ทีมปลายฝน ต้นหนาว
เรื่อง : จีระภัทร พองพรหม
ภาพ : พรลภัส พองพรหม
ผลการเสี่ยงทายออกแล้ว
ปีนี้พระยาแรกนาได้เสี่ยงทายหยิบผ้าได้ 4 คืบ
“น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ และพระโคกินน้ำ หญ้า ถั่ว และเหล้า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง”
แม่หันมาเล่าให้ฉันฟังหลังชมการถ่ายทอดสดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพิธีที่มีความมุ่งหมายบำรุงขวัญเกษตรกร เพราะข้าวเป็นธัญญาหารหลักสำคัญยิ่งในการดำรงชีวิต พระมหากษัตริย์หรือประมุขของประเทศจึงเป็นผู้นำลงมือไถนาและหว่างพืชพันธุ์ธัญญาหารเป็นตัวอย่าง ซึ่งปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม 2565
ฉันได้หยุดเรียน 1 วัน แม่จึงชวนไปปลูกต้นทุเรียนกับลิ้นจี่ที่ซื้อมาเมื่อวาน ส่วนพ่อกับพี่ชายขับรถไถนาออกจากบ้านไปตั้งแต่เช้าตรู่
ที่นาของฉันอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร พาหนะคู่ใจของเราคือรถไฟฟ้า แม่เป็นคนขับ ส่วนฉันนั่งหลังคอยระวังสิ่งของบนรถไม่ให้ตกหล่นเสียหาย
ณ ที่ราบหุบเขา บนเทือกเขาภูพาน อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าว ปลูกหวาย ชาวบ้านมีวัฒนธรรมความเชื่อที่หลากหลาย มีชนเผ่ากระเลิงเป็นประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่มานับร้อยปี เป็นที่ตั้งของทุ่งนาที่ได้รับมรดกตกทอดมาจากคุณปู่คุณย่า และยังรับมรดกอาชีพชาวนามาโดยสายเลือด
บรรพบุรุษของฉันเป็นชาวนา ฉันก็เป็นชาวนาเช่นเดียวกัน
ตั้งแต่จำความได้ฉันกับพี่ชายก็วิ่งเล่นอยู่บนทุ่งนาผืนนี้ บางปีฝนแล้ง บางปีน้ำท่วม ฉันไม่ชอบความแห้งแล้งสักเท่าไหร่ ฉันชอบน้ำท่วมมากกว่าเพราะได้เล่นน้ำ จับปู จับปลากันสนุกสนาน แต่ถึงแม้ดินฟ้าอากาศจะแปรปรวน เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวยังมีผลผลิตให้เก็บเกี่ยวและเพียงพอสำหรับบริโภคในครอบครัวของเราทุกปี
ปีไหนข้าวงามได้ผลผลิตเยอะ แม่ก็จะแบ่งไปฝากญาติ ๆ เหลือจากแบ่งปันกันกินแล้ว พ่อจึงนำไปขายที่โรงสี พอได้ทุนคืนเล็กน้อย ก่อนที่จะนำข้าวใหม่ของปีนั้นๆ เข้าไปเก็บไว้ในยุ้ง
แม่สอนฉันเสมอให้รู้บุญคุณของข้าว ให้กินข้าวให้หมดจาน กินอาหารอย่างรู้คุณค่า ไม่กินทิ้งกินขว้าง เพราะกว่าจะทำนาได้ข้าวมาแต่ละปี นับว่าเหนื่อยยากลำบากเหลือเกิน
ฉันปฏิบัติตามคำสอนของแม่อย่างเคร่งครัด ด้วยรู้ดีว่ากว่าจะได้ข้าวมาแต่ละเม็ดนั้นไม่ง่ายเลย
………………….
การทำนาเป็นอาชีพที่ต้องใช้แรงงานอย่างหนัก และมีหลายขั้นตอนมาก ถึงแม้ปัจจุบันจะมีเครื่องทุ่นแรงหลายอย่าง เช่น รถแทรกเตอร์ รถเกี่ยวข้าว เครื่องนวดข้าว ไม่ต้องใช้แรงควายไถนาเหมือนสมัยก่อน (อ้างอิงข้อมูลจากคู่มือการทำนา:วิทยาลัยชุมชนนราธิวาส)
เริ่มตั้งแต่ การเตรียมดิน เตรียมดินโดยการไถดะ ไถแปรและการคราด
ปกติการไถและคราดในนาดำจะใช้แรงงานวัว ควาย หรือแทรกเตอร์ขนาดเล็ก พื้นที่นาจะมีคันนาแบ่งกั้นเป็นแปลงเล็กๆ ขนาด 1-2 ไร่ คันนามีไว้สำหรับกักเก็กน้ำหรือปล่อยน้ำทิ้งจากแปลงนา นาดำต้องบังคับระดับน้ำในนาตามกระบวนการและขนาดของต้นข้าวในแต่ละช่วง
ก่อนจะไถต้องรอให้ดินมีความชื้นเพียงพอเสียก่อน ปกติต้องรอให้ฝนตกจนมีน้ำขังในผืนนาหรือไขน้ำเข้าในนาเพื่อให้ดินเปียก
จากนั้นจึงทำการตกกล้า คือการเอาเมล็ดข้าวไปหว่านให้งอกและเจริญเติบโตขึ้นเป็นต้นกล้าเพื่อนำไปปักดำ
การตกกล้าทำได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น ตกกล้าในดินเปียก ตกกล้าในดินแห้ง พ่อฉันใช้วิธีตกกล้าแบบเปียกโดยใช้เครื่องสูบน้ำจากลำห้วยที่มีปริมาณน้ำไม่มากนักหลังจากฝนตกลงมาในช่วงต้นปี พี่ชายฉันทำหน้าที่ไถนาช่วยพ่อด้วย
เมื่อต้นกล้าอายุประมาณ 25-30 วันก็จะโตพอที่จะถอนไปปักดำ ขั้นแรกถอนกล้าจากแปลง แล้วมัดรวมกันเป็นมัดๆ ตัดปลายใบทิ้ง ถ้าต้นกล้าเล็กมากไม่ต้องตัดก็ได้ สำหรับต้นกล้าที่มาจากดินเปียก จะต้องล้างเอาดินที่รากออก ก่อนนำไปปักดำเป็นแถวในพื้นที่นาที่เตรียมไว้ให้มีน้ำขัง เพราะต้นกล้าอาจถูกลมพัดจนพับลงได้ถ้าในนาไม่มีน้ำอยู่
หลังจากปักดำและก่อนที่ข้าวจะออกรวง ใช้ระยะเวลาประมาณ 120 วัน การดูแลป้องกันกำจัดวัชพืชจึงเป็นสิ่งจำเป็น รวมทั้งการรักษาระดับน้ำให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของต้นข้าว
ถ้าน้ำมากไปจะเป็นที่ชอบใจของศัตรูพืชอย่างปูนากับหอยเชอรี่ ซึ่งเป็นศัตรูที่ร้ายกาจของต้นข้าวที่เพิ่งปักดำใหม่ ๆ
จะว่าไปแล้วการทำนาก็เหมือนการเลี้ยงลูก ที่ต้องคอยประคบประหงมเหมือนที่พ่อแม่ดูแลฉันกับพี่ชายตั้งแต่เล็กจนโต ฉันจึงรู้สึกเหมือนฉันและต้นข้าวโตมาด้วยพลังวิเศษของพ่อแม่จริงๆ
การเก็บเกี่ยว เมื่อดอกข้าวบานและผสมเกสรแล้วหนึ่งสัปดาห์ ก็จะเริ่มเป็นแป้งขาว ในสัปดาห์ที่สองแป้งเหลวจะแห้งกลายเป็นแป้งค่อนข้างแข็ง จนสัปดาห์ที่สามแป้งจึงแข็งตัวมากยิ่งขึ้น เป็นรูปร่างของเมล็ดข้าวกล้อง แต่จะแก่และเก็บเกี่ยวได้ในสัปดาห์ที่สี่ นับจากวันที่ผสมเกสรประมาณ 28-30 วัน
………………..
จากทุ่งนาสีเขียวขจีจะเริ่มเปลี่ยนเป็นทุ่งสีทอง
เมื่อข้าวในนาสุกเต็มที่จึงใช้เคียวเกี่ยวข้าวทีละหลายๆ รวง แล้วมัดรวมกันเป็นกำๆ ทิ้งไว้ในนาเพื่อตากแดดให้แห้ง 3-5 วัน
ฉันฝึกเกี่ยวข้าวมาแล้ว 2 ปี โดยมีแม่เป็นคนสอนจับเคียวเกี่ยวข้าว แรก ๆ ก็รู้สึกเกร็งนิดหน่อย เพราะกลัวเคียวจะเกี่ยวนิ้ว เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ตื่นเต้นสุดๆ ซึ่งฉันผ่านมาได้โดยไม่มีบาดแผล
แม่เล่าว่าการขนข้าวเข้าลาน สมัยก่อนจะทำพิธีเอาขวัญลาน ลานข้าวทำจากมูลควายโดยเก็บมาละเลงกับน้ำแล้วทาลานดิน ช่วยป้องกันเมล็ดข้าวสัมผัสกับดินโดยตรง เดี๋ยวนี้ใช้ตาข่ายถี่ ๆ สีฟ้าปูพื้นแทนก็สะดวกสบายไปตามยุคตามสมัย
ช่วงนี้เป็นเวลาสนุกสนานของพี่ชาย เพราะได้ขับรถไถนาพ่วงท้าย ขนข้าวมากองรวมกันเพื่อนวดด้วยเครื่องหรือรถสีข้าว
การนวดข้าวเป็นการเอาเมล็ดข้าวออกจากรวงแล้วทำความสะอาด เพื่อแยกเมล็ดข้าวลีบและเศษฟางออกจากกัน
ขั้นตอนนี้ใช้เวลาไม่มากนัก ถ้ามีญาติพี่น้องหลายคนมาช่วยกันขน ยิ่งสนุกสนาน ฉันก็ดีใจที่จะได้เล่นในกองฟาง ทีมงานสีข้าวจะแบ่งงานกันทำอย่างรวดเร็วเพื่อแข่งกับเครื่องจักร
ฉันรับหน้าที่คลี่ปากถุง แล้วส่งให้แม่ที่รอรับอยู่ปากท่อที่ส่งเมล็ดข้าวออกมา ส่วนพ่อ ลุง พี่ชาย และคนอื่นๆ ช่วยกันขนข้าวโยนขึ้นไปบนรถ มีอีกคนคอยรับอยู่ด้านบน
เมื่อเริ่มสตาร์ทเครื่องสีข้าว ทุกคนต้องทำงานแข่งกับเวลา
ถ้าข้าว 1,000 มัด ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อบรรจุใส่กระสอบเรียบร้อย จึงขนขึ้นไปเก็บบนยุ้งซึ่งต้องใช้แรงเยอะ ฉันที่ตัวเล็ก ๆ ต้องถอยไปห่าง ๆ
เมื่อทำงานเสร็จสรรพเรียบร้อยทุกกระบวนการก็ถึงเวลาฉลองกันแล้ว
ทุกคนมาล้อมวงกินข้าวกันพร้อมหน้าพร้อมตา เป็นช่วงเวลาที่อบอุ่นและมีความสุขที่สุดของครอบครัวเรา
เมนูพิเศษสำหรับวันขนข้าว หลัก ๆ ก็จะมีต้มไก่บ้าน ลาบไก่ ส้มตำ แม่จะเปิดเพลงร้องคาราโอเกะอย่างสนุกสนานเพื่อฉลองการปิดฤดูกาลทำนา
วิถีชาวนาหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามฤดูกาลเช่นนี้ทุกปี
…………………
จากผลการเสี่ยงทายของพระยาแรกนาปีนี้ ถือว่าแม่นยำมากเลยทีเดียว
เพราะทุ่งนาของฉันมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ตลอดฤดูกาลเพาะปลูก คาดว่าผลผลิตที่ได้คงเพียงพอสำหรับครอบครัว
นอกจากอาชีพทำนาแล้ว พ่อกับแม่ยังทำงานประจำที่หน่วยงานของรัฐใกล้บ้าน ทำให้มีรายได้มาใช้จ่ายในครอบครัว เพราะถึงแม้เราจะมีข้าวกินตลอดทั้งปีแล้ว แต่ยังต้องมีเงินซื้ออาหารและของใช้ที่จำเป็น มีเงินส่งฉันกับพี่ชายเรียนหนังสือ อาชีพทำนาอย่างเดียวคงไม่ทำให้ครอบครัวเราดำรงชีวิตอยู่ได้
ถึงแม้ฉันจะไม่อยากให้แม่ไปทำงานนอกบ้าน แต่แม่ก็บอกเสมอว่าทุกคนต่างมีหน้าที่ที่ต้องทำ พ่อแม่มีหน้าที่ทำงานหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ส่วนลูก ๆ มีหน้าที่เรียนหนังสือ ทุกคนต้องตั้งใจรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด
ฉันรู้ว่าแม่คงเหนื่อยมากที่ต้องทำงานหลายอย่าง ฉันจึงสัญญากับแม่ว่าจะตั้งใจเรียน จะช่วยแม่ทำงานบ้าน และงานเล็ก ๆ น้อยๆ ที่แม่ร้องขอ รวมทั้งบีบนวดและถอนผมหงอกให้แม่ด้วย
แม่สอนฉันว่าให้ฝึกทำทุกอย่างด้วยตนเอง ช่วยเหลือตัวเองให้มาก พึ่งตนเองให้มาก อย่าเอาชีวิตไปผูกติดไว้กับใคร
รู้สึกโชคดีที่ได้เกิดเป็นลูกหลานชาวนาได้เห็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย การพึ่งพาตนเอง
ต่อไปไม่ว่าฉันจะเจอกับปัญหาหรืออุปสรรคใด ๆ ในชีวิตก็ไม่คิดหวาดกลัว เพราะแม่บอกเสมอว่าจะคอยสนับสนุนทุกความฝันและพร้อมจะเป็นแสงนำทางให้ฉัน
ไม่ว่าจะนานแค่ไหนจะผ่านไปกี่ปี สองเรา….จะก้าวไปด้วยกัน
…
กิจกรรมดีๆ ของ “ค่ายนักเล่าความสุข” ปี 3 ร่วมสร้างสรรค์เรื่องเล่าความสุข และสังคมที่มีความสุข
- มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
- นิตยสารสารคดี
- เพจความสุขประเทศไทย
- สสส.