คือปี ๒๕๐๔ มีผู้เรียบเรียงพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ อีกเล่มหนึ่ง ขยายความเรื่องนี้ต่อ ว่าเมื่อเห็นคลื่นยักษ์
“…ในกรมทรงกัดพระทนต์นิ่ง มองดูสภาพการณ์ที่แก้ไม่ไหว ยิ่งแก้ไขยิ่งเลวลงไปหนักขึ้น ทุกคนรอความตายหรือรอพระมาโปรดเท่านั้น ปืนใหญ่ไม่มีทางจะเอาออกได้…เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในลำเรือและนักเรียนนายเรือทุกคน ถูกคลื่นตีเอาบอบช้ำตามๆ กัน…
“เสด็จในกรมมีรับสั่งกับพระยาหาญฯ ขณะคลื่นมหึมาอีกลูกหนึ่งโจมตีพระองค์ไปจนล้มทั้งยืน
“หมดทางแล้ว เสด็จพ่อช่วยลูกด้วย” ทรงรำพึงถึงพระพุทธเจ้าหลวง แล้วก็นอนพังพาบอยู่กับกราบเรือทั้งสองคน…
“ในขณะที่ทุกสิ่งทุกอย่างของ ร.ล. มกุฎราชกุมาร รออวสานต์ที่จะมาถึงอยู่นั้น พอดีกับเรือผ่านพ้นเกาะเล็กเกาะน้อยออกมาสู่มหาสมุทรใหญ่ และหัวเรือเริ่มโต้คลื่นได้ดีขึ้น เสด็จในกรมร้องบอกพระยาหาญฯ ว่า ‘ทูลกระหม่อมพ่อช่วย เราไม่ตายแน่แล้ว’ ขาดพระกระแสเสียงของเสด็จในกรม คลื่นลมที่เล่นงานมกุฎราชกุมารจนโงหัวไม่ขึ้นก็สงบลง และเรียกว่าหยุดลงโดยเฉียบขาด…”
กว่า ๓๐ ปีให้หลัง พระประวัติอีกสำนวนหนึ่งที่พิมพ์ออกมาเมื่อปี ๒๕๓๙ เล่าเหตุการณ์เดียวกันนี้อย่างมีสีสันยิ่งขึ้นไปอีก
“พระองค์สำรวมสงบ พนมมือร่ายมหาเวทน้อมรำลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประทับมั่นคงทั้งๆ น้ำทะเลพัดเข้ามาราวกับเทออกจากกระบอกยักษ์สาดใส่ แต่ก็หาหวาดหวั่นไม่
“เหมือนปาฏิหาริย์ ร.ล. มกุฎราชกุมาร แล่นฝ่าคลื่นยักษ์ที่ม้วนตัวปะทะดังสนั่นหวั่นไหว เสด็จเอนร่างหมอบกับพื้นเรือ พระยาหาญที่ยืนอยู่ใกล้ๆ ก็หมอบราบไปอีกคนหนึ่ง…ท้องฟ้ามืดมิดพายุโหมกระหน่ำสักพักท้องฟ้ากลับแจ่มใสขึ้น มกุฎราชกุมารแหวกประตูแห่งความหายนะมาได้อย่างหวุดหวิดดั่งปาฏิหาริย์ ใช่แล้ว ด้วยปาฏิหาริย์…”
หากดูจากความคลี่คลายของตำนานสามสำนวนนี้ จะเห็นได้ว่า จากบุคคลที่พยายามใช้สติและปัญญาหาทางแก้ไขปัญหายามคับขัน นับวัน มิติความเป็น “เจ้าพ่อกรมหลวงชุมพรฯ” จอมขมังเวทย์ ยิ่งแผ่ขยายปกคลุมพระประวัติมากขึ้นเป็นลำดับ
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ
บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว
สั่งซื้อหนังสือ