ทีม DSP K.13
เรื่อง: นัยน์ชนก คงเจริญ
ภาพ: เชิดชัย มูลสุวรรณ

เกษตรสร้างสรรค์...เมลอนสร้างสุข

สายลมอ่อนพัดพาหยดน้ำจากหมู่มวลไม้พรมทั่วพื้นดิน แสงอาทิตย์สีทองที่ริมขอบฟ้าส่องผ่านละอองน้ำ เกิดรุ้งทางทิศตะวันตก

ชายคนหนึ่งปั่นจักรยานซึมซับบรรยากาศสดชื่นยามเช้า ในสวนเกษตรที่เขาเฝ้าทะนุถนอม มือขวาถือไม้เซลฟี่เก็บภาพความงดงามเพื่อส่งต่อความสุข

ดอกรำเพยสีเหลืองอ่อนชูช่อสดใสตัดกับใบสีเขียวที่ด้านหน้าโรงเรือนสีขาวขนาดใหญ่ทอดตัวยาวขนานแนวถนน ทำหน้าที่กรองแดด กรองฝน แก่ต้นเมลอนสีเขียวนับร้อยในกระถางสีดำ

melon02 1
เชิดชัยขณะผสมเกสรเมล่อน
melon03 1
การผสมเกสรดอกเมล่อน

เกษตรกร อาซาฮี ตามวิถีชีววิทยา

เชิดชัย มูลสุวรรณ ชายวัยกลางคน รูปร่างสูงโปร่ง ใส่เสื้อสีเขียวแถบเหลือง กางเกงขายาวสีดำ ผมสีดอกเลา รับกับใบหน้าเรียวยาวและสีผิวคล้ำแดด สวมแว่นตาคู่กาย พร้อมใบหน้าเปื้อนยิ้ม รอต้อนรับผู้มาศึกษาดูงานในสวนเกษตรที่เขาและทีมงาน ช่วยกันพัฒนา

ฟาร์มเมลอนญี่ปุ่นพันธุ์อาซาฮี (Asahi) คือจุดหมายของผู้มาเยือนในวันนี้ ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา

“ทำไมเราจึงต้องผสมเกสรเมลอน ทราบไหมครับ”

“เนื่องจากโรงเรือนเป็นระบบปิด แมลงไม่สามารถเข้าไปในโรงเรือนเพื่อช่วยผสมเกสรค่ะ”

“ถูกต้องครับ เราจึงต้องทำหน้าที่แทนเหล่าแมลง ด้วยการผสมเกสรให้กับเจ้าเมลอนของเรา”

เมลอนมีลำต้นเป็นเถาเลื้อย จะแตกกิ่งแขนงออกมา ให้ปลิดกิ่งแขนงที่ต่ำกว่าข้อที่ ๘ และสูงกว่าข้อที่ ๑๒ ออก และปล่อยกิ่งแขนงที่เหลือไว้เป็นที่เกิดของดอกตัวเมียที่เราจะทำการผสม

การนับข้อจะเริ่มจากใบล่างสุดขึ้นมา เด็ดใบล่างสุดออก ๓-๕ ใบ เพื่อให้ลำต้นโปร่ง เพิ่มการถ่ายเทอากาศ ไม่ให้ความชื้นสะสมจนเกิดโรคราต่าง ๆ

การผสมในข้อที่ ๘-๑๒ เป็นตำแหน่งที่เมลอนจะได้รับสารอาหารที่เหมาะสม หากผสมข้อต่ำลูกจะเล็ก เนื้อจะแน่น หากผสมข้อสูงลูกจะใหญ่ เนื้อจะร่วนซุย ช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ๐๖.๐๐-๑๐.๐๐ น.

“แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่า ดอกไหนเป็นดอกตัวผู้หรือดอกตัวเมีย” เชิดชัยตั้งคำถาม

เกิดความเงียบในชั่วขณะหนึ่ง อาจเพราะเด็ก ๆ ต้องใช้เวลาประมวลผลเล็กน้อย ก่อนจะมีคนตอบว่า

“ดอกตัวผู้ไม่มีกระเปาะ ส่วนดอกตัวเมียจะมีกระเปาะครับ”

“นั่นบ่งบอกอะไรกับเรา ทางชีววิทยา”

ความเงียบครั้งนี้นานกว่าครั้งที่แล้ว เชิดชัยคิดว่าคำถามคงกว้างเกินไป จึงกล่าวขึ้นว่า

“ดอกเมลอนส่วนใหญ่เป็นดอกสมบูรณ์เพศหรือไม่สมบูรณ์เพศ”

“ไม่สมบูรณ์เพศครับ ทำให้ไม่สามารถผสมในดอกตัวเองได้ เราจึงต้องช่วยผสมเกสรให้”

melon04 1
นักเรียนขณะผสมเกสรเมล่อน
melon05 1

หลังจากอธิบายขั้นตอนผสมเกสรแล้วก็แบ่งกลุ่มย่อยให้เด็ก ๆ ได้ลงมือปฏิบัติจริง เด็กแต่ละคนมีอาวุธประจำกายเป็นพู่กันอันน้อย ทำหน้าที่นำพาละอองเรณูจากดอกตัวผู้ไปป้ายลงที่เกสรดอกตัวเมีย

เด็กแปดกลุ่มย่อยสลับผลัดเปลี่ยนกันเข้าไปในโรงเรือน เด็ก ๑ กลุ่มต่อเมลอน ๑ แถว โดยมี เฉลียว ภรรยาของเชิดชัย เป็นผู้ให้คำแนะนำเด็ก ๆ อย่างใกล้ชิด

“หนูมีคำถามค่ะ ทำไมต้นเมลอนทางด้านนั้นถึงต้นเล็กกว่าบริเวณอื่นคะ” เด็กหญิงผอมบางผันมือไปทางต้นไม้ใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่ทางด้านหนึ่งของโรงเรือน

“ถ้าเราควบคุมปริมาณน้ำ วัสดุปลูก เมล็ดพันธุ์ และปุ๋ย พวกหนู ๆ คิดว่าตัวแปรไหนที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชได้อีกคะ”

มีเสียงกระซิบกระซาบและเสียงหัวเราะดังขึ้นตามมุมต่าง ๆ เด็ก ๆ สนุกสนานกับการได้ลงมือปฏิบัติและหาคำตอบ

“แสงอาทิตย์! สมมุติฐานของหนูคือช่วงเวลารับแสงมีผลต่อการเจริญเติบโตของเมลอนค่ะ”

“อาจเพราะเงาของต้นไม้ที่ทอดลงมาทำให้ต้นไม้ที่อยู่ใต้เงาในช่วงเวลาต่าง ๆ รับแสงไม่เท่ากัน การเจริญเติบโตเลยไม่สม่ำเสมอครับ”

สองสามีภรรยายืนมองผู้มาเยือนที่กำลังเดินลับหายไปจากสายตา ใบหน้าเปี่ยมด้วยความอิ่มเอมใจที่ได้ทำหน้าที่ของตนอีกหนึ่งวัน

การได้เห็นเด็ก ๆ สนุกสนานกับการผสมเกสรและสังเกตถึงรายละเอียดปลีกย่อย ที่นำไปต่อยอดทางด้านความคิด เป็นข้อสนับสนุนว่า การทำกิจกรรมนอกห้องเรียนนั้นสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพอย่างรอบด้าน เด็ก ๆ ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน ฝึกความอดทนต่อแดดยามสาย หรือรอคิวที่จะเข้าไปในโรงเรือน ทั้งยังได้ฝึกทักษะการสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัว

สิ่งสำคัญคือเด็ก ๆ มีความสุขในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ

melon06 1
นักเรียนตรวจหาแมลงศัตรูพืชเมล่อน
melon07 1

ลงมือทำอย่างมีคุณค่า จึงคุ้มค่าการรอคอย

เมลอนน้อยผิวเนียนเรียบ ขนาดประมาณลูกตะกร้อ ตั้งตารอเพื่อขอบคุณผู้ผสมเกสรที่ทำให้ตนมีโอกาสเจริญเติบโต นับเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ที่เหล่าผู้มาเยือนสลับผลัดเปลี่ยนแวะเวียนมาศึกษาการเจริญเติบโตของเจ้าเมลอน

วันนี้พิเศษกว่าทุกวัน เพราะเหล่าผู้ผสมเกสรจะกลับมาอีกครั้ง

“ลูกนี้ของเรา”

“อันนี้ของฉัน”

เสียงเด็ก ๆ ที่พยายามจับจองเมลอนของตนเองพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน ขณะบรรจงสลักชื่อหรือสัญลักษณ์แสดงความเป็นเจ้าของเมลอนน้อย

เด็ก ๆ ได้เห็นผลของการลงมือทำจากครั้งที่แล้ว การผสมเกสรด้วยความตั้งใจในวันนั้นทำให้เกิดเจ้าเมลอนในวันนี้

กว่า ๑๔ วันที่รอคอยว่าเกสรที่ตนผสมไปนั้นจะเป็นอย่างไร เมื่อเด็ก ๆ ได้เห็นลูกเมล่อน ก็มีรอยยิ้มแห่งความภาคภูมิใจ ความสุขที่เกิดจากการรอคอยช่างหอมหวาน เมื่อผลลัพธ์ที่ได้นั้นสวยงาม

เชิดชัยมักบอกผู้มาเยือนเสมอ ๆ ว่า

“ผลผลิตทางการเกษตรเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น แต่สิ่งที่เป็นเป้าหมายหลักของเราคือการที่นักเรียนได้ทำ ได้ประสบการณ์ นั่นต่างหากคือจุดหมายสูงสุด”

หลายคนอาจคิดว่า…เชิดชัย คือเกษตรกรที่ศึกษาวิทยาศาสตร์

แต่เปล่าเลย…เชิดชัย คือ ครูวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกษตรกรรม

melon08
melon09
เมล่อนพันธุ์ อาซาฮี เนื้อส้ม

วิทยาศาสตร์และการเรียนรู้

วิทยาศาสตร์อาจไม่ใช่วิชาในดวงใจของเด็ก ๆ เพราะความยากและหนักของเนื้อหา เด็กวิทย์มักถูกมองว่าคร่ำเคร่ง ขยันเรียน แต่ความจริงแล้วพวกเขาอาจจะมองเห็นความสนุกที่ซ่อนอยู่ใน “วิทยาศาสตร์”

วิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ใช้ศึกษาและพัฒนาศาสตร์ด้านอื่น ๆ ได้ อาทิ การเกษตรซึ่งใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาคิดค้น นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรให้ก้าวสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะ (smart farm) เช่น การใช้โดรนสำรวจพื้นที่ ระบบจ่ายน้ำอัตโนมัติที่สั่งการผ่านสมาร์ตโฟน ฯลฯ

เชิดชัยและคณะใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาสวนเกษตรของโรงเรียน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน

ภาพอาจารย์พร้อมบีกเกอร์ หลอดทดลอง และอุปกรณ์ต่าง ๆ ณ ลานหน้าตึกวิทยาศาสตร์ กับเด็กนักเรียนที่กำลังทำการทดลองเป็นภาพคุ้นตาในการเรียนตามคอนเซ็ปต์ “เรียนสนุก ลุกนั่งสะดวก”

“ทำอะไรกันครับ ไหนอะ จรวดของเรา โห! สองลำเลยเหรอ”

เชิดชัยถามสามหนุ่มในชุดนักเรียนที่กำลังประกอบจรวด เพื่อแข่งขันจรวดขวดน้ำประเภทยิงแม่นในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์

“ผมว่าจะเอารถเพื่อนมาจอดแล้วเล็งอยู่ครับ” ๑ ใน ๓ หนุ่มพูดติดตลกกับอาจารย์

จรวดขวดน้ำหลากหลายสีสันพุ่งออกจากฐานที่ถูกเล็งไว้อย่างดี เคลื่อนที่ตามวิถีโค้ง พ่นน้ำออกมาด้านหลัง ทำให้พื้นสนามบาสฯ ชุ่มฉ่ำ เด็ก ๆ ต่างลุ้นให้จรวดของตนไปถึงเป้าหมาย มีเสียงโห่ร้องดีใจบ้าง ผิดหวังบ้าง ปะปนกันไป บ้างก็หัวเราะกับจรวดที่ออกนอกเส้นทางของตนเองและคู่แข่ง

เชิดชัยมักมีกิจกรรมสนุก ๆ มาให้เด็ก ๆ ได้ทำอยู่เสมอ เพราะเชื่อว่า

จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ เพราะความรู้นั้นมีจำกัด แต่จินตนาการมีอยู่ทุกที่บนโลกอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

กว่าครึ่งชีวิตที่เชิดชัยนำพาเด็ก ๆ ให้เดินไปตามเส้นทางแห่งความฝัน ด้วยการทำหน้าที่ครูให้ดีที่สุด สิ่งสำคัญคือการทำด้วยหัวใจแห่งความสุขและความหวังดี หัวใจที่เปี่ยมด้วยจิตวิญญาณความเป็นครู ที่พร้อมจะมอบความรู้และประสบการณ์ให้เด็ก ๆ นำไปประยุกต์ใช้ได้จริง เมื่อก้าวออกจากรั้วเขียวเหลืองแห่งนี้ไป

เชิดชัยยังให้ความสำคัญกับทุกความสัมพันธ์ ทั้งสมาชิกในครอบครัว เพื่อนร่วมงานที่แม้จะย้ายไปสอนที่อื่นก็ยังแวะเวียนไปพบปะพูดคุยอยู่เนือง ๆ แม้แต่งานแต่งงานของลูกศิษย์ที่บางครั้งต้องเดินทางข้ามจังหวัด อาจารย์ก็ยังไปร่วมแสดงความยินดีพร้อมรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

ครูกับศิษย์จะต่างวัยกันมากแค่ไหนก็ไม่สำคัญ หากเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ทำหน้าที่ของตนให้ดี การเรียนการสอนจะกลายเป็นเรื่องสนุก ก่อเกิดบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี แล้วห้องเรียนจะกลายเป็นห้องแห่งความฝันและความสุข

ความสุขนั้นจะยังคงอยู่ แม้ในวันที่ไม่ได้อยู่ในห้องเรียนแล้วก็ตาม

กิจกรรมดีๆ ของ “ค่ายนักเล่าความสุข” ปี 3 ร่วมสร้างสรรค์เรื่องเล่าความสุข และสังคมที่มีความสุข

  • มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
  • นิตยสารสารคดี
  • เพจความสุขประเทศไทย
  • สสส.