สิ่งที่ระลึกอันเนื่องด้วยกรมหลวงชุมพรฯ อันดับถัดจากประภาคารอาภากรที่เกาะไผ่ (๒๔๗๐) คือกระโจมไฟชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (๒๕๐๓) บนยอดเขาแหลมปู่เฒ่า สัตหีบ (ปัจจุบันยกฐานะเป็น “ประภาคารกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์”)

กระโจมไฟแห่งนี้มีพิธีเปิดเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๐๓ โดยมีหนังสือที่ระลึกที่พิมพ์เผยแพร่ในโอกาสดังกล่าว คือ “อนุสรณ์พิธีเปิดกระโจมไฟชุมพรเขตอุดมศักดิ์” ซึ่งถือเป็นต้นธารแห่งพระประวัติแนวปาฏิหาริย์ ซึ่งได้รับต้นฉบับมาจากเรื่องเล่าของหลวงรักษาราชทรัพย์ ซึ่งเคยกล่าวถึงไปแล้ว

“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๖๕ - พระอนุสาวรีย์ “เสด็จเตี่ย”

จากนั้นในปี ๒๕๐๗ กองทัพเรือจึงขอพระราชทานเปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลทหารเรือสัตหีบ เป็น “โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์” ถัดมาในปี ๒๕๐๘ ยังได้ขอพระราชทานนามของเสด็จในกรมฯ มาเป็นชื่อค่ายนาวิกโยธิน คือ “ค่ายกรมหลวงชุมพรฯ” อีกด้วย

ส่วนพระอนุสาวรีย์ของกรมหลวงชุมพรฯ ที่เป็นประติมากรรม (รูปหล่อ) องค์แรก กลับมิได้จัดสร้างขึ้นโดยทางราชการ แต่เกิดจากพระสงฆ์ พ่อค้า ประชาชน และคนรถไฟ (ครฟ.) จังหวัดชุมพร ผู้มีจิตศรัทธาและจงรักภักดีต่อเสด็จในกรมฯ พร้อมใจกันสมทบทุนจัดสร้างขึ้น โดยติดต่อให้กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบ ปั้น และหล่อพระรูป เมื่อแล้วเสร็จในปี ๒๕๐๕ จึงอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่มุขหน้าศาลากลางจังหวัดก่อน จากนั้นในปี ๒๕๐๗ เคลื่อนย้ายไปที่ศาลบริเวณหาดทรายรี ก่อนนำมาประดิษฐานบนแท่นในสวนสาธารณะเทศบาลเมืองชุมพรเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๐๘ โดยจัดงานเรียกว่า “วันกรมหลวงชุมพรฯ”

พระอนุสาวรีย์ที่เป็นของส่วนราชการแห่งแรกอยู่ที่หน้าอาคารกองบังคับการสถานีทหารเรือสัตหีบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๑๐

หลังจากนั้นจึงมีการสร้างพระอนุสรณ์เนื่องด้วยกรมหลวงชุมพรฯ เพิ่มเติมขึ้นอีกหลายแห่งเรื่อยมา แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๓๗ พลเรือตรี กรีฑา พรรธนะแพทย์ ได้เสนอกองทัพเรือ ขอให้จัดสร้างพระอนุสาวรีย์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ไว้ที่บริเวณวังนันทอุทยาน และกองทัพเรืออนุมัติเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๙

พระอนุสาวรีย์แห่งนี้นับเป็นพระอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ แห่งแรกในกรุงเทพฯ ที่กองทัพเรือจัดสร้างขึ้น และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการใน “วันอาภากร” ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๒

จริงอยู่ เราอาจพบเห็นพระอนุสาวรีย์ของกรมหลวงชุมพรฯ ในอิริยาบถต่างๆ ตามหน้าหน่วยขึ้นตรงของกองทัพเรือแทบทุกแห่ง โดยมีฐานะเป็นทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และศูนย์รวมจิตใจของเหล่าลูกนาวี เพราะสำหรับทหารเรือแล้ว “เสด็จเตี่ย” ถือเสมือนเป็น “บิดา” ของทหารเรือ และยังเป็นเอกบุรุษผู้ยิ่งใหญ่

ทว่าพระอนุสาวรีย์ที่ประดิษฐาน ณ ด้านหน้าฐานทัพเรือกรุงเทพฯ วังนันทอุทยาน ยังมีความหมายลึกซึ้งเป็นพิเศษ เพราะเกิดขึ้นภายหลังจากที่กองทัพเรือได้รับมอบวังนันทอุทยานคืนจากกองทัพบก ผู้เข้ามาครอบครองพื้นที่นี้ไว้ยาวนานหลายสิบปีนับแต่หลังจากกรณี “แมนฮัตตัน”

พระอนุสาวรีย์แห่งนี้จึงเป็นเหมือน “หมุดหมาย” แห่งการรื้อฟื้นศักดิ์ศรีกองทัพเรือ อีกทั้งยังเป็นประจักษ์พยานประกาศตัวตนของผู้เป็น “เจ้าของ” วังนันทอุทยานที่แท้จริง

นี่จึงเป็นเสมือน “ตอนจบ” หรือ “ฉากสุดท้าย” (finale) ของเรื่องราวที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อเกือบครึ่งศตวรรษก่อนหน้าบนอีกฟากฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ในตอนบ่ายวันหนึ่ง ปลายเดือนมิถุนายน ระหว่างพิธีรับมอบเรือขุด “แมนฮัตตัน”


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ