เรื่องและภาพ : สุชาดา ลิมป์

แฮปปี้แลนด์ แดนพังงา

นับจากคลื่นยักษ์สึนามิปี ๒๕๔๗ ซัดกลืนชีวิตทรัพย์สิน

และการเยียวยาจากรัฐทำได้ไม่ทั่วถึง ขณะที่ลมหายใจผู้รอดชีวิตไม่อาจจมรอใต้ความสูญเสียที่นับวันผลกระทบจากภัยธรรมชาตินำมาสู่การกู้ยืมให้ยิ่งสิ้นเนื้อประดาตัวพอกพูนหนี้สิน

หลายชุมชนเห็นพ้องว่าต้องเริ่มทำอะไรบางอย่างเดี๋ยวนี้!

แล้วก็ลุกฟื้นเศรษฐกิจเอง เรียกคืนความสุขด้วยวิธีแตกต่าง ที่สุดพังงาก็เป็นจังหวัดที่มีความสุขสูงสุดของประเทศต่อเนื่อง ๒ ปี จากผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี ๒๕๕๒-๒๕๕๓

วันที่ความสูญเสียแปรสู่ความสำเร็จ พวกเขาจึงคิดว่าต้องปันความสุข!

happyland01

:: ตามหาความสุข ::

“สึนามิเป็นจุดสำคัญให้คนพังงาสัมผัสถึงความเดือดร้อนของคนพังงาด้วยกัน”

ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ย้อนถึงปัญหาเศรษฐกิจและสังคม

“พอปี ๒๕๕๓ รัฐบาลมีโครงการ ‘สมัชชาปฏิรูป’ เพื่อดึงทุกภาคส่วนมาเชื่อมพลัง ขับเคลื่อนระบบและโครงสร้างต่างๆ ของประเทศให้มีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม แต่หมุดหมายหลักคือส่งเสริมให้ชุมชนจัดการตนเอง จังหวัดพังงาก็เป็นหนึ่งในสองจังหวัดภาคใต้ที่ได้รับเลือกให้ปฏิรูป เราจึงถือโอกาสเรียกคืนความสุขด้วย ‘กระบวนการสมัชชาสุขภาพ’”

ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับ “ธรรมนูญสุขภาพ” ภายใต้ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ ปี ๒๕๕๐

ประกอบกับปี ๒๕๕๔ ความสุขของพังงาตกอยู่อันดับสามรองจากภูเก็ตและกระบี่ ชาวชุมชนจึงเรียกคืนความสุขโดยทำแผนพัฒนาจัดการตนด้วยแนวคิด “พังงาแห่งความสุข” ครั้นเสนอขอความร่วมมือจากภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น เอกชน และประชาสังคม ก็ได้คำถามกลับมาย้อนคิด

พังงาต้องการความสุขแบบไหน?

“ตอนนั้นตัวผมเป็นคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพทำหน้าที่เป็นเลขาฯ ประสานงานต่างๆ จึงมีโอกาสผลักดันให้เกิดเวทีสมัชชาสุขภาพในแต่ละตำบล ปี ๒๕๕๖ เวที ‘สมัชชาพังงาแห่งความสุข’ จัดขึ้นครั้งแรก และมีครั้งต่อๆ มา โดยมีทุกภาคส่วนร่วมสะท้อนปัญหา ความต้องการ และความฝันที่แต่ละชุมชนอยากเห็นเพื่อนำไปสู่การสร้างเป้าหมายร่วมกัน แต่ละเวทีมีชาวบ้านร่วมชุมนุมนับร้อย เราเน้นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันมากกว่านั่งทำเอกสารวิชาการ ใช้เวลา ๓ ปี ตามกรอบระยะเวลาของโครงการจึงได้ข้อสรุป”

happyland02

เข้าใจอย่างง่ายคือเป็นการพัฒนาที่นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมทั้งอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว เกษตร ประมง หากใช้ประโยชน์จากทรัพยากรก็ต้องนำไปสู่การฟื้นฟูอนุรักษ์ด้วย หมายรวมถึงวิธีแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งก็ต้องเป็นไปอย่างยั่งยืน สำคัญคือส่งเสริมระบบการศึกษาซึ่งหมายรวมถึงเรียนรู้วิถีชุมชนที่เอื้อต่อการฟื้นฟูจารีต ประเพณี วัฒนธรรม อันหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ให้คนพังงาได้มั่นคงในที่ดินทำกินมีชีวิตปลอดภัยในที่อยู่อาศัย ภายใต้การส่งเสริมสวัสดิการชุมชนให้เข้าถึงความเท่าเทียมด้านสุขภาพ

happyland03

“เพราะความสุขแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน บางที่คือความยั่งยืนของการท่องเที่ยว บางที่ขอแค่กินอิ่ม ไม่มีหนี้ ก็เป็นสุข แต่ละแห่งจึงไม่สามารถใช้วิธีเดียวจัดการ ต้องมีนวัตกรรมที่เหมาะสมกับท้องถิ่น”

แต่ไม่ว่าอย่างไร แต่ละชุมชนยืนยันหนักแน่น…ต้องเป็นตนเองให้ได้

:: อยากสุขก็มาเที่ยวสิ::

ปัจจุบันพังงาครองความสุขอันดับที่สองของประเทศ

แต่สิ่งสำคัญกว่าคือเศรษฐกิจของจังหวัดอยู่อันดับที่ ๑๒ โดยมีคุณภาพชีวิตประชากรอยู่อันดับที่ ๒๕ สูงกว่าจังหวัดที่ได้รับจัดอันดับให้มีความสุขที่สุด นั่นหมายถึงพวกเขาได้เสพสุขบนฐานะเศรษฐกิจที่ดี

ปี ๒๕๖๓ จึงตั้ง “สถาบันการเรียนรู้พังงาแห่งความสุข” ที่ ต.ตากแดด อ.เมือง บันทึกกระบวนการภาคประชาชนในชุมชนต่างๆ แล้วทำหลักสูตรท้องถิ่นถ่ายทอดให้คนนอกชุมชนได้มาเรียนรู้ประสบการณ์สูญเสีย-ความสำเร็จที่ปรากฏจริงกว่าสิบปี หวังให้ความสุขแผ่กระจายออกไปในสังคม

“ชาวบ้านคิดว่าพวกเขาจบ ป.๔ จะทำได้หรือ ที่จริงทุกคนมีภูมิปัญญา ทำไมจะผลิตหลักสูตรให้คนมาเรียนรู้ไม่ได้ อย่าง ‘หลักสูตรรวมคนสร้างเมือง สมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุข’ ก็เกิดจากเราเปรียบพังงาเป็นครอบครัวใหญ่ ผู้คนใน ๔๘ ตำบล ทำงานกันผ่านเครือข่ายชุมชนโดยมีคณะทำงานอยู่ทั้ง ๘ อำเภอ จึงมีวิธีออกแบบแนวทางใช้ทรัพยากรหรือแก้ปัญหาต่างๆ ให้สอดคล้องกับชุมชนหลากหลาย”

ชาตรี มูลสาร ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้พังงาแห่งความสุข สะท้อนแนวคิดก้าวข้ามข้อจำกัดด้านการศึกษาโดยมุ่งไปที่การมีจิตสาธารณะและสร้างมูลค่าแก่ชุมชน

happyland04

เมื่อชาวบ้านเข้าใจ วิธีแบ่งปันประสบการณ์ก็เริ่มต้น อย่าง “หลักสูตรเกาะยาวน้อย สู่ความสุขร่วมของคนในชุมชน” ให้ความรู้ด้านจัดการภัยพิบัติของชาวบ้าน ต.เกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว หรือ “หลักสูตรบ้านน้ำเค็ม วางแผนป้องกัน แก้ไข ภัยพิบัติด้วยชุมชน” เผยวิธีปฏิบัติตนเมื่อเกิดภัยเพื่อลดความสูญเสียและเตรียมฟื้นฟูให้เข้าสู่ปรกติโดยเร็วเช่นชาวบ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า

“ในบางพื้นที่ของเกาะยาวน้อยจะมีกติกาชุมชนที่น่าสนใจคือห้ามล่าสัตว์ ห้ามใช้ไฟฟ้าในพื้นที่นา ห้ามนักท่องเที่ยวสวมชุดบิกินี่ หรือชุมชนบ้านน้ำเค็มก็น่าสนใจตรงพวกเขาได้บทเรียนอะไรจากสึนามิและดำรงชีวิตกันอย่างไรหลังภัยพิบัติ ปัจจุบันพื้นที่นี้กลายเป็นกรณีศึกษาที่ทั่วโลกต่างมาดูงาน”

ยังน่ารู้จัก “หลักสูตรมอแกลนทับตะวัน เข้าใจพหุวัฒนธรรม สร้างสรรค์พลเมืองโลก” แบ่งปันวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และประวัติศาสตร์ของชาวเลมอแกลน บ้านทับตะวัน ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง

“เสน่ห์โดดเด่นของชาวเลคือพวกเขามีภูมิปัญญาที่ตกทอดจากการใช้ชีวิต มีทักษะสังเกตธรรมชาติ ทำนายได้ว่าวันนี้ฝนจะตกไหมทะเลจะเป็นแบบไหนอย่างแม่นยำ และรู้วิธีจัดการทรัพยากรดินฟ้าอากาศ”

  • happyland05
  • happyland05 1

ในแง่ของสุขภาพก็น่าสนใจแนวคิดปิ่นโตของ “หลักสูตรโคกเจริญ สุขภาพดี วิถีโคกเจริญ” ที่ให้ความสำคัญกับหลักโภชนาการและก่อให้เกิดรายได้แก่ชาวชุมชน ต.โคกเจริญ อ.ทับปุด

“หลักสูตรนี้เราใช้ ‘กระบวนการสมัชชาสุขภาพ’ เข้ามาขับเคลื่อนกิจกรรม ไม่เพียงให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้สูงวัยได้แสดงศักยภาพความสามารถยังได้เพิ่มมูลค่าให้อาหารพื้นถิ่นที่ทั้งอร่อยและมีประโยชน์ด้านโภชนาการ ทางจังหวัดเองก็เห็นชอบและสนับสนุนการใช้ปิ่นโตรับรองแขกเหรื่อแทนที่ข้าวกล่องเสมอเวลามีงานกิจกรรมต่างๆ ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ปิ่นโตสุขภาพของชาวพังงาได้รับการเผยแพร่ในวงกว้าง”

  • happyland06
  • happyland06 1

อันที่จริง กระบวนการเรียนรู้หลักสูตรมีวิธีไม่ยาก แต่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งผู้ศึกษาประสบการณ์และชาวชุมชนผู้แบ่งปันกรณีศึกษา หลักสูตรต่างๆ จึงมาในรูปของกิจกรรมเรียนรู้ที่อาศัยการท่องเที่ยวเข้ามาเชื่อมโยง อาจไปชุมชนใดครึ่งวัน แล้วอีกครึ่งวันไปอีกชุมชนหนึ่ง

“ที่เรานำเรื่องการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมกับการพัฒนาชุมชน เพราะเราตระหนักว่าความสุขที่แท้คือความยั่งยืน เราภูมิใจในสิ่งที่ทำ รักในสิ่งที่เป็น ภารกิจในวันนี้จึงเป็นการถ่ายทอดทุกเรื่องราวที่ชุมชนทำ ไม่ใช่แค่เพื่อให้คนนอกรับรู้ แต่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแก่ชาวชุมชนเอง”

ทุกหลักสูตรจะเป็นบทเรียนส่งต่อลูกหลานให้ใช้ชีวิตบนผืนดินความสุขอย่างยั่งยืน

:: ออมทรัพย์ความสุข::

ในบรรดาวิชาเรียนรู้ “หลักสูตรรมณีย์ จัดสรรทรัพย์ แบ่งปันสุข” ยืนเด่น

ด้วยสภาพพื้นที่ปิดของ ต.รมณีย์ อ.กะปง ห่างไกลสังคมภายนอก มีแค่ ๔ หมู่บ้าน คือ บ้านรมณีย์ บ้านท่าหัน บ้านปากคลอง และบ้านศรีราชา รวมชาวบ้านไม่ถึง ๓,๐๐๐ คน ส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม ปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน และสวนผลไม้ รายได้ไม่เคยแน่นอนขึ้นอยู่กับผลผลิตและฤดูกาล

กลับเป็นชุมชนขนาดเล็กที่ชาวบ้านมีเงินออม ๑๔ ล้านบาท!

กลายเป็นชุมชนต้นแบบให้ผู้คนมาหาถึงที่เพื่อศึกษาวิธีจัดการหนี้ ลงทุน และออมทรัพย์

กล่าวกันว่าจุดเริ่มต้นมาจากปมรวดร้าวของผู้หญิงคนหนึ่ง

“เวลานั้นเรามีลูกวัยเรียนชั้นประถมสองคนและอยู่ในท้องอีกคน วันหนึ่งสามีเสียชีวิตซึ่งเราไม่มีเงินเก็บเลย เงินจะจัดการงานศพก็แทบไม่มี หลังงานศพสามีไม่ถึงเดือนหมอก็นัดผ่าคลอด ไม่รู้จะหาเงินที่ไหนไปจ่าย จะทำงานอะไรก็ไม่มีความรู้ สวนยางก็ยังต้นเล็ก พ่อแม่ก็ฐานะลำบาก ชีวิตมีแต่เรื่องเครียดให้อยากฆ่าตัวตาย ร้องไห้ทุกคืน ขณะที่ลูกก็โตขึ้นทุกวัน พอตั้งสติก็คิดได้ว่าถ้ามัวอ่อนแอแบบนี้ลูกคงตายไปด้วยเพราะไม่มีกิน พอลูกคนเล็กอายุได้สามเดือนเราจึงฝากลูกไว้ให้ญาติเลี้ยงแล้วเริ่มทำขนมขาย”

กัลยา โสภารัตน์ ประธานสถาบันการเงิน ชุมชนบ้านรมณีย์ เล่าอดีตช่วงแรกที่ทำขนมขายก็พอมีรายได้อยู่ตัว กระทั่งลูกคนโตป่วยหนักต้องไปยืมเงินคนนั้นทีคนนี้ทีเพื่อพาลูกไปหาหมอ

happyland07

“แต่ไม่มีใครให้ เขาคงไม่เชื่อว่าเราจะหาคืนได้ เป็นความเจ็บปวดนะ คนในหมู่บ้านก็คงเจอเรื่องทำนองนี้ ทำให้เราคิดทำบางอย่าง พอชักชวนชาวบ้านมาได้ ๗ คน ก็ไปกู้เงิน ธกส. เปิดร้านขายของเล็กๆ”

กระนั้นก็ยังไม่ราบรื่น ปัญหาสำคัญของหมู่บ้านคือตั้งห่างชุมชนเมืองราว ๓๐ กิโลเมตร เดินทางไปทำธุรกรรมการเงินแต่ละครั้งลำบาก บางฤดูกาลใกล้เคียงคำว่าสมบุกสมบัน

“ต้องนั่งรถสองแถวไปตัวอำเภอกะปง หากจะซื้อของใช้จำเป็นต้องนั่งรถเมล์บัสไปอำเภอตะกั่วป่า ซึ่งสมัย ๑๐-๒๐ ปีก่อน การสัญจรในชุมชนยังทุลักทุเล ในหมู่บ้านไม่มีรถยนต์ อยากจะซื้อจักรยานยนต์สักคันก็ไม่มีคนค้ำประกัน ชาวบ้านอยากให้ธนาคารมาเปิดในชุมชนรมณีย์แต่ก็เป็นไปได้ยาก ธกส. จึงแนะนำให้พวกเรารวมตัวจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์แล้วธนาคารจะมาเป็นพี่เลี้ยงให้ช่วงแรก”

เธอรวมสมาชิกจนได้ ๕๖ คน ด้วยเงินตั้งต้นห้าพันกว่าบาท ในที่สุดปี ๒๕๔๗ ก็จัดตั้ง “กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตรมณีย์ศรีสยาม” โดยมีชาวบ้านช่วยกันบริหาร

  • happyland08
  • happyland08 1

“แต่กว่าจะได้มาไม่ง่ายเลยเพราะสมาชิกต่างก็เป็นชาวบ้านไม่มีการศึกษาจึงไม่มีใครอยากเชื่อถือใคร แต่เมื่อรวบรวมมาได้แล้วเราก็มุ่งมั่นว่าต้องทำให้เต็มที่ ถือความซื่อสัตย์เป็นสำคัญ เพื่อให้สมาชิกเห็นว่าเงินที่เขาวางใจมาฝากไว้กับเราจะไม่สูญหายแน่นอน จากนั้นเราก็เริ่มไปศึกษาดูงาน ไม่ว่า ธกส.จะไปให้ความรู้กับชาวชุมชนที่ไหนเราก็ขอไปด้วยตลอดเพื่อนำแนวทางกลับมาปรับใช้”

แล้วปี ๒๕๔๙ ก็จัดตั้ง “กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลรมณีย์” เสริมความเชื่อมั่นและสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านนำเงินมาฝากทุกเดือนเพื่อออมประโยชน์ร่วมกัน แล้วจัดสรรเงินเหล่านี้ช่วยเหลือชาวชุมชน

“เวลานั้นเรามีงบสวัสดิการชุมชนอยู่ ๓,๒๐๐ บาท ครอบครัวไหนเสียชีวิตแล้วไม่มีเงินทำศพเราก็ให้ความช่วยเหลือ ให้ชาวชุมชนเห็นว่าเราไม่ทิ้งกัน ปัจจุบันมีสมาชิกราว ๑,๕๐๐ คน ใช้วิธีเก็บเงินคนละบาท ใครจะฝากมากกว่านั้นก็ได้ เพื่อให้มีเงินกองกลางไว้เวียนกู้ยืม แต่ต้องมีวินัยฝากเงินทุกเดือน เราจะเปิดให้ฝากและกู้ยืมทุกวันที่ ๑๐ กับ ๒๐ ของเดือน ทุกคนจะมีสมุดบัญชีเป็นของตนเอง ต้องมาฝากหรือยืมเอง เพื่อให้รู้กระบวนการทำงานและฝึกการมีส่วนร่วม”

  • happyland09
  • happyland09 1

แรกเริ่มมีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยกู้เงินใช้ผิดวัตถุประสงค์ เหตุจากปี ๒๕๔๔ รัฐบาลตั้งสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ครั้นชาวรมณีย์ผู้มีฐานะยากจนทั้งปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังตั้งแต่สึนามิและขาดการจัดการเงินที่ดี เมื่อถึงกำหนดส่งคืนแล้วไม่มีเงินชำระก็ไปเป็นหนี้นอกระบบซึ่งมีดอกเบี้ยสูง บางแห่งกำหนดให้ต้องใช้คืนในสัปดาห์ ชาวบ้านจึงยืมหนี้นอกระบบมาคืนกองทุนหมู่บ้านฯ เพื่อให้มีสิทธิ์กู้กองทุนหมู่บ้านฯ ไปหมุนคืนหนี้นอกระบบต่อ วนเวียนเป็นบ่วงกับดักอยู่แบบนี้

พอกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ เริ่มมีเงินสะสม ปี ๒๕๖๑ สมาชิกจึงตัดสินใจจัดตั้ง “สถาบันการเงินชุมชนบ้านรมณีย์” เพื่อสร้างความเข็มแข็งยันฐานราก เป้าหมายหลักคือขจัดหนี้นอกระบบออกจากชุมชน

  • happyland10
  • happyland010 1

“ทางสถาบันการเงินฯ จะรับซื้อหนี้นอกระบบให้ผู้นั้นผ่อนคืนในอัตราดอกเบี้ยร้อยละหนึ่งบาทต่อเดือน ภายใต้หลักประกันว่าผู้นั้นต้องเป็นสมาชิกกับสถาบันการเงินฯ ซึ่งในสถาบันจะมีทั้งกลุ่มออมทรัพย์ฯ กลุ่มกองทุนฯ และกลุ่มอาชีพต่างๆ แต่ละกลุ่มจะแยกบัญชีกัน เขาจะต้องเป็นสมาชิกของทุกกลุ่ม มีประวัติทางการเงินทุกบัญชีมาตลอด ไม่จำเป็นต้องฝากเยอะแต่ต้องมีวินัยในการฝากเงินทุกเดือน เป็นหลักประกันแทนการกู้ยืมแบบไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันว่าเงินที่เขากู้ยืมไปนั้นหากเขาเสียชีวิตจะไม่เดือดร้อนใคร”

กัลยา-ประธานสถาบันการเงินของชุมชนเสริม แม้เพียงเศษเงินต่อเดือนก็มีความหมาย

“สมัยก่อนเวลาเจอสตางค์ตกพื้นหนึ่งบาทแม้แต่เด็กยังไม่เก็บเลย แต่พอเราชวนชาวบ้านมารวมตัวกันด้วยเงินคนละบาท มาถึงวันนี้สถาบันฯ มีเงินกองกลาง ๑๔ ล้านบาทแล้ว เหลือเชื่อเหมือนกันนะ เราจะบอกกับสมาชิกเสมอว่าถ้าอยากได้กำไรให้ถอนไปลงทุนทำธุรกิจ ออมทรัพย์กับที่นี่ไม่รวยหรอก ดอกเบี้ยก็สู้ฝากกับธนาคารพาณิชย์อื่นไม่ได้ แต่ก็มีคนยินดีฝากกับเราจนเขามีเงินเก็บเป็นแสน ถ้าวันหนึ่งเขาเดือดร้อนก็สามารถกู้ได้เป็นแสนเช่นกัน แต่ไม่ใช่อยู่ๆ จะนำเงินมาฝากเป็นแสนเพื่อขอกู้เป็นแสนนะ เขาต้องแสดงให้เห็นวินัยการฝากเงินอย่างสม่ำเสมอมาต่อเนื่องจึงจะถือเป็นเครดิตให้เราปล่อยเงินกู้”

happyland011
happyland11 1

เพราะดอกเบี้ยของที่นี่ไม่ได้ชี้วัดเพียงเงินตรา ยังผลิดอกออกผลในรูปของสวัสดิการชีวิต

“เงินคนละบาทนี่ล่ะที่นำไปบรรเทาความเดือดร้อนของเพื่อนร่วมชุมชนได้ โดยเฉพาะเมื่อเจ็บป่วยหรือต้องฌาปนกิจศพ ทางสถาบันฯ จะช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตให้ได้ทำศพครั้งละสองหมื่น”

หลังบรรลุเรื่องหนี้สินก็หันมาแก้ปัญหาหลักของชาวชุมชนต่อ คือสินค้าเกษตรอย่างยางพาราซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านนั้นมีราคาตกต่ำ ที่ผ่านมาชาวบ้านขายสินค้าผ่านพ่อค้าคนกลางมาตลอดจึงไม่ได้รู้ราคาตลาดกลางของทั่วประเทศ นอกจากถูกกดราคายังมักถูกโกงตาชั่งเสมอ บางทีน้ำหนักหายไปนับร้อยกิโลกรัม สถาบันการเงินฯ จึงจัดประมูลยางพาราเองโดยอิงราคาตลาดกลาง แล้วเชิญลูกค้ารายใหญ่มาซื้อขายกันถึงในชุมชนรมณีย์เพื่อความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย

“ช่วงที่ราคายางตกต่ำสุดๆ ก็ให้สมาชิกปลูกกล้วยน้ำว้าแทนเพราะชุมชนรมณีย์เลี้ยงช้างจำนวนมาก นอกจากขายเป็นอาหารช้างกลุ่มแม่บ้านก็นำมาแปรรูปเป็นขนมจำหน่าย เวลานี้มีทั้งกล้วยฉาบ ข้าวเกรียบกล้วย กล้วยสติ๊ก น้ำดื่มปลีกล้วย ผงกล้วยดิบ สบู่กล้วยสำหรับขัดหม้อล้างจาน”

  • happyland012
  • happyland012 1
happyland12 2

ต่อมาก็ขยายไปจัดการเรื่องท่องเที่ยวชุมชน ปัจจุบันมีกลุ่มกิจกรรมนับสิบกลุ่มให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในอาชีพตามที่ตนถนัด ความสำเร็จจากการหยัดยืนด้วยฝีมือของกลุ่มคนเล็กๆ ได้รับคำชมในวงกว้าง

ดังนั้นเมื่อปี ๒๕๖๓ ที่ชาวพังงาจัดตั้ง “สถาบันการเรียนรู้พังงาแห่งความสุข” บันทึกกระบวนการภาคประชาชนในชุมชนต่างๆ หมู่บ้านปลอดหนี้แบบไม่ง้อธนาคารใหญ่แห่งนี้จึงได้บรรจุเป็นพื้นที่เรียนรู้ด้วย

เพื่อผนึกกำลังเสริมให้ “พังงา” มีสถานะเป็น “ดินแดนแห่งความสุขมวลรวม”