เมื่อปี ๒๕๐๒ นาวาเอก สวัสดิ์ จันทนี เขียนแสดงความคิดเห็นในคอลัมน์ “นิทานชาวไร่” ของนิตยสาร“นาวิกศาสตร์” ว่า เหตุใดทหารเรือจึงไม่มี “วันอาภากร” เพื่อเป็นที่ระลึกถึงกรมหลวงชุมพรฯ บ้าง
ตอนหนึ่ง “ครูหวัด” รำพึงอย่างน้อยอกน้อยใจว่า “ศาลเจ้าที่นางเลิ้งก็ไม่มีใครไปไหว้ มีแต่เจ๊กไปไหว้”
ประโยคที่ว่า “มีแต่เจ๊กไปไหว้” นี้ ย่อมเป็นเพราะที่นั่นคือศาลเจ้าจีนมาตั้งแต่ต้น
ขณะเดียวกันยังสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มผู้เลื่อมใสความศักดิ์สิทธิ์ของกรมหลวงชุมพรฯ ส่วนใหญ่ ล้วนแต่เป็นคนจีน สอดคล้องกับเรื่องที่หม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร พระธิดา ทรงเล่าว่า
“พวกจีนนิยมรักใคร่บูชากันมาก เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วได้มาขอสร้างศาลใหญ่โตปลูกเป็นตึก มีเซียมซีฯ บ้างก็มาขอน้ำมนต์ไปรักษาโรค เกิดหายก็มากันใหญ่ บ้างก็มาบนโน่นขอนี่…”
ศาลเจ้าที่กล่าวถึงนี้อยู่เชิงสะพานเทวกรรมรังรักษ์ ซึ่งข้ามคลองผดุงกรุงเกษมทางด้านหลัง “วังนางเลิ้ง”
ต่อมาที่ดินบริเวณนั้นเปลี่ยนมือไป ศาลเจ้าที่นางเลิ้งจึงต้องโยกย้าย กล่าวกันว่ามีการอัญเชิญรูปเจ้าแม่เซียนโกว พร้อมด้วยดวงพระวิญญาณ ย้ายไปประดิษฐานยังศาลแห่งใหม่ที่วิหารคดสมอ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเขตพุทธาวาสวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) กรุงเทพฯ และยังคงตั้งอยู่ที่นั่นจนถึงปัจจุบัน
รูปเจ้าแม่เซียนโกวนั้น ในปัจจุบันไม่มีแล้ว มีเพียงภาพวาดสีน้ำมันขนาดใหญ่ ใส่กรอบติดตั้งเหมือนเป็นพระอนุสรณ์แทนองค์ ไว้ตรงกลางวิหารคดสมอ
ตามประวัติมักระบุกันว่า ภาพวาดสีน้ำมันรูปกรมหลวงชุมพรฯ ภายในศาล เป็นฝีมือขุนระนองนัครานุกิจ ปลัดกรมของกรมหลวงชุมพรฯ ซึ่งย้ายตามมาจากศาลเดิม แต่ภาพสีน้ำมันที่ใส่กรอบติดตั้งเป็นประธานอยู่กลางศาลปัจจุบันเป็นผลงานที่มีลายเซ็นของ “บูรพศิลปิน” คิด โกศัลวัฒน์ (๒๔๖๐-๒๕๓๑) ศิลปินไทยผู้มีชื่อเสียงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เขียนถวายไว้เมื่อปี ๒๕๐๗
จึงยังต้องสืบค้นกันต่อไปว่า รูปเดิมฝีมือของขุนระนองฯ ที่ว่ากันนั้น หน้าตาเป็นอย่างไร แล้วหายไปไหน
นอกจากนั้น ในบริเวณใกล้เคียงกับวังนางเลิ้งเดิม ยังมีศาลกรมหลวงชุมพรฯ ที่เป็นศาลเจ้าจีนอีกแห่งหนึ่งอยู่ด้านในสุดของตลาดนางเลิ้ง
ชาวตลาดนางเลิ้ง ถนนนครสวรรค์ กรุงเทพฯ กำหนดจัดงานประจำปีของศาลเจ้าประจำตลาดช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี แม้ที่นี่จะประดิษฐานเจ้าฝ่ายจีนหลายองค์อยู่รวมกันเหมือนศาลเจ้าทั่วไป หากแต่ยังมี “เสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพรฯ” ประทับรวมอยู่กับเทพเจ้าจีนเหล่านั้นด้วย และ “งานปี” ที่ว่าก็กำหนดเอาตามวันคล้ายวันประสูติของท่าน คือ ๑๙ ธันวาคม
ศาลที่ตลาดนางเลิ้งนี้มีประวัติว่าเดิมสร้างขึ้นตั้งแต่ต้นทศวรรษ ๒๕๐๐ เดิมเป็นศาลเล็กๆ อยู่ท้ายตลาด แต่เพิ่งได้รับการปรับปรุงแบบรื้อสร้างใหม่หมด โดยความร่วมมือร่วมใจลงทุนลงแรงของชาวตลาด จนสำเร็จกลายเป็นศาลใหญ่โตสวยงามตามแบบศิลปะจีนโบราณ เมื่อปลายปี ๒๕๖๔ ที่ผ่านมานี่เอง
ในวาระเดียวกันนั้นได้มีการหล่อพระรูป “เสด็จเตี่ย” ตามแบบและขนาดเดียวกับที่อยู่หน้าพณิชยการพระนคร มาประดิษฐานไว้ในศาลแห่งนี้ด้วย
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ
บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว
สั่งซื้อหนังสือ