กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๗๐ - ของเล่น “เสด็จเตี่ย”

พลเรือตรี กรีฑา พรรธนะแพทย์ เริ่มต้นรวบรวมภาพถ่ายและเรื่องราวของศาลกรมหลวงชุมพรฯ มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๓

เมื่อถึงปี ๒๕๓๗ จึงตีพิมพ์เป็นบทความลงในนิตยสาร “นาวิกศาสตร์” ของกองทัพเรือเป็นครั้งแรก โดยรวบรวมมาได้ถึง ๙๕ แห่ง

“ศาล” ในความหมายของท่าน กินความกว้างขวาง คือหมายถึงอนุสรณ์ของกรมหลวงชุมพรฯ ในรูปแบบต่างๆ ทั้งพระอนุสาวรีย์ พระรูป รวมถึงถาวรวัตถุ ไม่ว่าจะเรียกว่า ศาล ศาลา พระตำหนัก วิหาร หรือเทวาลัย

ปีรุ่งขึ้น ๒๕๓๘ คุณครูกรีฑาปรับปรุงบทความเรื่องนี้ลง “นาวิกศาสตร์” อีกครั้ง จำนวนศาลเพิ่มเป็น ๑๑๙ แห่ง

นับจากนั้นมา ทุกครั้งที่มีการเพิ่มเติมบทความดังกล่าวเพื่อตีพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในวาระอันเนื่องด้วยกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จำนวนศาลก็เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ คือ ๑๒๒ (๒๕๓๙) ๑๒๙ (๒๕๔๒) ๑๕๖ (๒๕๔๔)

เมื่อถึงปี ๒๕๔๘ ในหนังสือ “ภาพชุดศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” ฉบับปกแข็ง คุณครูกรีฑาสำรวจพบศาลถึง ๒๑๗ แห่ง

จากการสอบถามส่วนตัว ท่านเชื่อว่าปัจจุบัน ตัวเลขน่าจะสูงเกิน ๓๐๐ แล้ว และยังมีการก่อตั้งเพิ่มขึ้นใหม่ตลอดเวลา

ไม่กี่วันมานี้ (กันยายน ๒๕๖๕) เพิ่งเห็นข่าวการตั้งศาลกรมหลวงชุมพรฯ แห่งใหม่ขึ้นอีกในจังหวัดทางภาคอีสาน โดยชมรมทหารเรือของจังหวัดนั้น จัดเป็นงานใหญ่โตระดับเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดมาเป็นประธานฝ่ายฆราวาสในพิธีวางศิลาฤกษ์ทีเดียว

จากที่เคยผ่านตามาบ้าง สิ่งที่พบเห็นวางถวายไว้ตามศาลกรมหลวงชุมพรฯ มักเป็นข้าวของนานาชนิดอันเนื่องด้วยทหารเรือและเรือรบ

หน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือจะนำ “ของจริง” (ที่ปลดประจำการแล้ว) มาตั้งถวายเรียงรายกันแถวหน้าพระอนุสาวรีย์ เช่น ปืนเรือ ตอร์ปิโด ทุ่นระเบิด สมอเรือ ลูกกระสุนปืนเรือ (ปลอกเป็นโลหะของแท้ แต่หัวกระสุนใช้ไม้กลึงมาสวมแทน)

หน่วยรบพิเศษบางหน่วยเอาพายเรือยางมาถวายไว้ก็มี

ส่วนเรือรบต่างๆ มักถวายพวงชูชีพ (ห่วงชูชีพ) ของเรือลำนั้นๆ ดังมีนามของเรือติดอยู่

เดาว่ามีนัยความหมายของการ “ชูชีพ” คือให้ “เสด็จเตี่ย” ทรงปกป้องให้ลูกเรือทุกคนปลอดภัย

เช่นเดียวกับบรรดาเรือรบจำลองที่เป็นโมเดลเรือรบราชนาวีไทย จัดทำขึ้นตามมาตราส่วนอย่างประณีต (ได้ยินว่ามีช่างในบางกรมบางหน่วยงานของกองทัพเรือที่มีฝีมือยอดเยี่ยมด้านนี้) ซึ่งเดาได้เช่นกันว่ากำลังพลที่ประจำการในเรือลำนั้นเอง เป็นผู้ออกทุนทรัพย์ให้จัดทำขึ้นเพื่อนำมาถวาย “เสด็จเตี่ย” โดยเฉพาะ เสมือนกับว่าขอฝากเนื้อฝากตัวให้ทรงช่วยพิทักษ์คุ้มครอง

แต่ถ้าเป็นระดับชาวบ้าน ก็อาจถวายตุ๊กตาทหารเรือตัวใหญ่ตัวเล็ก หรือเรือรบของเล่นต่างๆ

ชวนให้นึกถึงของถวาย “เจ้าพ่อ” และ “หลวงพ่อ” ที่เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ อันมีเพศเป็นบุรุษ ซึ่งมักนิยมถวาย “ของเล่น” ต่างๆ แบบ “ผู้ชายๆ” เช่น ว่าว และไก่ปูนระบายสี (แทนไก่ชน)


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ