กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๗๑ - ณ หาดทรายรี ที่ใต้ต้นหูกวาง

ในบรรดา “ศาลกรมหลวงชุมพรฯ” ศาลและพระอนุสาวรีย์ บริเวณหาดทรายรี (หรือหาดทรายลี) อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ถือได้ว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับเสด็จในกรมฯ มากที่สุด เพราะตั้งอยู่ ณ สถานที่สิ้นพระชนม์เมื่อปี ๒๔๖๖

“ครูแจ๋ว” สง่า อารัมภีร (๒๔๖๔ – ๒๕๔๒) ศิลปินแห่งชาติ เคยเขียนเล่าไว้ว่าครั้งหนึ่ง เมื่อราวปี ๒๕๐๒ – ๒๕๐๓ สมัยนั้นยังไม่มีถนนเข้าไปถึง แต่น้องชายของเพื่อนเคยพานั่งเรือไปยัง “หาดทรายลี” ทางใต้ของปากน้ำชุมพร

“เขาพาไปดูบริเวณที่เคยเป็นพระตำหนักของเจ้าพ่อฯ เขาบอกว่าท่านไม่นิยมปลูกตำหนักให้เป็นตึกเหมือนเจ้านายองค์อื่นๆ ทรงชอบปลูกตำหนักด้วยไม้ไผ่เหมือนพวกชาวบ้าน ไม้กระดานที่เรียกว่าไม้จริง ก็ไม่ทรงโปรด ดังนั้น พระตำหนักไม้ไผ่จึงอยู่ได้ไม่กี่ปี พายุแรงๆ พัดมาก็ไปกับพายุและน้ำทะเลหมด”

เมื่อไปเห็นเข้า ครูแจ๋วก้มลงกราบกับพื้นทราย พลางอธิษฐานว่า

“ลูกช้างมาหาเจ้าพ่อถึงถิ่น เจ้าพ่อโปรดแสดงอภินิหารให้ลูกช้างชมเป็นขวัญตาด้วยเถิด…”

ปรากฏว่าขากลับ ลงเรือกันเรียบร้อยหมดแล้ว แต่เครื่องยนต์สตาร์ตไม่ติด ทำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ จนเพื่อนน้องชายอดรนทนไม่ได้ หันมามองหน้าครูแจ๋ว ถามว่าเมื่อกี้ไปขอให้ท่านแสดงอภินิหารให้ดูหรือเปล่า ? ครูแจ๋วพยักหน้า ว่าแล้วก็ “วิ่งไปที่บริเวณพระตำหนัก บอกว่าลูกได้เห็นอภินิหารแล้ว ลูกขอกราบลากลับบ้าน พออธิษฐานขาดคำ เสียงเครื่องยนต์ก็ติดทันที…”

เรื่องนี้ครูแจ๋วนำมาลงพิมพ์ไว้เป็นอันดับแรกของหนังสือ “แจ๋วเจอผี” (หรือที่ในการพิมพ์ซ้ำบางครั้ง เปลี่ยนชื่อหน้าปกเป็น “ผีกระสือที่บางกระสอ”) ใครสนใจรายละเอียดลองไปหาอ่านต่อกันดู

ที่ตรงนั้น เล่ากันว่าแต่เดิมชาวบ้านและชาวประมงเมืองชุมพรมาสร้างศาล “เสด็จเตี่ย” ไว้ใต้ต้นหูกวาง ที่เชื่อว่าเคยเป็นที่พักพระศพ ก่อนอัญเชิญเคลื่อนย้ายกลับเข้าพระนคร

ศาลยุคแรกนี้เป็นเพียงศาลไม้หลังเล็กๆ กั้นฝาและมุงหลังคาด้วยแผ่นสังกะสี ตามกำลังของชาวบ้าน

ต่อมาช่วงต้นปี ๒๕๐๒ กลุ่ม ค.ร.ฟ. (คนรถไฟ) และครอบครัว นำโดย พันตรี แสง จุละจาริตต์ (๒๔๕๑-๒๕๔๐ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย ภายหลังยศสูงสุดคือพันเอก และตำแหน่งสูงสุดเป็นผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย) เดินทางไปสักการะแล้วเกิดจิตศรัทธา จึงชักชวนกันร่วมออกแบบจัดสร้าง “พระตำหนัก” หลังใหม่เป็นอาคารตรีมุข (มีมุขสามด้าน) ยกพื้น หลังคาทรงไทยมุงกระเบื้อง และเพราะศาลตั้งอยู่ใต้ต้นหูกวาง จึงต้องเลือกกระเบื้องอย่างหนา ให้พอที่จะทนทานกับกิ่งหูกวางที่มักหักร่วงหล่นลงมาเสมอได้

“พระตำหนัก” ที่ว่านี้ สร้างขึ้นที่เมืองชุมพรก่อน เมื่อทดลองประกอบดูเรียบร้อยแล้ว จึงถอดรื้อออกเป็นชิ้น มัดบรรทุกลงเรือท้องแบน ไปประกอบขึ้นใหม่ยังหาดทรายรี และมีพิธีอัญเชิญดวงพระวิญญาณของกรมหลวงชุมพรฯ จากศาลเดิม ย้ายไปประทับที่พระตำหนักศาลใหม่เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๐๒

ต้นหูกวางใหญ่ที่เชื่อกันว่ามีมาแต่ครั้ง “เสด็จเตี่ย” เพิ่งยืนต้นตายไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ปัจจุบันเหลือแต่ตอซึ่งตัดแต่งไว้สูงกว่าระดับศีรษะเล็กน้อย ล่าสุดเมื่อปี ๒๕๖๓ จึงมีการจัดสร้างพระอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ ประทับนั่ง ซึ่งออกแบบโดยพลเรือตรี กรีฑา พรรธนะแพทย์ ประดิษฐานไว้เป็นที่ระลึก ณ โคนหูกวางประวัติศาสตร์ต้นนั้น


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ