เรื่อง : ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

บันทึกธรรมชาติ Diary ความสุข

บันทึกธรรมชาติช่วยลดความเครียดได้จริงหรือ?

กรุงเทพมหานคร หนึ่งในเมืองซึ่งแออัดแห่งหนึ่งของโลก ที่นี่เต็มไปด้วยเสียงรบกวน ไม่ว่าเสียงรถยนต์บนถนน เสียงงานก่อสร้าง เสียงพูดคุยจ้อกแจ้กจากตรอกแคบของมุมตึก เสียงลำโพงของแม่ค้าตลาดสด หรือแม้แต่เสียงเครื่องบินเหนือศีรษะที่กังวานอยู่แม้ยามหลับใหลราวกับเมืองหลวงแห่งนี้กลัวความสงัดเงียบ จึงสร้างเสียงขึ้นตลอด ๒๔ ชั่วโมง

ซึ่งเสียงเหล่านี้ ล้วนนำไปสู่ภาวะเครียดได้ไม่ยาก

หนังสืออาบป่าเขียนโดย ดร. ชิง ลี อธิบายว่า เราสามารถลดความเครียดได้ แค่หลับตาลงอย่างมีสมาธิ นั่งฟังเสียงธรรมชาติ เพียงเศษเสี้ยววินาทีเดียว ธรรมชาติจะเยียวยาจิตใจให้ผ่อนคลายได้อย่างมหัศจรรย์

เรารู้มานานแล้วว่า ธรรมชาติมีส่วนช่วยเยียวยาจิตใจ แต่ไม่เคยพิสูจน์จริงๆ จังๆ อาจเพราะไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร จึงจะเข้าถึงธรรมชาติได้แท้จริง อีกทั้งไม่แน่ใจว่า สิ่งที่รู้และได้ยินมาจะช่วยลดความเครียดได้หรือไม่

โดยเฉพาะผู้อาศัยอยู่ในเมืองหลวง ยิ่งคิดไม่ออกว่า จะนิ่งสดับฟังเสียงธรรมชาติรอบตัวให้มีความสุขได้อย่างไร

โชคดีเมื่อวันอังคารที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕ นิตยสารสารคดี และธนาคารจิตอาสา จัดกิจกรรม Parkใจ Diary ความสุขบันทึกได้ที่สวนหลวง ร. ๙ โดยมี ครูกุ้งธัญลักษณ์ สุนทรมัฎฐ์ และ พี่ปรีชา การะเกตุ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบันทึกธรรมชาติ จากเพจบันทึกสีไม้byครูกุ้ง เป็นวิทยากร มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า ๓๐ คน

ทันทีที่ก้าวย่างเข้ามาในสวนหลวง ร. ๙ ก็ได้ยินเสียงจิ้งหรีดร้องระงมมาจากทุกทิศทาง อากาศไม่ร้อนมากนัก ลมเย็นพัดโชยผ่านใบหน้า ต้นไม้โอนเอนลู่ลมอย่างมีชีวิตชีวา เสียงกิ่งไม้เสียดสีกัน ระคนเสียงนกนานาชนิดกู่ร้องขับขานด้วยทำนองไพเราะน่าฟัง

เรานั่งบนพื้นหญ้าเขียวชอุ่มใต้ต้นไทรที่ชื่อ “ลุงขน” ตรับฟังความสุขเสนาะของโลกธรรมชาติ อันเปรียบดั่งวงซิมโฟนี (symphony) ที่กำลังบรรเลงดนตรีก้องกังวาน

  • naturenote02
  • naturenote03
  • naturenote04
  • naturenote05
  • naturenote06
  • naturenote07

๑.

กิจกรรมแรกคือการเปิดสัมผัสธรรมชาติ โดย พี่ต้นสุรศักดิ์ เทศขจร หัวหน้าฝ่ายกิจกรรมพิเศษ และกระบวนกรประจำทีม Parkใจ ชวนเปิดหู ฟังเสียงรอบตัว เพื่อบันทึกลงบนกระดาษวาดออกมาเป็นแผนที่เสียง

เราปิดตาลงอย่างมีสมาธิ ได้ยินตั้งแต่เสียงอื้ออึงของจักจั่นเหนือศีรษะ เสียงลมกระทบกาย เสียงนกร้องโต้ตอบกัน เสียงกระหึ่มของเครื่องยนต์ จนถึงเสียงพูดคุยของผู้คนที่แว่วมาจากที่ไกลๆ

เสียงที่ได้ยินทำให้เรารู้สึกรำคาญในช่วงแรก แต่เมื่อเริ่มทำตามที่กระบวนกรแนะนำ คือปิดตาแล้วเปิดสัมผัสธรรมชาติ อยู่กับปัจจุบันขณะ หายใจให้ช้าลง

ทิ้งความเป็นตัวเราไว้ข้างหลัง ทิ้งความคาดหวัง

สังเกตความรู้สึกกับความคิดขณะรับเสียงที่ได้ยินอย่างพิเคราะห์ ปรับกายและจิตใจเข้ากับธรรมชาติเพื่อผ่อนคลาย

เราเริ่มได้ยินเสียงเหล่านั้นชัดขึ้น มันชัดจนได้ยินเสียงลมหายใจและความคิดตัวเองก้องอยู่ในหัว

ระหว่างนั้นมีบางช่วงที่เรารู้สึกโปร่งโล่งสบาย ประหนึ่งความคิดใสกระจ่างอย่างไม่น่าเชื่อ

นักวิจัยจากโรงเรียนแพทย์ไบรตันและซัสเซกซ์ (Brighton and Sussex Medical School) แห่งสหราชอาณาจักร ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสมอง ร่างกาย เสียงที่ได้ยินในบริเวณที่อยู่ เพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับสมองมนุษย์ขณะฟังเสียงหลากหลายชุด

ผลการทดลองสรุปว่า เราจะผ่อนคลายมากกว่าเมื่อได้ยินเสียงธรรมชาติ ซึ่งช่วยลดระดับความเครียดและฟื้นฟูร่างกายให้สดชื่นอย่างรวดเร็ว

  • naturenote08
  • naturenote09
  • naturenote10
  • naturenote11

๒.

จากนั้นครูกุ้งและพี่ปรีชาชวนวาด คอนทัวร์แบบไม่มองกระดาษและไม่ยกมือออกขณะวาดเส้น

พวกเราจับคู่กับเพื่อน สลับกันวาดเค้าโครงหน้าอย่างทุลักทุเล กิจกรรมนี้เปรียบเสมือนการฝึกสเกตช์ภาพให้คล่อง เรียกความมั่นใจก่อนลงมืดวาดภาพธรรมชาติ

และยากขึ้นไปอีกเมื่อครูกุ้งและพี่ปรีชาท้าทายให้วาดธรรมชาติตามคำบอก โดยให้เวลาเพียง ๓๐ วินาที

เราเริ่มวาดดอกกระดุมทอง ต้นกล้วย ช่อมะม่วง ฯลฯ ตามคำบอกของวิทยากร แต่ต้องวางแผนร่างเค้าโครงก่อน เพราะเวลา ๓๐ วินาที รวดเร็วประหนึ่งช่วงลมหายใจ จนหลายคนนำเทคนิคคอนทัวร์มาใช้

เมื่อฝึกปรือเทคนิคการวาดได้พอสมควร ต่อด้วยกิจกรรม สวยเลือกได้วาดภาพธรรมชาติจากการเลือกสรรของเราอย่างน้อยห้ามุม

บางคนเลือกดอกบัว บ้างเลือกดอกมัมขาวและเหลือง มองหามุมสงบบันทึกรายละเอียดอย่างตั้งอกตั้งใจ

มีหลายคนถ่ายทอดความรู้สึกขณะวาดลงไปด้วย

ช่วงนี้เราพบว่าตัวเองสังเกตธรรมชาติได้ละเอียดขึ้น เห็นสีสันกลีบบัวที่ไม่ได้มีแค่สีเขียวหรือสีขาว แต่ยังมีสีเหลืองแซมด้วย อีกทั้งเมื่อเราหายใจเข้าและออกยังมีกลิ่นหอมจรุงใจ เชื่อมต่ออารมณ์ให้จดจำกลิ่นหอมนั้น แม้กลิ่นจะจางหายไปแล้วก็ตาม

สัมผัสทางตาของเรายลความงามของธรรมชาติกระจ่างชัดขึ้นทุกขณะ ด้วยผัสสะการมองเห็นนี้เองจึงทำให้จิตใจกระชุ่มกระชวย กระปรี้กระเปร่า ได้ซึมซับความมหัศจรรย์นี้อย่างไม่รู้เบื่อ

naturenote12

๓.

เวลาล่วงเลยมาถึงช่วงบ่าย พี่ปรีชาชวนเรียนรู้การจดบันทึกรายละเอียดของธรรมชาติผ่านตัวอักษร ช่วยให้เราสังเกตธรรมชาติอย่างถี่ถ้วน จากที่เคยมองผ่านๆ เราเริ่มมีนิสัยมองธรรมชาติให้ถึงแก่นความงามได้มากขึ้น

จากนั้นจึงเข้าไปบันทึกธรรมชาติต่อในอาคารพรรณไม้ในร่ม ซึ่งภายในมีพรรณไม้หลากชนิดต่างอวดโฉมงามสะพรั่ง สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่พวกเรามาก เหมือนได้ย้อนสู่วัยเด็กที่เคยตื่นเต้นกับธรรมชาติอีกครั้ง

เสร็จสิ้นกระบวนการ ความคิดเราเริ่มตกผลึก ทัศนคติของเราเปลี่ยนไปมาก

เริ่มต้นจากความไม่รู้ ความกลัว ความขี้เกียจ และความไม่เข้าใจธรรมชาติ แต่พอเราทำลายกรอบความกลัวนั้น แล้วลงมือบันทึกธรรมชาติจริงจัง ได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ เราจึงค้นพบหลายสิ่งซ่อนอยู่ใต้กลีบเงาธรรมชาติ

มันอาจหนักหน่วงและเข้มข้นเมื่อเราต่อสู้กับตัวเอง แต่ท้ายที่สุดกลับรู้สึกโล่งสบายอย่างไม่น่าเชื่อ

คล้ายกับที่ มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ(Masanobu Fukuoka) เขียนไว้ในหนังสือปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียวว่า “บัญญัติ (concepts) ทั้งหลายที่ผมเคยยึดถือ ความคิด ความเข้าใจเกี่ยวกับความมีอยู่โดยตัวมันเอง ล้วนเป็นโครงอันว่างเปล่า จิตใจของผมโปร่งเบา ใสกระจ่าง ผมกระโดดโลดเต้นด้วยความร่าเริง ได้ยินเสียงนกเล็กๆ ร้องจุ๊กจิ๊กอยู่ในพุ่มไม้ แลเห็นเกลียวคลื่นสะท้อนประกายแสงอรุณอยู่ลิบๆ ใบไม้พลิ้วทอประกายเขียวเลื่อมพราย นี่คือสรวงสวรรค์อันแท้จริงบนพื้นพิภพ ความปวดร้าวทรมานใจทั้งหลายที่เกาะกุมหัวใจผม ล้วนแต่ปลาสนาการไปดุจความฝัน และสิ่งหนึ่งที่เราอาจเรียกมันว่า ธรรมชาติที่แท้’ ก็ได้ปรากฏตัวออกมาอย่างเปิดเผย”

ฟูกูโอกะพยายามอธิบายว่า เขาสุขสบายเพียงใดเมื่อถูกโอบล้อมด้วยธรรมชาติ สิ่งที่เขาเคยคิดว่ายิ่งใหญ่เทียบไม่ได้เลยกับธรรมชาติอันแท้จริง

naturenote013

๔.

การบันทึกธรรมชาติ คือช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความอัศจรรย์ จนเราเริ่มคิดถึงสิ่งต่างๆ นอกเหนือจากตัวตนของเรา

ความอัศจรรย์นี้ทำให้เราค่อยๆ ผ่อนจังหวะชีวิตให้ช้าลง เลิกวิตกกังวล เปลี่ยนอารมณ์ลบสู่ความรู้สึกบวก ช่วยให้เราได้หยุดพักและนำความรื่นรมย์มาสู่ชีวิตอย่างไร้ขีดจำกัด

ยังมีความลับมากมายซุกซ่อนอยู่ใต้ลวดลายของธรรมชาติ

การบันทึกเป็นเพียงการสังเกตโลกเบื้องต้นของธรรมชาติ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงแฝงอยู่ระหว่างบรรทัดอย่างแนบเนียน

ธรรมชาติอยู่รอบตัว โดยไม่จำเป็นต้องออกไปข้างนอก และบางครั้งก็ช่วยให้ผ่อนคลายได้เพียงเราชำเลืองมองด้วยความเข้าใจ แล้วเราก็จะเห็นความงามอันแท้จริง

สุดท้ายนี้เราเชื่ออย่างสนิทใจว่า เมื่อใดก็ตามที่ใครสักคนเริ่มบันทึกธรรมชาติ เขาจะพบความเปลี่ยนแปลงในจิตใจได้อย่างแน่นอน

อ้างอิง

  • กฤตยา ศรีสรรพกิจ. (2563).เปิดใจให้ธรรมชาติ. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).
  • ชิง ลี. (2565).อาบป่า. นนทบุรี : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
  • มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ. (2533).ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง.
  • สุวิชา พุทซาคำ, ศกุนตลา แย้มปิ๋ว. (2563). “อาบป่า ศาสตร์ญี่ปุ่น Shinrin-yoku หรือการอาบป่า ใช้ป่าและ
  • ธรรมชาติล้างความเครียดคนเมืองแบบใช้เวลาไม่มาก.” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://readthecloud.co/forest-bathing/

สำหรับท่านที่สนใจเรียนรู้การ Parkใจ สามารถติดตามกิจกรรมอื่นๆ ในปีนี้ได้ที่ เฟซบุ๊กกรุ๊ป Parkใจ

ดำเนินการโดย นิตยสารสารคดี และนายรอบรู้ นักเดินทาง

สนับสนุนโดย เพจความสุขประเทศไทย และ ธนาคารจิตอาสา

ชวน Park ใจ โดยนิตยสารสารคดี และ “นายรอบรู้” นักเดินทาง

สนับสนุนโดยเพจความสุขประเทศไทย และธนาคารจิตอาสา