กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๗๖ - ของโปรด ของ “เสด็จเตี่ย” (๑)

เมื่อ “เจ้านาย” อย่างกรมหลวงชุมพรฯ กลายเป็น “เจ้า” ในความหมายของดวงวิญญาณที่มีฤทธิ์อำนาจแล้ว ย่อมต้องมีกฎเกณฑ์การสักการบูชา ดังที่มีผู้เรียบเรียงคาถาภาษาบาลีขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ (ยังสืบไม่ได้ว่าเป็นผลงานของใคร) ทั้งยังมีผู้กำหนดเครื่องบวงสรวงกันอย่างจริงจัง เพราะ “เจ้า” แต่ละองค์ ก็เหมือนคนแต่ละคน คือมีสิ่งที่โปรดปรานต่างๆ กันไป

เครื่องสักการบูชากรมหลวงชุมพรฯ แบบมาตรฐาน ได้แก่ดอกกุหลาบแดง

ผู้เขียนมีข้อสังเกตส่วนตัวว่า การใช้ดอกกุหลาบเช่นนี้ คล้ายคลึงกับ “ของไหว้” พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ ๕ ต่างกันที่สี

จากที่เคยเห็นมา ดอกกุหลาบที่ถวายสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เช่นที่พระบวรราชานุสาวรีย์ หน้าโรงละครแห่งชาติ สนามหลวง เป็นกุหลาบขาวล้วน

ส่วนของรัชกาลที่ ๕ ดังที่พบเห็นได้ตามหิ้งบูชาทั่วไป มักเป็นกุหลาบสีชมพู อันอาจมีนัยเชื่อมโยงถึงสีชมพูประจำวันอังคาร อันเป็นวันพระราชสมภพ

ส่วนดอกกุหลาบแดงของถวาย “เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ ไม่นานมานี้ เนื่องในงานวันคล้ายวันประสูติ ๑๙ ธันวาคม ที่ศาลหาดทรายรี เห็นมีผู้คิดดัดแปลงถวายเป็นเค้กหน้าครีมลายกุหลาบ แต่ที่น่าสนใจในความคิด คือถวาย “คัพเค้ก” กันยกกล่อง โดยทุกชิ้นหยอดครีมแต่งหน้าเป็นลายดอกกุหลาบแดงดอกน้อยๆ กระจุ๋มกระจิ๋ม แลดูน่าเอ็นดูดี

ส่วนเครื่องสังเวยที่เป็นอาหารคาวหวาน ก็มีต่างๆ กันสุดแท้แต่จะรับรู้มา

แนวคิดหนึ่งคือการถวาย “เครื่องเสวย” ที่เคยเป็นของโปรดเมื่อยังทรงมีพระชนมชีพ

หม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร พระธิดาของกรมหลวงชุมพรฯ เคยบันทึกไว้ในเรื่อง “เกร็ดพระประวัติ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์” พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพท่านหญิงจารุพัตรา อาภากร พี่สาวของท่าน เมื่อปี ๒๕๑๖ ว่า

“เสด็จพ่อไม่เสวยหมูเลยตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เสวยแล้วประชวรทุกที พระพุทธเจ้าหลวงเลยทรงห้ามคุณย่า (เจ้าจอมมารดาโหมด) ลดอาหารทุกชนิดที่ใส่หมู ใช้น้ำมันถั่วแทน”

นั่นคือตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงแพ้เนื้อหมู เสวยเมื่อใดจะเจ็บป่วยไม่สบายทุกครั้ง และไม่ใช่เฉพาะเนื้อหมู หากแต่ยังรวมถึงผลิตภัณฑ์จาก “หมู” ในลักษณะอื่นๆ ด้วย เช่น น้ำมันหมู ถึงขนาดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงกำชับเจ้าจอมมารดาโหมด พระมารดาของพระองค์เจ้าอาภากรฯ เป็นพิเศษ ว่าให้งดอาหารทุกอย่างที่ทำจากหมู หรือหากมีอาหารชนิดใดที่ต้องทอดหรือใช้น้ำมัน ให้ใช้แต่น้ำมันพืช คือ “น้ำมันถั่ว” เท่านั้น

เมื่อปี ๒๕๑๖ พลเรือตรี กรีธา พรรธนะแพทย์ บันทึกเรื่องที่ท่านได้รับทราบมา ไว้ในบทความ “ธงราชนาวีสะบัดเหนือหาดทรายรี” ลงพิมพ์ในนิตยสาร “นาวิกศาสตร์” ว่า เสด็จในกรมฯ ทรงเคยมีรับสั่ง “ผ่านร่างทรง” ที่เป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งว่า “ห้ามมิให้นำหมูขึ้นไปบนศาลโดยเด็ดขาด”

ดังนั้นแต่เดิมที่ศาลหาดทรายรี จังหวัดชุมพร จึงจะไม่มีการนำหมูขึ้นไปถวายเป็นอันขาด

แต่ทุกวันนี้ ดูเหมือนความรู้เรื่องนี้คงเลือนไปมากแล้ว เพราะในงานวันคล้ายวันประสูติเดี๋ยวนี้ ก็เห็นมีคนเอาหัวหมูไปตั้งถวายที่ศาลหาดทรายรี ทำนองเดียวกับเครื่องบวงสรวงสังเวยอย่างจีน


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ