เรื่อง : ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด
ภาพ : สุรศักดิ์ เทศขจร วนิดา มหากาฬ และณัฐพงศ์ อินต๊ะริด

Walking in กรุง

“เดินชมเมือง ต้องทำให้เป็นชีวิตประจำวัน นอกจากจะได้รู้รายละเอียดเกี่ยวกับเมืองแล้ว ยังได้ความสุขทางใจเพิ่มอีกด้วย”

“เหมือนเราได้ผจญภัย เห็นการจัดวางที่เป็นระเบียบ ทุกอย่างเป็นงานศิลปะได้หมด เห็นพื้นที่ใหม่ ๆ ได้แนวคิดใหม่ ๆ นำไปต่อยอดกับงานได้”

“เห็นสิ่งของ แล้วเห็นวิธีคิดของคน ที่สามารถปรับใช้ฟังก์ชั่นให้เข้ากับพื้นที่ของตัวเอง ที่มีอยู่อย่างจำกัด”

“ยิ่งเดินยิ่งสนุก ยิ่งเดินยิ่งมองเห็นรายละเอียดของกรุงเทพชัดขึ้น ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตบนพื้นที่คับแคบ ทำอย่างไรจึงไม่ไปรบกวนคนอื่น”
“กรุงเทพเป็นเมืองที่ไม่เปิดโอกาสให้เราได้ใช้ชีวิตโรแมนติกเท่าไหร่”

สุดสัปดาห์ที่ 23 ตุลาคม 2565 เราจัดกิจกรรม Walking in กรุง กับ ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์ สถาปนิกและผู้เขียนหนังสือ อาคิเต็ก-เจอ มาย่ำเท้า เดินเมือง ชุมชนสมเด็จย่า ย่านคลองสาน ฝั่งธนบุรี ชวนคิด ชวนดู สิ่งของล่องหนที่ไม่เคยสังเกต วัฒนธรรมพื้นถิ่นในเมือง การแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ตรงนั้นที่ซ่อนอยู่ภายใต้การเติบโตของเมือง เพื่อบันทึกสังคม และย้อนวันวานสานสัมพันธ์น้องพี่จากค่ายสารคดีกันอีกครั้งหนึ่ง

เรานัดพบกันที่ “หอสมุดอุดมวิทยา” วัดอนงคารามวรวิหาร ก่อนขยับแก๊งมากันที่ Everyday Architect & Design Studio สตูดิโอของวิทยากร ผู้นำเดินชมเมืองของเราในวันนี้-ชัช ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ

เราขอเก็บบรรยากาศทุกย่างก้าว ทุกหมุดของการชมเมืองมาเล่าให้ทุกท่านฟัง

เตรียมดื่มด่ำรสจากชุมชน สัมผัสอากาศร้อนชื้นทุกองศา

ถ้าพร้อมแล้ว ก้าวไปด้วยกันเลย

  • walkinginkrung02
  • walkinginkrung03
  • walkinginkrung04
  • walkinginkrung05
  • walkinginkrung06
  • walkinginkrung07
  • walkinginkrung08
  • walkinginkrung09
walkinginkrung10
  • walkinginkrung11
  • walkinginkrung12
  • walkinginkrung13
  • walkinginkrung14

เริ่มออกเดินในเวลาเกือบสิบโมง ใช้เส้นทางตรอกเล็ก ผ่าน “ศาลเจ้าพ่อเสือ” ถึง “มัสยิดกูวติลอิสลาม” หรือสุเหราตึกแดง ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่ของโกดังสินค้าที่เป็นอิฐแดงมาก่อน ผ่านย่านการค้า ห้างร้าน ที่อยู่อาศัย ก่อนเดินเข้า “ซอยโรงเรียนบำรุงวิชา” ชมวัฒนธรรมพื้นที่ การแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ในชุมชน ยาวไปจนส่องถึงราวตากผ้าแปลกตา เก้าอี้ DIY จากวัสดุเหลือใช้ สิ่งของบนกำแพงสังกะสี ตู้ไปรษณีย์ กระถางต้นไม้ ศาลเจ้าเล็กๆ ทุกอย่างล้วนจัดวางราวกับงานอินสตอลเลชั่นที่ทั้งสร้างสรรค์และเกิดประโยชน์ต่อคนในพื้นที่จริงๆ

“โรงเกลือแหลมทอง” คือหมุดต่อไปตามด้วย ชุมชนสมเด็จย่า อดีตโรงงานเกลือเก่าแก่ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) บนพื้นที่ประมาณ 300 ตารางวา แวะเยี่ยมชมสวนสานสาธารณะ “Pocket Park” พูดคุยกันถึงการจัดวางพื้นที่สวนสาธารณะอย่างไรให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน

เดินเลาะเลียบริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไปยัง “โกดังเซ่งกี่” กิจการค้าที่รุ่งเรืองมากของชาวจีนเมื่อ 80 กว่าปีก่อน ปัจจุบันเป็นโกดังขายส่งสมุนไพรและยา

walkinginkrung15
  • walkinginkrung16
  • walkinginkrung17
  • walkinginkrung18
  • walkinginkrung19

“ตลาดท่าดินแดง” จุดแวะพักแรก เติมพลังกันแบบจุกๆ พร้อมรับแรงกระแทกต่อช่วงบ่าย

ข้าวยังไม่ทันเรียงเม็ด เริ่มเดินต่อไปทาง “วัดทองธรรมชาติ” วัดเก่าโบราณสันนิษฐานว่า อาจสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชมจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ เขียนขึ้นราวปี พ.ศ. 2374 ลักษณะจิตรกรรมเป็นไปตามแบบแผนและระเบียบที่นิยมกันในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชำรุดลบเลือน

จากนั้นมุ่งไปยัง “ล้ง 1919” แลนด์มาร์กประวัติศาสตร์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ตรงไปยัง “วัดทองนพคุณ” ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร เดิมชื่อวัดทองล่าง

นาฬิกาบอกเวลาบ่ายสามครึ่ง เราก็มาถึง “ป้อมป้องปัจจามิตร” เป็นป้อมเดียวจากป้อมทั้งแปดที่ตั้งอยู่บนฝั่งธนบุรี ริมปากคลองสาน ด้วยสภาพที่ทรุดโทรม กรมศิลปากรจึงประกาศขึ้นทะเบียนป้อมป้องปัจจามิตรให้เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเมื่อ พ.ศ. 2492
ถึงจุดสุดท้าย “walden home café” บรรยากาศโฮมมี่ โคซี่ต้อนรับความเหนื่อยล้า เป็นที่แวะพักกล้ามขา เราพูดคุย แลกเปลี่ยนจากที่เดินมาตลอดทั้งวัน

  • walkinginkrung20
  • walkinginkrung21
walkinginkrung22

“การเดินเมืองช่วยให้มองเห็นรายละเอียดสิ่งของต่างๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อะไรที่เคยเดินผ่าน และไม่เคยสังเกต กลับเป็นสิ่งที่สำคัญ และมีที่มาที่ไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ”

“ได้เห็นฟังก์ชั่นของชุมชน เชื่อมโยงกับอะไรบางอย่าง เช่น ผ้ากันแดดจากวัสดุต่างๆ การเดินทางของท่อพีวีซี จักรยานถูกผ้าคลุม ร่มถูกมัดเข้ากับเสาไฟฟ้า อะไรแปลกๆ อีกมาก ที่ไม่เคยเห็น ซึ่งแต่ละพื้นที่มีไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับบริบทวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่นั้นด้วย”

การวางผังเมืองที่ไม่อำนวยให้ผู้คนสะดวกในการเดินเมือง เป็นหัวข้อที่เราสนใจกันมาก จนมีคำกล่าวที่ว่า “หากผังเมืองดีเราจะมีแฟน” ทุกคนสะท้อนการใช้ชีวิตที่ดูคล้ายต่างคนต่างอยู่ ขาดการปฏิสัมพันธ์อันลึกซึ้งต่อกัน

“เมืองออกแบบอย่างไร คนจะใช้ชีวิตอย่างนั้น บ้านออกแบบอย่างไร คนจะอยู่อย่างนั้น” ชัชพูดทิ้งท้าย

กว่า 10,000 ก้าว การเดินเมืองครั้งนี้เป็นการมองลึกเข้าไปในรายละเอียดของสิ่งต่างๆ อาจดูธรรมดาแต่กลับมีอะไรซ่อนอยู่ เห็นชีวิต วิธีคิดของผู้คนที่พยายามใช้พื้นที่อย่างมีคุณค่าและให้คุ้มค่าที่สุด

ค่ายสารคดีคลับ จัดขึ้นเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ของศิษย์เก่าค่ายสารคดี เพื่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของรุ่นพี่-รุ่นน้อง ตลอดจนการเข้าร่วมกันสร้างสื่อที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

walkinginkrung23

ขอขอบคุณ ผู้สนับสนุนโครงการค่ายสารคดีคลับ

  • สสส.
  • มูลนิธิเล็ก-ประไพวิริยะพันธุ์
  • นิตยสารสารคดี