เรื่องและภาพ :สิรามล ตันศิริ

5 บทเรียนสำคัญที่บันทึกธรรมชาติพาเราไปเจอ

เราหยิบปากกา สมุด สี มาบันทึกภาพครั้งสุดท้ายกันตอนไหนคะ?

หากเมื่อนานมาแล้ว ด้วยเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นกันนะ…

ย้อนกลับไปในวัยประถม แทบทุกเทศกาลที่มีการประกวดวาดภาพระบายสี จะต้องมีผลงานของเราขึ้นบอร์ดและมีโบสีแดงบอกลำดับรางวัลที่ได้เสมอ เรากลับบ้านพร้อมกับเอาเกียรติบัตรไปฝากแม่ จนแม่เลิกเอาไปใส่กรอบให้! พอเข้าสู่ช่วงวัยมัธยม ความทรงจำร่วมกับสีไม้ก็ค่อยๆ จางลง และหายไปเมื่อเรียนในระดับสูงขึ้นจนถึงวัยทำงาน

แต่เมื่อไม่นานมานี้มีเหตุให้ต้องรื้อดินสอหลากสีออกมา พร้อมกบเหลาที่ชอบทำให้ไส้สีหัก เพื่อทำกิจกรรมหนึ่งที่นอกจากจะได้ปัดฝุ่นความสามารถในวัยเยาว์ให้ใสแจ๋วอีกครั้งแล้ว ยังได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติตรงหน้าด้วย

กิจกรรมนั้นคือ “การบันทึกธรรมชาติ” หรือ nature journal เป็นวิธีเรียบง่ายแต่ทรงพลังที่ทำให้เราได้ใช้เวลา ณ ขณะบันทึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติตรงหน้า เป็นการค่อยๆ เข้าสู่โลกของธรรมชาติผ่านประสาทสัมผัส ตั้งแต่การสังเกต การฟังเสียง การสัมผัส การดมกลิ่น มีบ้างที่ได้ชิมรส และแน่นอนว่าการค้นพบของเราแต่ละครั้งสั่นสะเทือนไปถึงหัวใจ

การบันทึกธรรมชาติเกิดขึ้นอย่างไม่ซับซ้อน เพียงแค่ลองคุยกับตัวเองดูว่าอยากบันทึกเกี่ยวกับอะไร จากการเดินเล่นในสวนเล็กๆ หน้าบ้าน ต้นไม้ในกระถาง หรือสวนสาธารณะใกล้ตัว เมื่อพานพบกับเพื่อนใหม่ที่อยากเข้าไปทักทายก็แค่หยุดและใช้เวลาคุณภาพกับเขา ค่อยๆ วาดและระบายสีในมุมมองที่ตัวเองชอบ ค่อยๆ สังเกตลักษณะ ไม่ต้องรีบร้อน และที่สำคัญไม่ต้องกลัวว่าจะสวยหรือไม่ เพราะหัวใจของการบันทึกธรรมชาติคือการใช้เวลากับธรรมชาติ ณ ขณะนั้นซึ่งไม่สามารถตีค่าความงามที่เกิดขึ้นได้

จากนั้นบันทึกความรู้สึกที่เกิดขึ้น สิ่งที่ได้ค้นพบหรือได้เรียนรู้ เราเชื่อเสมอว่าหากเรามีคำถามในชีวิต คำตอบมีอยู่ในธรรมชาติ ขอเพียงเราช้าพอ กล้าพอที่จะเปิดหัวใจฟังเสียงนั้น เราได้ลองบันทึกมาสักพัก และพบว่าสมุดเล่มนี้พาเราเดินทางไปในพื้นที่แห่งการเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเลยละ

naturelesson01

(1)

บันทึกธรรมชาติพาเราเข้าสู่โหมดช่างสงสัย และแปลงร่างเป็นนักหาคำตอบ

ผักหวานบ้านเป็นไม้พุ่มขนาดกลางที่มีผลกลมสีขาวอยู่ใต้กิ่ง เมื่อผลร่วง กลีบเลี้ยงสีแดงจะยังคงติดอยู่ที่กิ่ง ก่อนหน้านี้ตอนเดินผ่านเราสงสัยเสมอว่าเจ้าสีแดงๆ นี่คืออะไร เป็นดอกมันหรือเปล่านะ แต่ก็ไม่มีแรงจูงใจจะค้นหาคำตอบ จนเมื่อมีอาวุธเป็นสมุด ความอยากบันทึกก็ชวนให้เราตั้งคำถาม

เราค่อยๆ บันทึกลักษณะของลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ ลองเอาใบที่มีลายขาวตรงกลางมาขยี้กับกระดาษ พบว่าเป็นคนละสีกับที่มองเห็น พอมองไปเรื่อยๆ ก็ได้เจอกับดอกเล็กจิ๋วที่มีสีเขียว และค่อยๆ มีสีแดงเรื่อๆ จากตรงกลางจนแดงเต็มทั้งหกกลีบ สมมุติฐานแรกจึงถูกปัดตกไป เพราะสีแดงๆ นั้นไม่ใช่ดอก เลยคิดว่าหรือนั่นจะเป็นขั้วของผลที่ร่วงไปแล้ว แต่ปรากฏว่าไม่เจอผลให้พิสูจน์ จนแล้วจนรอดถึงได้ร้องอ๋อว่าสีแดงๆ นี้เป็นกลีบเลี้ยง! เป็นการหาคำตอบที่ได้ลองผิดลองถูกด้วยตนเอง ถ้าไม่ได้บันทึกก็คงเดินผ่านด้วยความสงสัยอยู่ร่ำไปแน่ๆ

naturelesson02

(2)

บันทึกธรรมชาติบอกกับเราว่ายังมีองค์ความรู้ที่เรายังไม่รู้อีกมากในโลกใบนี้

ไม่ไกลจากผักหวาน มีไม้พุ่มขนาดเล็กปลูกอยู่ในตะกร้า ฝักคล้ายต้อยติ่ง กะว่าจะได้โยนลงน้ำฟังเสียงเปาะแปะ เลยนั่งบันทึกใกล้ๆ มองไปมาบวกกับเสิร์ชหาเพื่อความชัวร์จึงพบว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ต้อยติ่ง เพราะดอกคนละแบบกัน ต้นนี้มีดอกสีขาวเล็กๆ มีแถบสีม่วงตรงกลาง ช่วงเวลาของโคนันจึงเริ่มทำงาน เสิร์ชด้วยลักษณะไม่เจอ เลยต้องพึ่งพาแอปฯ iNaturalist ตามหาพืชที่ใกล้เคียงกับรูปที่อัปโหลด จึงได้ชื่อวิทยาศาสตร์มา นี่คือฟ้าทะลายโจรต่างหากเล่า!!

พอรู้จักชื่อเสียงเรียงนามกันแล้วก็ได้ใช้เวลาร่วมกัน เมื่อได้สังเกตดีๆ จึงพบว่าดอก ฝักอ่อนสีเขียวและฝักแก่สีน้ำตาลเข้ม มีขนเล็กๆ อยู่ด้วย ลองส่องดูใกล้ๆ ด้วยแว่นขยาย เจอแมลงตัวจิ๋วหลิวเกาะอยู่ และเมื่อสอดส่ายสายตาไปมาก็พบว่ากระถางนี้เป็นอาณาจักรของบรรดาเจ้าตัวเล็ก เราเจอทั้งแมงมุม แมลงเต่าทอง แมลงที่ยังไม่ทราบชื่อ ตั๊กแตนตำข้าว และหนอน ในต้นเดียวกัน

ขณะกำลังจะปิดเล่มสมุดก็ได้ยินเสียงบินหึ่งๆ คล้ายแมลงภู่ แต่พอสังเกตดีๆ มันหน้าตาคล้ายผึ้งแต่ตัวอ้วนกลมกว่า แถมที่ก้นมีแถบสีฟ้าสดสลับดำ มันบินมาที่ดอก และคุณพระ! ปากมันยาวแบบกินน้ำหวานได้โดยไม่ต้องเอาตัวมุดเข้าไปเลย ขณะกินน้ำหวานมีอาการสั่นๆ อีกต่างหาก เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในระยะห่างจากเราไม่ถึงฟุต เรากลายเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ไม่กล้าแม้แต่จะขยับตัว รอจนผึ้งบินจากไป จึงรีบเสิร์ชว่าเขาเป็นใคร

พบว่าพี่เขาเป็นผึ้งแถบฟ้า Blue-banded Bee มีต้นกำเนิดที่ออสเตรเลีย ชอบอยู่สันโดษต่างจากผึ้งบ้านเรา ผสมเกสรโดยการเขย่า (sonication) ใช้ขายึดเกาะดอกไม้แน่น กระพือปีกด้วยความเร็วสูง ตัวผึ้งและดอกไม้จะสั่นสะเทือนจนละอองเรณูฟุ้งกระจาย แล้วผึ้งก็เก็บละอองไว้ที่ขนขาหลังและลำเลียงกลับรัง

ธรรมชาติเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ที่มีองค์ความรู้มหาศาลและมหัศจรรย์เหลือเกิน กระบวนการเรียนรู้ของเราเกิดจากความอยากรู้อยากเข้าใจ เป็นแรงขับเคลื่อน เป็นมวลที่เกิดขึ้นในตัวเราเอง โดยธรรมชาติเป็นผู้อำนวยและจัดสรรบรรยากาศให้เราได้กระโจนเข้าไป เป็นการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวามากจริงๆ

naturelesson03

(3)

บันทึกธรรมชาติพาเราติดตั้งเลนส์ขยายความมหัศจรรย์ในโลก

หน้าบ้านเรามีต้นแก้วมุกดา ดอกหน้าตาเหมือนดอกแก้วแต่ใหญ่กว่า สีขาวนวลเจือเขียวอ่อน กลีบหนา กลิ่นที่โชยมาตามลมในตอนเย็นทำให้ต้องปรี่เข้าไปต่อเก้าอี้ยืนวาดเจ้าดอกนี้ ขณะกำลังวาดดอกที่บานสะพรั่ง ได้ลองดมดูใกล้ๆ ได้กลิ่นหอมอ่อนๆ คล้ายวานิลลาเจือจาง พอรวมกันทั้งต้นจึงตลบอบอวลเหมือนขนมอบใหม่ๆ ไม่แปลกใจเลยที่ชื่อสามัญของแก้วมุกดาคือ perfume flower tree

เมื่อการสบตาดอกสีขาวที่กำลังบานและดอกสีเขียวที่ตูมอยู่จบลง ก็เจอกับดอกสีเหลืองอมน้ำตาลที่เหี่ยวคาต้น และดอกสีน้ำตาลที่แห้งอยู่ข้างๆ เกสรสีขาวนวลที่เหี่ยวของมันเรียกให้ยื่นมือไปเก็บ พอลองเอามาดมเท่านั้นถึงกับตาเบิกโพลง ความหอมกลิ่นวานิลลายังคงสถิตอยู่ในดอกแม้ยามโรยรา เพียงแค่มีกลิ่นไหม้เจืออยู่หน่อยๆ เท่านั้น ที่ผ่านมาเราคงไม่ได้กลิ่นหอมจากดอกที่สดใหม่อย่างเดียวเป็นแน่

เราประทับใจความหอมของแก้วมุกดามาก กลิ่นหอมที่ยังคงอยู่ในดอกแม้จะเหี่ยวเฉาและโรยราจากต้นไปแล้วก็ตาม

naturelesson04

(4)

บันทึกธรรมชาติพาเราไปเจอความสุขสงบภายใน แม้วันที่มีเวลาจำกัด

อัญชันเป็นพืชเลื้อยที่พวกเราคุ้นเคยดี ดอกสีขาว ม่วงอ่อน และน้ำเงินอมม่วง ที่แข่งกันบาน เชิญชวนให้เราบันทึกเหลือเกิน หลังจากที่เล็งไว้หลายวันก่อน ฤกษ์งามยามดีที่จะบันทึกกลับมาพร้อมภารกิจที่ทำให้มีเวลาเหลือเพียง 10 นาที แต่ในใจรู้สึกอยากบันทึกอยู่ เลยลองใช้เวลาเท่าที่มีในการละเลงดู

เราลองนำกลีบดอกมาขยี้บนกระดาษ ให้สีสวยทั้งกลีบสีขาวนวลและกลีบสีน้ำเงิน เราเลยใช้ระบายแทนสีไม้ ขณะนั้นเรารู้สึกว่าเวลา 10 นาทีเป็นของเรา ไม่เร็วหรือช้าไป รู้สึกแค่ว่าแต่ละวินาทีเป็นปกติของมันอย่างนั้น เราไม่ได้รีบร้อน และไม่ได้เนิบช้า จนเมื่อวาดเสร็จก็ใช้เวลาพอดิบพอดี

เราได้เรียนรู้ว่า ขอเพียงเป็นเวลาคุณภาพ จะมีมากน้อยแค่ไหน ความสุขสงบในใจก็ปรากฏขึ้นได้ทั้งนั้น

naturelesson05 0
naturelesson05 1
naturelesson06

(5)

บันทึกธรรมชาติพาเรากลับไปเจอสิ่งที่ได้เรียนรู้ในอดีต และยังต้องเรียนรู้ต่อจนปัจจุบัน

วันหนึ่งขณะพาแมวไปกินหญ้าหน้าบ้าน วันนั้นเราเต็มไปด้วยมวลอารมณ์ความไม่มั่นคง ความกังวลใจ ความกลัวว่าจะทำได้ไม่ดี เราเดินผ่านต้นผักหวานบ้านและรู้สึกเหมือนมีดวงตาคู่หนึ่งจ้องมองอยู่ เมื่อแหงนหน้าขึ้นมองจึงได้สบตาเจ้ากิ้งก่าสีน้ำตาลที่เกาะกิ่งผักหวานด้วยท่ายิมนาสติก ในใจคืออยากบันทึกซะเดี๋ยวนั้น แต่อีกใจก็กลัวว่าจะวาดไม่เหมือน กลัวกิ้งก่าจะหนีไปเสียก่อน ลังเลอยู่สักพักและจบลงที่การถ่ายรูปเก็บไว้

เมื่อเหตุการณ์ความไม่มั่นคงคลี่คลายลง เรากลับมาวาดกิ้งก่า ความกดดันว่าจะต้องวาดให้เหมือนทำให้ภาพแรกพังไม่เป็นท่า หยุดพักและนั่งคุยกับตัวเองว่าถ้าลดความกดดัน วางความอยากสมบูรณ์แบบลง อนุญาตให้ภาพออกมาตลกได้ เหตุการณ์วันนี้และการวาดกิ้งก่าตัวนี้คงสนุกขึ้นเป็นกอง เราเลยวาดใหม่อีกครั้งด้วยสายตาคู่ใหม่ แม้จะไม่ได้ออกมาสวยสมบูรณ์เหมือนตัวจริงที่กะพริบตาให้ แต่เราก็ชอบหางที่อ้วนเกินไปของมันอยู่ดี

การบันทึกธรรมชาติเป็นช่วงเวลาของการอยู่กับปัจจุบัน สิ่งตรงหน้าสำคัญมากกว่าตัวเรา เราได้ออกจากความหมกมุ่นกับตัวเอง ได้ถอยออกมาจากปัญหาหรือความไม่สบายใจ มันทำให้เราเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น กล้านิยามสิ่งที่เรารู้สึก และอยู่เพื่อเรียนรู้กับมันต่อไป

naturelesson07
naturelesson08

(6)

บันทึกธรรมชาตินำพาให้คุณ…

ลองออกไปบันทึกด้วยตัวเองกันนะคะ 🙂

สำหรับท่านที่สนใจเรียนรู้การ Parkใจ สามารถติดตามกิจกรรมอื่นๆ ในปีนี้ได้ที่ เฟซบุ๊กกรุ๊ป Parkใจ

ดำเนินการโดย นิตยสารสารคดี และนายรอบรู้ นักเดินทาง

สนับสนุนโดย เพจความสุขประเทศไทย และ ธนาคารจิตอาสา

ชวน Park ใจ โดยนิตยสารสารคดี และ “นายรอบรู้” นักเดินทาง

สนับสนุนโดยเพจความสุขประเทศไทย และธนาคารจิตอาสา