ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

๑
เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๕ ตัวแทนประชาชนไทย ๘ จังหวัดริมแม่น้ำโขง ทั้งภาคเหนือและอีสาน ประมาณ ๓๗ คน พร้อมด้วยผู้สนับสนุนกว่า ๑,๐๐๐ รายชื่อ ในนาม “เครือข่ายประชาชนไทย ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง” ได้ร่วมกันฟ้องคดีเขื่อนไซยะบุรีต่อศาลปกครอง
เหตุการณ์วันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้อันยาวนานผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ในฐานะ “คดีสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน” คดีแรกๆ ของประเทศไทย เพื่อปกป้องวิถีชีวิตและทรัพยากรชุมชน
วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๕
วันเวลาล่วงผ่านมานาน ๑๐ ปี กับอีก ๑๐ วัน คดีประวัติศาสตร์กำลังจะเข้าสู่บทสรุป
เมื่อศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ นัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เป็นวันถึงที่สุดของคดี

๒
แม้ว่าผู้ฟ้องคดี คือ ชาวบ้าน ๘ จังหวัดริมแม่น้ำโขง รวมถึงผู้ถูกฟ้องคดีจะเป็นหน่วยงานของประเทศไทย บริษัทเอกชนที่ลงทุนสร้างเขื่อนไซยะบุรีเป็นบริษัทไทย สถาบันการเงินผู้อนุมัติเงินกู้ทั้งหมดเป็นธนาคารไทย ผู้รับซื้อไฟฟ้าก็เป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศไทย แต่เขื่อนไซยะบุรีสร้างกั้นแม่น้ำโขงในเขตประเทศลาว
ณ หลักกิโลเมตรที่ ๑,๙๓๑ ของแม่น้ำโขงสายประธาน ท้ายน้ำลงมาจากเมืองหลวงพระบางประมาณ ๘๐ กิโลเมตร เหนืออำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ขึ้นไปประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตร คันคอนกรีตเสริมเหล็กความยาว ๘๑๐ เมตร ได้ถูกสร้างกั้นลำน้ำ ณ เมืองไซยะบุรี แขวงไซยะบุรี
ด้วยกำลังการผลิตติดตั้ง ๑,๒๘๕ เมกะวัตต์ ไฟฟ้าที่ผลิตได้เกือบทั้งหมด คือร้อยละ ๙๕ จะถูกขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นเวลาติดต่อกัน ๒๙ ปี เหลือให้คนลาวได้ใช้ไฟฟ้าประมาณ ๕ เปอร์เซ็นต์
ย้อนเวลากลับไปในวันที่มีการฟ้องคดี…
ถึงแม้ทนาย และนักวิชาการที่ติดตามรูปแบบของคดี จะเห็นว่านี่เป็นคดีที่สุดแสนจะท้าทาย ไม่อาจคาดเดาผลลัพธ์ได้ เพราะเป็นคดีข้ามพรมแดนที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้น แต่ก็ยอมรับถึงความจำเป็นที่จะต้องฟ้องคดี นี่คือคดีสำคัญที่สามารถกำหนดความเป็นไปในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

๓
เขื่อนไซยะบุรีถูกเรียกว่าเป็น “เขื่อนลาวสัญชาติไทย” บางคนก็เรียกว่า “เขื่อนไทยในลาว” เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเป็นการกระทำข้ามพรมแดน ซึ่งนับเป็นเรื่องใหม่
แม้จะยอมรับว่าการฟ้องคดีนี้ไม่ง่าย ไม่อาจคาดเดาได้ว่าผลของคดีจะเป็นอย่างไร แต่ก็เห็นว่าจำเป็นต้องฟ้อง ถ้าผลไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง อย่างน้อยๆ ก็คงจะทำให้สังคมได้ตระหนักว่ากฎหมายของประเทศไทยไม่ครอบคลุมเพียงพอ ยังไม่มีกฎหมายไว้คุ้มครองเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน
ก่อนฟ้องคดีนี้ คณะทำงานนำโดยทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ประชุมชี้แจง หารือกับเครือข่ายประชาชนไทย ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขงว่าการฟ้องจะเป็นอย่างไร อาจจะแพ้หรือชนะคดีก็ได้เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ เชือ่มโยงกับผลกระทบข้ามพรมแดนซึ่งยังไม่เคยฟ้องร้องกันมาก่อน และกฎหมายไทยอาจไม่ครอบคลุมถึง
ข้อที่สำคัญคือเมื่อราวสิบปีก่อนนั้น เขื่อนไซยะบุรียังสร้างไม่เสร็จ จึงยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นในทางกายภาพ
ถึงแม้ว่าจะมีความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิ เรื่องการมีส่วนร่วมตัดสินใจโครงการแล้วก็ตาม แต่การที่เขื่อนไซยะบุรีตั้งอยู่ในเขตประเทศลาว ทำให้ต้องมาดูเรื่องกฎหมายข้ามพรมแดน ซึ่งประเทศไทยมีเพียง พรบ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ คณะทำงานพิจารณาว่าถ้าจะฟ้องก็น่าจะสามารถฟ้องละเมิด หมายถึง การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่น เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำเสียหาย หรือฟ้องอาญาได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อสิบปีก่อนแนวทางการฟ้องละเมิดยังไม่ชัดเจนหากจะฟ้องผู้ลงทุนที่เป็นเอกชน คณะทำงานจึงต้องหาช่องทางอื่นเสริม และพบว่าสัญญาซื้อไฟฟ้าที่ กฟผ.จัดทำ อยู่ในฐานะที่จะไปสนับสนุนให้เกิดการก่อสร้างเขื่อน เป็นสัญญาทางปกครองที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนลุ่มน้ำโขง

๔
จากการศึกษาของคณะทำงานพบว่า การทำสัญญาซื้อไฟฟ้าไม่น่าจะเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
เมื่อได้ทบทวนว่าศาลปกครองให้โอกาสฟ้องป้องกันความเสียหายได้ ตามหลักการ ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับผลกระทบ หรืออาจจะได้รับผลกระทบจากการกระทำทางปกครอง “มีช่อง” ที่พอจะไปต่อได้ คณะทำงานจึงใช้ช่องทางนี้ในการฟ้องคดี ตัดสินใจฟ้องเพิกถอน “สัญญาซื้อไฟฟ้า” ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
แม้เป็นเรื่องยากและมีความซับซ้อน ชาวบ้านบางคนถึงกับตั้งข้อสังเกตในเวลานั้นว่า “ถ้าฟ้องแล้วแพ้จะฟ้องทำไม?” แต่ก็มีอีกหลายคนเข้าใจว่า “เราต้องทำอะไรสักอย่าง” เพื่อสร้างบรรทัดฐาน เพื่อทำให้สังคมรับรู้ว่า ยังไม่มีกฎหมายให้ความคุ้มครองการละเมิดสิทธิข้ามพรมแดนในรูปแบบนี้
เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่ดีให้กับสังคมไทยและในภูมิภาค สื่อสารให้เห็นว่าถ้าหากเกิดการกระทำเข้าข่าย “การละเมิดสิทธิข้ามพรมแดน” ผู้กระทำการละเมิดจะต้องแสดงความรับผิดชอบ การฟ้องร้องจึงเกิดขึ้น และดำเนินไปพร้อมๆ กับการสร้างความรู้ความเข้าใจในหมู่ผู้ฟ้องคดีด้วย

๕

การฟ้องคดีเกิดขึ้นต่อ ๕ หน่วยงานรัฐ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประเทศไทย) และคณะรัฐมนตรี โดยมีมูลเหตฟ้องคดี สรุปได้ดังนี้
- สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. และบริษัท ไซยะบุรีพาวเวอร์ จำกัด ไม่สมบูรณ์
- ละเลยระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลงแม่น้ำโขง หรือ “PNPCA”
- การอนุมัติของคณะรัฐมนตรีให้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามปรกติสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะได้รับการลงนามก็ต่อเมื่อพันธกรณีระดับภูมิภาคดำเนินการจนเสร็จสิ้นก่อน แต่ประเทศไทยกลับลงนามทั้งที่กระบวนการ PNPCA ยังไม่แล้วเสร็จ และเกิดก่อนที่ลาวจะให้รายงานการศึกษาและข้อมูลที่ร้องขอกับประเทศเพื่อนบ้าน
๖
วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ศาลปกครองชั้นต้นไม่รับพิจารณาคดี ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ด้วยเห็นว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง น่าจะได้รับผลกระทบจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพราะต้องพึ่งพาอาศัยแม่น้ำโขง จึงเป็นผู้เสียหายหรือน่าจะเสียหายจากการละเลยที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานรัฐ จึงย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
แม้ว่าจะหมดอายุของการฟ้องคดีไปแล้ว แต่เมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะและศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลจึงรับไว้พิจารณา
ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้รับฟ้องเฉพาะประเด็นที่ว่าการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีให้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกเหนือจากนั้นเห็นตามศาลปกครองชั้นต้น
๗
วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ กรณีดำเนินการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีหรือไม่
ศาลเห็นว่าการเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซด์ www.eppo.go.th และเว็บไซด์ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ถือว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลแล้ว นอกจากนี้ การดำเนินการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีไม่ใช่โครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ ศาลนัดอ่านคคำพิพากษาคดี พิพากษายกฟ้อง ต่อมาวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๙ เครือข่ายประชาชน ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง

๘
วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๙ บริษัท ช.การช่าง (ลาว) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมกับบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด
เป็นสัญญาจ้างเหมาออกแบบจัดหา และก่อสร้าง สำหรับงานก่อสร้างเพิ่มเติม มูลค่ารวม ๑๙,๔๐๐ ล้านบาท เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องการอพยพของปลา และระบบระบายตะกอนของเขื่อนไซยะบุรี ส่งผลให้มีการแก้ไขแบบของเขื่อนไซยะบุรีใหม่ โดยเฉพาะส่วนของทางเรือผ่านและทางปลาผ่าน หรือที่เรียกกันว่าบันไดปลาโจน
๙
ต้นปี ๒๕๖๒ เขื่อนไซยะบุรีสร้างแล้วเสร็จประมาณ ๙๘ เปอร์เซ็นต์ วันที่ ๓๐ มีนาคม จึงมีการทำพิธีเปิดการผลิตกระแสไฟฟ้า ๑ ยูนิต คิดเป็น ๑๘๐ เมกะวัตต์
มีรายงานว่าการผลิตกระแสไฟฟ้ายูนิตแรกส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทันที จากข้อมูลระดับน้ำของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงระบุว่าระดับน้ำของแม่น้ำโขงในเขตหลวงพระบาง เชียงคาน เวียงจันทน์ หนองคาย มีความผันผวนของค่าเฉลี่ยสุงสุดในรอบ ๓๘ ปี โดยเขตหลวงพระบางระดับน้ำเพิ่มสูงว่าปรกติถึง ๔ เมตร ส่วนที่เชียงคาน หนองคายระดับน้ำเพิ่มขึ้น ๒-๓ เมตร เป็นผลจากภาวะน้ำเอ่อท้นจากเขื่อน
๑๐
วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๒ เขื่อนไซยะบุรีเริ่มผลิตไฟฟ้าส่งขายแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นวันแรกอย่างเป็นทางการ
วันเดียวกันนั้น สื่อหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับของประเทศไทยขึ้นหน้าปกประชาสัมพันธ์โครงการเขื่อนไซยะบุรี ให้รายละเอียกว่าเทคโนโลยีเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน Run-of-river ของเขื่อนไซยะบุรีเป็นนวัตกรรมล้ำสมัย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ยังนำเสนอเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมทางด้านอื่นๆ ของเขื่อน อาทิ ทางปลาผ่านหรือบันไดปลาโจน กังหันปั่นไฟแบบเป็นมิตรกับปลา ระบบระบายตะกอนเหนือเขื่อนไปยังท้ายน้ำ
การทุ่มเงินซื้อโฆษณาของบริษัทยักษ์ใหญ่แบบปูพรมแทบทุกสำนักพบได้ไม่บ่อยนัก หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าที่ผ่านมา เขื่อนแห่งนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าทำลายธรรมชาติ รวมทั้งทำลายความหลากหลายทางชีวภาพบนลุ่มน้ำโขง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ ทำลายวิถีชีวิตของคน ต้นไม้ และสัตว์ ไม่ว่านกหรือปลา แต่กลับพาดหัวว่า “โรงไฟฟ้าแห่งแรกบนแม่น้ำโขงที่มีวิถีธรรมชาติเป็นต้นแบบ” ได้อย่างหน้าตาเฉย
ดร.มานะ ตรียาภิวัฒน์ อธิบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โพสต์ข้อความลงบนสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า “นี่คือตัวอย่างที่ทำให้เราต้อง ‘รู้เท่าทันสื่อ’ เราต้องแยกให้ออกว่านี่คือ ‘เนื้อที่ข่าว’ หรือ ‘พื้นที่โฆษณา’ ฝากถึงคนทำสื่อ…เอาให้ชัดเจนหน่อย อย่ามา “เนียนมาเก็ตติ้ง” แบบนี้เลย”

๑๑
วันที่ ๒๘-๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๒ ก่อนหน้าที่เขื่อนไซยะบุรีจะเริ่มปั่นไฟขายให้กับประเทศไทยอย่างเต็มตัว ที่ศาลาประชาคม อำเภอปากชม จังหวัดเลย มีการจัดเวทีเสวนาสาธารณะหัวข้อ “เขื่อนไซยะบุรี การเปลี่ยนแปลงของน้ำโขงที่ไม่หวนคืน” เพื่อตั้งคำถามต่อธรรมาภิบาลของกลไกระดับประเทศและระหว่างประเทศ
เปรมฤดี ดาวเรือง หนึ่งในวิทยากรจากโปรเจคเสวนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Project Sevana Southeast Asia) กล่าวว่าการเกิดหรือไม่เกิดขึ้นของเขื่อนไซยะบุรีมีความสำคัญ เพราะเป็นเขื่อนแรกในแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง ขณะที่กระบวนการสร้างเขื่อนไซยะบุรีไม่มีความโปร่งใส ไม่มีธรรมาภิบาลอะไรมาตั้งแต่แรก
“ก่อนสร้างรัฐบาลลาว กัมพูชา เวียดนาม ไทย พูดถึงผลกระทบข้ามพรมแดน มีการพูดกันในระดับรัฐบาลมาตั้งแต่แรก แสดงความเป็นห่วงว่าศึกษามากพอแล้วเหรอที่จะสร้าง”
เปรมฤดีเล่าย้อนถึงเหตุการณ์ก่อนหน้าที่จะมีการยื่นฟ้องคดี
“ช่วงเมษายน ๒๕๕๔ มีการพูดเรื่องนี้มาก แต่พอถึงเดือนตุลาคม กฟผ.ไปเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทสร้างเขื่อนไซยะบุรี ทั้งที่ยังไม่เห็นดีร่วมกันในหมู่ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง แม้กระทั่งรัฐบาลกลางพูดแล้วว่าขอให้ชะลอ หรือมีการแสดงความเป็นห่วง แต่ผู้สร้าง ระหว่าง กฟผ.กับบริษัทตกลงทำไปเรื่อยๆ
“เดือนธันวาคม ๒๕๕๔ รัฐบาลแม่น้ำโขงประชุมกันที่เสียมเรียบ ยังมีข้อสรุปออกมาว่าขอให้ศึกษาเพิ่มเรื่องผลกระทบ เจ้าหน้าที่ประมงของกัมพูชาบอกว่ามีการประชุมถึงระดับทุบโต๊ะกันไม่รู้กี่ครั้งเพื่อบอกว่าคุณทำไม่ได้นะ มันจะทำให้ประมงในกัมพูชาเสียหายทั้งหมด แต่ว่าสุดท้ายจบลงในเดือนมกราคม มีคนงานจำนวนมากเข้าไปในพื้นที่สร้างเขื่อนไซยะบุรี สัญญาจ้างสองปี เริ่มตัดถนนเข้าไป พูดได้ว่ากระบวนการสร้างเขื่อนไซยะบุรีไม่มีความโปร่งใส ไม่มีธรรมาภิบาลอะไรมาตั้งแต่แรก”
กล่าวได้อย่างหนักแน่นว่ากลไกต่างๆ ระหว่างประเทศ ไม่เว้นแม้แต่กลไกของคณะกรรมมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC ไม่สามารถยับยั้งการสร้างเขื่อนไซยะบุรี
“ไซยะบุรีเป็นตัวอย่างชัดเจนที่สุด หมายความว่ารัฐบาลกลางสุดท้ายก็เป็นได้แค่ผู้โอบอุ้มกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ไม่สามารถปกปักรักษาประชาชนของตัวเองได้” เปรมฤดีกล่าว
หลังเขื่อนไซยะบุรี โครงการเขื่อนดอนสะโฮงก็ตามมาติดๆ กัน นี่อาจเป็น “ชะตากรรมร่วม” หรือ “ตราบาป” ซึ่งทำไว้ร่วมกันระหว่างรัฐบาลลาวกับรัฐบาลไทย
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม. ) ตามรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ ช่วงปี ๒๕๕๒-๒๕๕๘ ให้ความเห็นว่า
“เขื่อนไซยะบุรีทำให้แม่น้ำโขงโขงกลายเป็นคนป่วย เหมือนอย่างเขื่อนปากมูนทำให้แม่น้ำมูนกลายเป็นคนป่วยมาแล้ว เมื่อแม่น้ำมูนเป็นคนป่วย พวกเราที่เป็นคนลุ่มน้ำก็ป่วยด้วย และเป็นการป่วยแบบเรื้อรัง เหมือนโรคมะเร็งไม่ได้ตายทันที ตายแบบเรื้อรังจนกว่ามะเร็งจะกัดกินไปทุกอวัยวะ ความล้มเหลวในสิ่งที่เรียกว่า ‘ธรรมาภิบาล’ หรือความรับผิดชอบทำให้พวกเรากลายเป็นคนป่วย ชุมชนกลายเป็นชุมชนป่วย เราจะยอมแพ้มั๊ย ถ้าเรายอมแพ้เราจะกลายเป็นคนตาย”

๑๒
วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ ครบ ๑๐ ปี นับตั้งแต่วันที่มีการยื่นฟ้องคดี
ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน โพสต์ข้อความลงบนสื่อสังคมออนไลน์ ยืนยันว่าคดีนี้เป็นคดีสำคัญ ที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าจะทำให้เกิดการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับสังคมไทยและภูมิภาค
“จำได้ว่าชาวบ้านบอกว่า ฟ้องแล้วแพ้จะฟ้องทำไม แต่ก็มีชาวบ้านหลายคนเข้าใจว่า เราจะต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานที่ดี เพื่อให้รู้ไปว่า ไม่มีกฎหมายให้ความคุ้มครองการละเมิดสิทธิในรูปแบบนี้…”
จึงเป็นที่มาของเหตุการณ์ในวันนี้ เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว การฟ้องคดีเขื่อนไซยะบุรีต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. และเจ้าของโครงการเขื่อนไซยะบุรี
วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คือวันถึงที่สุดของคดี คือวันที่จะมีคำตอบว่า ศาลไทย-กฎหมายไทย จะสามารถคุ้มครองผลกระทบข้ามพรมแดนได้หรือเปล่า
ในฐานะทนาย ส.รัตนมณี เชื่อว่าทนายสามารถสร้างกฎหมายได้
“เราเชื่อว่า ทนายความไม่ได้เป็นเพียงคนใช้กฎหมาย แต่ทนายความสามารถเป็นผู้สร้างกฎหมายได้ (We are not only Law User but We are Law Maker) ทำให้เรายังคงสร้างความท้าทายในการดำเนินคดี เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดี เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม”