กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๗๒ - เรือหลวงหมายเลข 7

ทุกวันนี้ หากเข้าไปสักการะศาลกรมหลวงชุมพรฯ บริเวณหาดทรายรี จังหวัดชุมพร ก่อนถึงตัวศาลย่อมต้องเห็น “อู่แห้ง” ทางขวามือ พร้อมด้วยเรือรบสีเทาลำใหญ่ที่นำมาเกยตื้นขึ้นบกไว้

เรือหลวงหมายเลข 7 (เลขอารบิก) ลำนี้ มีนามจารึกตรงท้ายเรือ แลเห็นชัดเจนว่าชื่อ “ชุมพร”

เมื่อปี ๒๕๑๘ นาวาเอก จำลอง ประเสริฐยิ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรในขณะนั้น ทราบว่ากองทัพเรือกำลังจะปลดระวางเรือหลวง “ชุมพร” ที่เข้าประจำการมาตั้งแต่ปี ๒๔๘๑ จึงทำหนังสือขอเรือหลวง “ชุมพร” จากกองทัพเรือ มาตั้งไว้เป็นอนุสรณ์ยังหาดทรายรี

เวลาล่วงเลยมาอีกหลายปี ผ่านสมัยของผู้ว่าราชการจังหวัดไปหลายท่าน ในที่สุด เมื่อปี ๒๕๒๓ กองทัพเรือจึงมอบเรือหลวง “ชุมพร” เรือตอร์ปิโดใหญ่หมายเลข 7 ให้ชักลากขึ้นบกมาเข้าที่ตั้ง เคียงคู่กับศาลกรมหลวงชุมพรฯ ที่หาดทรายรี

เหตุที่เรือหลวงลำนี้มีนามว่า “ชุมพร” นั้น เป็นไปตามระเบียบกองทัพเรือเรื่องการตั้งชื่อเรือหลวง ซึ่งกำหนดให้ใช้ชื่อจังหวัดชายทะเลมาตั้งนามเรือตอร์ปิโด

สมัยก่อน เมื่อเรือหลวงชุดที่มีนามตามจังหวัด เดินทางจากอู่ต่อเรือในต่างประเทศกลับมาถึงเมืองไทยครั้งแรก ก็มักมีพิธีการเฉลิมฉลองกัน ณ จังหวัดนั้นๆ เสมอ ดังนั้น การที่เรือหลวง “ชุมพร” ได้กลับมาอยู่ในพื้นที่จังหวัดชุมพรอีกครั้งภายหลังจากปลดประจำการ จึงนับเป็น “การกลับบ้าน” อันสมเกียรติ

ยิ่งกว่านั้น ชื่อ “ชุมพร” ของเรือลำนี้ยังพ้องกับพระนามกรม “ชุมพรเขตอุดมศักดิ์” ของพระองค์เจ้าอาภากรฯ อีกด้วย จึงเหมาะควรทุกประการที่จะนำมาเข้าประจำที่ ณ ศาลกรมหลวงชุมพรฯ หาดทรายรี

ทั้งที่ว่าตามจริงแล้ว เรือลำนี้มิได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับกรมหลวงชุมพรฯ เลย รวมถึง “ไม่ทันยุค” ของพระองค์ด้วยซ้ำ เพราะตั้งแต่เมื่อเรือเข้าประจำการครั้งแรก เสด็จในกรมฯ สิ้นพระชนม์ไปกว่า ๑๐ ปีแล้ว

ทว่าการนำเรือหลวง “ชุมพร” มาตั้งบนแท่นอยู่ข้างศาลกรมหลวงชุมพรฯ เช่นนี้ มักก่อให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งที่ได้ยินเสมอๆ คือหลายคนนึกว่าเรือลำนี้คือเรือ “พระร่วง” ที่กรมหลวงชุมพรฯ ทรงนำกลับมาจากอังกฤษ

แต่เรือ “พระร่วง” ลำจริง ถูกตัดเป็นเศษเหล็ก ขายทอดตลาดไป ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เหลืออยู่เพียงบางชิ้นส่วน เช่นปืนเรือและปล่องควัน ตั้งเป็นอนุสรณ์ไว้ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า ปากน้ำสมุทรปราการ

ทุกวันนี้ เรือหลวง “ชุมพร” กลายเป็นอีกหนึ่ง “สัญลักษณ์” ประจำจังหวัด พบเห็นได้ในแผ่นป้ายทะเบียนเลขสวย (เช่น ๙๙๙๙) ของจังหวัดชุมพร ด้านซ้ายมีภาพส่วนหัวของเรือรบลำใหญ่ เลข 7 ถัดมาเป็นหาดทราย มองเห็นเกาะอยู่กลางทะเล ซึ่งหมายถึงเรือหลวง “ชุมพร” หาดทรายรี และเกาะมะพร้าวที่มองเห็นจากริมฝั่งนั่นเอง

น่าสังเกตว่า การนำเรือหลวง “ชุมพร” มาตั้งไว้เคียงข้างศาลเช่นนี้ ว่าอีกทางหนึ่ง เหมือนนำมาเป็น “ของถวาย” แก่ “เจ้าพ่อกรมหลวงชุมพรฯ” เช่นเดียวกับธรรมเนียมที่นิยมถวาย “ของเล่น” พวกเรือรบจำลองลำเล็กๆ ไว้ตามศาลของพระองค์ที่พบเห็นทั่วไป

เพียงแต่ เนื่องจากศาลหาดทรายรีเป็นที่นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์สำคัญยิ่ง จึงย่อมสมควรบูชาด้วยสิ่งอันพิเศษกว่าศาลทั่วไป

นั่นคือถวายสักการะด้วยเรือรบ “ของจริง” !


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ