ทีม Hut4Hug
เรื่อง : ธาริษา บรรพลิตานนท์ และ อนุตรจิตต์ บรรพลิตานนท์
ภาพ : อนุตรจิตต์ บรรพลิตานนท์

อาหารจานบ้าน...สุขในความทรงจำ
เวลาบนโต๊ะอาหาร

“หม่าม้า เช้านี้กินอะไรคะ”

เสียงงัวเงียของเด็กน้อยที่เดินมากอดเอวแม่พร้อมเขย่งขามองขึ้นไปบนโต๊ะที่เต็มไปด้วยแป้งแผ่นวางเรียง

“เกี๊ยวค่ะ สาวน้อย” คุณแม่ตอบขณะมือห่อเกี๊ยวคล่องแคล่วเรียงบนจานอย่างสวยงามก่อนหย่อนลงต้มในกระทะใบโต

“หม่าม้าเก่งจัง ไม่กลัวไฟฟู่ๆ นั่น ชิงชิงก็อยากทำบ้าง” เด็กน้อยเดินหลบข้างหลังแม่ มือน้อยๆ ชี้ไปที่กระทะหลังจากปรบมือให้กับแม่ สายตาระคนความซุกซนสนใจใคร่ลองยังคงจับจ้องที่เปลวไฟอย่างไม่วางตา มันเป็นเปลวไฟจากเตาแก๊สที่ลุกโชนใต้กระทะเหล็กที่แดงเสียจนน่ากลัว

ชั่วเวลาเพียงอึดใจ เกี๊ยวตัวอ้วนในน้ำซุปร้อนๆ ถูกวางบนโต๊ะเบื้องหน้าเด็กหญิง

ความตื่นเต้นกับอาหารเช้าผนวกท้องที่ร้องจ๊อกจ๊อก ทำให้อาหารที่แสนจะเรียบง่ายนั้นอร่อยเสียจนเด็กหญิงตักกินจนชามว่างเปล่าในเวลาอันสั้น

“อร่อยไหมคะ เต็มสิบ น้องชิงให้หม่าม้าเท่าไหร่” คุณแม่โน้มตัวลงถาม พลางลูบแก้มใสๆ ของเธอ

“ชิงชิงให้สิบเต็มเลย” เด็กหญิงแกว่งขาไปมาบนเก้าอี้พร้อมรอยยิ้ม นิ้วทั้งสิบชูขึ้นบังหน้าให้ผู้เป็นแม่เห็น ก่อนเอ่ยถาม “ข้าวเที่ยงเรากินอะไรกันหรอ แล้วตอนเย็นหม่าม้าจะทำอะไรให้ชิงชิงกินคะ” เด็กหญิงเอียงคอรอคำตอบ ดวงตากลมโตเต็มไปด้วยประกายความหวังว่า…คำตอบนั้นจะอยู่ในรายการเมนูโปรดของเธอ

นี่คือภาพบรรยากาศแสนอบอุ่นภายในบ้านที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงตลอด 14 ปีที่ผ่านมา

ฉันยังคงตั้งคำถามอย่างตื่นเต้นและตั้งตารอลุ้นเพื่อลิ้มรสเมนูจากมือหม่าม้า ส่วนหม่าม้าก็ยังคงสาละวนปรุงอาหารจีนทุกเมนูอย่างใส่ใจเพื่อทุกคนในครอบครัว

เกี๊ยวตัวอ้วนของหม่าม้าได้รับการจับจีบเป็นรูปเงินจีนโบราณอย่างสวยงามเสมอ

แม้กระทั่งเมนูทั่วไปอย่างพะโล้…หม่าม้าจะทอดเต้าหู้จนเหลืองนวลจัดวางเรียงลงหม้ออย่างเบามือ ต้มเคี่ยวคู่เนื้อหมูกรุ่นกลิ่นเครื่องเทศเฉพาะตัวจากตระกูลหม่าม้า

มันช่างน่าตื่นตาตื่นใจที่สารพัดวัตถุดิบในตู้เย็นสามารถแปรเปลี่ยนรังสรรค์สู่สารพัดเมนูได้ในพริบตา จากมือของหม่าม้า

เมื่อสมัยยังเล็ก ฉันคิดว่าหม่าม้าเป็นเหมือนผู้วิเศษ นักมายากล หรือแม่มดที่เสกอาหารจานอร่อยได้อย่างน่าทึ่ง เช่นน้ำซุปในวันนี้ จะกลายร่างเป็นไข่ตุ๋นนวลเนียนของวันพรุ่งนี้

jarnbarn02
แม่เตรียมอาหาร

กล่องข้าวหรรษา……ในความทรงจำ

ชีวิตตอนเช้าอันน่าเหนื่อยหน่ายของชาวกรุงเทพฯ ซึ่งรวมถึงฉันและพี่ชาย คงหนีไม่พ้นเรื่องรถติดบนท้องถนน

กระนั้นเราก็ยังหาความสุขเล็กๆ ในสภาวะอันชวนอึดอัดเช่นนั้นได้ ด้วยการลุ้นกับกล่องข้าวมื้อเช้าในมือว่าจะได้พบเจออะไรภายใต้ฝากล่องที่หม่นมัวด้วยไอน้ำจากอาหาร

ฝากล่องเปิดออกพร้อมกับกลิ่นอุ่นๆ ของอาหารหอมฟุ้งไปทั่วรถ ชวนน้ำลายสอยิ่งนัก

แต่ในบางครั้งกล่องข้าวหรรษาของพวกเราพี่น้องก็ใช่ว่าจะนำแต่ความสุขมาให้ มีบางวันที่ฉันหันไปสบตากับพี่ชาย สีหน้าของพวกเราเศร้าลงเล็กน้อยกับอาหารเบื้องหน้า

“ปลาเปรี้ยวหวานอีกแล้วเหรอ” ฉันได้แต่รำพึงเบาๆ กับพี่ชายที่กำลังเคี้ยวปลานั้นอย่างเนือยๆ

บางครั้งหม่าม้าเลือกทำเมนูซ้ำติดต่อกันอยู่หลายวัน เพื่อประหยัดเวลาตอนเช้าที่แสนเร่งรีบ

ฉันหวนนึกถึงเรื่องที่หม่าม้าเคยเล่าให้ฟังเกี่ยวกับอาหารกลางวันครั้งหม่าม้ายังเล็ก

อาม่าของฉันเป็นคนรักความสะอาดอย่างที่สุด จึงมักเตรียมอาหารกลางวันบรรจุลงปิ่นโตสีเงินเถาโตให้หม่าม้าถือไปโรงเรียน

อาหารมื้อเที่ยงในปิ่นโตเถาเดิมที่ทุกๆ วันไม่เคยเปลี่ยนแปลง คือ “ไข่ยัดไส้”

หม่าม้าเล่าว่ากินจนจำรสชาติมาจนถึงทุกวันนี้ และไม่เคยนึกอยากทำอาหารจานนี้กินเองอีกเลย

น้ำเสียงที่เล่าปนขำของหม่าม้านั้น เจือความสุขบนความทรงจำที่ไม่เคยลืมเลือนระหว่างอาม่าและหม่าม้า ทำเอาฉันนึกอยากชิม “ไข่ยัดไส้” สูตรอาม่าฝีมือหม่าม้าเสียจริง

เรื่องเล่าจากความทรงจำของหม่าม้าได้เปลี่ยนความหมายของอาหารจานซ้ำๆ ที่แสนจะน่าเบื่อของฉันในวันนั้น สู่การรับรู้ถึงอ้อมกอดแห่งหัวใจอันอบอุ่นของหม่าม้าในวันนี้ ผ่านสิ่งที่ฉันเรียกว่า “อาหารจานบ้าน”

ไม่แปลกใจที่ฉันได้เห็นวัฒนธรรมอาหารการกินของชาวจีนที่จัดของเซ่นไหว้อย่างแน่นขนัดในทุกเทศกาลตรุษและสารท

เหล่าญาติต่างครอบครัวจากต้นตระกูลเดียวกันมารวมตัวพบปะสังสรรค์และรับประทาน “อาหารจานบ้าน” ประจำตระกูลร่วมกัน

อาหารธรรมดาที่แฝงนัยยะอันทรงคุณค่าของการแสดงออกถึงความรัก แทนคำพูดหรือการกอดที่ล้วนไม่คุ้นเคย

jarnbarn03
ฉันและกล่องข้าวหรรษา
jarnbarn04
ไข่ยัดไส้และปลาเปรี้ยวหวาน

อาหารบ้าน….จานพิเศษ

บางเมนูไม่ใช่เมนูปกติที่ทำกินกันโดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน มักเวียนมาให้ได้ลิ้มรสเพียงในช่วงเทศกาลสำคัญพิเศษ

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ เทศกาลไหว้บะจ่าง หรือ เทศกาลตวนอู่ (端午节) ซึ่งตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินทางจันทรคติ เป็นวันเสียชีวิตของนักปราชญ์ราชกวีแห่งรัฐฉู่นามชฺวี ยฺเหวียน (屈原) ที่กระโดดน้ำตายจากความน้อยใจที่ถูกฮ่องเต้เนรเทศให้ออกนอกเมือง เพราะหลงเชื่อคำมดเท็จของเหล่าขุนนางกังฉินนั่นเอง และอาหารที่ชาวบ้านนำมาเซ่นไหว้คุณงามความดี ความรักชาติของท่านในเทศกาลนี้ก็คือ “บะจ่าง” (肉棕) ขนมจ่างแบบมีเนื้อสัตว์ที่ห่อด้วยใบไผ่

นี่คือเรื่องราวย่อๆ ของเทศกาลแห่งความขมปนหวานในบะจ่าง

ขมใน…ความเป็นมาอันขมขื่น และหวานใน..เผือกกวน ส่วนผสมรสเนียนหวานที่หลายต่อหลายคนลุ่มหลง

“บะจ่าง” เป็นอาหารแสนพิเศษที่อาจเรียกได้ว่าเป็นตัวแทนประจำตระกูลที่มีเสน่ห์ชวนให้เขียนถึง

โชคดีที่ป๊าของฉันเป็นจีนฮากกาและหม่าม้าเป็นจีนแต้จิ๋ว ฉันจึงได้เรียนรู้ว่าแม้อาหารจีนที่ทั้งคู่รังสรรค์ภายใต้ชื่อเดียวกันแต่รสชาติกลับแตกต่างไม่ซ้ำ ด้วยส่วนผสมและการปรุงรสชาติของชาวจีนกลุ่มต่างๆ ที่มีภาษาถิ่นต่างกัน

ภายใต้ใบไผ่สีเขียวแก่กลิ่นหอมเฉพาะตัว พับห่ออย่างบรรจงรูปสามเหลี่ยมพีรามิด มีวัตถุดิบหลักเหมือนกันทุกสูตร อันได้แก่ข้าวเหนียวขาวนุ่ม กุ้งแห้งเค็มปะแล่ม เห็ดหอมกรุ่นกลิ่นเครื่องเทศ ไข่แดงเค็มรสละมุน กุนเชียง และหมูหมักแล้ว บะจ่างชาวจีนฮากกาจะเพิ่มถั่วซีกและไชโป๊วสับลงผัดพร้อมข้าวเหนียว หอมกลิ่นกระเทียมพริกไทยของหมูหมักสูตรฉพาะตัว

ขณะที่บะจ่างชาวจีนแต้จิ๋ว หมูหมักจะหอมกลิ่นเครื่องเทศแบบพะโล้ พ่วงความหวานเฉพาะตัวจากเผือกกวนนวลเนียน

jarnbarn05
หัดทำเกี๊ยว
jarnbarn06
บะจ่าง

อาหารจานบ้าน…จุดกำเนิดแห่งความฝัน

ย้อนหลังไปราว 8-9 ปีก่อน ฉันยังได้รับบะจ่างแต้จิ๋วที่ผูกรัดมัดจากฝีมืออาม่า และบะจ่างฮากกาจากเหล่าอี๊ญาติฟากฝั่งป๊ามาให้ได้ชิมอยู่บ้าง แต่ด้วยกระบวนการเตรียมและทำที่แสนจะยุ่งยาก ทำให้เหล่าญาติสูงอายุหลายคนต้องลดและเลิกลากันไปตามสังขาร

แต่…บะจ่างมีเสน่ห์เกินกว่าที่ใครจะยอมลืมและลบเลือนออกไปจากความทรงจำ ป๊าถึงกับเปรยกับหม่าม้าในวันหนึ่งว่า

“เห็นทีรุ่นเราต้องผูกจ่างกินเองแล้วล่ะ รุ่นพ่อรุ่นแม่เราไม่น่าทำไหวกันแล้ว”

นั่นคือที่มาของไอร้อนจากหม้อต้มน้ำที่โชยกลิ่นใบไผ่ผสมความหอมอ่อนๆ ของเครื่องเทศประจำตระกูล ทั้งฝั่งป๊าและหม่าม้า

กลิ่นหอมเฉพาะตัวของบะจ่าง ยามผ่านไอร้อนช่างโชยชวนให้จินตนาการถึงรสสัมผัสอันนุ่มละมุนของข้าวเหนียวอันฉ่ำหอม

และหนึ่งในคนที่มีความทรงจำผูกพันกับอาหารจานบ้านอย่างบะจ่าง ก็คืออากงของฉัน

อากงมีดวงตาเต็มไปด้วยชีวิตชีวากับร่างกายแข็งแรงแบบอดีตนักกีฬา น่าเศร้าที่ช่วงท้ายของชีวิต…อากงถูกรุมเร้าด้วยโรคมากมายจนต้องแวะเวียนเข้าออกโรงพยาบาล มือทั้งสองข้างที่เคยมีกล้ามเนื้อกลับผ่ายผอมลงจนเห็นเส้นเลือดและกระดูกปูดโปน ทุกครั้งที่อากงพูดมักตามมาด้วยการหอบ

ฉันนึกสงสัยว่าทำไมอากงที่เป็นคนกินง่ายและชอบกินอาหารจึงผ่ายผอมลง ดวงตาดูไร้ชีวิตชีวา คำถามของฉันได้รับคำตอบในเช้าวันหนึ่ง เมื่ออาหารกลางวันของอากงถูกเสิร์ฟมาในถาด ท่านกินไปเพียงเล็กน้อยแล้วผลักถาดอาหารที่จืดชืดนั้นออกจากตัว

ไก่ขมิ้นที่แห้ง ผักผัดสีซีดไร้รสชาติ ไม่แปลก…ที่อากงจะไม่อยากกินต่อ โรคที่อากงเป็นอยู่ดึงรั้งท่านออกจากอาหารจานโปรดหลายเมนู

จนกระทั่งวันที่ป๊าทำบะจ่างมาให้อากงชิมที่โรงพยาบาล

“ป๊า…. อันนี้เป็นบะจ่างฮากกาสูตรที่บ้านผม ส่วนอันนี้แบบแต้จิ๋วสูตรทางบ้านป๊าครับ อยากลองชิมสักนิดมั้ยครับป๊า” ป๊าของฉันเอ่ยถามอากงพร้อมถือบะจ่างลูกเขื่องๆ ไว้ในมือ

“ลี..ลี เอาสิลองชิมลู ไม่เคยกินของฮากกา ลื้อทำเป็นเหรอ เก่งๆ”

บทสนทนาเริ่มและจบลงที่รอยยิ้มบนหน้าอากง หลังข้าวเหนียวสีน้ำตาลอ่อนที่ฉ่ำไปด้วยเครื่องเทศนานาชนิดถูกตักเข้าปากและเคี้ยวอย่างช้าๆ

“แบบฮากกาพริกไทยเยอะลี หอมลี ใช้ไล่ ใช้ไล่ ” อากงยิ้มพร้อมพยักหน้าเบาๆ กับรสชาติอาหารจีนอันคุ้นเคย

นับเป็นรอยยิ้มแรกที่ฉันเห็นท่านยิ้มตั้งแต่เข้าโรงพยาบาล

ฉันจำประโยคหนึ่งในการ์ตูนที่ตัวเอกกล่าวถึงอาหารไว้อย่างน่าสนใจว่า

“รสชาติอาหารอันโอชะที่สุดในโลกคือ รสชาติอาหารที่เราคุ้นเคย”

รอยยิ้มของอากงในวันนั้นทำให้ฉันเข้าใจความหมายของประโยคดังกล่าวนั้นชัดเจนขึ้น

ความคุ้นเคยสำหรับผู้สูงอายุนั้นมีความหมายมากกว่าความอร่อยมากนัก มันคือความทรงจำที่แจ่มชัดและไม่เคยโรยราตามสังขารที่โรยแรง

jarnbarn07

ความสุข ความฝัน ความทรงจำ บทสรุปแห่งการเดินทาง

อากงเป็นจุดเริ่มต้นให้ฉันเห็นโจทย์ชีวิตของผู้ป่วยผู้สูงอายุ ว่าอาหารหลายเมนูที่ชอบมักไม่ตอบโจทย์สุขภาพกาย และอาหารที่ใช่ก็หาได้ตอบโจทย์สุขภาพใจไม่

การดำรงชีพที่เน้นเพียงสุขภาพกายด้วย “ปัจจัยสี่” อันได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค โดยแยกส่วนสุขภาพใจออกไปเสีย ช่างไม่ต่างอะไรกับกุหลาบดอกงามที่ตัดพรากจากต้นประดับแจกันรอเพียงวันโรยรา

สุขภาพใจที่ดีทำให้ชีวิตมีความหวัง มีพลัง มีความหมาย มีชีวิตชีวาหลังลืมตาตื่นในทุกๆ เช้า

รอยยิ้มและดวงตาของอากงในวันที่ได้ลิ้มรส “อาหารจานบ้าน” ที่คุ้นเคยคือคำตอบสุดท้ายที่ฉันรับรู้ด้วยใจว่า “ความสุขในความทรงจำ” ต่างหากที่ทำให้ผู้สูงอายุที่ป่วยกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง

………….

เมื่อยังเล็ก “ความสุข” สำหรับฉันอาจเป็นเพียงการได้ลิ้มรสอาหารถูกปากที่ป๊าและหม่าม้าทำให้ และรอคอยการเติมสุขจาก “อาหารจานบ้าน” ในมื้อถัดๆ ไป

ในวันที่อากงเผยถึงโจทย์ชีวิตนี้ ฉันจึงเห็นการเดินทางของความสุขที่เติบโตขึ้นในตัว ฉันพบความหมายซ่อนเร้นในอาหารทุกจานของหม่าม้า ว่าคือการสร้างความทรงจำอันน่าจดจำตลอดทางเดินแห่งชีวิตระหว่างพวกเราโดยอาศัย “อาหารจานบ้าน” เป็นสื่อกลางอันจับต้องได้ให้คนในครอบครัวระลึกถึงกัน

ช่างเป็นกุศโลบายที่แสนแยบยลของวัฒนธรรมอาหารของชาวจีน ที่ม้วนห่อความทรงจำทั้งยามสุข ยามทุกข์ บ่มเพาะเป็นคำสอน และใช้เวลาบนโต๊ะอาหารส่งต่อปรัชญาของตระกูลจากบรรพบุรุษสู่คนรุ่นถัดไป

ระหว่างทางเดินของความสุข สู่ปลายทางแห่งความทรงจำร่วมกันนี้ ฉันและหม่าม้าต่างมีความฝันเฉพาะตัวที่ต่างออกแบบเอง ผ่านกาลเวลาที่แปรเปลี่ยนจากเตาถ่านในรุ่นอาม่า สู่เตาแก๊สในรุ่นหม่าม้า ส่งต่อมาที่เตาไฟฟ้าบนคอนโดในรุ่นฉัน ที่เราล้วนปรุง “อาหารจานบ้าน” ในรสชาติเดิมอย่างไม่เคยผิดเพี้ยน

และนี่คือจุดเริ่มต้นการเดินทางแห่งความสุขของฉัน

บนเส้นทางความฝัน สู่ความทรงจำร่วมกันของครอบครัว

กิจกรรมดีๆ ของ “ค่ายนักเล่าความสุข” ปี 3 ร่วมสร้างสรรค์เรื่องเล่าความสุข และสังคมที่มีความสุข

  • มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
  • นิตยสารสารคดี
  • เพจความสุขประเทศไทย
  • สสส.